4 รองผู้ว่าฯกทม. เรียงหน้าโว '99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง' ครบทุกด้าน

10 ก.ย.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เมื่อวานนี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมกับ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงผลการดำเนินงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ในงาน “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง”

โดยน.ส.ทวิดา กล่าวว่า ในแง่ของความปลอดภัยดี ทาง กทม. ถูกรับน้องตั้งแต่เหตุการณ์ไฟไหม้ และน้ำท่วม ซึ่งพบว่ามาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และในช่วง 99 วัน กทม.ได้จัดทำฐานข้อมูลทั้งหมด เพื่อไปสู่ Bangkok Risk Map หรือแผนที่ความเสี่ยง และทำข้อมูลบัญชีของทรัพยากรสำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัยให้ครบถ้วน

ในส่วนของสุขภาพดี ที่ผ่านมานั้น มีการสร้างคลินิกวันเสาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสุขภาพให้แก่ภาคประชาชนเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนที่มีทั้ง 2 แบบ คือ วัคซีนเชิงรุก ที่เข้าถึงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงคลินิก Long-Covid จำนวน 9 คลินิก ใน 9 โรงพยาบาลหลัก ที่ประชาชนสามารถไปปรึกษาอาการลองโควิดได้ รวมถึงศูนย์บริการคนพิการเบ็ดเสร็จใน 9 โรงพยาบาล และการเปิด Pride Clinic เพื่อความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาวิธีการดูแลตัวเอง รวมถึงวิถีทางเพศอีกด้วย

"กทม.เปิด Sand Box ทางสุขภาพ เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข หรือร้ายขายยา เพื่อเข้าสู่โรงพยาบาลในระดับทุตยิภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งครอบคลุม เขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ เขตบางพลัด ซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุง ทำให้ต่อจากนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ใกล้บ้าน"น.ส.ทวิดา กล่าว

น.ส.ทวิดา กล่าวต่อว่า ในอีก 99 วันต่อจากนี้ ทาง กทม. จะบริหารความปลอดภัยด้วยระบบข้อมูล และข้อมูลอาสาสมัครจัดการ ซึ่งประชาชนสามารถติดตามได้ และจะมีการระบุจุดวิกฤตของการเกิดน้ำท่วม หรืออัคคีภัย อีกทั้งในแง่ของสุขภาพดี Pride Clinic จะทำให้ได้ รวมถึงปรับการทำงานโครงสร้างของกทม. โดยให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยตามที่ ผู้ว่าฯกทม. ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

ด้านนายวิศณุ กล่าวว่า สำหรับ 99 วัน ตามนโยบายที่เราเคยให้ไว้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาและข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ เราจึงมียุทธศาสตร์ (Strategy) อย่างหนึ่งเพื่อทำให้งานเดินหน้าได้ นั่นคือ ความร่วมมือ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 1-2 เดือนแรก ผู้ว่าฯกทม. ได้เข้าพบขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำให้งานของกรุงเทพมหานครราบรื่น และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ เริ่มต้นด้วยเรื่อง การป้องกันน้ำท่วม สิ่งที่เราได้ดำเนินการมา คือทำอย่างไรให้เรามีข้อมูลในการจัดการ ซึ่งเราได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหลายส่วนเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ โดยได้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน อธิบดีกรมชลประทานหรือผู้แทน ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการวางแผนและการบริหารจัดการ ทั้งน้ำเหนือ น้ำในเขื่อน ให้สอดคล้องกับสภาพฝน ปริมาณน้ำหลังเขื่อนด้วย และหลังจากน้ำลงมาในคลองแล้ว เราได้มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำปั๊มน้ำ และเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งเราได้มีการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย เพื่อทำให้น้ำไหลจากหน้าบ้านลงสู่คูคลองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้เราดำเนินการไปแล้ว 3,358 กิโลเมตร ในส่วนของการขุดลอกคลองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเนื่องด้วยเรื่องงบประมาณตามที่แจ้งไว้ข้างต้น แต่สิ่งที่เราทำได้เยอะคือการเปิดทางน้ำไหล 1,665 กิโลเมตร เพื่อระบายให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น คนอาจจะสังเกตเห็นว่าเราขุดคลองให้ลึกและนำที่ขุดมาแปะไว้ข้าง ๆ นั่นคือQuick Win หมายถึงเป็นการทำให้ร่องกลางน้ำลึกมากขึ้นและทำอย่างรวดเร็ว เพื่อรับน้ำในฤดูฝนนี้ก่อน ซึ่งได้ขุดลอกแล้ว 32 คลอง ส่วนในปีหน้าได้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ขุดลอกได้อย่างจริงจัง

นายวิศณุ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครได้จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 กิโลเมตร โดยได้ขอความร่วมมือกับเจ้าของที่ เพื่อรับน้ำเหนือและน้ำหนุนที่จะมา เราได้มีการก่อสร้างเขื่อนถาวรในปีงบประมาณนี้ 1.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในปีหน้าจะต้องทำให้ครบ 3.1 กิโลเมตรอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของที่เพื่อทำเขื่อนถาวรด้วย ในเรื่องของการลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณถนนสายหลัก ได้มีการรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักมาวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ตรงจุด โดยในปี 2565 ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักจาก 9 จุดเหลือ 2 จุด นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมจุดเสี่ยงน้ำท่วมถนนสายย่อย จุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่เส้นเลือดฝอยเพื่ออัปเดตในระบบให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

“เราทำอย่างเต็มที่ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เรื่องของการพร่องน้ำในคลอง และเรื่องของการเร่งระบายน้ำจากบ้านลงคลอง แต่หากมีการท่วมเพราะปริมาณฝนช่วงนี้ ซึ่งตกหนักในแต่ละวัน หรือเกินเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกรุงเทพมหานครก็ได้ระดมพลกัน ในกรณีที่เกิดความเสี่ยงท่วมขัง โดยหลายเขตได้มีการจัดรถรับ-ส่งประชาชนในจุดเปราะบางน้ำท่วม รวมถึงขอความร่วมมือจากทหารมาช่วย และระดมกำลังหน่วยงานของกทม. สำนักเทศกิจสำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ทุกคนช่วยกันหมด นอกจากรับ-ส่งประชาชนแล้ว ก็มีการส่งทีมไปซ่อมรถให้ จะเห็นได้ว่าเราก็ทำทุกวิถีทางที่จะอำนวยความสะดวกเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา” นายวิศณุ กล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า อีกทั้งในส่วนการปรับปรุงทางม้าลาย 1,286 จุด จาก 2,788 จุด ระบบ CCTV และการขอภาพซึ่งมีคนขอไปแล้ว 1,168 ราย และการคืนพื้นผิวจราจร ทำจุดเสี่ยงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย 100 จุด ย้อนหลัง 3 ปี โดยดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยง 2 จุด และเตรียมการปรับปรุง 54 จุด วิเคราะห์อีก 44 จุด นำสายสื่อสารลงดิน และจัดระเบียบสายสื่อสารที่กำลังเร่งพัฒนาการบริหารต่อไป นอกจากนี้มี เรื่อง การนำสายสื่อสารลงดิน เป็นความดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในการนำสายไฟฟ้าลงดินก่อน โดยมีแผน 174 กิโลเมตร ตั้งเป้าปีนี้ 74 กิโลเมตรปัจจุบันแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร จากนั้นจะประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะประสานงานต่อไปยังผู้ประกอบการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมรายต่างๆ เพื่อให้นำสายสื่อสารลงดิน

ในส่วนของ กทม. จะดูแลเรื่อง การจัดระเบียบสายสื่อสาร คือ ตัดสายตายและจัดระเบียบใหม่ โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ประสานงานกับ กสทช. และผู้ประกอบการต่าง ๆ ซึ่งตามแผนของ กสทช. คือจัดระเบียบสายสื่อสารให้ได้ 800 กิโลเมตร ใน 2 ปี โดยปีนี้ กสทช. มีแผน 390 กิโลเมตร ทำไปแล้วกว่า 60 กิโลเมตร และ กทม. ได้เข้าไปช่วยในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางเร่งรัดกระบวนการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เร็วขึ้นและมากขึ้น โดยเพิ่มเป้าหมายปีนี้ที่ 500 กิโลเมตร เป้าหมายใน 2 ปี เพิ่มเป็น1,000 กิโลเมตร ปัจจุบันแล้วเสร็จ 18 เส้นทาง ระยะทาง 79.62 กิโลเมตร

ในขณะที่ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ได้มีการทำจุดการค้าหาบเร่แผงลอย สวน 15 นาที และนโยบายด้านการจัดการขยะโดยในส่วนการจัดทำจุดการค้านั้น ได้มีการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยเป้าประสงค์คือ ต้องการให้ประชาชน และหน่วยงานมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุด โดยทำพื้นที่การค้า 95 จุด ซึ่งจะมีผู้ค้ารายย่อยจำนวน 6,048 ราย ซึ่งระยะเวลานั้น ได้ตั้งเป้าระยะที่ 1 ในเดือน ก.ย. - พ.ย. 2565 17 จุด ระยะที่ 2 ธ.ค. 2565 29 จุด และระยะที่ 3 มี.ค. - พ.ค. 2566 อีก 26 จุด ขณะที่พื้นที่ทำการค้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ความยาว 210 เมตร ผู้ค้า 70 ราย

ด้านนโยบายสวนสาธารณะ 15 นาที มีแนวคิดคือ สวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะทางเดินประมาณ 400-800 เมตร จากละแวกบ้าน มีกำหนดทำคือ เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะ เขตวัฒนา เขตจตุจักร รวมถึงโครงการลดและคัดแยกขยะจากประเภทแหล่งกำเนิด โดยปี 2566 เพิ่มประเภทละ 3,600 แห่ง

นอกจากนี้ นายศานนท์ กล่าวว่า ตนได้จัดทำแนวคิดเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ต้องทำหลายมิติพร้อมๆ กัน ซึ่งจากที่ผ่านมา ประชาชนจะเห็นภาพการทำกิจกรรมให้เมืองมีชีวิตเพื่อให้ทุกมาใช้ชีวิต เช่นดนตรีในสวน และ 12 เทศกาล 12 เดือน เช่น กรุงเทพฯ กลางแปลง หรือ Bangkok Pride Month บางกอกวิทยา ฯลฯ

“ตนได้ทำนโยบายดึงอัตลักษณ์ชุมชนของแต่ละชุมชนมาจัดกิจกรรม เช่น ถนนคนเดิน ซึ่งได้มีการนำร่อง 11 ย่าน และเปิดพื้นที่บริการเฉพาะจุดให้คนไร้บ้าน 4 จุด ซึ่งมีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คน จุด/วัน การยกระดับสวัสดิการคนพิการ โดย กทม.จ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น 212 คน ใน 50 เขต รวมเป็น 324 คน และพัฒนาคุณภาพให้คนพิการรวมถึงสนับสนุนอาชีพ และเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้สร้างสรรค์อาชีพ “ นายศานนท์ กล่าว

นายศานนท์ กล่าวต่อว่า ในแง่ของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีการเปิดความโปร่งใส ภายใต้นโยบาย Open Bangkok เช่น การเปิดร่างงบประมาณปี 2566 และแพลตฟอร์มปลูกต้นไม้ล้านต้น อีกทั้งนโยบายการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Open Education) โครงการสอนน้องนอกเวลาเรียน วิชาชีพเลือกเสรี และ After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนภายในปีหน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง