ศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนกฎการไว้ทรงผมของนักเรียน ชี้ขัด รธน. ไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กจำกัดเสรีภาพในร่างกายเกินสมควร
05 มี.ค.2568 - ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอน กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
ส่วนเหตุผลที่สั่งเพิกถอนศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22เม.ย. 2515 ซึ่งกำหนดว่า การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน นักเรียนชายดัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงดัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากทางโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ผมยาวเกินกว่านั้น ก็ไม่รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวยนั้น มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับทรงผมและการใช้เครื่องสำอางของนักเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา กรณีถือได้ว่าเป็นกฎที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลผู้มีสถานะเป็นนักเรียน
โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เม.ย.2515 ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ระบุเหตุผลว่า เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาเป็นเยาวชนที่กำลังสร้างสมคุณสมบัติทั้งในด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรม พร้อมที่จะรับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่เป็นพลเมืองดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมดูแลใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน รวมทั้ง อยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง
เมื่อต่อมา ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ปรากฏหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เม.ย.2515 กำหนดสาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยมาตรา 22 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก และกฎกระทรวงกำหนดแนวทางการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก พ.ศ. 2549 กำหนดว่า การกระทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กให้พิจารณาถึง (1) ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน (2) ความเหมาะสม ความต้องการ และความจำเป็นของเด็ก...ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เจตนารมณ์ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมย.2515 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ลงวันที่ 6 ม.ค. 2518ที่กำหนดข้อห้ามสำหรับนักเรียนเกี่ยวกับการไว้ทรงผมและการใช้เครื่องสำอาง ระบุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ การเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา การเป็นศิษย์ที่ดีของครู
โดยกำหนดให้อยู่ในคำสั่งสอนและโอวาทของผู้ใหญ่และระเบียบประเพณี โดยมิได้คำนึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการของอัตลักษณ์และบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัยจากช่วงวัยเด็กเล็กอายุ 6-7 ปี จนถึงช่วงวัยรุ่นอายุ 13-16 ปี ซึ่งมีสถานะนักเรียนที่อยู่ในบังคับของกฎกระทรวงดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าประกาศของคณะปฏิวัติฯ และกฎกระทรวงที่พิพาท เป็นกฎที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และยังอาจมีการบังคับใช้กฎที่พิพาทนั้นอย่างเคร่งครัดจนมีผลร้ายต่อจิตใจของเด็กที่มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ อันเป็นการขัดกับหลักการและบทบัญญัติพ.ร.บ.บัญญัติคุ้มครองเด็ก 2546 จึงต้องถือว่าเป็นกฎที่ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เนื่องจากมีเจตนารมณ์ที่ขัดกับหลักการและบทบัญญัติมาตรา 22 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
อีกทั้งตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติเดียวกัน ได้กำหนดว่า นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ซึ่งแม้จะมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนไว้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาอาจกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนไว้เป็นองค์ประกอบย่อยของข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งกาย โดยพิจารณาให้สอดคล้องตามหลักการเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและคำนึงถึงการพัฒนาอัตลักษณ์และบุคลิกภาพที่เหมาะสมตามช่วงอายุของนักเรียนได้ ประกอบกับเมื่อพิจารณาเนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับที่พิพาท ซึ่งกำหนดลักษณะทรงผมของนักเรียน โดยมิได้คำนึงถึงพัฒนาการของบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัยและความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล จึงมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งกระทำมิได้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ กฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 6 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด 6 ราย โดยมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในศาลปกครองสูงสุด ทั้งในแผนกคดีวินัยการคลัง การงบประมาณ และคดีสิ่งแวดล้อม
จบปีนี้! ศาลปกครองสูงสุด แจงคืบหน้าคดี 'ยิ่งลักษณ์' ชดใช้จำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน
นายประวิตร บุญเทียม รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงคดีทุจริตจำนำข้าว ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ลุ้นผลชี้ขาด!ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาเรื่องทรงผมนักเรียน
ปกครอง ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.24/2563
การเมืองดีเอาแน่! พนันออนไลน์ 'ประเสริฐ' ชี้แค่ยังไม่ชัดใช้ พ.ร.ฎ หรือ กฎกระทรวง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากา
มอมเมาเต็มสปีด! เร่งพนันออนไลน์ถูกกม. 'บอล-มวย' มีแน่ ชงครม. เม.ย.นี้
'ประเสริฐ' ยังไม่เคาะประเภทพนันออนไลน์ แต่ 'บอล-มวย' มีแน่ เร่งออกระดับรอง พ.ร.ฎ. หรือกฎกระทรวง ชง ครม. ภายใน เม.ย.นี้