นิทรรศการต้นแบบ‘วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ’

นิทรรศการผลงานจากมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม “Culture Alert Nature Alive วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ” เดินทางจากเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย และเมืองเก่าน่าน จ.น่าน  ถึงกรุงเทพฯ แล้ว เป็นการยกผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ต้นแบบเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาให้ชมกันแบบใกล้ชิด  

การจัดแสดงผลงานครั้งนี้มาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืน (EPISG) ตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ใน 2 เขตวัฒนธรรมเชียงแสน-น่าน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านมีส่วนสำคัญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยนักวิชาการ มฟล. นักออกแบบร่วมสมัยร่วมเก็บรวบรวมข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ คัดเลือก และนำมาพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบอย่างลุ่มลึก เป็นสินค้าชุมชนที่คนอยากใช้ พร้อมกับรับรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ข้างใน นำมาสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น สร้างความรู้สึกรักสิ่งแวดล้อม 

10 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้กับการฟื้นฟูระบบนิเวศจัดแสดงที่ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 ม.ค.2565  

ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการ EPISG กล่าวว่า การปกป้องธรรมชาติในพื้นที่ของชุมชน ให้สามารถทำกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ ไม่จำเป็นต้องงดการเข้าพื้นที่หรือนำคนออกจากพื้นที่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ส่วนสำคัญคือการให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นดูแลสิ่งแวดล้อมจากวิถีชีวิตของเขา ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้พบว่า พื้นที่ป่ามีการถูกบุกรุก หรือที่ดินสาธารณะถูกจับจ้องไปทำเกษตรที่มีสารเคมี ส่งผลต่อระบบนิเวศ จึงเป็นต้องเข้าไปให้ความรู้ชาวบ้านและการดึงภูมิปัญญาที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เราเพียงแค่เข้าไปสร้างองค์ความรู้ที่ชาวบ้านสามารถต่อยอดได้  

“ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นสินค้าและบริการจะเชื่อมโยงกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมในการรักษาปกป้องแหล่งท่องเที่ยว ส่วนการนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการที่กรุงเทพฯ เป็นอีกทางเพื่อการศึกษาเรียนรู้  สะท้อนให้เห็นว่า การปกป้องแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่เพี่อผลประโยชน์ของชุมชนแต่เพื่อทุกคน โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้งหมดได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาส่งมอบให้กับชุมชนเจ้าของภูมิปัญญาเพื่อนำไปต่อยอดผลิตสินค้าต่อไป ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อผลิตและจำหน่ายจริง ” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว 

ด้าน จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา หัวหน้าทีมนักออกแบบในโครงการฯ  กล่าวว่า จากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯและได้พบเจอกับชาวบ้าน ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพที่มีของชาวบ้าน ทั้งยังได้รับรู้ถึงตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา ทำให้เข้าใจชุมชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ชาวบ้านมีทักษะดีมาก เก่งในการทำเครื่องมือหรืองานเย็บปักถัดร้อย ตนและทีมนักออกแบบ 5 คน ได้นำมรดกวัฒนธรรมมาดีไซน์เป็นผลงานให้สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน อาทิ กระเป๋า หมอนอิง เครื่องประดับ เครื่องสักการะ แก้วน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้สร้างสรรค์การแสดง Legend Of Chiang Saen  โดยนักแสดงเป็นเด็กและเยาชนที่มีพื้นฐานการแสดงกลองสะบัดชัยของภาคเหนืออยู่แล้วผ่านการอบรมจากวัดท่าเดื่อ ผลงานนี้ช่วยเพิ่มความน่สนใจให้การท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น 

สำหรับ 10 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่คัดสรรมาให้ชม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากเมืองเก่าเชียงแสน 5 รายการ  ได้แก่ 1.หมอนอิงและกระเป๋า ลวดลายสายน้ำกกในช่วงเวลาเช้าและกลางคืน ซึ่งมาจากแสงของพระอาทิตย์ที่กระทบกับน้ำโขง โดยวัตถุดิบคือผ้าไหมที่ทอโดยชุมชนบ้านสันธาตุ อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นชุมชนผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดใน จ.เชียงราย 2.กาสร วารี ผลิตภัณฑ์จากปางควายเวียงหนองหล่ม อ.แม่จัน ซึ่งเป็นกบเหลารูปตุ๊กตาควายทำขึ้นจากหนังเทียม สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากร หากไม่รู้จะรักษาก็จะหมดไป เพราะในบริเวณเวียงมีชาวบ้านมาทำเกษตรในที่ดินสาธารณะและใช้สารเคมี 

3.เสื้อผ้าปักลายสุนัข หรือลายตีนหมาของชาวอิ้วเมี่ยน ซึ่งชาวเมี่ยนนั้นมีความผูกพันกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน มีการปลูกต้นตองสาดบนภูเขาเพื่อรักษาระบบนิเวศของน้ำ 4.กระเป๋าสะพายจากอวนของชุมชนริมโขงที่บางส่วนได้เลิกทำประมง เพราะสายน้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลง  แรงบันดาลใจนำลวดลายต่างๆ มาถักด้วยไหมพรมเทคนิคเดียวกับการถักอวนที่ทั้งแข็งแรงและสวยงาม และ 5. เครื่องสักการะล้านนา เมื่อความศรัทธานั้นมีความหมายต่อวิถีชีวิต จากการนำเครื่องสักการะดอกไม้สดไปสักการะเจดีย์ในเมืองเก่าเชียงแสนเพื่อปลุกให้โบราณสถานกลับมามีชีวิต สู่การประดิษฐ์เป็นเครื่องสักการะไม้ที่ซื้อกลับไปไหว้พระที่บ้านได้ 

ส่วนเมืองเก่าน่าน 5 รายการ ได้แก่ 1.แมงหมาเต้า คาแรกเตอร์ สำหรับเมืองเก่าน่าน ที่มาเมื่อไปวัดพระธาตุแช่แห้ง หากเสี่ยงเซียมซีได้ใบไม่ดีจะนำไปฝากไว้กับแมงหมาเต้านี้ แตกต่างจากที่วัดอื่นๆ 2.เครื่องประดับดาวเมืองน่าน หรือที่เรียกว่า ดาวขอบด้งในแบบล้านนา เป็นดาวประจำวันเกิดของเมืองน่าน เครื่องเงินถือเป็นภูมิปัญญาหนึ่งที่สำคัญของชาวน่าน 3.เสียงแห่งน่าน เครื่องเป่าเซรามิก  ดีไซน์มาจากใบหน้าของคัทธกุมาร เครื่องเป่านี้เป็นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบบ่อสวก ซึ่งเป็นรูปแบบโบราณ มีการเจาะรูที่ตา เพื่อให้เกิดเสียงที่แตกต่างอย่างไพเราะ 

4.มาลา นาคี วารี น้ำน่าน จากประเพณีการแข่งเรือของชาวน่าน เปรียบเสมือนการสักการะพระแม่คงคามีการออกแบบหมวกที่อิงลายมาจากหัวเรือให้นักท่องเที่ยวได้สวมใส่ป้องกันความหนาว และ 5.เครื่องสำอางจากไก ที่มาจากสาหร่ายแม่น้ำในเขตเมืองเก่าน่าน สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ อีกทั้งยังมีรสชาติเฉพาะถิ่น และมีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณการันตีจากงานวิจัยของม.แม่ฟ้าหลวง 

อยากรู้ว่าวัฒนธรรมชุบชีวิตธรรมชาติ และสร้างสีสันความมีชีวิตชีวาให้กับผู้คนได้อย่างไรมาหาคำตอบในนิทรรศการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงแนะบัณฑิต มฟล. นอกจากมีความรู้ ต้องมีคุณธรรม

28 ก.พ.2567 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 เมื่อวานนี้

9 เหยื่อค้ามนุษย์เมืองเล้าก์ก่าย ล่องเรือจากเมืองลา กลับถึงท่าเรือเชียงแสนแล้ว

กลุ่มคนไทยจำนวน 9 คนที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกไปทำงานที่เมืองเล้าก์ก่าย รวมทั้งผู้ที่ขอลี้ภัยสงครามและเด็ก 2 คน ในเขตปกครองโกก้าง รัฐฉานเหนือ ประเทศพม่าติดกับชายแดนจีน ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยโดยทางเรือจากท่าเรือเมือง

รวม 60 ศิลปินชั้นนำ อย่าพลาด’เบียนนาเล่เชียงราย’

ช่วงปลายปีจะมีมหกรรมศิลปะใหญ่ระดับนานาชาติที่ชุมนุมศิลปินชั้นนำจากทั่วโลก กับ “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023” ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก “หรือ The Open World ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 2566  ถึง 30 เม.ย. 2567

ต่อยอด 28 ภูมิปัญญาวัฒนธรรมน่าน

จากวัฒนธรรมที่มีคุณค่า สู่เครื่องมือที่ใช้รักษาดิน น้ำ ป่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ขับเคลื่อนแนวคิด Culture Alert Nature Alive หรือวัฒนธรรมนฤมิต คืนชีวิตให้ธรรมชาติผ่านนิทรรศการ'