'คำนูณ' ชี้กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำฯจะบรรลุผลต้องเลิก ‘อภัยโทษสุดซอย’ ด้วย

13 มีนาคม 2565 – นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่า ช่วงนี้มีร่างกฎหมายปฏิรูปสำคัญ ๆ เข้ามาสู่การพิจารณาของสภาหลายฉบับ มีอยู่ 2 ฉบับที่เกี่ยวกับความผิดทางอาญาเหมือนกัน โดยเป็นเสมือน 2 ด้านของเหรียญ และผมบังเอิญได้เข้าอยู่ในคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่พิจารณาร่างฯทั้ง สองนี้

จึงจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังแบบง่าย ๆ

ฉบับหนึ่งมุ่งแก้ปัญหาโทษอาญาเฟ้อ

นั่นคือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ที่ผมเล่าสู่กันฟังไปแล้ว 2 ครั้งในรอบ 2 สัปดาห์ และจะทยอยเล่าต่อ ๆ ไป
วันนี้จะเล่าถึงร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ผมมองว่าอยู่คนละด้านของเหรียญโดยแท้ คือ… “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….”

เพราะเป็นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการกระทำผิดซ้ำสำหรับบุคคลผู้กระทำความผิดทางเพศและความผิดอาญาร้ายแรงจำนวนหนึ่งที่ระบุไว้ นักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจกระทำความผิดซ้ำอีก จะต้องเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังที่มีอยู่ 3 ระดับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือสูงสุดรวมทุกมาตรการแล้วไม่เกิน 10 ปี

หนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังนี้มีการ ‘คุมขัง’ รวมอยู่ด้วย

‘คุมขัง’ เป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้ในร่างกฎหายนี้ ไม่ใช่ ‘จำคุก’ ‘กักขัง’ หรือ ‘กักกัน’ ตามประมวลกฎหมายอาญา

‘คุมขัง’ จึงไม่ใช่โทษทางอาญา

เมื่อไม่ใช่โทษทางอาญา ร่างกฎหมายนี้จึงบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังได้

แต่แม้ไม่ใช่โทษทางอาญา ก็ต้องยอมรับว่ามีความละม้ายกันอยู่ในที คือเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคล จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่เป็นนักโทษเด็ดขาดทางอาญาที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจจะกระทำความผิดซ้ำ

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีมาตรการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับนักโทษเด็ดขาดระหว่างที่ต้องโทษอยู่ในคดีความผิดทางเพศและความผิดทางอาญารุนแรงเรียกว่า…

“มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด” ที่ระบุไว้ขัดเจนในมาตรา 19 วรรคสอง (1) คือ… “มาตรการทางการแพทย์”
แน่นอนว่าต้องกระทำโดยคำสั่งศาลตามที่พนักงานอัยการร้องขอ แต่รายละเอียดของมาตรการมีอะไรและมีกระบวนการอย่างไรบ้างนั้น ร่างกฎหมายบัญญัติให้ไปอยู่ในกฎกระทรวง และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
‘ฉีดไข่ฝ่อ’ หรือการทำให้อวัยวะเพศชายฝ่อ หรือการกดฮอร์โมนเพศชาย เป็นหนึ่งในมาตรการทางการแพทย์นี้

กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ดำเนินการโดยแพทย์ตามคำสั่งศาล สรุปภาพรวมว่าหากร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ นักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดทางเพศและความผิดอาญาร้ายแรงที่ระบุไว้มีโอกาสได้รับมาตรการเพิ่มเติม ทั้งระหว่างถูกจำคุกและหลังจากพ้นโทษจำคุกออกมาแล้ว

กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมราชทัณฑ์ จะเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการตามร่างกฎหมายนี้

เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรียุติธรรมผลักดันเต็มที่

ก่อนหน้านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร ทั้งเห็นด้วยเต็มที่ และเห็นด้วยแต่ท้วงติงตั้งข้อสังเกตบางประการ ทั้งในประเด็นฉีดไข่ฝ่อ คุมขังหลังพ้นโทษ และอื่น ๆ ด้านหนึ่งเพราะแม้จะเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลค่อนข้างมาก และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องประสิทธิผล อีกด้านหนึ่งเห็นว่าออกจะเป็นการย้อนแย้งหรือไม่ที่เรากำลังมาสร้างมาตรการพิเศษใหม่ต่าง ๆ รวมถึง ‘คุมขัง’ หลังพ้นโทษ ทั้ง ๆ ที่มาตรการ ‘จำคุก’ เดิมมีปัญหา หลายกรณีนักโทษเด็ดขาดถูกจำคุกจริงไม่ถึง 1 ใน 3 ของคำพิพากษาก็ถูกปล่อยตัวพ้นโทษไป สมควรแก้ไขปัญหาหลักที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นบังคับโทษที่ผิดเพี้ยนเห็นตำตาในขณะนี้เสียก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อม ๆ กันไป

แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีและตามกระบวนการตรากฎหมายของประเทศไทย เมื่อตรวจแก้ร่างนี้เสร็จและส่งกลับคณะรัฐมนตรี ก็ยังตั้งข้อสังเกตมารวม 3 ประการ

ทั้งนี้ เป็นการตั้งข้อสังเกตมาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 11 ที่ทำหน้าที่ตรวจร่างนี้โดยตรง

กฤษฎีกาคณะ 11 เป็นคณะที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านกฎหมายอาญา มีท่านอาจารย์คณิต ณ นครเป็นประธาน

แม้ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรครบทั้ง 3 วาระ และผ่านวาระ 1 วุฒิสภาแล้ว กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา แต่การนำข้อสังเกตของครูบาอาจารย์ด้านกฎหมายอาญาในกฤษฎีกาคณะ 11 มากล่าวถึง ณ ที่นี้ก็น่าจะมีประโยชน์ในกรณีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จะได้รู้ว่าในมุมมองของผู้ตรวจร่างกฎหมายนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมควรต้องดำเนินมาตรการใดควบคู่กันไปเพื่อให้กฎหมายใหม่และมาตรการใหม่มีบรรลุผลอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะข้อสังเกตข้อ 3 ของกฤษฎีกาคณะ 11 สอดคล้องกับการต่อสู้ประเด็น ‘อภัยโทษสุดซอย’ ของส.ว.สมชาย แสวงการที่ยังรอคำตอบอยู่ขณะนี้ด้วย

ข้อสังเกตข้อ 3 ของกฤษฎีกาคณะ 11 มีว่า…

“ปัญหาสำคัญของการบังคับโทษทางอาญา คือ อำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างศาลและกรมราชทัณฑ์ ในขณะที่ศาลมีอำนาจทำคำพิพากษาให้จำคุกได้ตามดุลพินิจของศาล แต่กรมราชทัณฑ์กลับลดโทษและพักการลงโทษที่ศาลพิพากษาไว้ได้เช่นกัน ทำให้ผู้กระทำความผิดถูกจำคุกจริงไม่ถึงตามระยะเวลาที่ศาลพิพากษาไว้ กลายเป็นคำพิพากษาของศาลถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายบริหารได้ เป็นปัญหาอำนาจที่ย้อนแย้งกัน ควรแก้ไขกฎหมายให้คำพิพากษาของศาลมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักประกันให้กับสังคมได้ มากกว่าที่จะออกร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะหากไม่แก้ไขแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แม้ออกร่างกฎหมายนี้ไปแล้วก็ไม่อาจบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาวางนโยบายในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ”

พร้อม ๆ กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวุฒิสภา หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตข้อ 3 ของกฤษฎีกาคณะ 11 ให้ครบถ้วน ก็จะเป็นการทำให้วิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคมเกิดความสมบูรณ์มากที่สุด
และตอบโจทย์ที่สังคมกังขาได้ครบถ้วน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คำนูณ' จ่อซักฟอกปมเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ดักคอ 'อุ๊งอิ๊ง' บินกัมพูชา

'คำนูณ' เตรียมซักฟอกรัฐบาล ปมเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย 20 ล้านล้าน ดักคอ 'อุ๊งอิ๊ง' บินกัมพูชา ไม่ใช่เรื่องมุบมิบทำอะไรได้ ชี้ต้องเป็นข้อตกลง รธน. ม.187 รัฐสภาเห็นชอบ

'คำนูณ' เตือน! ขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านและสิทธิอธิปไตยไทยยับเยินแน่ หากแยกประเด็นเจรจา

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา แสดงความคิดเห็นต่อกรณีเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่กำลังถูกจับตาในเวลานี้ว่า“เรื่องสำคัญที่สุด

'สว.คำนูณ' เผยได้วันเปิดอภิปรายรัฐบาลแล้ว เลื่อนให้ช้าลงไปอีก

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยถึงการประชุมวิปวุฒิสภาว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงห

'สว.คำนูณ' จี้รัฐบาลทบทวนวันซักฟอกให้เร็วขึ้น หากยื้อเวลาก็ไร้ประโยชน์

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.กล่าวถึงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของวุฒิสภา ว่า โดยปกติการเสนอญัตติให้รัฐมนตรีมาชี้แจงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

วุฒิสภาตั้ง 45 กมธ.ศึกษางบ 67

ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีการพิจารณาเรื่องด่วน