กทม. แจงปม 'อรรถวิชช์' แฉตัดงบแก้น้ำท่วม จัดสัมมนาทุกปีไม่ได้เที่ยว แต่ศึกษาดูงาน

12 ก.ย.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. แถลงถึงกรณีเรื่องงบประมาณกทม. ว่า การพิจารณางบทุกปี หลังจากที่ได้มีการผ่านวาระแรกแล้ว จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา ซึ่งจะประกอบไปด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และข้าราชการในส่วนของฝ่ายบริหาร โดยในคราวนี้การพิจารณางบประมาณ ก็ไม่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่ได้มีการพิจารณางบประมาณแล้วคณะกรรมการก็ได้มีการเข้าไปพิจารณาว่าโครงการ หรือรายการไหนที่จะสามารถผ่านไปดำเนินการในปีต่อไปได้ และยืนยันว่าคณะกรรมการวิสามัญไม่มีการตัดงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องการระบายน้ำ แต่ในขณะเดียวกันคณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ได้มีการพิจารณาว่า หากในกรณีโครงการหรือรายการไหนซึ่งอาจจะมีการเบิกจ่ายล่าช้าหรือการทำงานที่ไม่ไปเป็นตามสัญญา ก็อาจจะมีการลดจำนวนงบประมาณลง แต่ยืนยันไม่มีการตัด

นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในส่วนของเขตจตุจักร ก็เช่นกัน เพราะโดยเฉพาะของเขตจตุจักรใช้งบประมาณไปประมาณ 536 ล้านบาท ในรอบแรกคณะกรรมการวิสามัญตัดไปแค่ 6 หมื่นบาท ซึ่งเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างพื้นที่สีเขียว แต่หลังจากนั้นเขตจตุจักร คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว ผู้อำนวยการเขต ได้มีการแปรฯงบประมาณมากพอสมควรประมาณเกือบ 20 ล้านบาทในจำนวนนี้มีเกี่ยวกับเรื่องการขอเงินไปทำการลอกท่อระบายน้ำเพิ่มเติม 3 ล้าน และทำฝาท่อระบายน้ำเพิ่ม 2 ล้าน ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญให้ผ่านหมด แต่ในขณะเดียวกันงบประมาณโดยรวมของสำนักงานเขตจตุจักร เฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง รวมแล้วเกือบประมาณ 20 ล้านบาทคณะกรรมการวิสามัญ ไม่ตัดเลย

นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า แต่ในส่วนของงบแปร สำนักงานเขตจตุจักรได้ขอโครงการเกี่ยวกับของอบรมดูงานสัมมนามา 5 โครงการ 1. เป็นโครงการสัมมนาของข้าราชการพนักงานเขตจตุจักร 2.เป็นการศึกษาดูงานของกลุ่มงานพนักงานเขตจตุจักร และอีก 3 โครงการเป็นโครงการที่เกี่ยวกับชุมชนไปศึกษาดูงาน ซึ่งสำนักงานเขตต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนรวม ทั้งนี้ การขอจัดตั้งงบประมาณและมีการแปรญัตติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง แต่ขณะเดียวกันยอมรับว่าหากกรณีสำนักงานเขตพิจารณาแล้ว อาจจะมีการขอยกเลิกโครงการก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ นอกจากนี้เขตอื่นๆมีลักษณะโครงการคล้ายกันแต่จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจำนวนของราชการ บุคลากรแต่ละเขต

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ และมีการตั้งข้อสังเกตอะไรหรือไม่ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ปกติที่ผ่านมาก่อนหน้านี้โครงการลักษณะเช่นนี้มีมาทุกปี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อปี 61-62 มีปัญหาเรื่องโควิด-19 โครงการพวกนี้จึงหายไปและเรื่องดังกล่าวเป็นความประสงค์ของชุมชนที่ต้องการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและสำนักงานเขตในพื้นที่ ที่อาจจะเป็นการเสริมสร้างการทำงาน

เมื่อถามว่า ระดับบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ มีข่าวว่าเป็นหัวคะแนนไป นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า จำนวนคนขึ้นอยู่กับจำนวนงบประมาณที่สำนักงานเขตเป็นผู้ตั้ง และคนที่ไปขึ้นอยู่กับการคัดเลือกของสำนักงานเขต และการขอจัดสรรงบประมาณในแต่ละครั้งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ส.ก.ไม่มีอำนาจโดยที่ฝ่ายบริหารไม่จัดสรรลงไป และขอยืนยันว่าการที่สำนักงานเขตจะนำหัวคะแนนไปเที่ยว ทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆไม่ได้นำคนไปเที่ยว แต่เป็นโครงการเพื่อพาบุคลากรไปศึกษาดูงาน และย้ำว่าโครงการไปเที่ยวไม่มีเด็ดขาด

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกต เรื่องงบประมาณว่า กทม. มีการตัดงบแก้ปัญหาน้ำท่วมจากสำนักงานเขต ไปใช้จ่ายอย่างอื่น จะชี้แจงอย่างไร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า มีโครงการศึกษาดูงานจริง ซึ่งระบบราชการมักถูกมองว่าพาไปเที่ยว ขออนุญาตพูดว่าบางทีเราสามารถไปเรียนการบริหารจัดการ การพัฒนา จากพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้ ไม่ใช่หมายความว่าการออกนอกสถานที่จะไม่สามารถทำให้เกิดบทเรียน และการฝึกฝนได้ ประเด็นที่ 2 การออกไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้มีเวลา และสามารถมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เราต้องการให้เกิดจากโครงการในแต่ละครั้งได้ดั้งนั้น การกำกับรายละเอียดโครงการ ใครเป็นคนไป ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะพบเห็นภาคประชาชนที่ค่อนข้างแอ๊กทีฟ ไปร่วมโครงการนี้ด้วย เป็นได้อยู่แล้ว เพราะโดยเนื้อหาของโครงการ ต้องการให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ดังนั้น ตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม.เอง กำลังพยายามให้เราใช้ การจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม

“แต่ปกติเวลาเราพูดถึงการจัดสรรงบ จะมีความเป็นเทคนิค ความละเอียดค่อนข้างเยอะ การที่ภาคประชาชนได้ทำความเข้าใจว่า โครงการแบบไหน ความต้องการแบบไหนของชุมชน กลไกแบบไหนของประธานชุมชนและผู้แทนชุมชน ในลักษณะต่างๆ จะสามารถจัดทำโครงการขึ้นมาได้ อาทิ โครงการสุขภาพในระดับเขต การไปแบบนี้จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจอกัน เขตก็จะได้ทราบว่า ทำไมภาคประชาชนถึงติดขัด ไม่สามารถเขียน หรือจัดทำโครงการขึ้นมาได้ มันยากอะไรที่ตรงไหน ประชาชนเองจะได้รับความช่วยเหลือจากทางเขต แนะนำโครงการแบบนี้ งบประมาณแบบนั้นหมวดการเบิกจ่ายแบบนี้ ทำให้ความเข้าใจเกิดขึ้นได้มากขึ้น” น.ส. ทวิดา กล่าว

น.ส.ทวิดา กล่าวต่อว่า อีกประเด็น คือเนื้อหาในการพัฒนา ถามว่าทำไมต้องการพัฒนาบุคลากรเขตด้วย พวกเราเข้ามา 3 เดือน เราเปลี่ยนการทำงานไปเยอะมาก โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี และรวมถึงการทำงานในรูปแบบที่เอาเป้าไว้พุ่งชน ซึ่งวิธีการทำงานแบบนี้ จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องทำให้เขตบางเขตนำร่องขึ้นมา เขตที่มีปัญหายากๆ ได้มีโอกาสเข้าใจวิธีการแบบนี้ ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องการโครงการแบบนี้ในการไปให้ความรู้ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้นเมื่อโครงการจะถูกอนุมัติ ซึ่งจะอนุมัติโดยพวกเรา เป็นผู้ที่ดูรายละเอียดของโครงการว่า ถ้าไป 2-3 วัน ไม่เห็นเนื้อหาอะไรเลยในการพัฒนาศักยภาพ ก็ไม่ต้องไป และนายชัชชาติ ได้กำชับเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

ถามย้ำว่า ยืนยันว่าไม่มีการตัดงบเรื่องการระบายน้ำ น.ส.ทวิดา กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการตัดงบ นายจักกพันธุ์ นั่งดูรายรายการเลยว่าไม่มีการไปลดส่วนนั้น จริงๆ แล้วเราไปทำอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถ้าเราทำแบบนั้น มันไม่ควรผ่านออกมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นปัญหาหลักใหญ่มากของพื้นที่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ศิลปะกลางแจ้งย่านเก่า หนุนกรุงเทพฯ เมืองที่ดีที่สุด

กรุงเทพฯ ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลังนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดัง DestinAsian ประกาศให้กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุด (Best Cities 2024)  ในประเภทเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Destination) ในเอเชียแปซิฟิก

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม ‘พัก กะ Park’ เปลี่ยนสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.), กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance)