พัฒนา'หัวลำโพง'120ไร่ ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?

ยังเป็นประเด็นร้อนกรณีสถานีรถไฟหัวลำโพง สถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางคมนาคมของไทย  ถกเถียงกันหนักจะปิดหรือไม่ปิด แม้วันนี้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยยืนยันยังให้ขบวนรถไฟทั้งสายสั้นและสายยาววิ่งเข้า-ออกหัวลำโพงทุกขบวน ส่วนหลังจากนี้  รฟท.จะเดินหน้าอย่างไรต่อ ต้องศึกษาผลกระทบและมาตรการรองรับ รวมถึงต้องจัดทำแผนการดำเนินงานให้เสร็จเรียบร้อยก่อนตัดสินใจอีกครั้ง  แต่แน่นอนจะไม่มีการทิ้งร้างหรือทุบหัวลำโพงอย่างแน่นอน

ขณะที่เวทีสาธารณะ ”เปิดผลการศึกษา 5 สถาบันที่ตอบโจทย์หัวลำโพงจะไปทางไหนดี?”  จัดโดย The Active ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่าย  เมื่อวันก่อน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  เปิดแนวทางการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของหัวลำโพงครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกลับสู่เมือง โดยไม่ส่งผลกระทบทางสังคมรุนแรงต่อชุมชนโดยรอบและไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพให้ประชาชน  

ผศ.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าแผนงานวิจัย”การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) ในระยะที่ 2”  กล่าวว่า กรณีหัวลำโพงทำให้พลเมืองตื่นตัว เกิดคำถามจะปิดการเดินรถแล้วหรือ อนาคตจะเป็นอย่างไร ก่อนศึกษาวิจัยระยะ 2 มีข้อมูลจากผลวิจัยระยะ 1 ด้านอัตลักษณ์ คุณค่าของหัวลำโพง และความต้องการของสังคม   ซึ่งพื้นที่ผืนใหญ่กว่า 120 ไร่ ใจกลางเมือง และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธา และสถานที่สำคัญของวิถีชีวิตผู้คน ทีมวิจัยฯ เก็บข้อมูลอย่างละเอียด แผนวิจัยประกอบด้วยโครงการย่อย 1 ลักษณะทางกายภาพ โครงการย่อย 2 ความเป็นไปได้ในการลงทุนและการเงิน  โครงการย่อย 3 ระบบโลจิสติก ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ใช้เวลาศึกษากว่า 2 ปี เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากนำข้อมูลมาใช้จะเกิดประโยชน์  หลังจากนี้ งานวิจัยเสนอต้องเปิดกว้างให้เกิดการเสนอแบบหรือจัดประกวดโมเดลทางธุรกิจที่มีมิติทางประวัติศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หัวลำโพง เพื่อให้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด   

สำหรับทิศทางการพัฒนา ถิรภาพ ฟักทอง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย 2  กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ดูแค่การเงินไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นโครงการนี้จะทุบทั้งหมดทำเป็นห้าง ไม่เหลือมรดกให้ลูกหลาน มีแค่ป่าคอนกรีต  นี่คือ ความท้าทายของโครงการ เพราะพื้นที่หัวลำโพงเป็นของประชาชน ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน  เราอยากทำมาสเตอร์พีชของการพัฒนาพื้นที่ที่มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม     

“ การพัฒนาหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะพัฒนาอย่างไร ทางออกคือแบ่งสัดส่วน หากสังคมดีขึ้นให้ผลตอบแทนทางสังคม  รฟท.สามารถการันตีจากการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง พื้นที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ของประเทศ เป็นโอกาสสร้างภาพลักษณ์ และดึงดูดใจผู้ลงทุนมากขึ้น   “  ถิรภาพ กล่าว

ส่วนแนวทางการลงทุนจากการวิจัย มี 3 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 เชิงอนุรักษ์ พื้นที่สีเขียวเด่น แบบที่ 2 เชิงธุรกิจ เน้นการค้า และแบบที่ 3 เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรียกว่า พบกันครึ่งทาง ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียว สีแดงการค้าก็มี และพื้นที่สาธารณะสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ซึ่งการพัฒนาต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก 

ผลศึกษาทางด้านการเงิน ถิรภาพบอกว่า ใช้สมมติฐานที่สมจริงที่สุด กำหนดจากสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโรคระบาด  มีการกำหนดอัตราครอบครอง อย่างละเอียดในแต่ละอาคารตามการใช้สอย กำหนดค่าเช่าพื้นที่การค้า พื้นที่จัดแสดงสินค้า  ประชุม ห้องอาหาร ค่าที่จอดรถ ค่าห้องพักค่าเข้าชม  โดยยึดตามธุรกิจจริงจากโรงแรม 3 ดาว และ 3 ดาว และพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง อย่างมิวเซียมสยาม กำหนดค่าจ้าง รวมถึงจำนวนพนักงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารแต่ละตึกและรูปแบบทำธุรกิจจริง  มีการวิเคราะห์ความอ่อนไหว

“ ความเป็นไปได้ทางการเงิน ถ้าเน้นแบบการค้าจะกำไรมากสุด รองลงมาแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และแบบเน้นอนุรักษ์ตามลำดับ   ถ้าปล่อยให้ผู้ดำเนินนโยบายพิจารณาเฉพาะตัวเลขทางการเงินอย่างเดียวจะกลายเป็นศูนย์การค้า ขณะที่แบบอนุรักษ์จะคืนทุนภายใน 15 ปี

อย่างไรก็ตาม จากผลวิจัยนักวิชาการเศรษฐศาสตร์บอกว่า มีความเต็มใจจ่ายในพื้นที่อนุรักษ์ ต่อให้รัฐบาลไม่ทำก็ยอมจ่าย หากทำจริงแรงสนับสนุนจะมาก จากการลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ชาวบ้านถามถ้ามีห้างขึ้นมา อาคารสูง ฉันจะอยู่อย่างไร จะแข่งได้มั้ย  แต่ถ้าพิจารณาจากประโยชน์สังคม ประชาชนพอรับได้ และยังจูงใจการลงทุน ถ้ากลัวจะมีคนได้ประโยชน์จากพื้นที่นี้มากเกินไป อาจต้องใช้เครื่องมือทางภาษี ตัด และแบ่งให้ส่วนที่ขาด

“ เมื่อสอบถามความเห็นของประชาชน ถ้าพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงแล้ว คิดว่าชีวิตจะดีขึ้นหรือแย่ลง ผลออกมากลางๆ  สังคมไม่มั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน   ข้อมูลนี้สำคัญสำหรับผู้ดำเนินนโยบาย ส่วนทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับประวัติสถานีรถไฟหัวลำโพงคนไม่ค่อยรู้ แต่ใจอยากอนุรักษ์ ประชาชนโดยรอบมีความรู้สึกร่วม ถ้าใช้เป็นแรงผลักในการพัฒนาจะมีประโยชน์มาก “  

ถิรภาพ ย้ำการพัฒนาไม่ควรมองข้ามชุมชนรอบๆ  จากการสำรวจ 1,200 ตัวอย่าง กลุ่มคนที่ให้คุณค่ากับการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรุงเทพสูงที่สุดเป็นคนมีอายุ เป็นวัยกลางคนขึ้นไป เป็นกลุ่มคนผู้ที่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบริเวณวงเวียน 22 ริมถนนพระรามที่ 4 และถนนหลวง ซอยยุคล และอาศัยโดยรอบสถานีรถไฟหัวลำโพง  ตั้งแต่ถนนรองเมือง ตัดถนนพระรามที่ 1 และถนนพระรามที่ 4  นอกจากนี้ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญดับพื้นที่สีเขียว กิจกรรมสร้างสรรค์ และการค้าตามลำดับ คนเหล่านี้น่าจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่รถกรุงเทพในอนาคต เพราะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของได้ดีกว่ากลุ่มคนอื่นๆ  ถ้าจะพัฒนาต้องวิ่งเข้าหาคนรอบหัวลำโพง

ส่วนแนวทางการลงทุนเป็นมิกซ์ยูส  ( Mixed-use development )   มีการค้า พื้นที่สาธารณะ การใช้งานต้องสอดประสานกับชีวิตคนรอบๆ พัฒนาโดดๆ ไม่ได้ จะกลายเป็นคู่แข่งชุมชน ซึ่งชุมชนเจอคู่ชกมากแล้ว สุดท้ายต้องโดนถีบส่งไปนอกเมือง ทำไมโครงการของรัฐไม่พัฒนาให้เป็นมิตรกับชุมชน  เราไม่อยากให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นี่คือ ประเด็นสำคัญของการวิจัย  หากเศรษฐกิจดีและสถานการณ์โควิดอยู่หมัด แนวทางพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงแบบนี้ จะมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ถิรภาพบอกด้วยว่า รัฐต้องไม่มองผลได้ทางตัวเงินเพียงอย่างเดียว เพราะตรงนี้ประชาชนเป็นเจ้าของ ต้องมองผลกระทบทางสังคมด้วย มีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์   คนที่ได้ประโยชน์เราจะทำอย่างไรไม่ให้เขาได้มากเกินไป จนขาดความเป็นธรรมในสังคม และคนเสียประโยชน์จะดูแลเขาอย่างไร ต้องชัดเจน เพื่อความเป็นธรรมอาจนำเครื่องมือการเก็บมูลค่าของที่ดิน มาใช้เก็บผลประโยชน์ทางการเงินจากนักลงทุนคืนให้กับสังคม

แนวทางการลงทุนพื้นที่ 120 ไร่หัวลำโพง  ควรจะแบ่งการพัฒนาออกเป็นโซน ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น โดยให้องค์กร และเอกชน ที่เชี่ยวชาญมาลงทุนและดูแลให้มีประสิทธิภาพ ต้องโปร่งใส ตอบโจทย์ด้านธุรกิจมากขึ้น   โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว ก็สามารถสร้างรายได้มาดูแลตัวเอง และมีมูลค่ามากเพราะกลางเมืองขาดพื้นที่สีเขียว  นอกจากนี้ ต้องเชื่อมกับพื้นที่รอบๆ  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมาก คนรอบๆ คนที่ใช้บริการสถานีอยู่แล้ว จะเสียประโยชน์อะไรบ้าง แล้วจะมีอะไรไปเยียวยาได้บ้าง เรื่องนี้ผู้ดำเนินนโยบายต้องชัดเจนตั้งแต่ต้น แนวทางลงทุนต้องรับฟังเสียงประชาชน  ถ้าทำได้จะเป็นโมเดลนำร่องในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ในแง่ของการเดินรถ นักวิชาการ มธ. บอกประเด็นนี้ละเอียดอ่อน เพราะประชาชนหาเช้ากินค่ำที่ต้องการเข้ามาทำงานในเมืองมีอยู่มาก คนขึ้นรถไฟมาขายของในเมือง ถ้าเปลี่ยนไปใช้สถานีบางซื่อ ต้นทุนการเดินทางเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะเวลาที่หายไป หมายถึงการขายของ การทำงานที่น้อยลง  การเปลี่ยนวิถีชีวิตคนใช้รถไฟที่หาเช้ากินค่ำ มีต้นทุนสูง รัฐไม่ควรผลักภาระให้คนเหล่านี้ ซึ่งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้ไม่ถูกพูดคุยในการวางแผนพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงตั้งแต่ต้น  ควบคู่กับการลงทุน หรือจะพาคนกลุ่มนี้เข้ามาในพื้นที่หัวลำโพงที่พัฒนาแล้ว แต่ตรงนี้ไม่เคลียร์ มิฉะนั้น การพัฒนาจะสะดุด อย่างพื้นที่การค้าริมคลองถ้าให้ชุมชนหรือคนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาค้าขายได้ คนพอใจและทำให้ภาพดีขึ้น รัฐก็เก็บค่าเช่าได้ด้วย 

ภัทร ยืนยง อาจารย์สถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ร่วมทีมวิจัย เผยข้อเสนอจากเวทีประชาพิจารณ์ว่า ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนโดยรอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พื้นที่หัวลำโพงที่มีอาคารสถาปัตยกรรมสำคัญต้องคงไว้  การพัฒนาพื้นที่ต้องไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งนำไปจัดการเอง พื้นที่สาธารณะนี้เป็นของประชาชน ข้อเสนอเชิงการบริหารจัดการโครงการ อาคาร การเดินรถยังมีอยู่  ปัจจุบัน รฟท.ตั้งบริษัทลูกมาบริหาร การร่วมทุนสามารถทำได้ระหว่างรัฐกับรัฐ  เช่น รฟท.กับ OKMD  หรือระหว่างรัฐกับเอกชน มีกลุ่มธุรกิจที่สนใจร่วมทุน

อีกข้อเสนอประชาชนโดยรอบหรือคนได้รับประโยชน์ในพื้นที่เดิม แม้แต่คนไร้บ้าน จะพัฒนาพื้นที่อย่างไรให้ยั่งยืนและช่วยดูแลคนชายขอบ อนาคตยังต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริการจัดการพื้นที่หัวลำโพง  ส่วนกฎระเบียบแนวทางใช้พื้นที่ การอนุรักษ์พื้นที่ อาคารเก่า ข้อเสนอระดับชาติยกระดับหัวลำโพงเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศไทย อาจจะขึ้นทะเบียนอาคารเก่าเป็นโบราณสถานเพิ่มเติม  รวมถึงยกระดับเป็นพื้นที่ต้นแบบพัฒนาในเขตเมือง ระดับสากลเป็นการเสนอพื้นที่หัวลำโพงขึ้นทะเบียนมรดกโลก  อย่างไรก็ตาม ในแง่งานวิจัยจะต้องศึกษาผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการนี้

 ด้าน ผศ.กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหน.วิจัยโครงการย่อย 1  กล่าวว่า  การศึกษาหยิบไอเดียเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง บวกกับในพื้นที่มีอาคารเก่าจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้ใช้งานอย่างร่วมสมัยและเหมาะสม จากการเก็บรวบรวมความเห็นของประชาชน ผู้ใช้บริการ พนักงาน รฟท. และองค์ความรู้ ผลศึกษานำสู่ผลวิจัยสำคัญ มีการจัดกลุ่มรูปแบบพัฒนา  ซึ่งไปในทิศทางการอนุรักษ์พื้นที่มากกว่าใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หารายได้  ที่สำคัญต้องคงเรื่องการอนุรักษ์และบำรุงรักษามรดกของชาติไว้ ไม่ว่าสถาปัตยกรรมอาคาร หลักปฐมฤกษ์  ร.5 รางรถไฟ    

“ พื้นที่หัวลำโพงเชื่อมโยงกับการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองโดยรอบ ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 1 และคลองผดุงกรุงเกษมที่ กทม.มีการปรับปรุงแล้ว ผลวิจัยมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่เพื่อเชื่อมเมืองเก่าและเมืองใหม่เข้าด้วยกัน  ในผังแต่ละแนวทางขบวนรถไฟยังเข้าสู่หัวลำโพง อนาคตที่พัฒนาแล้วยังมีอาคารที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ “ ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมเผย

นอกจากนี้ การออกแบบพัฒนาหัวลำโพงที่งานวิจัยเสนอยังมีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ให้ชุมชนโดยรอบ ด้านถนนพระรามที่ 4 ไม่ให้รถสัญจรไปมา เปิดพื้นที่ให้คนเดิน  ภายในอาคารสถานีหัวลำโพง บริเวณพื้นที่โถงใช้จัดกิจกรรมเอนกประสงค์ หรืออีเวนท์ฮอล และจัดแสดงพิพิธภัณฑ์มิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ด้านข้างอาคารสถานี ริมคลอง ท่าเรือ พัฒนาเป็นตลาดนัดชุมชนเดินต่อเนื่องมาจากตลาดน้อย มีสวนเรียนรู้รถไฟไทย เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ เป็นรางพัฒนาชาติ เพราะรถไฟเป็นต้นกำเนิดการพัฒนาเมือง อาคารโรงดีเซลเก่าเป็นพื้นที่กิจกรรม   ส่วนตึกบัญชาการหรือตึกขาวอนุรักษ์อาคารไว้ ด้านในเปิดให้ใช้ประโยชน์เพื่อให้มีการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รฟท.เล็งเปิดหัวลำโพงจัดอีเวนต์สำคัญของประเทศ

รฟท.ลุยเปิดสถานีหัวลำโพง ยกระดับเป็นแลนด์มาร์กการจัดกิจกรรมที่สำคัญของประเทศ หวังเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์หัวลำโพงเป็นมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ ย้ำไม่กระทบต่อการเดินทางของประชาชน

ร้องนายกฯ ยกเลิกปิดสถานีหัวลำโพง จี้ต้องอนุรักษ์ให้ประชาชนได้ประโยชน์

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่าน นายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

5 พิกัดที่เที่ยวลับ จุดประกายตะลอนกรุงเทพฯ

ในช่วงวันหยุด หากใครไม่อยากไปไหนไกล การเดินชิลท่องกรุง อาจได้อะไรมากกว่าที่คิด   โดยบางสถานที่เราเคยผ่านไปผ่านมา  แต่หารู้ไม่ว่าที่แห่งนั้นมีเรื่องลับๆ ซ่อนอยู่  ทริปนี้จึงมาในโหมด The Secret of พระนคร ตอน”เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ”  ซึ่งเป็นกิจกรรมดีๆ ของ KTC PR PRESS CLUB

หัวลำโพงโมเดล 'พี่ศรี' สบช่องเย้ย 'ชัชชาติ' สร้างภาพไว้ก่อนพี่สอนไว้

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า“หัวลำโพงโมเดล” แปลกใจวิธีการทำงานของ