'สังศิต' เผยแพร่บทความ 'การควบคุมคอร์รัปชัน : บทเรียนจากเยอรมัน' ความแตกต่างกับไทย

21 ก.พ. 2567 - รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่บทความ เรื่อง การควบคุมคอรัปชั่น: บทเรียนจากเยอรมัน มีเนื้อหาดังนี้่

ในภาพรวมเยอรมนีเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นค่อนข้างต่ำ เพราะประชาชนมีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์และมั่นคงในหลักการ รวมถึงกฎหมายเยอรมนีมีการต่อต้านการ คอรัปชั่นที่เข้มงวด กระนั้นก็ดีมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ถูกตรวจพบว่ามีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักคุณธรรมทางการเมืองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ตัวอย่างเช่นนายลุดวิค-โฮลเกอร์ ฟาลซ ( Ludwig-Holger Pfahls) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (2530-2535) ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีรับสินบนกว่า 2 ล้านยูโรจากบริษัทค้าอาวุธที่ไปขายรถถังให้ซาอุดิอาระเบียในช่วงสงครามเปิดเมื่อปี 2534 และการเลี่ยงภาษีโดยการหลบหนีออกจากประเทศเยอรมันเป็นเวลาถึงห้าปีก่อนจะถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมได้ในปี 2548 เขาถูกศาลพิพากษาจำคุกในปี 2548 เป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลจึงลดโทษให้เหลือจำคุกกึ่งหนึ่ง ต่อมาในปี 2554 ในวัยเกือบ 70 ปี เขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปีครึ่ง ฐานสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับการล้มละลาย ส่วนภรรยาของเขาในวัย 68 ปี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน ด้วย เนื่องจากบัญชีธนาคารของเธอถูกใช้ในการโอนเงินที่เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเยอรมันมีการติดตามจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างจริงจัง แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีมีอิทธิพลและหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ จนกว่าจะมีการนำตัวมาพิพากษาตัดสินคดีและรับโทษจำคุกตามกฏหมาย

ในปี 2555 นายคริสเตียน วาลฟ (Christian Wulff) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ลาออกเนื่องจากถูกดำเนินคดีในข้อหาคอรัปชั่น ฐานรับเงินราว 700 ยูโร (ประมาณ 27,000 บาท) เป็นค่าเข้าพักโรงแรมและอาหารในช่วงเทศกาลเบียร์ (Oktoberfest) อย่างไรก็ดีในปี 2557 ศาลตัดสินให้เขาพ้นผิดในข้อหาคอรัปชัน

ในปี 2564 นายฟรานซิสกา กิฟเฟ (Franziska Giffey) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการครอบครัว ผู้สูงอายุ สตรีและเยาวชนได้ขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบจากการที่ถูกมหาวิทยาลัยถอดถอนปริญญาเอกในประเทศเยอรมนี การลอกเลียนวิทยานิพนธ์ของผู้อื่นถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอย่างร้ายแรง จึงเข้าข่ายเป็นความผิดทางด้านคอรัปชั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีนักการเมืองเยอรมนีมากกว่า 20 คนถูกถอดถอนปริญญาและต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองด้วยเหตุผลจากความไม่ซื่อสัตย์ในการทำวิทยานิพนธ์ อาทิเช่น นายคาร์ล ธีโอดอร์ กุตเตนแบร์ก (Karl Theodor zu Guttenberg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอลาออกจากตำแหน่งในปี 2554 และนางแอนเนตเต ชาฟาน (Annette Schavan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาออกจากตำแหน่งในปี 2556 ตามลำดับ สำหรับในประเทศเยอรมันแล้วการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดทางด้านอาญาในสายตาประชาชน เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่ซื่อสัตย์ จึงต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง (ข้อมูลจากชิดตะวัน ชนะกุล, “ ยุติ-ธรรมไทย: บทเรียนจากเยอรมนี”, ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ,19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 25567: 7)

ความแตกต่างของการคอรัปชั่นระหว่างเยอรมันกับไทยมีสาเหตุหลายประการ ทั้งจากตัวสถาบันของกฎหมายและสถาบันของสังคม ในแง่การบังคับใช้กฎหมายมีความแตกต่างกันประการหนึ่งคือ ประชาชนชาวเยอรมันมีความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการคอรัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐสูง ส่วนของประเทศไทยความเชื่อมั่นดังกล่าวค่อนข้างเป็นปัญหา เนื่องจากประชาชนมีความไม่ไว้วางใจในเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางการเมือง ตลอดจนสถาบันในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนกังขาว่ามักจะมีการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน กล่าวคือต่อผู้มีอำนาจและมีอิทธิพลมีมาตรฐานหนึ่ง และสำหรับประชาชนทั่วไปเป็นอีกมาตรฐานหนึ่ง

ประการที่สอง ในประเทศเยอรมัน ความผิดด้านจริยธรรมของนักการเมืองถือเป็นการคอรัปชั่น ส่วนของไทยความผิดด้านจริยธรรม ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของความผิด เพราะสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักการเมืองที่มีความผิดด้านจริยธรรมอาจจะมีความผิด หรือไม่มีความผิดทางด้านกฎหมายก็ได้ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมืองและการต่อรองทางการเมือง

ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ สำหรับนักการเมืองที่กระทำความผิดในข้อหาคอรัปชั่นในประเทศเยอรมัน จะถูกประชาชนชาวเยอรมันลงโทษด้วยมาตรการทางสังคม (Social Sanction) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะทำให้นักการเมืองที่ถูกลงโทษว่ามีความผิดจากการคอรัปชั่นไม่มีพื้นที่ๆ จะยืนอยู่ในสังคมเยอรมันได้อีกตลอดไป นามสกุลของเขาจะถูกสังคมปฏิเสธ คนในครอบครัวทุกคนพลอยได้รับการลงโทษจากสังคมตามไปด้วย ส่วนในสังคมไทยผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษว่ากระทำความผิดจากข้อหาการทุจริต ไม่ใคร่ถูกสังคมลงโทษ และยังมีที่ยืนอยู่ในสังคมได้ เมื่อพ้นระยะเวลาจากการลงโทษทางกฎหมายแล้วสามารถกลับเข้าสู่การเมืองได้อีกวาระหนึ่ง ในขณะที่ในประเทศเยอรมัน นักการเมืองประเภทนี้ รวมถึงลูกหลานของเขาจะไม่มีโอกาสเช่นว่านี้ตลอดไป

สาเหตุที่คนเยอรมันลงโทษนักการเมืองที่คอรัปชั่นได้อย่างรุนแรงและทั่วทั้งสังคมได้นั้น น่าจะมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ของคนในสังคมเยอรมันเอง ทั้งที่มาจากสถาบันของครอบครัว และสถาบันการศึกษาในทุกระดับที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของหน้าที่ความเป็นพลเมืองของคนเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ คนเยอรมันทุกคนจึงกลายเป็นอาวุธที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเป็นปกติวิสัย (Habitat) และอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนเยอรมันไปแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พรีเมียร์ ลีก' ชวดโควต้าชปล.อันดับ 5 'อิตาลี-เยอรมัน' เข้าป้ายฤดูกาลหน้า

พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ พลาดโควต้าตั๋วทองสำหรับทีมอันดับ 5 ในการไปเล่นยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก ฤดูกาลหน้าเป็นที่เรียบร้อย หลังสโมสรจากเมืองผู้ดีพาเหรดตกรอบในเวทียุโรปช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งถ้วยใบใหญ่ และถ้วยใบเล็ก

เปิดกาสิโน มีโอกาส เกิดในรัฐบาล เศรษฐา แต่ต้องไม่ล็อก-เอื้อกลุ่มใด

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร(ENTERTAINMENT COMPLEX)

'สังศิต' เผยแพร่บทความ 'ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง' หนุนปฏิรูปเป็นตำรวจจังหวัด

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพยแพร่บทความเรื่อง ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง มีเนื้อหาดังนี้

'สังศิต' จวก ส.ส.โง่เขลา ตัดงบฯ 'ฝายแกนดินซีเมนต์' ผลักไสชาวบ้านจมลึกสู่ความยากจน

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่บทความ เรื่อง หยุดผลักไสชาวอีสาน ชาวเหนือจมลึกสู่ความยากจน!? ตัดงบประมาณ “ฝายแกนดินซีเมนต์” 2567

แฉเหตุ 'สายพันธุ์ข้าวไทย' ที่ถูกจดทะเบียน ตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจผูกขาด

'ดร.สังศิต' ลุยพื้นที่แปลงวิจัยพัฒนาพัฒนาพันธุ์ข้าว เผยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เป็นงานที่ยากลำบาก แต่เมื่อทำเสร็จกลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้เพราะมีราคาแพงลิบลิ่ว สายพันธุ์ข้าวที่ถูกจดทะเบียน จึงตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจผูกขาดเพียงกลุ่มเดียว