'ปากน้ำประแส' ไม่ไป ไม่ได้แล้ว

ตั้งแต่เปิดประเทศร่างกายก็กระชุ่มกระชวย หน้าตาสดใสเบิกบานขึ้นมาทันที เพราะได้ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันแล้ว แต่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างนะ… เราจะพาแพ็คกระเป๋าขับรถไปเที่ยวใกล้ๆกันที่ ชุมชนปากน้ำประแส ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก และล่าสุดได้รับคัดเลือกให้เป็นสุดยอดต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2564 1 ใน 10 ชุมชนยลวิถี ที่มีความโดดเด่นและเสน่ห์ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชุมชน วัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนวิถีชีวิตชาวประมงที่ชาวชุมชนได้ร่วมใจอนุรักษ์ไว้

ต้องบอกเลยว่า ชุมชนปากน้ำประแส มีชื่อเสียงมานาน เพราะเป็นชุมชนบ้านเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นย่านการค้าขาย ชาวบ้านยังคงวิถีชีวิตทำประมง และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณีหลากหลายเชื้อชาติไทยและจีน มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านโบราณริมน้ำประแส บ้านพิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส ต้นตะเคียนที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ได้รับการประกาศเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน วัดสมมติเทพฐาปนาราม (วัดแหลมสน) ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น งานประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำหนึ่งเดียวในไทย ฯลฯ


ยังไม่พอภายในชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ถ้ำลอด น้ำตก ทะเล ชายหาก ป่าชายเลน น้ำพุร้อน น้ำแร่ หาดประแส จุดชมวิวแหลมสน จุดชมวิวสะพานประแสสิน ฯ ลฯ

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผูกผ้า 7 สีต้นตะเคียนอายุ 100กว่าปี


คุณสมบัติโดดเด่นอย่างเหลือเกินของประแส ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงพื้นที่ พาไปรู้จักกับชุมชนปากน้ำประแสให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า ชุมชนปากน้ำประแสมีศักยภาพในการเป็น1ใน10 ชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชุมชนมีความพร้อมจากหน่วยงานระดับจังหวัด ผู้นำชุมชน ที่ช่วยกันขับเคลื่อน อัตลักษณ์และเสน่ห์ของวิถีชีวิต ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ตลอดจน มีทุนทางวัฒนธรรม ไม่ว่าอาหาร สินค้า เป็นจุดต่อยอดด้านการท่องที่ยว จนเกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างเศรษฐกิจรายได้แก่ชุมชนมากมาย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

“หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 คลี่คลาย คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีก และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ทางกระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้ย้ำกับทางชุมชนในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เพราะหลายคนอาจจะไม่มั่นใจว่าการไปเที่ยวจะปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นการมีมาตรที่เข้มงวดจะช่วยให้รู้สึกปลอดภัยมากกว่าเป็นความรู้สึกที่ยุ่งยาก นอกจากนี้ยังต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2562 ก่อนที่โควิด19 จะระบาด” ปลัด วธ. กล่าว

ปลัดวธ.นั่งรถสามล้อพ่วง เอกลักษณ์ของประแส

ด้านความมั่นใจเรื่องโควิด สุภาพร รอดบริบูรณ์ ประธานชุมชนปากน้ำประแส บอกว่า หลังปิดแหล่งท่องเที่ยว มานาน เมื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชุมชนได้แล้ว ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยเทศบาลมีการประชุมเตรียมความพร้อมหลายด้าน โดยเฉพาะโฮมสเตย์ ก็จะมีมาตรการของแต่ละแห่ง แต่พนักงานต้องได้รับวัคซีนครบโดส มีการคัดกรองตรวจ ATK สม่ำเสมอ ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนนักท่องเที่ยวเราไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องตรวจ ATK เพราะมันเป็นสิทธิ์ของนักท่องเที่ยว แต่เขาจะบอกเองว่า ฉีดวัคซีนครบแล้ว ตรวจ ATK แล้ว เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวก็เปิดตามปกติ แต่ละที่ก็ตั้งจุดตรวจคัดกรอง นอกจากนี้ยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว อาทิ จะรับทัวร์ได้ครั้งละไม่เกิน 30 คน หรือแพ็คเกจต่างๆอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง และตลาดถนนคนเดินอาจจะไม่มีอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวจะได้มาเลือกซื้อของชาวบ้านได้ทุกวัน ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนจริงๆ สามาถสอบถามเข้ามาได้ทางเพจชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง – Prasae Village”

จุดคัดกรองโควิด ก่อนเข้าชุมชน

เมื่อเดินทางมาถึงถิ่นปากน้ำประแส หมุดหมายแรกก็คือ ศาลกรมหลวงชุมพร สถานที่เคารพของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่ริมน้ำประแส ทำให้บรรยากาศร่มรื่น ร่มพัดเย็นสบาย และมีจุดคัดกรองพ่นเชื้อก่อนเข้าไปกราบไหว้ด้วย

ศาลกรมหลวงชุมพร

จะให้ครบรสก็ต้องนั่งสามล้อพ่วง 1 คันนั่งได้ 4 คน ไม่รอช้าเราใช้บริการทันที ลุงคนขับก็สวมหน้ากากอนามัยเรียบร้อย แต่งกายสุภาพ นั่งรถชมวิวบ้านเรือน ภูเขา ไปเรื่อยๆ ก็มาถึงที่วัดตะเคียนงาม ต้นไม้สูงใหญ่เด่นตระหง่านอยู่ด้านวัด คือ ต้นตะเคียนคู่ เป็นรุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี มีอายุกว่า 400 ปี ชาวบ้านมักเรียกว่า ต้นตะเคียนเจ้าแม่และต้นตะเคียนเจ้าพ่อ ซึ่งต้นตะเคียนเจ้าพ่อจะมีลักษณะเป็นพุ่มกว้างกว่า สูงใหญ่ ถ้าเป็นคนก็คงจะหน้าเกรงข้ามมากๆ ก่อนกลับเราก็ไปกราบพระประธานในโบสถ์เสริมศิริมงคล

เหลืองอร่าม ทุ่งโปร่งทอง

นั่งรถสามล้อไปต่อกันที่ทุ่งโปรงทอง พื้นที่ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดระยอง พอถึงปุ๊ปเราก็ลงทันที ถึงจะร้อนแต่อากาศก็ที่สุดๆเหมือนกัน แถมยังมีสะพายไม้ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ให้เดินชมพันธุ์ไม้ต่างๆของป่าชายเลน แต่ที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่ก็คือ ทุ่งโปรงทอง ที่จะขียวขจีเต็มพื้นที่ แต่เมื่อกระทบกับแสงแดดก็จะกลายเป็นสีเหลืองอร่ามทันที ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอด บรรยากาศก็ไม่ได้มีแค่กรุ๊ปเรานะ มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆด้วย และเหมือนมันกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เราจะเว้นระยะห่างจากคนที่ไม่รู้จักไม่เดินไปใกล้กันมาก เพราะเป็นการเซฟตัวเองจากโควิด ถือว่าดีเลยนะ จะได้เที่ยวแบบไม่ต้องกังวล

อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส

สามล้อพามายังจุดสุดท้ายของวันที่อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส เป็นเรือที่ใหญ่มากๆ มีความยาวตลอดลำอยู่ที่ 92.8 เมตร และความกว้างมากที่สุด 11.4 เมตร เมื่อไปยืนเทียบเราที่สูง 165 ซม. ก็ดูตัวเล็กจิ๋วไปทันที สามารถขึ้นไปชมบนเรือได้นะ แต่บันไดจะชันหน่อยต้องระวังๆด้วยสภาพบนเรือก็จะมีบางจุดที่มีสนิมบ้างเพราะโดนฝน โดนแดด จึงเก่าไปตามกาลเวลา ส่วนโครงสร้างเรือ ที่เราสามารถเห็นได้ ประกอบไปด้วย ห้องหางเสือ สะพานเดินเรือ เครื่องหาที่เรือดาวเทียม เข็มทิศต่างๆ เครื่องยิงปืน เป็นต้น สำหรับใครสนใจนั่งสามล้อก็ติดต่อมาได้ทางเพจ หรือวอล์คอินก็ได้

ล่องเรือชมธรรมชาติ

ยามเย็นแดดร่ม ลมตก ได้เวลาล่องเรือชมเหยี่ยว และทิวทัศน์รอบๆแม่น้ำประแส มีทั้งแบบลำเล็ก และเรือประมง ใครชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามสะดวก สิ่งที่ชอบมากเวลาที่ได้ล่องเรือ คือเราได้สัมผัสธรรมชาติทั้งสองฝากฝั่ง ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยป่าไม้เขียวขจี อีกฝั่งก็เป็นธรรมชาติของวิถีบ้านเรือนริมน้ำดั้งเดิม และโมเดิร์นสมัยใหม่ ด้านหน้าเต็มไปด้วยเรือประมงจอดเทียบท่าเรียงราย มีทั้งพร้อมใช้งาน และพุพังจมน้ำไปครึ่งลำก็มีให้เห็น เรือจะแล่นผ่านศาลเจ้า ศาลกรมหลวงชุมพร จนกระทั่งถึงถิ่นที่เราจะได้เห็นเหยี่ยวเป็นฝูงบินออกมาต้อนรับ ก่อนจะหันหัวเรือกลับไปเดินชมของขายที่ชาวบ้านประแสนำออกมาตั้งขายในราคาย่อมเยาว์ ทั้งอาหารทะเลแห้ง ของปิ้งย่าง ขนมกะลาป้าใบ หรือเส้นใหญ่ผัดเปรี้ยวหวาน ในราคาเริ่มต้นที่ 10 บาทเท่านั้น บรรยากาศแบบนี้จะมีให้เห็นทุกวันแล้วแต่ว่าบ้านไหนจะสะดวกมาขายกันกี่โมง แต่ที่แน่ๆมีตั้งแต่เช้ายันเย็น

ศาลเจ้าริมน้ำประแส
เกาะมันใน แหล่งอนุรักษ์เต่าทะเล

ก่อนกลับกรุงเทพฯ คณะพาไปที่เกาะมันในโดยขึ้นเรือที่ประแส ใช้เวลาประมาณ 40 นาที จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์สัตว์ทะเล บ่อเลี้ยงเต่า และบ่อเตาธรรมชาติ จะได้เห็นพ่อเต่าแม่เต่าด้วย หรือจะเดินเล่นที่หาดหน้าบ้าน เราใช้เวลาสักพักก็เดินทางกลับขึ้นฝั่ง จริงๆแล้วจุดท่องเที่ยวหรือกิจกรรมที่น่าสนใจของชุมชนปากน้ำประแสยังมีอีกมากมาย อาทิ วัดสมมติเทพฐาปนาราม(วัดแหลมสน) จุดชมวิวสะพานประแสสิน งานประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำหนึ่งเดียวในไทย กิจกรรมประดิษฐ์หมอนเป็นรูปสัตว์ทะเล พวงกุญแจและเรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้าน อาทิ ชาใบขลู่ ขนมกะลา แจงลอน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ถ้ำลอด น้ำตก ทะเล ชายหาก ป่าชายเลน น้ำพุร้อน น้ำแร่ หาดประแส มาระยองไม่ได้มีดีแค่ทะเล แต่วิถีชุมชนก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่น่าหลงใหลเช่นกัน

ตลาดยามเย็นของชุมชน
เส้นใหญ่ผัดเปรี้ยวหวานกระทงและแค่ 10 บาท
ขนมถ้วยรสชาติดั้งเดิมหวานมันนุ่มนวล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ'โกลเด้นบอย'ที่สหรัฐ ก่อนส่งคืน

26 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริด 2 รายการ ซึ่งมีหลักฐานว่าถูกนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย

อนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน 2 รัชกาล วัดราชประดิษฐฯ

คัมภีร์ใบลานที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตร คัมภีร์โบราณนี้มีความสำคัญเทียบเท่ากับวัด ซึ่งเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  เป็นคัมภีร์ใบลานที่เคยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมตั้งแต่สมัย ร.  4 ถือว่าเป็นคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

ในหลวงพระราชทานอาหารกลางวันแก่ 3 สถานสงเคราะห์ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติเจ้าฟ้าทีปังกรฯ

26 เม.ย.2567 - เวลา 08.23 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หน่วยราชการในพระองค์ เชิญอาหารพระราชทานไปพระราชทานเลี้ยง กับเชิญสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์

เชิญชวนลงนามถวายพระพรเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ

26 เม.ย.2567 - สำนักพระราชวังขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออกจาก หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก