อดีตรองอธิการบดี มธ. ห่วงบ้านเมืองขณะนี้ มีกลิ่นของความรุนแรง

รศ.หริรักษ์ ชี้บรรยากาศขณะนี้ในบ้านเมืองจึงเป็นบรรยากาศของความขัดแย้ง ไม่ใช่มีกลิ่นของความเจริญ แต่มีกลิ่นของความรุนแรงที่อาจเป็นระดับสงครามการเมืองเลยก็เป็นได้

21 พ.ค.2566-รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้

ความแตกแยกในบ้านเมืองเราเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร แบ่งเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง คุณหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ จึงนัดชุมนุมให้ผู้มาชุมนุมใส่เสื้อหลากสี เพื่อหลีกเลี่ยงเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่เพราะความหลากสีกลับเป็นเหตุผู้ที่ต่อต้านระบอบทักษิณถูกฝ่ายตรงข้ามที่นิยมชมชอบคุณทักษิณเรียกว่าพวก “สลิ่ม (ความจริงควรเป็น ซาหริ่ม)” ต่อมาคำว่า “สลิ่ม” ถูกใช้เพื่อตีตราว่าเป็นพวกที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ฝ่ายที่ไม่เอาระบอบทักษิณถูกเหมารวมตีตราว่าเป็นพวก “เผด็จการ” ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารก็ตาม พวกที่ชื่นชอบระบอบทักษิณรวมทั้งพรรคอนาคตใหม่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” หลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจึงถูกตีตราว่าเป็น “ฝ่ายเผด็จการ” ไม่ว่าพฤติกรรมจริงจะเป็นเผด็จการหรือไม่ก็ตาม และยังคงเรียกพวกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ว่าพฤติกรรมจริงจะเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ก็ตาม หากผู้ใดที่ถูกตีตราว่าเป็นเผด็จการอยากเป็นนักประชาธิปไตย ก็เพียงย้ายพรรค หรือหันมาเชียร์พรรคฝ่ายค้าน ก็กลายเป็นนักประชาธิปไตยไปโดยทันที

ใครที่ร่วมขบวนการ กปปส. รวมทั้งร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเผด็จการ เพราะร่วมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในความคิดของพวกเขา ประชาชนที่เห็นว่ารัฐบาลกระทำการที่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่มีสิทธิ์ไปขับไล่หากรัฐบาลชุดนั้นมาจาการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลเพิ่งโดนด้อมส้มถล่มแหลกหลังมีข่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้าจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล hashtag “มีกรณ์ไม่มีกู” ถึงกับติดอันดับ 1 ใน Twitter ทำให้พรรคก้าวไกลรีบถอยแทบไม่ทัน แรกๆก็แปลกใจว่า ทำไมคุณกรณ์จึงตอบรับเข้าร่วมรัฐบาล ล่าสุดเมื่อได้เห็นโพสต์ของคุณกรณ์ที่ออกมาแก้ข่าวแล้วจึงเข้าใจ งานนี้อาจทำให้ถึงขั้นพรรคชาติพัฒนากล้าแตกได้

อย่างไรก็ดี ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่นานนัก สื่อต่างๆที่ยืนอยู่ข้างฝ่ายค้านพร้อมใจกันเรียกฝ่ายที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์คงอยู่ต่อไป และไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินว่า “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” และเรียกฝ่ายตนเองว่า “ฝ่ายเสรีนิยม” หรือแม้แต่ใครที่มีความเห็นที่ไม่เหมือนกับฝ่ายเสรีนิยมก็จะถูกเรียกว่า “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีทั้งสิ้น นั่นคงเป็นเพราะว่าไม่รู้จะโต้เถียงอย่างไรที่จะเรียกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกันว่า “รัฐบาลเผด็จการ”

เมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และกำลังพยายามรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ความแตกแยก ความขัดแย้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่ายุคใดๆ มีการข่มขู่คุกคาม สว.ซึ่งมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วงท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งผ่านประชามติมาด้วยคะแนนมากว่า 16 ล้านเสียง นอกจากคุกคามสว.แล้วยังคุกคามว่าที่ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ลงคะแนนให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

หากส.ส.พรรคอื่นๆที่เขาไม่ได้เห็นว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลมีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไปบังคับให้เขา ลงคะแนนให้ในสภา เพียงเพราะพรรคก้าวไกลได้จำนวนส.ส.มาเป็นที่ 1 เราจะต้องไปลงคะแนนในสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีกันไปเพื่ออะไร พรรคไหนได้จำนวนส.ส.มากที่สุดก็ให้แคนดิเดตของพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีไปเลยโดยไม่ต้องลงคะแนนกันในสภาไม่ดีกว่าหรือ

บรรยากาศขณะนี้ในบ้านเมืองจึงเป็นบรรยากาศของความขัดแย้ง ไม่ใช่มีกลิ่นของความเจริญ แต่มีกลิ่นของความรุนแรงที่อาจเป็นระดับสงครามการเมืองเลยก็เป็นได้

วันจันทร์ที่ 22 พค นี้พรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองต่างๆที่ได้รับเชิญให้ร่วมรัฐบาล จะได้แถลงผลของการทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจ หรือจะเรียกว่าเป็นข้อตกลงร่วมก็ได้ต่อสาธารณะ ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็รอดูอย่างใจจดใจจ่อว่า ใน MOU จะมีวาระของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ข่าวที่ออกมาขณะนี้บอกว่า จะไม่มีเรื่องมาตรา 112 ระบุไว้ใน MOU ดังกล่าว

ทุกคนโดยเฉพาะนักการเมืองเขี้ยวลากดิน คงรู้ดีว่า ไม่ว่าจะมีระบุไว้ใน MOU หรือไม่ พรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ภายใต้เงาของคุณธนาธร อ.ปิยบุตร จะไม่มีทางล้มเลิกการแก้ไขมาตรา 112 อย่างแน่นอน นอกจากเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของคุณธนาธรและอ.ปิยบุตร บรรดาแฟนคลับหรือด้อมส้มทั้งหลายต่างก็รอดูอย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อใดจะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และเมื่อใดจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเสียที

 คุณศิธา ทิวารี แห่งพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยมีคุณหญิงยืนยิ้มอยู่ข้างๆว่า การแก้ไขกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องนิติบัญญัติ เป็นเรื่องของสภา ไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ก็สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ นั่นก็ใช่อย่างที่คุณศิธาพูด แต่นั่นเป็นเพียงการเบี่ยงประเด็น ประเด็นสำคัญคืออย่างที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยประกาศ ซึ่งพูดชัดเลยว่า เขาไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแตะต้องมาตรา 112 เนื่องจากพรรคเขามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคไทยสร้างไทยเพียงขอให้ไม่บรรจุลงใน MOU นอกนั้นโยนไปให้สภาตัดสิน อย่างนั้นก็ได้หรือ

การขอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของพรรคก้าวไกล เป้าหมายสุดท้ายคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทางที่เคยให้แกนนำม็อบ 3 นิ้วเคยประกาศไว้ 10 ข้อ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งถ้าทำได้ทั้ง 10 ข้อ จะทำให้มีพระมหากษัตริย์ก็เหมือนไม่มี

หลายคนคงลืมไปแล้วว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ มีอะไรบ้าง เรามาลองทบทวนกันดังนี้

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร สามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจนเช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย

6. การบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทางนี้เป็นการจำกัดเสรีภาพ และไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจใดๆ ไม่ให้รับเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ถูกใครฟ้องก็ได้ และให้สภาผุ้แทนราษฎรพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งยังปรับลดงบประมาณ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ไม่ให้มีกองทหารรักษาพระองค์เพื่อถวายการอารักขาพระมหากษัตริย์ ไม่ให้มีองคมนตรี ไม่ให้เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์จนเกินงาม กล่าวหาว่าอาจมีการเข่นฆ่าราษฎร และไม่ให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

จำกัดกันขนาดนี้ จะเรียกว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร ผู้ที่คิดทำเช่นนี้ได้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่เรียกว่า “เผด็จการ” จะเรียกว่าอะไร

ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในแนวทางการปฏิรูปทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นข้อมูลที่ใช้ป้อนให้คนหนุ่มคนสาว คนรุ่นใหม่มาโดยตลอด จนทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อและเกลียดชังพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แนวทางการปฏิรูปข้อ 10 ก็เป็นการกล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ หัวหน้าคณะรัฐประหารก็จะเสนอรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ถามว่าพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงมีทางเลือกอื่นหรือ แต่ขณะนี้บรรดาด้อมส้ม ต่างก็มีความเชื่อแบบนี้ทั้งสิ้น

น่ากลัวมากที่ พรรคการเมืองที่มีความคิดเช่นนี้ มีโอกาสมีอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ และหากเข้าไปดูเนื้อในของนโยบาย เช่น การปฏิรูปกองทัพ ที่จะยกเลิกสภากลาโหม และอาจไปไกลถึงขั้นไม่ให้มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้พลเรือนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารแต่ละเหล่าทัพแทน

คำถามคือ พรรคการเมืองที่มีความคิดและนโยบายแบบนี้ หากเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ จะไปรอดหรือ คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ พรรคการเมืองที่ยังเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าต้องคงอยู่ในประเทศไทยต่อไป และรู้ทั้งรู้ว่าพรรคนี้กำลังจะทำอะไร ยังยินดีร่วมงานด้วยหรือ ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ เพราะทุกพรรคที่เข้าร่วมทำ MOU ยังคงเล่นเกมส์การเมืองกันอยู่ แต่อีกไม่นานเราก็คงจะทราบได้ แต่ไม่ว่าจะออกทางไหน โอกาสที่จะมีการลงถนนประท้วง และมีการปะทะกันถึงขั้นเลือดตกยางออก มีความเป็นไปได้สูงมาก

ขอให้ทุกท่านเตรียมรับมือกันไว้ให้ดีก็แล้วกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการชม 'อิ๊งค์' กล้าหาญสปีกอิงลิชบนเวที Forbes แต่ยังตอบแบบงูๆปลาๆ-ใช้ภาษาไม่ตรง

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่านับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งยวดของ

ผงะ สังคมไทย! สตรีเหยื่อความรุนแรง แจ้งความพุ่งปีละ 3 หมื่นคน

กสม.ร่อนสาร  เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ปี  2567 เรียกร้องรัฐบาลขับเคลื่อนป้องกัน ความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ หนุนสังคมต้องช่วยกันดูแลไม่ปล่อยนิ่งเฉย

'หริรักษ์' ชี้เพื่อไทยขว้างงูไม่พ้นคอ เล่นเกมเขย่าแบงก์ชาติ แต่คนหน้าแหกคือ นายกฯอิ๊ง

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นักข่าวตั้งคำถามเรื่อง

พบระเบิด 3 ลูกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส จนท.เร่งเก็บกู้

กรณีเหตุเมื่อคืนที่ผ่านมา(21 ก.ย.67)ได้มีคนร้ายประมาณ 20-30 คน อำพรางใบหน้าพร้อมอาวุธครบมือ ลอบวางเพลิงอาคารบ้านพักสำนักงานป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา บ้านบาลา

อดีตรองอธิการบดีมธ. เปิดไทม์ไลน์มัดแพทองธาร ต้องรับผิดชอบ ชี้ขบวนการปัดกวาดบ้านเมืองบัดนี้เริ่มทำงานแล้ว

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่านักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ

'ดร.อานนท์' เห็นพ้อง 'ดร.ไชยันต์' ยุค 'ลุงตู่' ไม่ได้ปฏิรูป คงได้เห็น 'สงครามกลางเมือง' ในไม่นาน

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แชร์โพสต์ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์บทความเรื่อง “ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง”