แฉเหตุ 'สายพันธุ์ข้าวไทย' ที่ถูกจดทะเบียน ตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจผูกขาด

'ดร.สังศิต' ลุยพื้นที่แปลงวิจัยพัฒนาพัฒนาพันธุ์ข้าว เผยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เป็นงานที่ยากลำบาก แต่เมื่อทำเสร็จกลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้เพราะมีราคาแพงลิบลิ่ว สายพันธุ์ข้าวที่ถูกจดทะเบียน จึงตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจผูกขาดเพียงกลุ่มเดียว

31 ม.ค. 2567- ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภาเผยแพร่รายงาน ว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 15.30 นาฬิกา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล สมาชิกวุฒิสภา พร้อมคณะเดินทางถึงแปลงวิจัยพัฒนา มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนมูลนิธิฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ โดยคณะได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายชุมพล ศิริครินทร์ นายอำเภอบรรพตพิศัย พร้อมด้วยเกษตรกร นักวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว

นายนภดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิฯโรงเรียนชาวนา เปิดเผยต่อคณะฯ ของนายสังศิตว่า “การพัฒนาพันธุ์ข้าวของมูลนิธิฯ เป็นทั้งการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทย และการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้เพาะปลูกได้ทั้งปี ผลผลิตสูง ต้านทานโรค ปลูกไว้กินก็อร่อย ปลูกขายก็ได้ราคาดี และป้องกันการผูกขาดพันธุ์ข้าวของนายทุน

ผลงานวิจัยและพัฒนาที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมาทำให้ได้ข้าวคุณภาพดี 9 สายพันธุ์ ดังนี้

1. ข้าวช่อราตรี
พัฒนามาจากข้าวสายพันธุ์เรนโบว์ คัดเลือกพันธุ์ให้ปลูกเป็นนาปรังได้ จุดเด่นของข้าวช่อราตรีคือ เมล็ดใส ไม่หักง่าย ซึ่งเมล็ดจะประกอบไปด้วยน้ำตาลและแป้งกระจายตัวอยู่ทั่วเมล็ด สามารถให้ผลผลิตในนาอินทรีย์ 600 - 800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 115 - 120 วัน

2. ข้าวขาวเกยไชย
เป็นข้าวขาวที่พัฒนามาจากข้าวสายพันธุ์บาสมาติก (Basmati) ที่ปลูกในประเทศไทยจนแทบหมดคราบความเป็นบาสมาติกไปหมดแล้ว โดยนำมาผสมกับหอมมะลิ จนเกิดเป็นขาวเกยไขย ข้าวนาปรังที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้คือ เมล็ดยาว เป็นข้าวเจ้าที่นุ่ม หุงขึ้นหม้อ รสชาติอร่อยเหมือนหอมมะลิ ผลผลิตนาอินทรีย์ 750 - 850 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 95 - 100 วัน

3. ข้าวชำมะเลียงแดง
ข้าวเจ้าเมล็ดสีแดง พัฒนามาจากข้าวสายพันธุ์หอมเลื่องลือ เมล็ดยาว ปริมาณน้ำตาลน้อย มีความนุ่มมาก ปริมาณสังกะสีจะสูงมาก สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายและบำรุงฮอร์โมนเพศ เป็นข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิตนาอินทรีย์ 600 - 800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 120 - 130 วัน

4. ข้าวชำมะนาด
เป็นข้าวเจ้าที่มีกลิ่นหอมมาก กลิ่นคล้ายดอกชำมะนาด เมล็ดอ้วน รสชาติดี เป็นข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิตนาอินทรีย์ 700 - 750 กิโลกรัมต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยว 95 - 100 วัน

5. ข้าวหอมเลื่องลือ
เป็นข้าวเจ้านาปรัง มีกลิ่นหอม เมล็ดอ้วนสีแดงเข้ม รสชาติดี เป็นข้าวนาปรังโภชนาการสูง น้ำตาลน้อย ผลผลิตนาอินทรีย์ 700 - 750 กิโลกรัมต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยว 100 - 110 วัน

6. ข้าวนิลสวรรค์
เมล็ดสีม่วงดำ พัฒนามาจากข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์หอมนิล ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าหอมนิล นิลสวรรค์เป็นข้าวนาปรังที่มีโภชนาการสูงมาก กลิ่นหอม และมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง ดัชนีน้ำตาลต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินอีและแมกนีเซียม ผลผลิตนาอินทรีย์ 600 - 800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 95 - 105 วัน

7. ข้าวเหนียวนาปรังแก้วพิชิต
ข้าวเหนียวขาวนาปรัง หอมนุ่ม คล้ายข้าวญี่ปุ่น เป็นการผสมข้าวเหนียวนาปีกับข้าวนาปรัง ทำให้ได้ข้าวเหนียวที่ปลูกได้ทั้งปี ผลผลิตดี รสชาติอร่อย ผลผลิตนาอินทรีย์ 700 - 800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 100 - 110 วัน

8. ข้าวเจ้า R18

9. ข้าวเจ้า F14

นายนภดล กล่าวถึงที่มาของมูลนิธิฯ ว่า เริ่มต้นปี 2547 จากนั้นได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐว่า ให้จดแจ้งเป็นนิติบุคคล ก่อตั้งมูลนิธิฯ เมื่อปี 2552 โดยทุนจดทะเบียน 250,000 บาท มาจากการทอดผ้าป่าของสมาชิกในเครือข่าย

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ

1. สร้างกระบวนการเรียนรู้ และให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อพัฒนาระบบเกษตร
2. สนับสนุนการจัดการความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร
3. ส่งเสริมการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนา ความรู้ และเทคโนโลยีด้านเกษตร การพัฒนาชุมชน และการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
4. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือองค์กร เพื่อสาธารณะประโยชน์
5. สร้างอาหารปลอดภัย และสร้างความมั่นคงทางอาหาร
6. สร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

มูลนิธิฯ ทำงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว การผลิตพันธุ์ข้าวอินทรีย์เป็นหลัก รวมถึงสอนเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ วิธีการลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวมากกว่า 400 สายพันธุ์ เพื่อที่จะอนุรักษ์ไว้สำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ในการวิจัย ซึ่งการมีพันธุ์ข้าวจำนวนมากถือเป็นต้นทุนที่ดีต่อการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ การพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ดีไม่เหมือนใคร เราต้องรู้ก่อนว่าพันธุ์ข้าวที่เรามีอยู่แล้วนั้นมีอะไรบ้าง และมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เพื่อพัฒนาให้ได้คุณสมบัติเด่นของข้าวพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นมา

ปัจจุบันมูลนิธิฯ แห่งนี้ได้มีพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกับโครงการของมหาวิทยาลัย โรงเรียน และหน่วยงานในระดับชุมชน ในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของพวกเขามากที่สุด และส่งมอบองค์ความรู้ให้ชาวนาให้สามารถปรับปรุงพันธุ์ได้เอง รวมถึงสายพันธุ์ข้าวอินทรีย์ต่างๆ

มูลนิธิฯ มีเครือข่ายชาวนาในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ครอบคลุม 11 อำเภอ 60 ตำบล 95 หมู่บ้าน เป็นจำนวนกว่า 4,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากพันธุ์ข้าวที่เกิดจากงานวิจัยพัฒนาของมูลนิธิฯ ดังนี้

ภาคกลาง : 17 จังหวัด
ภาคเหนือ : 7 จังหวัด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : 5 จังหวัด
ภาคตะวันตก : 3 จังหวัด
ภาคตะวันออก : 5 จังหวัด
ภาคใต้ : 5 จังหวัด

การดำเนินงานในปัจจุบัน

1. การให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ และการยกระดับความรู้ของกลุ่มเครือข่ายเดิม ซึ่งได้มีการจัดอบรมนักพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์

2. งานส่งเสริมความรู้เรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์

3. การสร้างเครือข่ายผู้บริโภค สร้างตลาดการค้าเกษตรอินทรีย์อย่างมีส่วนร่วม

4. การพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ มูลนิธิชีววิถี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการ “วิจัยพัฒนาและรับรองข้าวสายพันธุ์ใหม่อย่างมีส่วนร่วม จังหวัดนครสวรรค์”

5. การจัดตั้งกลุ่ม Thai future farmers (TFF) นักพัฒนาพันธุ์ข้าว รวบรวมผู้มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงด้านพันธุกรรมข้าวไทยให้มีความหลากหลาย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ

6. โครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย – แอฟริกา

เป้าหมายของมูลนิธิฯ ในปี 2567 - 2569

1) พัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง ผลผลิตสูง ทนต่อสภาพอากาศแปรปรวน

2) สร้างกลไกการรับรองข้าวสายพันธุ์ใหม่อย่างมีส่วนร่วมของจังหวัดนครสวรรค์

3) ขยายเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศไทย

4) สร้างหลักสูตรการทำนา และการพัฒนาพันธุ์ข้าว (โรงเรียนชาวนา นานาชาติ) ให้ครอบคลุมและเท่าทันเทคโนโลยี

5) ขยายฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ในเครือข่ายมูลนิธิและประเทศไทย

6) สร้างตลาดซื้อขายข้าวล่วงหน้า เพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในเครือข่ายของมูลนิธิฯ

7) จัดตั้งกองทุนชาวนาสำหรับสมาชิกเครือง่ายของมูลนิธิฯ

8) พัฒนาพื้นที่แปลงวิจัย เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้

9) สร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างมีส่วนร่วม

10) สร้างโรงสีสำหรับรองรับข้าวอินทรีย์โดยเฉพาะ

นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิฯ ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์บุญบันดาล (Boonbundan) โดยข้าวทั้งหมดเป็นออร์แกนิก ได้รับมาตรฐานยุโรป USDA IFOAM ผลิตภัณฑ์มีทั้งข้าวขาว ข้าวกล้อง แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวกล้อง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ จากข้าว

นายนภดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิฯ ยังได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการขอจดสิทธิบัตรหรือการออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งการขอจดสิทธิบัตรข้าวพันธุ์ใหม่ 1 สายพันธุ์ ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 ล้านบาท

นายสังศิต ประธานคณะกรรมาธิการฯได้กล่าวชื่นชมทางมูลนิธิฯ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการทุ่มเททำงานหนักเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทย พร้อมทั้งแนะนำให้ทางมูลนิธิทำหนังสือร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะได้หาช่วยกันหาทางออกของประเด็นปัญหา (จดสิทธิบัตร/ หนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนดังกล่าวต่อไป

ประธานกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า

ประการแรก มูลนิธิโรงเรียนชาวนามุ่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้แก่ชาวนา รักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนาและผู้บริโภคชาวไทยโดยตรง กิจกรรมของพวกเขาจึงสมควรได้รับปกป้องจากภาครัฐและคณะกมธ.

ประการที่สอง การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของมูลนิธิฯเป็นงานที่ยากลำบากจริง เพราะพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ต้องใช้เวลาทำการวิจัยราว 10-12 ปี การวิจัยมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อทำเสร็จ กลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้ เพราะกระบวนการลงทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีราคาแพงลิบลิ่ว ดังนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้มูลนิธิฯ จะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวได้จำนวนหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เลยแม้แต่สายพันธุ์เดียว

ประการที่สาม ปัจจุบันมีองค์กรภาคประชาสังคมเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ยังทำหน้าที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทย แต่พวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนพันธุ์ข้าวไทยได้ ด้วยเหตุนี้สายพันธุ์ข้าวที่ถูกจดทะเบียนจึงตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจผูกขาดเพียงกลุ่มเดียว

ประการที่สี่ จุดมุ่งหมายของการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับมูลนิธิโรงเรียนชาวนา คือธุรกิจเอกชนพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อธุรกิจการค้าเป็นหลัก ส่วนมูลนิธิชาวนาผลิตสายพันธุ์ข้าวเพื่อให้ข้าวมีคุณภาพดีและเหมาะสมสำหรับผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก

คำถามก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรควรมีการกำหนดนโยบายและท่าทีที่เหมาะสมต่อองค์กรภาคประชาสังคมในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทยอย่างไรต่อไป ?

ประธานคณะกรรมาธิการเห็นว่า“ รัฐบาลควรต้องคุ้มครองพันธุ์ข้าวที่มูลนิธิพัฒนาสายพันธุ์ ใหม่ 9 สายพันธุ์ โดยการออกสิทธิบัตรให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะพันธุ์ข้าวดังกล่าวถือเป็นของชาวนาไทยทุกคน สิทธิบัตรนี้เพื่อป้องกันต่างชาติอ้างสิทธิ์ ซึ่งเคยถูกอ้างมาแล้วจากพันธุ์พืชสมุนไพรหลายชนิด เช่นกวาวเครือ เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดกาสิโน มีโอกาส เกิดในรัฐบาล เศรษฐา แต่ต้องไม่ล็อก-เอื้อกลุ่มใด

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร(ENTERTAINMENT COMPLEX)

'สังศิต' เผยแพร่บทความ 'ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง' หนุนปฏิรูปเป็นตำรวจจังหวัด

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพยแพร่บทความเรื่อง ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง มีเนื้อหาดังนี้

'สังศิต' จวก ส.ส.โง่เขลา ตัดงบฯ 'ฝายแกนดินซีเมนต์' ผลักไสชาวบ้านจมลึกสู่ความยากจน

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่บทความ เรื่อง หยุดผลักไสชาวอีสาน ชาวเหนือจมลึกสู่ความยากจน!? ตัดงบประมาณ “ฝายแกนดินซีเมนต์” 2567

'สังศิต' เผยแพร่บทความ 'การควบคุมคอร์รัปชัน : บทเรียนจากเยอรมัน' ความแตกต่างกับไทย

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่บทความ เรื่อง การควบคุมคอรัปชั่น: บทเรียนจากเยอรมัน มีเนื้อหาดังนี้่

'10 สว.บิ๊กเนม' ผนึกกำลังตั้งมูลนิธิแก้จน 'สังศิต' นั่งประธานฯ เคาะวัตถุประสงค์ 9 ข้อ

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์ข้อความ เรื่อง 10 สว. ผนึกกำลังตั้งมูลนิธิแก้จน มีเนื้อหาดังนี้

'สังศิต' ชำแหละ 'ลูกไม้เก่าของสทนช.' ทำแผนแก้ภัยแล้ง-น้ําท่วม แนะขยายเวลาอีก2สัปดาห์

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่บทความเรื่อง ลูกไม้เก่าของสทนช. มีเนื้อหาดังนี้