ผลงาน 'ชัชชาติ' เอาแน่ย้ายศาลาว่าการ กทม. สร้างพิพิธภัณฑ์แทน

1 ธ.ค.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และลานคนเมืองสู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า การประชุมวันนี้(1 ธ.ค.) มีมติให้เตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชุดย่อยขึ้นมา โดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเช่น จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และแต่งตั้งที่ปรึกษาฯ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านสร้างคุณค่าและเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ วันนี้คณะกรรมการฯ หลายท่านได้เดินดูพื้นที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า โดยละเอียดทุกชั้น และอยากให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวที่เป็น “สะดือกรุงเทพ” ที่ทุกคนต้องมาเยือนเพราะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ให้เป็นเหมือนสปริงบอร์ดเพื่อนำกระโดดไปสู่สถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ โดยพิพิธภัณฑ์ต้องมีชีวิต ต้องนำเสนอเรื่องราวที่ทันสมัยต่อสถานการณ์อยู่เสมอ ซึ่งเรามีตัวอย่าง เช่น พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงษ์ และพิพิธภัณฑ์ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หรือ “ข่วน” ที่ปรับเปลี่ยนศาลากลางจังหวัดเป็นพิพิธภัณฑ์และถนนคนเดิน บริเวณอนุสาวรีย์ลานสามกษัตริย์ ซึ่งเปลี่ยนให้เป็น People Square คือ ที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม ซึ่งคล้ายกับศาลาว่าการกทม.ที่มีลานคนเมือง แต่เนื่องจากกรุงเทพฯมีรายละเอียดมากมาย และเป็นเมืองใหญ่ จึงต้องคิด พิจารณาผลกระทบ ให้รอบคอบ รอบด้าน และต้องใช้เวลาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการดำเนินการย้ายสถานที่ของหน่วยงานในกทม. ที่ต้องมีการของบประมาณเพื่อปรับปรุงสถานที่ทำงานที่ศาลาว่าการกทม.ดินแดง ซึ่งเรื่องที่ยากไม่ใช่การย้ายสถานที่ทำงานเพราะนั่นเป็นเรื่องของบประมาณและการปรับปรุงสถานที่ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ยากคือการทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่เป็นที่สนใจ สามารถจูงใจคนและนักท่องเที่ยวให้มาชมพิพิธภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้พิพิธภัณฑ์มีความน่าตื่นเต้นและมีค่าสูงสุดกับเมือง ซึ่งนั่นเป็นศิลป์และมีความท้าทายเพราะมีหลายแนวทางในการดำเนินการ

“พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งที่เร่งด่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเพราะพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว จะมีชีวิตชีวาและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยอาจจะแบ่งเป็น โซนอดีตอันรุ่งเรือง ปัจจุบันอันน่าตื่นเต้น และอนาคตที่เป็นไปได้ รวมถึงโซนแสดงเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ต่าง ๆ โดยจะนำเสนอทั้งเรื่องบวกและเรื่องลบเพื่อเป็นข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอีกด้วย” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรของกทม.และร้านค้าย่านเสาชิงช้า ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะกลัวผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เห็นใจและพยายามชี้แจงเหตุผลอยู่ ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทยก็จะมีการย้ายที่ทำการทั้งกระทรวงเช่นกันเพื่อความเหมาะสมของเมือง เนื่องจากบริบทของคนทำงานกับแหล่งวัฒนธรรมของเมืองอาจจะไม่สอดคล้องกัน แต่เราต้องเอาประโยชน์ของเมือง และส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าหลายอย่างอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบได้ เช่น กทม.จะพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทาง รวมถึงการประสานเครือข่ายโรงเรียนต่าง ๆ ให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่บริเวณใกล้เสาชิงช้า ซึ่งจะมีการประสานงานและดูแลเรื่องโรงเรียนให้เหมาะสม ซึ่งก็ยังพอมีเวลาสำหรับการเตรียมตัวให้ผู้ได้รับผลกระทบพอสมควร และขอยืนยันว่าศาลาการกทม.ดินแดง มีพื้นที่เพียงพอต่อการทำงาน แต่อาจต้องมีการปรับปรุงสถานที่ในแต่ละชั้นให้มีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงเรื่องระบบความปลอดภัย เช่น ลิฟท์และน้ำรั่วซึม เป็นต้น

ทั้งนี้ การย้ายสถานที่ทำการของกทม.จากศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ไปรวมไว้ที่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. (ดินแดง) มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดในประเด็นดังกล่าว คือคณะกรรมการบริหารจัดการในการย้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานครไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และลานคนเมืองสู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร โดยทั้ง 2 คณะกรรมการมีบทบาทต่างกัน คือบทบาทด้านการควบคุมการย้าย พัฒนาพื้นที่รองรับการย้ายข้าราชการและพนักงานของกรุงเทพมหานครกว่า 2,500 คน และบทบาทด้านการพิจารณาว่า เมื่อย้ายแล้วจะบริหารจัดการพื้นที่บริเวณศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) จะปรับเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง โดยย้ายสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เข้าไปอยู่ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาการประชุมได้หารือถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่

โดยสามารถสรุปได้ว่าหากมีการย้ายจะต้องปรับปรุงพื้นที่เดิมโดยมีเป้าหมาย 4 ข้อ คือ 1.เป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งรวบรวมความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานคร ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 2.ต้องสามารถเป็นหมุดหมายการเดินทางให้สำเร็จ โดยยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางทั่วโลก 3.ต้องเป็นการฟื้นฟูสภาพของเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร ทั้งพื้นที่ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและเกาะรัตนโกสินทร์ และ 4.ต้องแสดงถึงชีวิตของคน มีกิจกรรมของคน มีพื้นที่ให้คนมาสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ให้มีกิจกรรมเกิดขึ้น โดยกรรมการทั้ง 2 คณะที่ตั้งขึ้นมีระยะเวลาในการดำเนินการศึกษา 2 ปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ศิลปะกลางแจ้งย่านเก่า หนุนกรุงเทพฯ เมืองที่ดีที่สุด

กรุงเทพฯ ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลังนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดัง DestinAsian ประกาศให้กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุด (Best Cities 2024)  ในประเภทเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Destination) ในเอเชียแปซิฟิก