ควรจบเสียที! เผยเหตุ ราชวงศ์ไทยส่ง 'ตัวแทนพระองค์' ร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2

'พล.ท.นันทเดช'เผย งานพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 มีมาตราการรปภ.อย่างเข็มงวดมากกว่าทุกงาน มีข้อจำกัดการเดินทางเข้าร่วมของประมุขประเทศต่างๆ ราชวงศ์ไทยจึงส่ง'ตัวแทนพระองค์' ไปแทน เพื่อลดภาระของเจ้าภาพ

23 ก.ย.2565 - พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาดังนี้

'เรื่องนี้ควรจบเสียที'

การทำงานของรัฐบาลอังกฤษ ตามแผนการปฏิบัติต่างๆ ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งรัฐบาลอังกฤษในฐานะผู้ดำเนินงานหลักนั้น ได้รับความกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่าย เนื่องมาจากมีการกำหนดมาตราการ รปภ. อย่างเข็มงวดมากกว่าทุกงาน ที่เคยจัดขึ้นมาในกรุงลอนดอน และยังมีการนำปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น

1. การห้ามบางประเทศไม่ให้เข้าร่วมพระราชพิธีเนื่องจากสาเหตุทาง การเมืองระหว่างประเทศ

2. ข้อจำกัดการเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีของประมุขประเทศต่างๆ เช่น การห้ามเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว (ยกเว้นประเทศที่ได้รับอนุญาต) เพราะจะทำให้การจราจรทางอากาศคับคั่งมากถ้าประมุขทุกประเทศใช้ เครื่องบินส่วนตัวเหมือนกันหมด พร้อมกับห้ามใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธี โดยให้นำรถส่วนตัวไปจอด
ไว้ที่โรงพยาบาลหลวงเชลซี จากนั้นใช้รถบัสรวมเดินทางมาที่บริเวณพระราชพิธีร่วมกัน เพื่อการ รปภ.จะทำได้ง่ายขึ้น

ข้อจำกัดเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นข้อห้ามที่จำเป็น เพราะ

(1) อังกฤษเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากสหรัฐฯ แม้กรุงลอนดอนจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะมีกล้องวงจรปิดชนิดระบุอัตลักษณ์ได้จำนวนมาก เปรียบเทียบว่า “ถ้าเดินอยู่ในลอนดอน ไปตรงไหนก็จะมีกล้องวงจรปิดจับอยู่ที่ตัวเราในมุมต่างๆ อย่างน้อย 5 กล้องขึ้นไป” แต่ระบบ รปภ.ดังกล่าวก็มีขีดจำกัดในเรื่องการรองรับปริมาณคนเช่นกัน จึงอาจไม่สามารถจะดูแล VVIP และคณะผู้ติดตามซึ่งมีจำนวนมากได้อย่างครบถ้วน

(2) พื้นที่จัดงานมีขนาดจำกัดไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่เข้าร่วมงาน ประกอบกับทางรัฐบาลอังกฤษก็ไม่สามารถจะควบคุมประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานที่จัดงานได้ทุกคน ซึ่งคาดว่าจะมีพสกนิกรเข้าร่วมงานประมาณ 350,000 คนขึ้นไป

(3) กำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพื้นที่ไม่เพียงพอการออกข้อบังคับดังกล่าวนั้น รัฐบาลอังกฤษน่าจะพิจารณาจากบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมงาน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเครือข่ายสมาชิกราชวงศ์ในประเทศทางยุโรป (พระญาติ)

2. กลุ่มประมุขประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations) ที่มีรัฐเอกราช 56 ชาติ (โดยในจำนวนนี้ 14 ประเทศมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐ)

3. กลุ่มประมุขของประเทศในยุโรป

อนึ่ง ประเทศทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ประมุขของประเทศสามารถเดินทางไปได้สะดวกโดยไม่ต้องใช้เครื่องบิน ยกเว้นแต่ประเทศในเครือจักรภพที่ห่างไกล เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ศรีลังกา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องบิน แต่ประเทศในกลุ่มนี้มีความผูกพันกับสหราชอาณาจักรมากกว่าปกติจึงน่าจะได้รับการผ่อนปรน เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่สามารถนำเครื่องบินส่วนตัวมาได้ ส่วนประเทศยุโรปอื่นๆที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็สามารถเดินทางเข้าสู่กรุงลอนดอนได้ง่ายทั้งทางรถยนต์ และทางรถไฟ

4. ประเทศอื่นๆ นอกจาก 3 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลอังกฤษทราบดีถึงความลำบากในการเดินทาง จึงระบุให้สามารถส่งตัวแทนประมุขของประเทศเข้าร่วมพระราชพิธีได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะข้อจำกัดในการ รปภ.บุคคลสำคัญของอังกฤษตามที่กล่าวมาแล้ว

อนึ่ง ขอย้ำว่า การ รปภ.ครั้งนี้ ของรัฐบาลอังกฤษ ได้มีการดำเนินงานอย่างจริงจังมากที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ ตำรวจทั่วประเทศถูกระดมมาอยู่ที่กรุงลอนดอนเกือบทั้งหมด รวมทั้งทีมงานข่าวกรองด้วย การวางกำลังชุดเฉพาะกิจ หน่วยสไนเปอร์ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ (SAS) ซึ่งได้เข้ามาปฏิบัติการ ในกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก เพื่อป้องกันเหตุการร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกห้วงเวลาประเทศไทยนั้นได้รับจดหมายเชิญประมุขของประเทศเข้าร่วมด้วย แต่เนื่องจาก รัฐบาลอังกฤษมีคำแนะนำอย่างจริงจัง (Strongly advice) ว่า “ขอไม่ให้เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว” และขอให้ขึ้นรถรวม Shuttle Bus เข้างาน แทนรถยนต์ส่วนตัว

แน่นอนว่าคำแนะนำดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางของประมุขหลายสิบประเทศที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรป จึงเลือกใช้วิธี ส่งตัวแทนไปร่วมงานแทน

ดังนั้นราชวงศ์ไทยซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับราชวงศ์อังกฤษ (ไม่ใช่รัฐบาลอังกฤษ) ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว จึงส่ง”ตัวแทนพระองค์”ไปแทน เพื่อลดภาระในการดูแลและการรักษาความปลอดภัยของเจ้าภาพ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและราชวงศ์อังกฤษคงเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้สิทธิพิเศษแก่สหรัฐฯ ในการนำเครื่องบินส่วนตัวมาเองพร้อมด้วยทีมคุ้มกันและไม่ต้องขึ้นรถบัสรวมนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดปกติอย่างไร เพราะสหรัฐฯ คือศัตรูลำดับ 1 ของ กลุ่มผู้ก่อการร้ายและอีกหลายสิบกลุ่ม จึงจำเป็นต้องขอรับสิทธิพิเศษเป็นปกติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามต้องคำนึงว่างานพระราชพิธีครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษเป็น แม่งานหลักในการจัดงานไม่ใช่สำนักพระราชวังอังกฤษ จึงมีการนำเรื่อง ทางการเมืองและความเป็นพันธมิตรในกลุ่มนาโต้เข้ามาร่วมพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดคาดแต่อย่างใดเมื่อการแบ่งขั้วอำนาจของโลกในปัจจุบันนี้มีลักษณะที่เกิดขึ้นซึ่งเห็นและรับทราบกันทั่วไปอย่างชัดเจน

เรื่องนี้จึงควรยุติลงได้แล้ว เพราะถ้าพูดกันไปพูดกันมา รัฐบาลอังกฤษก็ยิ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากขึ้นโดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่สามารถจะให้ความเท่าเทียมแก่ประมุขของประเทศต่างๆ ได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ประชาชนทั้งสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในความโศรกเศร้าเช่นนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตบิ๊กศรภ.' โต้ 'อ.สุลักษณ์' มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ ปฏิวัติ2475 ผิดพลาด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง "อ.สุลักษณ์ กับ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ" 2475 มีเนื้อหาดังนี้

'อดีตบิ๊กศรภ.' จับผิดอีกจุด 'ขุนศึก ศักดินา กับ ความล้มเหลวของการปฏิวัติ 2475'

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ขุนศึก ศักดินา กับ “ความล้มเหลวของการปฏิวัติ 2475” มีเนื้่อหาดังนี้

จับตา 2 เรื่องใหญ่! กระทบความมั่นคงชาติ

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มีเรื่องน่าสนใจที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในห้วงเวลานี้

อดีตหัวหน้า ศรภ. เผยเรื่องที่น่าห่วงใย มักจะปรากฏในยุครัฐบาลเครือข่ายทักษิณ

9 ม.ค.2567 - พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าเรื่องที่น่าห่วงใยที่สุดของไทย ซึ่งมักจะปรากฏขึ้นทุกครั้งในยุครัฐบาลเครือข่ายทักษิณ