'รองผู้ว่าฯ ทวิดา' บันทึกรายงานประชุมเรื่อง 'โควิด19-น้ำ'

รองผู้ว่าฯ ทวิดาบันทึกรายงานทำงานตลอดวันอังคาร ในเรื่องโควิด-19 และสถานการณ์น้ำในเมืองกรุง ไม่ทิ้งความเป็นครู สอนลูกศิษย์ถึงเรื่องหลักใหญ่ใจความสำคัญที่จะเจอบนข้อสอบ!

08 มิ.ย.2565 – ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โพสต์เฟซบุ๊กในลักษณะบันทึกรายงานระบุว่า บ่ายถึงค่ำ วันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นการเตรียมพร้อมมาตรการสองเรื่องใหญ่ๆ สำหรับพวกเราคนกรุงเทพนี่ล่ะ โดยช่วงบ่ายต้นๆและค่ำๆ เป็นการเตรียมพร้อมออกแบบมาตรการ โควิดโรคถิ่น แล้วช่วงบ่ายแก่ๆถึงเย็นเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ภาวะน้ำมากและอาจเกิดอุทกภัยของทั้งประเทศ โดยเราเป็นภาคกลางตอนล่าง ที่มีจังหวัดอื่นเป็นเพื่อนร่วมความเสี่ยงเช่นกัน

โควิดโรคถิ่น เป็นการจัดทำมาตรการเชิงรุกทางสาธารณสุข และเตรียมศักยภาพทางการแพทย์ไว้รองรับ โดยให้แบ่งเป็นกระบวนการ 3 มิติ

1) ทบทวนข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ถดถอยลง ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่ต้องเร่งในกลุ่มเด็กและกลุ่มเสี่ยง 608 เข็มบูสเตอร์ ตลอดจนภาวะครองเตียงและความวิกฤตของอาการ แล้ววิเคราะห์แนวโน้มการแพร่ระบาดจากการเปิดผับบาร์ และกิจกรรมการรวมตัวต่างๆ ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

2) มอบให้สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ ออกแบบกติกาในการเปิดหน้ากาก และการทำแนวทางการรักษาระยะห่าง ที่เป็นไปได้ ต้องคำนึงถึงพื้นที่แออัดบางพื้นที่ และการใช้การเดินทางสาธารณะด้วย และ

3) เตรียมพร้อมมาตรการ "การจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข" ต้องจักระบบติดตามสถานการณ์โดยขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ และสำนักงานเขตให้เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการเปิดหน้ากากของตน ให้ 69 ศูนย์บริการสาธารณสุขพร้อมสำหรับการให้ข้อมูล รับปรึกษา และมียาอย่างพอเพียง ตลอดจนระบบการส่งต่อโรงพยาบาลในกรณีที่รุนแรงขึ้น

<นักศึกษาความเสี่ยงภัยพิบัติควรตระหนักเสมอว่า ความเสี่ยงไม่เป็นเส้นตรง (nonlinearity) อย่าวางใจจนประมาท ต้องใช้ข้อมูลที่มีในการวิเคราะห์ทั้งโอกาสของการแพร่ระบาด และความล่อแหลมของสถานการณ์หากมีคลัสเตอร์ (ในกรณีนี้อย่าอวดดี ให้หมอเป็นฝ่ายนำ) และความล่อแหลมของพื้นที่ร่วมกับลักษณะกิจกรรม แล้วนำข้อมูลกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งศักยภาพของทั้งการจัดการและการจัดการทางการแพทย์ มาเตรียมไว้ ทั้งหมดอยู่บนวิธีคิดของหลัก progressiveness และ risk driven โอเค เข้าใจนะ>

บ่ายแก่ๆ ถึงเย็น วิ่งไปประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมีองคมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย (พักนี้พบท่านทุกวันเลย) เพื่อทั้งรับทราบสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์ จากทั้งกรมอุตุฯ กรมชลประทาน สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และดูชาร์ตอันซับซ้อนของการทำงานของหน่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง หน่วยเตรียมพร้อมป้องกัน อาทิ กรมหลักต่างๆ และกรมป้องกัน ตลอดจนของจังหวัดที่มีความเสี่ยง 5 จังหวัดใหญ่ ซึ่งกรุงเทพมหานครของเราเป็นหนึ่งในนั้น โดย

1) ระยะเตรียมการ ก.พ.-เม.ย. เป็นการเตรียมพร้อมของกรุงเทพมหานครในการตรวจประสิทธิภาพแนวป้องกัน (คันกั้น) น้ำท่วม ทั้งพื้นที่ในคัน ระหว่างคัน และนอกคัน อุโมงค์ทั้งใหญ่และเล็ก พื้นที่รองรับน้ำลักษณะแก้มลิงและ water bank (มีน้อยจัง) คูคลองท่อระบายที่ต้องการลอก สถานะตอนรายงานในที่ประชุม ลอกแล้ว 25 กม.จากแผน 27 กม. ในปีงบประมาณเดิม อีก 30 กม. รอจัดสรร (เวลาเดียวกันท่านผู้ว่าฯ เจรจาจัดสรรงบประมาณลอกเพิ่มไปอีกจาก 30 กม.ที่รอเพิ่ม โดยกรมราชทัณฑ์ เดี๋ยวข้อมูลเขย่งจะงงค่ะ ต้องอธิบายไว้ก่อน) สุดท้ายเป็นเครื่องมือรับมือ สถานีสูบน้ำ ประตูน้ำ บ่อสูบ เครื่องสูบ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมทุกที่ที่มี

2) การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ช่วง พ.ค. ถึง ก.ย. (อันนี้ต้องระวัง ก.ย.นี้กูรูทางฝนฟ้าว่าจะเริ่มมีสถานการณ์น้ำใน กทม.บ้างแล้ว ส่วน ต.ค.คงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ) คือ หากมาแน่แต่มีระดับการมา กำหนด 5 ฉากทัศน์ ฝนตกน้อยกว่า 60 ม.ม. ฝนตก 60-90 ม.ม. ฝนตกเกิน 90 ม.ม. (เตือนพี่น้องว่าช่วยกันลดโลกร้อนกันเถิด ช่วง 5 ปีมานี้ ฝนตก 100++ ม.ม. ตลอด แค่ 15 นาทีแรก กทม.ก็ระบายไม่ทันแล้ว) และอีก 2 ฉากทัศน์เบิ้มๆ คือ หากมีน้ำหลากและน้ำทะเลหนุน หรือ กรณีมีพายุรุนแรง เขื่อนต้นน้ำมีปัญหา ที่ต้องมีการเตรียมวาง 5 ระดับสถานการณ์ เพื่อการเตือนภัยล่วงหน้าตั้งแต่แบบรายวัน รายชั่วโมง และราย 15 นาที พร้อมการใช้ศักยภาพให้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมเพิ่มและย้ายมาตรการจัดการและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตามจุดเสี่ยงที่ระบุจากการวิเคราะห์ภูมิสังคมสถานการณ์

3) เค้าว่าปลาย ต.ค. ถึง ช่วง พ.ย.ไป น้ำน่าจะเคลื่อนที่ลงใต้ (ดูจากแผนที่น้ำ one map 6 เดือน พี่ๆ ชาวใต้ต้องเตรียมการดีๆเลย เป็นกำลังใจค่ะ) สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะเกือบปรกติเมื่อไหร่ จริงๆไม่ต้องรอ พ.ย. น้ำเคลื่อนลงใต้ ทำได้เลยเมื่อเราเผชิญสถานการณ์ งานสองงานต้องทำทันที ข้อหนึ่งตรวจสอบศักยภาพพื้นที่ต่อความเสียหาย ศักยภาพอุปกรณ์ และการดูแลประชาชนต่อเนื่อง ข้อสองต้องรีบเคาะช่องว่างหรือปัจจัยเสริมของปฏิบัติการ เพื่อเตรียมสำหรับสถานการณ์ครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นรอบหน้าของปีหน้า แต่อย่าประมาทไป พายุฟ้าฝนเค้าหลงทาง หลงฤดู ได้ง่าย ไปตกในที่ที่ไม่มีพื้นที่กักเก็บ ไปตกหนักๆท้ายเขื่อน หรืออยู่ๆมีร่องสะสม หรือหลงมาก็จะพลาดได้ ถ้าเราไม่รีบจัดการกับเหตุการณ์ก่อนหน้า แล้วเตรียมรับมือไว้เลย #เชื่อแก้ว

<ลูกศิษย์ที่ทำงานเกี่ยวกับวิกฤตจำให้ดี การประชุมร่วมหน่วยงานสำคัญเสมอ โดยหากเป็นประชุมเพื่อเตรียมสถานการณ์ ปากกาสมุดและข้อมูลต้องติดตัว "ข้อมูลต้องเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ" อย่าทะเร่อทะร่าเอาข้อมูลสถิติสถานการณ์ จำนวนคูคลองที่มี เครื่องมือที่ครอบครอง มารายงานเฉยๆ ดูโจทย์ด้วยว่าเค้ามาแลกเปลี่ยนการเตรียมพร้อมกัน การปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมดำเนินการกันจะได้ทำได้เลย หลักการบูรณาการ (เอกภาพการประสานงาน) จะเกิดขึ้นด้วย การใช้ระบบข้อมูลร่วมกัน และตัดสินใจด้วยการหารือกันด้วยความเป็นมืออาชีพ จะได้เร็ว ทัน และตรง>

นั่งๆ อยู่อ่ะ ไฟไหม้แถวสีลม และหนองแขม ทีมดับเพลิงเข้าไว ดับได้ในเวลาต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง (รับรายงานมาว่า 10-15 นาที) แต่ทำรถติดในชั่วโมงเร่งด่วนหนึบหนับ ขออภัยพี่น้องจริงๆค่ะ คราวหน้า (หวังว่าไม่มีไหม้อีก) จะพยายามจัดการจราจรให้ดีขึ้นค่ะ

... อันนี้แซวตัวเอง ไม่ได้เป็นแฟชั่นนิสต้าขนาดเปลี่ยนชุดระหว่างวัน คือไปถึงกรมป้องกันฯ แล้วเพิ่งสำนึกว่า ทีม กทม. เป็นทีมเดียวที่ไม่รู้ว่าต้องใส่ชุดกากี ดีที่กรมฯ ซิ่งมอไซค์ไปเอาชุดให้ใน 15 นาที รอดหวุดหวิด #BangkokDG3 ทวิดา กมลเวชช บันทึกรายงาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มช. ติดอันดับโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 สาขาวิชา รวมเป็น 13 สาขาวิชา มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ติดอันดับโลกในสาขาวิชาเฉพาะ (Narrow Subjects) จำนวน 13 สาขาวิชา จาก 55 สาขาวิชา และสาขาวิชาหลัก (Broad Subjects) ทั้ง 5 สาขาวิชา มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกรายสาขาวิชา ประจำปี 2024 โดย QS World University Rankings

เปิดเบื้องลึก! กว่าจะได้นั่งเก้าอี้ 'อธิการ มธ.'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่

จี้รัฐขีดเส้น ห้ามขายกัญชา กระท่อม 'เด็ก นักเรียน นักศึกษา'

อาจารย์อุ๋ย ปชป. ชี้กัญชา กระท่อม มีกฎหมายควบคุมชัดเจน ผู้จำหน่ายต้องมีใบอนุญาต ห้ามโฆษณา ห้ามขายเด็ก นักเรียน นักศึกษา หากฝ่าฝืนมีโทษถึงจำคุก

กยศ. แจงนักศึกษาที่มาคุกเข่าร่ำไห้ยังได้รับเงินกู้ตามปกติ

กยศ. เผยน้องที่มาคุกเข่าร่ำไห้ทั้ง 5 รายได้รับเงินกู้ตามปกติถึงปัจจุบัน ยืนยันไม่ได้ระงับการให้กู้ยืมเงิน และจะได้กู้จนเรียนจบ แจ้งสถานศึกษาขอพบผู้กู้ 517 ราย มาพบเพียง 5 รายเท่านั้น

สลด! นิสิตพยาบาล ม.ดัง หูดับเครียดจัด ลงทะเลฆ่าตัวตาย

พันตำรวจเอกพัฒนา รอบรู้ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแสนสุข รับแจ้งว่าพบหญิงสาวกลายเป็นศพอยู่บริเวณริมชายหาดจุดชมวิว เขาสามมุก

ศาลจำคุก! 24 รุ่นพี่รับน้องโหด ครอบครัวผู้เสียชีวิตจ่อฟ้องแพ่งอีก

ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกรุ่นพี่ 24 ราย โดยจำเลยที่ 1-7 ศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 - 24 พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 เดือน