'ศ.ดร.สุรศักดิ์' แจงข้อกฎหมายปมยิงพารากอน

ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาร่ายข้อกฎหมายคดียิงพารากอนยิบ ทั้งความรับผิดทางแพ่งและอาญา รวมถึงการเสนอข่าวสารด้วย

04 ต.ค.2566 - ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียชีวิต & ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียขวัญในเหตุการณ์ที่สยามพารากอนในช่วงเย็นวันนี้ด้วยครับ

ขอให้ข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ
1.ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำซึ่งเป็นเด็ก แน่นอนว่าเขากระทำความผิดทางอาญาต่อชีวิต ต่อร่างกายของผู้อื่น ฯลฯ แต่ประมวลกฎหมายอาญาแบ่งผู้กระทำผิดอายุน้อยเป็น 4 กลุ่มคือ

1.1 เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี แม้กระทำผิดอาญากฎหมายไม่เอาโทษโดย "ยกเว้นโทษ" ให้

1.2 เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แม้กระทำผิดอาญากฎหมายไม่ เอาโทษโดย "ยกเว้นโทษ" ให้ แต่จะมีวิธีการสำหรับฟื้นฟูเด็กกระทำผิดที่เรียกว่า "วิธีการสำหรับเด็ก" เช่น ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก

1.3 ผู้ที่อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีกระทำผิดอาญากฎหมาย กฎหมายให้พิจารณาจากเด้กนั้นว่าควรลงโทษหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ควรลงโทษก็อาจ "ยกเว้นโทษ" ให้ แต่จะมีวิธีการสำหรับฟื้นฟูเด็กกระทำผิดที่เรียกว่า "วิธีการสำหรับเด็ก" แต่ถ้าเห็นควรจะลงโทษ ศาลก็ต้องลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง

1.4 ผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีกระทำผิดอาญากฎหมายให้ศาลพิจารณาว่าจะลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือ จะลดโทษให้ก็ได้ หากศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่ง

* กรณีที่เกิดเข้ากรณีที่ 1.2 เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี

2.ความรับผิดทางแพ่งของผู้กระทำซึ่งเป็นเด็ก กรณีที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นความผิดอาญาแล้ว ยังเป็นการก่อละเมิดต่อผู้อื่นด้วย โดยแม้กฎหมายจะ "ยกเว้นโทษ" ในทางอาญา แต่เด็กยังมีความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.420 & 429 ด้วย

3.การดำเนินคดีอาญา การดำเนินคดีอาญาสำหรับเด็ก (อายุไม่เกิน 15 ปี) หรือเยาวชน (อายุ 15-18 ปี) เป็นไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร (มาตรา 133 ทวิ) เป็นต้น

4.พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 แม้เด็กจะกระทำความผิดอาญา แต่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กตาม มาตรา 27 ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศ ประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบ"

ดังนั้นการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก จึงมีประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 79 ที่ลงโทษผู้ใดที่ฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. การเสนอข่าวสาร ควรดำเนินการตามที่สำนักงาน กสทช ออกข้อกำหนดโดยไม่เสนอภาพข่าวแห่งความรุนแรง การเสนอภาพเด็กผู้กระทำความผิด ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวนักเรียนอาจขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 อีกด้วย

ข้อพิจารณา: ปัญหาเด็ก และเยาวชนกระทำความผิด Juvenile Delinquency เป็นปัญหาที่ยุ่งยาก และซับซ้อนสะท้อนสภาพสังคมที่ส่งมอบบุคลิกลักษณะแก่เยาวชนของเรา ครอบครัว คนรอบข้าง โรงเรียน และสังคมมีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงของเด็กได้ ที่สำคัญการเห็นภาพความรุนแรงทั้งการกระทำ และโดยวาจาจากสื่อ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นสิ่งบ่มเพาะให้เกิดอาชญากรรมได้ทั้งสิ้น เราต้องยอมรับปัญหา และช่วยกันแก้ไขครับ
ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียอีกครั้งครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

เปิดเบื้องลึก! กว่าจะได้นั่งเก้าอี้ 'อธิการ มธ.'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่

ย้ำหลัก ธรรมศาสตร์รับใช้ประชาชน ยึดมั่นในประชาธิปไตย-นิติธรรม และซื่อสัตย์ ไม่โกง

‘ชวน‘ ปาฐกถา ’เหลียวหลังแลหน้า ธรรมศาสตร์ และประชาชน’ ย้ำ ควรยึดมั่นหลักการก่อตั้ง ผลิตบุคลากร ‘ซื่อสัตย์-ไม่คอร์รัปชั่น’ 

ในหลวง พระราชทานพระบรมราโชวาทบัณฑิตใหม่ ม.ธรรมศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารกิติยาคาร ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี