นักวิชาการเบรก ร่างพ.ร.บ.ถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น ชี้ปล่อยผีอำนาจส่วนกลาง สยายปีกควบคุม

แฟ้มภาพ

17 ก.ค.2565 – กลุ่มนักวิชาการ ในนาม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.) ออกแถลงการณ์  เรื่องคัดค้านร่างกฎหมายเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่ขัดกับ   รัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอนฯ และจะก่อปัญหาร้ายแรงให้แก่การปกครองท้องถิ่น  โดยระบุใจความว่า  เนื่องด้วยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.) ซึ่งมีรายชื่อตามที่ปรากฎท้ายแถลงการณ์นี้ได้ทราบว่าสภาผู้แทนราษฎรได้รับพิจารณาร่างพรบ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  พ.ศ…….ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ตามการเสนอของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) และโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์และขณะนี้ร่างฯ นี้ได้ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว

 ซึ่งเมื่อได้พิจารณาเนื้อหาของร่างฯ นี้แล้ว พวกเรามีความห่วงใยและเกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า หากร่างฯ นี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาจนมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดพัฒนาการของประชาธิปไตยในท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยก ความรุนแรงทางการเมืองในท้องถิ่น การแบ่งเป็นฝักฝ่าย การกลั่นแกล้งทางการเมือง ฯลฯ อันเนื่องมากจากปัญหาการอาศัยช่องทางการถอดถอนที่ออกแบบขึ้นใหม่ในร่างนี้ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอน หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หลักการควบคุมด้วยการกำกับดูแล หลักการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่น ฯลฯ ดังเหตุผลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต่อไปนี้

1. ทั้งกระบวนการผลักดันร่างฯ และเนื้อหาของร่างฯ นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 อย่างชัดเจน เพราะเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังและการวิเคราะห์ต่อประชาชน และนำผลนั้นมาประกอบพิจารณาในทุกกระบวนการ หากแต่เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเขียนเนื้อหาเพื่อสนองความต้องการของผู้กำหนดนโยบายเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเป็นร่างกฎหมายที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในลักษณะที่เป็นการสร้างกติกาใหม่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีมาตรฐานคุณภาพของกฎหมายที่ต่ำกว่ากติกาเดิมที่มีอยู่ในพรบ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน) เสียอีก

2.    ร่างกฎหมายนี้ได้ตัดสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะออกเสียงโดยตรงและโดยลับเพื่อถอดถอนหรือให้คงสถานะสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ต่อไปซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งออกไป โดยให้คงไว้แต่การเข้าชื่อแสดงความประสงค์ให้ถอดถอนให้ครบจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการปิดโอกาสที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะได้ตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองของตัวแทนของตนและกำหนดชะตากรรมของอปท.ของตนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การตัดกระบวนการออกเสียงซึ่งมีผลเป็นการตัดสิทธิของประชาชนเรื่องนี้นับว่าขัดต่อหลักการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (Recall) ที่ได้รับการเคารพและปฏิบัติอยู่ทั่วโลกและที่มีอยู่เดิมในประเทศไทยอย่างชัดเจน นอกเหนือจากการขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว

3.      ร่างฯ นี้ได้เปิดช่องให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคขยายอำนาจเข้ามาแทรกแซงและควบคุม อปท.ภายใต้รูปแบบของการถอดถอนโดยการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอให้ผู้กำกับดูแล (รมต.มหาดไทยในกรณีผู้ว่ากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีอปท.อื่นๆ ทั่วประเทศ) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง แล้วให้ผู้กำกับดูแลนั้น มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งและอาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการสอบสวนทั้งที่อาจไม่ปรากฎว่ามีความผิดในท้ายที่สุดด้วย

การถอดถอนและการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยช่องทางนี้จึงไม่ได้เชื่อมโยงกับสิทธิที่จะได้ตัดสินใจในเรื่องที่เป็นแก่นสารสำคัญของการถอดถอนโดยประชาชนแต่อย่างใด แต่ทำให้กระบวนการถอดถอนตามร่างฯ นี้กลายเป็นกระบวนการเพิ่มอำนาจให้ผู้กำกับดูแลได้“อาศัยฐานอำนาจจากการเข้าชื่อของประชาชน” เข้ามาทำการสอบสวนอีกช่องทางหนึ่งอย่างไม่มีความจำเป็น ทั้งที่มีอำนาจสอบสวนตามปกติอยู่แล้วตามกฎหมายจัดตั้ง อปท.แต่ละฉบับ นอกจากนี้ จำนวนผู้เข้าชื่อให้สอบสวนก็มีเพียงไม่ต่ำกว่า 5,000 คนหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ (แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า) ไม่ว่าท้องถิ่นนั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กเพียงใด กรณีจึงเป็นไปได้ว่า แม้แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่เป็นผู้บริหาร อปท.ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศก็อาจถูกผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อยมากเพียงเท่านี้เข้าชื่อให้สอบสวนและอาจถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปโดยมิชอบ ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.มีอยู่เกือบ 5 ล้านคน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา พวกเราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกทุกท่านออกเสียงยังยั้งร่างกฎหมายนี้หรืออย่างน้อยที่สุดหาทางป้องกันหรือระงับปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังที่ห่วงกังวล และขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายโปรดติดตามการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภา  รัฐบาล และหน่วยงานรัฐทุกองค์กรที่ผลักดันร่างกฎหมายไปจนกว่าจะแน่ใจว่าร่างฯ นี้ได้ถูกยังยั้งหรือมีการแก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้องทั้งปวงลงแล้ว

รายชื่อสมาชิกเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.)

1.        รศ.ดร.โคทม อารียา                  มหาวิทยาลัยมหิดล

2.          รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

3.          อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.          รศ.ดร.พรอัมรินทร์  พรหมเกิด     มหาวิทยาลัยขอนแก่น

5.          อาจารย์ ดร. ศักดิ์ณรงค์ มงคล     มหาวิทยาลัยรังสิต

6.          ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ       มหาวิทยาลัยมหสารคาม

7.          รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว         มหาวิทยาลัยบูรพา

8.          รศ.ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง          มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

9.          อาจารย์ ดร. ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ        มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

10.      ผศ.ดร. บูชิตา สังข์แก้ว    มหาวิทยาลัยรังสิต

11.      นายเมธา มาสขาว           นักวิชาการอิสระ

12.      อาจารย์ ดร. จาตุรนต์ ทองหวั่น    มหาวิทยาลัยขอนแก่น

13.      ผศ.ว่าที่ร้อยตรีจตุพล ดวงจิตร      มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

14.      อาจารย์เขมมิกา ศรีร้อยคำ          มหาวิทยาลัยรังสิต

15.      อาจารย์รัศมี สุขรักษา      มหาวิทยาลัยรังสิต

16.      ดร.สมนึก จงมีวศิน         นักวิชาการอิสระ

17.      ผศ.ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช         จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

18.      อาจารย์ ดร.โอฬาร อ่องละ          นักวิชากากรด้านรัฐศาสตร์

19.      ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์       มหาวิทยาลัยมหิดล

20.      อาจารย์ธีรนันท์ ขันตี       มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

21.      นายบรรณ แก้วฉ่ำ          นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่น

22.      อาจารย์ ดร.วศิน โกมุท    มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

23.      อาจารย์กิติมา ขุนทอง     มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร

24.      อาจารย์พสุธา โกมลมานย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร

25.      ผศ.ดร.อัครเจตน์ ชัยภูมิ   มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

26.      อาจารย์ชุมพล ศรีรวมทรัพย์        นักวิชาการอิสระ

27.      ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์    นักวิชาการอิสระ

28.      นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ   นักวิชาการด้านสาธารณสุข

29.      อาจารย์สุนี ไชยรส                            มหาวิทยาลัยรังสิต

30.      ดร.ศรัณยุ หมั้นทรัพย์                          สถาบันพระปกเกล้า

31.      อาจารย์ ดร.ภัทรมน สุวพันธุ์          มหาวิทยาลัยรังสิต

32.      อาจารย์ ดร.ภูนท สลัดทุกข์         มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

33.      ผศ.ดร.สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์นักวิชาการอิสระ

34.      รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

35.      รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ         มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

36.      อาจารย์ ดร.นิดาวรรณ เพราะสุนทร            มหาวิทยาลัยรังสิต

37.      ผศ. เอกรินทร์ ต่วนศิริ                           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

38.      รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ         มหาวิททยาลัยสงขลานครินทร์

39.      อาจารย์อันวาร์ กอมะ          มหาวิททยาลัยสงขลานครินทร์

40.      ผศ. ดร.ชมพู โกติรัมย์                            นักวิชาการอิสระ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปธ.วันนอร์' ให้คะแนนซักฟอก 2 วัน ภาพรวมดี ชมเปาะสภาชุดนี้มีคุณภาพ

'วันนอร์' รับมีโอกาสเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ช่วง พ.ค. - มิ.ย. ถกงบปี 68 หลังรัฐบาลทำร่างเสร็จ ชี้สภาชุดนี้ทำงานดีมีประสิทธิภาพ ล่มแค่ครั้งเดียว ซักฟอก 2 วัน ภาพรวมดี ประท้วงแค่สีสัน

ยก 9 ปัจจัยหนุน 'เศรษฐา' นั่งเก้าอี้นายกฯอย่างมั่นคง-อยู่ยาว

ที่มีกระแสข่าวจากคว่ำร่างพรบ.งบประมาณรายจ่าย ปี 67 เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เป็นข่าวโคมลอย หรือการปล่อยข่าวทั้งสิ้น

'ชาญชัย' ชี้ช่อง 'ป.ป.ช.' ยกหลักฐานใหม่ อุทธรณ์ยกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์'

'ชาญชัย' รอคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม ยกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีจัดโรดโชว์ 240 ล้าน แนะ ป.ป.ช. ตั้งหลักยื่นอุทธรณ์ พร้อมชี้ช่องหลักฐานใหม่