โฆษกอัยการสูงสุด แถลงยิบ ปมสั่งฟ้อง-อายัดตัว 'ทักษิณ' คดี ม.112

โฆษกอัยการสูงสุด แถลง อธ.อัยการสอบสวนลงเเจ้งข้อหา 112 -พรบ.คอมฯ‘ทักษิณ’เเล้ว เเจ้งราชทัณฑ์อายัดตัว เจ้าตัวยื่นขอความเป็นธรรมด้วยตนเอง ชี้หากได้พักโทษยื่นประกันในชั้นตำรวจ-อัยการได้ รออัยการสูงสุดชี้ขาดกลับคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องของอดีต อสส.หรือไม่

6 ก.พ.2567 - ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันเเถลงข่าวความคืบหน้าคดีที่อดีตอัยการสูงสุดเคยมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ

นายประยุทธ กล่าวว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง เเต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

จากนั้นวันที่ 17 ม.ค.2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ทราบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

ต่อมาซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา

ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป ซึ่งงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตรไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว

นายประยุทธ กล่าวต่อถึงคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในขณะนั้นว่า ในการสั่งคดีนั้นทางทางอัยการตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าสำนวนครบถ้วนแล้ว ก็จะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการฝ่ายผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่ นั่นหมายความว่าพนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหา ไม่มีพยานหลักฐานใดๆของฝ่ายผู้ต้องหา ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการจะกำหนดให้พนักงานอัยการทั่วประเทศลงความเห็นเพียงว่าควรสั่งฟ้อง

คดีนี้ก็เหมือนกัน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดขนาดนั้นก็จะใช้คำว่าเห็นควรสั่งฟ้องเพราะสำนวนมันยังไม่ครบถ้วน ต้องรอได้ตัวมา เพื่อฟังความทุกฝ่ายก่อนแล้วค่อยวินิจฉัยอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมพนักงานสอบสวนนำโดยนายกุลธนิต อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและทีมพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจฯได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณแล้วทางผู้ต้องหาก็ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแนบมาด้วย ทั้งหมดจึงเป็นประเด็นที่ทางผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต้องรวบรวมพยานหลักฐานนำเสนออัยการสูงสุดเพื่อที่จะลงความเห็นในขั้นตอนสุดท้าย

เมื่อถามว่าอัยการสูงสุดสามารถมีคำสั่งไม่ฟ้องได้ถูกหรือไม่ นายประยุทธ ตอบว่ากรอบของกฎหมายอัยการสูงสุดสั่งได้ 3 อย่างตามป.วิอาญา 1.ถ้าเห็นว่ามันมีประเด็นต้องสอบสวนให้มันกระจ่างสิ้นข้อสงสัย ก็จะสั่งสอบเพิ่ม 2.ถ้าเห็นว่าสำนวนพร้อมแล้ว สมบูรณ์แล้วและไม่มีประเด็นจะสอบสวนเพิ่มเติมก็ยืนไปตามความเห็นและคำสั่งเดิมที่สั่งฟ้องไว้ คำสั่งก็จะเปลี่ยนจากเห็นควรสั่งฟ้องเป็นสั่งฟ้องเพราะมันครบถ้วนแล้ว 3.แต่ถ้าสมมุติว่าพยานหลักฐานจากสอบเพิ่มไปในทิศทางที่ชั่งน้ำหนักว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ตามข้อกล่าวหาก็จะออกความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

นี่คือกรอบกฎหมายที่เป็นแนวทางให้อัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนเรื่องนี้อัยการสูงสุดจะมีความเห็นและคำสั่งประการใด ตอนนี้เป็นการเร็วเกินไปที่จะไปก้าวล่วง ที่นำเรียนก็คือตอนนี้สำนวนถูกส่งมาที่ฝ่ายกิจการคดี ซึ่งมีอธิบดีอัยการสำนักงานคดีกิจการคดีอัยการสูงสุดและคณะอัยการจะคัดกรองลงความเห็นตรวจพยานหลักฐานสรุปเป็นขั้นตอนเสนอท่านรองอัยการสูงสุดที่กำกับดูแลผ่านรองอัยการสูงสุดไปยังห้องอัยการสูงสุดกระบวนการจะเป็นอย่างนี้

เมื่อถามถึงกรอบระยะเวลาในการพิจารณาของ อสส. นายประยุทธแจงว่า ไม่มีกรอบระยะเวลาแต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่มีประเด็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมก็เป็นสำนวนที่มีคำสั่งแล้วแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรช้า แต่ถ้ามีประเด็นสอบสวนเพิ่มเติมก็ต้องดูปัจจัยที่พนักงานสอบสวนจะส่งผลสอบสวนมาช้าหรือไม่ตรงนี้ก็ไม่สามารถจะตอบได้ว่าเงื่อนเวลาอย่างไร เพราะมันเกี่ยวพันกับหน่วยราชการและส่วนงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน

เมื่อถามว่ามีข่าวว่านายทักษิณอาจจะได้พักโทษการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งอายัดตัวล่วงหน้าเอาไว้จะมีผลหากได้รับการปล่อยตัวออกมาจะต้องโดนจับอายัดขังคุกหรือไม่ นายนาเคนทร์ กล่าวว่า คำสั่งที่จะพักโทษนายทักษิณทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีคำสั่ง แต่ทางพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งอายัดและราชทัณฑ์ได้มีการตอบรับการอายัดตัวนายทักษิณไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ถามว่าผลของการอายัดตัวจะเป็นอย่างไรนั้น คดีนี้ถ้าสมมติว่ามีการพักโทษทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนให้มารับตัวคุณทักษิณว่าเนื่องจากว่าเรือนจำจะมีคำสั่งพักโทษแล้วแล้วคุณมีการแจ้งอายัดไว้ในคดี 112 พนักงานสอบสวนจะต้องไปรับตัวนายทักษิณไว้มาดำเนินการควบคุม การควบคุมของพนักงานสอบสวนก็เป็นอำนาจเป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือนำตัวไปคุมขังโดยใช้อำนาจศาลที่เรียกว่าการฝากขัง ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการแล้วก็จะแจ้งไปยังพนักงานอัยการว่าขณะนี้ตัวของนายทักษิณในคดีของ 112 ได้มีการควบคุมตัว อันนี้เป็นกระบวนการ

นายประยุทธ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า สื่อมวลชนน่าจะติดตามอยู่ 2 เรื่องคือการพักโทษกับประเด็นที่ 2 คือการคุมขังไว้ที่อื่นนอกจากเรือนจำ ประเด็นแรกที่รองโฆษก อสส.กล่าวไว้ ว่าหากทางราชทัณฑ์จะมีการพักโทษผู้ต้องขังเด็ดขาดรายใด ก็จะแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนซึ่งมีการอายัดไว้ ที่จะกล่าวเพิ่มคือเมื่ออายัดแล้วสมมุติตอนนั้นอัยการตรวจสำนวนสำนวนเสร็จแล้วก็สามารถส่งมาประกอบสำนวนได้เลย แต่ถ้าสมมุติว่าสำนวนนี้มีผลต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติมทางพนักงานสอบสวนก็อาจจะเอาตัวมาให้ทางพนักงานอัยการได้เลย และทางอัยการก็อาจจะอนุญาตปล่อยชั่วคราวในระหว่างรอผลการสอบสวน เพราะว่าสำนวนอยู่ระหว่างพิจารณาของอัยการเเล้ว แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่ากระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลานั้น มันอยู่ขั้นตอนไหนอย่างไร

แต่ว่าถ้าสมมุติมีคำสั่งฟ้องในทางปฏิบัติของอัยการเราชัดเจนอยู่แล้วมันทำได้ 2 อย่างคือ 1.ถ้าตัวอยู่ระหว่างควบคุมของราชทัณฑ์ เช่น ถ้าเป็นกรณีเอาไปคุมขังในที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการฟ้องเบิกตัวธรรมดา อัยการสามารถยื่นสำนวนฟ้องให้ศาลและศาลก็จะมีคำสั่งให้เบิกตัวมาเอง แต่ถ้าเป็นกรณีพักโทษเเล้วสำนวนเสร็จภายหลังมีคำสั่งฟ้อง กรณีแบบนี้คือฟ้องส่งตัวก็จะแจ้งให้ตัวมาพบแล้วก็ส่งฟ้องไป ถ้าทั้ง 2 ขั้นตอนมีกรอบกฎหมายและมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้วและทางสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ประสานงานกันโดยใกล้ชิดอยู่แล้วก็ไม่มีอะไรจะต้องกังวลตรงนี้

ถามย้ำว่าอำนาจการให้ประกันตัวขึ้นอยู่กับขณะนั้นขั้นตอนการทำคดียังอยู่ที่ตำรวจหรืออัยการใช่หรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า ใช่ ซึ่งพนักงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ก็คือพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษฝ่ายอาญา 8 แต่กระบวนการสั่งทั้งหมดก็จะต้องส่งมาให้อัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินคดีเพียงแต่มอบหมายให้กับทางสำนักงานคดีอาญาดำเนินการในชั้นพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนปฏิบัติแต่อำนาจศาลสุดท้ายเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ส่วนอัยการที่ทำคดีมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ ก็คือไม่ต้องทำความเห็นแนบไป ส่วนหน่วยงานที่จะทำความเห็นเเนบไป ก็คือส่วนของสำนักงานกิจการคดีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรองงานให้กับ อสส.

ถามถึงว่ามีการตั้งข้อสังเกตถเรื่องการพิจารณาคดีของนายทักษิณในรัฐบาลปัจจุบันอาจจะถูกกดดันกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

นายประยุทธ กล่าวว่าคนที่รับผิดชอบคดีนี้คืออัยการสูงสุดเพราะฉะนั้นกระบวนการทำงานอยู่ภายใต้พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทางคดี ตรงนี้เราให้ความมั่นใจกับสังคมได้ ไม่ต้องกังวลเพราะสิ่งที่เราพูดมาโดยลำดับนั่นคือกระบวนการที่เราปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายตั้งแต่รับสำนวน สั่งเห็นสมควร สั่งฟ้องออกหมายจับอายัด แจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการเป็นเเบบนี้ไม่ต้องกังวล หากกังวลก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดต้องชี้แจงอย่างที่เราตั้งโต๊ะแถลงวันนี้ เราก็ต้องการให้สังคมเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมบ้านเราให้เชื่อมั่น ในกระบวนการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด

ถามอีกว่านายทักษิณให้การเป็นลายลักษณ์อักษรหรือให้การผ่านถ้อยคำกับพนักงานอันสอบสวน

นายประยุทธกล่าวว่า รายละเอียดตรงนี้งานโฆษกเราไม่มี ทราบแต่ว่าให้การปฏิเสธและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในวันเดียวกัน ซึ่งตราบใดที่การสอบสวนยังไม่สิ้นสุด ก็ย่อมสามารถที่จะขอต่อสู้คดีได้เต็มที่ทั้งการยื่นพยานหลักฐานการถ้อยคำ ทางพยานวัตถุและพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง

นายนาเคนทร์อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นร้องขอความเป็นธรรมว่า หลังจากอสส.ขณะนั้นเห็นสมควรสั่งฟ้องแล้ว ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานก็มีอยู่ในขณะนั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น เเต่หลังจากที่ได้มีการไปแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งนายทักษิณให้การปฏิเสธพร้อมร้องขอความเป็นธรรมซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด เราจะต้องพิจารณากรอบประเด็นที่ร้องขอความเป็นธรรมนั้นเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาแล้วมีผลที่จะทำให้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานมีอะไรที่จะต้องเพิ่มเติมหรือไม่

ถ้าเป็นการร้องว่าไม่ได้กระทำความผิด โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะเปลี่ยนแปลงกับการสั่งคดี อันนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็จะยุติการร้องขอความเป็นธรรม พูดถึงกรณีทั่วๆไปทุกเรื่อง แต่ถ้าการร้องขอความเป็นธรรมนั้นมีประเด็นที่จะให้อัยการสูงสุดสั่งสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากว่าไม่เคยมีปรากฏมาในชั้นสอบสวนเลยเช่นนี้เพื่อความเป็นธรรมทางอัยการสูงสุดโดยวิธีปฏิบัติกับคดีอื่นโดยทั่วไป ก็จะทำการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ร้องเข้ามา ส่วนผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็จะต้องพิจารณาประกอบชั่งน้ำหนักว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเพียงพอที่จะไปหักล้างความเห็นหรือคำสั่งควรสั่งฟ้องเดิมของอัยการสูงสุดในขณะนั้นหรือไม่ แต่ยืนยันว่าข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดให้กับผู้ต้องหาเเละผู้เสียหายทุกคน

ถามต่อว่า กรณีผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมในสมัยก่อนเคยมีกรณีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังยื่นร้องขอความเป็นธรรมเป็น 10 ครั้ง ตรงนี้จะล่าช้าหรือไม่

นายณรงค์ รองโฆษก อสส. กล่าวว่ามีการแก้ไขระเบียบในการร้องขอความเป็นธรรมฯ ว่ากรณีการร้องขอความเป็นธรรมปัจจุบันแต่ก่อนตัวไม่อยู่ก็ร้องได้ปัจจุบันถ้าเป็นผู้ต้องหาต้องมีตัวแสดงตัวด้วยถึงจะยื่นขอความเป็นธรรมได้ ตรงนี้เเต่ก่อนก็เป็นประเด็นที่ทำให้คดีมันประวิงเวลาไป และที่สำคัญที่สุดถ้าหากเป็นประเด็นที่มีการสอบสวนไว้แล้วก็ไม่ต้องส่งเพิ่ม เพราะมันก็คือร้องในเรื่องเดิม พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนหรืออธิบดีอัยการหรือ อัยการสูงสุดก็มีอำนาจที่จะสั่งยุติเรื่องไม่รับพิจารณา

นานประยุทธ เสริมว่า สำนักงานอัยการสูงสุดเราถอดบทเรียนจากเดิม ระเบียบสำนักงานเอกการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการปี 2548 ที่ถูกยกเลิกโดยปี 2563 เรื่องการร้องขอความเป็นธรรมไม่มีเงื่อนเวลาไม่มีจำนวนครั้ง และมายื่นเองหรือไม่มายื่นเองให้ทนายมายื่นก็ได้ เราจึงออกเกณฑ์ใหม่ที่สำคัญ

1.เจ้าตัวต้องมาเองถ้าไม่มีตัวไม่ได้ อย่างกรณีของนายทักษิณก็ยื่นด้วยตัวเองถ้าจะให้ทนายมายื่นเราก็ไม่รับ มันผิดระเบียบ 2.บอกเลยบอกว่าถ้าเป็นประวิงคดีให้เลื่อนช้าทอดเวลาไปเรื่อยๆแบบนี้ไม่ได้เพราะความล่าช้าเกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งระเบียบเเม้ไม่ได้มีระบุจำนวนครั้งแต่ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจในการกระชับให้รูปเรื่องเป็นไปในทางความรวดเร็วส่วนเรื่องจะสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมตอนไหนได้นั้น อย่างคดีนี้อัยการสูงสุดท่านก็จะลงความเห็นและมีคำสั่งทางคดี ก็คือมีคำสั่งเด็ดขาดตาม ป.วิอาญา คำว่ายุติก็คือพยานหลักฐานเพียงพอแล้วสิ้นกระแสความในทางรวบรวมพยานหลักฐานเเล้ว

ถามต่อไปว่ากรณีนี้คุณทักษิณได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมด้วยตัวเองเเละต้องเจอตัวกันตามระเบียบถูกหรือไม่

นายประยุทธตอบว่า ถูกต้องยื่นกับนายกุลธนิตที่ไปแจ้งข้อกล่าวหาและยื่นร้องขอความเป็นธรรมไปด้วยส่วนรายละเอียดไปเเจ้งข้อหาที่ไหนอย่างไร ทางโฆษกไม่มีข้อมูล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

งบ68ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง “เรือดำน้ำ-ฟริเกต”ไปถึงไหน?

ฟันธงกันว่าปิดจ๊อบปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 2” ที่โรงแรมหรูกลางกรุงไปแล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะคุยรอบสุดท้ายโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ว่ากันว่า โผนี้ชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ กับ สุทิน คลังแสง ยังเหนียว

'แอมมี่' อ้างป่วย! ศาลเลื่อนนัดครั้งที่ 2 ตัดสินคดี 112 วางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 2 คดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำอ.1199/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์หรือแอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ศิลปิน-แกนนำม็อบป่วนเมือง

'ราเมศ' อัดราชทัณฑ์แจง 5 ข้อ ตอกย้ำให้เห็นกระบวนการอุ้ม 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ต้องเข้าเรือนจและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า กรมราชทัณฑ์ต้องระลึกว่าทุกคำตอบคือหลักฐานสำคัญ