'อังคณา' ชี้ชัดกติกาสากล 'สิทธิความเป็นส่วนตัว' ลั่นเห็นด้วยศาลนัดไต่สวนทักษิณป่วยทิพย์

1 พฤษภาคม 2568 - จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งไต่สวนปมบังคับโทษนายทักษิณ ชินวัตร ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกหรือไม่ โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หลายคนอาจเห็นว่า ศาลมีอำนาจในการบริหารคดี ส่วนกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่บริหารโทษ ศาลจึงไม่ควรมีอำนาจสอบสวนราชทัณฑ์กรณีอนุญาตให้ทักษิณรับโทษโดยไม่ต้องนอนคุก

นางอังคณา ระบุว่า ส่วนตัวมองว่า กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก แม้ราชทัณฑ์อ้างทักษิณป่วยหนัก ป่วยนาน แต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าป่วยเป็นอะไร โดยอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยพร่ำเพรื่อ จนไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ว่าทักษิณป่วยจริงหรือป่วยทิพย์ เพราะหลังพ้นโทษก็ดูไม่เหมือนคนที่เคยป่วยหนักป่วยนานมาก่อน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทักษิณอาจ "ป่วยทิพย์"

ซึ่งหากเป็นจริงถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายอื่น และเป็นการสร้างบรรทัดฐานความไม่เท่าเทียม จึงเป็นการสมควรที่ศาลจะไต่สวนว่าคำพิพากษาของศาลถูกบังคับโดยถูกต้องและยุติธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ การอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ต้องไม่ลืมว่า หลักการ right to privacy (#สิทธิความเป็นส่วนตัว) ซึ่งได้รับรองไว้ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR ข้อบทที่ 17) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ได้ออกความเห็นทั่วไป ที่ 16 (General Comment No.16) เพื่ออธิบายความหมายของ #สิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งรัฐไม่มีอำนาจแทรกแซงความเป็นส่วนตัวโดยพลการของบุคคล แต่สิทธินี้ก็ไม่ใช่ #สิทธิสัมบูรณ์ (absolute right) ในข้อ 7 ของ GC 16 จึงกล่าวถึงข้อยกเว้นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวไว้ว่า

"เนื่องจากทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวจึงจำเป็นต้องสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณะผู้มีอำนาจควรจะสามารถเรียกข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของบุคคลซึ่งมีความจำเป็นต่อ #ผลประโยชน์ของสังคม ตามที่เข้าใจภายใต้กติกานี้เท่านั้น ดังนั้น คณะกรรมการจึงแนะนำให้รัฐต่างๆ ควรระบุในรายงานของตนถึงกฎหมายและข้อบังคับที่ควบคุมการแทรกแซงที่ได้รับอนุญาตต่อชีวิตส่วนตัว" (https://www.refworld.org/docid/453883f922.html)

#สิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องซับซ้อน เกี่ยวพันกับหลายสิทธิ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนบางคน เชื่อว่าความเป็นส่วนตัวจะต้องมีข้อจำกัดบางประการเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการอ้างที่ไม่ชอบธรรม โดยเห็นว่าบุคคลควรสละการอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวเท่าที่จำเป็น #เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ผู้เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบและระมัดระวังในการชั่งน้ำหนักของอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัว กับการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาหลักความเท่าเทียม การไม่ไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงการรักษาหลักใหญ่ คือ #หลักนิติธรรม (Rule of Law) ของสังคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรงค์' เตือน 'ฮุนเซน' หยุดเพ้อ ย้ำพื้นที่ทางทะเล-ทางบก เป็นของคนไทย ไม่ใช่ของ 'ชินวัตร'

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า #ฮุนเซนควรจะหยุดเพ้อ เห็นฮุนเซน เอ่ยปาก ทวงบุญคุณจตุพร แต่ไปๆมาๆกลายเป็นว่า ในสมัยนั้นทุกอย่างอยู่ที่ทักษิณบงการ

'ทวี' ลั่นความจริงมีหนึ่งเดียว ไม่กังวลศาลฎีกาฯ เรียกไต่สวนจนท.ราชทัณฑ์ คดีชั้น 14

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง นัดไต่สวนกรณีความปรากฏการบังคับโทษจำคุก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งพักรักษาตัวนอกเรือนจำ

ดร.ณัฏฐ์ ชี้ไต่สวนเพิ่มคดีทักษิณ ไม่กระทบโทษจำคุกซ้ำ

“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ ปม “ทักษิณ” ศาลฎีกาไต่สวน พยานบุคคลเพิ่มเติม-เรียกพยานเอกสารเพิ่มเติม ให้สิ้นกระแสความ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่มีผลต่อการบังคับโทษจำคุกซ้ำ

'คปท.' บุก สตช. บี้ 'บิ๊กต่าย' ฟัน 2 แพทย์ใหญ่ อุ้ม 'ทักษิณ' นอนชั้น 14

'คปท.' จี้ 'ผบ.ตร.' ตั้ง กก.สอบ 2 แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ปมให้ข้อมูลเท็จเอื้อ 'ทักษิณ' นอนชั้น 14 เรียกร้องฟันทั้งอาญา-วินัย พร้อมให้ออกจากราชการไว้ก่อน