คว่ำบาตรพรรคจับกัญชาขังคุก หยิบบาป 7 ประการคานธี สอน 'พิธา'

เครือข่ายกัญชา ประกาศไม่เลือกพรรคการเมือง  นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด “อนุทิน” ดอดขอกำลังใจหลังโดนการเมืองเล่นงานสะบักสะบอม “ประพัฒน์” หยิบยก บาป 7 ประการของมหาตมคานธี สอน “พิธา” อย่าเล่นการเมืองไร้หลักการ

7 พ.ค.2566 -  ที่ห้องประชุมอดุล วิเชียรเจริญ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน ร่วมแถลงการณ์ แสดงจุดยืนในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดและมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม โดยมีเข้าร่วมแสดงจุดยืน อาทิ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยมหาวิทยาลัยรังสิต ,นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, พญ.สุภาภรณ์ มีลาภ คลินิกเวชกรรมอุ่นใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้กัญชาในการรักษาผู้ป่วยและเด็กจำนวนมาก, พล.อ.ต.นพ.ไกรสร วรดิถี, ศ.พิเศษ ดร.เพียงฤทัย วรดิถี วรดิถีคลินิกเวชกรรมและกัญชาทางการแพทย์ ,ผศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย และเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจอีกเป็นจำนวนมากจนล้นห้องประชุม โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรับฟังด้วย

โดยแถลงการณ์ สรุป ว่า เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชนขอแถลงการณ์ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองได้โกหกและบิดเบือน ในประเด็นดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก นักการเมืองที่อ้างว่าคัดค้านกัญชาเสรี และต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในฝ่ายนิติบัญญัติที่นำมาสู่การปลดล็อกกัญชามาแล้วทั้งสิ้น

 พรรคการเมืองที่กลับลำอ้างว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกในวันนี้ เช่นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล ฯลฯ ได้เคยส่งตัวแทนของพรรคตัวเองเข้าไปทำการศึกษาในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสภาผู้แทนราษฎร แล้วสรุปมาเป็นผลการศึกษาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ว่าเห็นควรให้ปลดล็อกกัญชา กัญชง และกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดทุกประเภท

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เห็นชอบให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งการปลดล็อกดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค 3.85 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะแพทย์ไม่จ่ายกัญชาให้ และเข้าไม่ถึงกัญชา ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องถูกจับกุม และยังมีผลทำให้มีนักโทษในความผิดเกี่ยวกับกัญชาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพจากเรือนจำคืนกลับสู่ครอบครัวทันที 3,071 คน และได้รับการลดโทษอีก 1,004 คน และศาลได้จำหน่ายคดีกัญชาที่อยู่ในศาล 7,488 คดีออกจากสารบบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ฯลฯ ได้ลงมติเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทยอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 92 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุถึงเหตุผลเอาไว้ว่าเพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีกต่อไป พรรคการเมืองที่ได้ลงมติเห็นชอบในวาระรับหลักการนี้ ย่อมทราบแล้วว่าที่จำเป็นต้องมีกฎหมายพ.ร.บ. กัญชา กัญชง เพราะกัญชานั้นไม่ได้เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดตามมติของรัฐสภาแล้ว

ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกัญชา กัญชง จำนวน 25 คนจาก 8 พรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทยฯลฯ เพื่อทำให้กฎหมายมีการควบคุมอย่างรัดกุมขึ้นเทียบเคียงกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมยาสูบ และการควบคุมพืชกระท่อม เป็นผลทำให้เพิ่มบทบัญญัติจาก 45 มาตรา มาเป็น 95 มาตรา จนเป็นที่ยุติและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2

“แต่แทนที่พรรคการเมืองจะได้ช่วยกันเร่งพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการฯให้แล้วเสร็จ กลับใช้วิธีไม่เข้าประชุมเพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอ้างว่าไม่ต้องการกัญชาเสรี แต่กลับไม่ให้ความร่วมมือออกกฎหมายควบคุม”

ประเด็นที่สอง การหาเสียงบิดเบือนว่าแม้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ขอยืนยันว่าข้อเสนอเหล่านี้ขัดแย้งกับสภาพข้อเท็จจริงในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา ประชาชนจำนวนมากที่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายที่ผ่านมา ก็ยังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในประเทศไทยมีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก ร้อยละ 93 หรือประมาณ 3.58 ล้านคน และมีผู้ที่ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 58 หรือประมาณ 2.23 ล้านคน

โดยปัจจุบันมีประชาชนได้ปลูกกัญชาจำนวนมาก มีผู้ประกอบการสร้างโรงงานการผลิตอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง ที่ได้มาตรฐาน และได้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง จำนวนมาก สร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศอย่างชัดเจน สถานการณ์กัญชา กัญชง ของประเทศไทยในขณะนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเป็นยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่กัญชา กัญชงของประเทศไทยได้ขยายโอกาสในด้านการส่งเสริมสุขภาพและเศรษฐกิจของประชาชนอย่างรอบด้านแล้ว

การทำให้กัญชาที่มีประโยชน์ต่อประชาชนกลับไปเป็นยาเสพติดอีก จะทำให้กัญชากลับไปถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนแพทย์และบริษัทยาเพียงไม่กี่คน ซึ่งได้เคยพิสูจน์แล้วว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่จ่ายกัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน บางส่วนเป็นเพราะการเป็นยาเสพติดทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไปเป็นภาระต่อแพทย์ในการจ่ายกัญชาให้ประชาชน บางส่วนเกิดจากอคติของแพทย์ที่ต่อต้านกัญชา บางส่วนเป็นเพราะแพทย์และบริษัทยาจำนวนหนึ่งเสียผลประโยชน์จากกัญชา เนื่องจากกัญชาจะสามารถมาทดแทนการใช้ยาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศจำนวนมาก

ประเด็นที่สาม ปัจจุบันกัญชาไม่ได้เสรี ตามที่นักการเมืองกล่าวอ้าง เพียงแต่ขาดกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติมาควบคุม แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติหลายฉบับ มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกัญชา รวมประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆไม่ต่ำกว่า 12 ฉบับ ผลที่ตามมาคือ ปัจจุบันประเทศไทยกัญชาไม่ได้เสรี

“ดังนั้นเราจึงร่วมรณรงค์ ไม่เลือกพรรคที่เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่จะเลือกพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุน พ.ร.บ.กัญชากัญชง ในรัฐบาลชุดหน้าให้แล้วเสร็จ เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนในการปลูกกัญชากัญชงในการพึ่งพาตนเอง เพื่อในครัวเรือน”

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่ตนเองมาเพื่อขอรับกำลังใจจากทุกคน เพราะโดนการเมืองเล่นเสียสะบักสะบอม แต่ก็ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชน ถ้าวันนี้ไม่มีการเลือกตั้ง พ.ร.บ.กัญชาก็คงจะผ่านไปแล้ว เพราะมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งถ้าทุกคนถอดหัวโขนออก เขาก็คือพวกเรา คือคนที่เห็นด้วยกับประโยชน์ของกัญชา แต่วันนี้การเมืองมันเป็นสิ่งหอมหวาน เลยยอมที่จะกลืนอุดมการณ์ ที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งตนเองก็จะไม่ยอมเช่นเดียวกัน

ด้านนายประพัฒน์ ได้หยิบยกบาป 7 ประการ ของมหาตมะคานธี ฝากถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า หนึ่งในบาป 7 ประการดังกล่าวคือ “การเล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ” ตนเองอยากฝากนายพิธาไว้ ในฐานะที่อายุอานามก็เท่ากับลูกคนโตของตนเอง แรกทีเดียวก็ชื่นชมเพราะเห็นเป็นคนหนุ่มไฟแรง แต่ปัจจุบันการจะเอากัญชาไปเป็นยาเสพติดทั้งที่ก่อนหน้านี้พูดไปอีกแบบ ตนคงยอมไม่ได้ และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

'อนุทิน' จ่อถอดเทป 'เศรษฐา' จ้อสื่อนอก ลั่น 'กัญชาเสรี' อยู่ในนโยบายรัฐบาล

'อนุทิน' ยัน 'กัญชา' มีประโยชน์ทางการแพทย์-เศรษฐกิจ บรรจุในนโยบายรัฐบาลแล้ว หลังนายกฯ ระบุจะนำกลับบัญชียาเสพติด ชี้หากเปลี่ยนแปลงต้องแก้กฎหมายหลายตัว เยียวยาผู้ทำถูกต้อง

ดร.เสรี บอก 'สลิ่ม' อย่าเพิ่งดีใจว่าก้าวไกลจะโดนยุบพรรค

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า "สลิ่มอย่าเพิ่งดีใจไปว่าพรรคก้าวไกลจะโดนยุบพรรค เพราะเขา

'จตุพร' ชี้ 1% 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ถึงศาล รธน.ไม่รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยไว้พิจารณา เพราะคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยื่นนั้น แตก

เพื่อไทยได้ครูดี! 'ฮุนเซน' แนะพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ ต้องทำงานเพื่อประชาชน

ที่ประเทศกัมพูชา นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค และคณะกรรมการ