'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงชายแดนใต้ จี้ยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี

7พ.ค.2568 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ กรณีความรุนแรงต่อพลเรือนในจังหวัดชายแดนใต้ ระบุว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม และยุติความขัดแย้งโดยแนวทางสันติวิธี

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีการโจมตีและสังหาร เด็ก ผู้หญิง คนชรา ผู้พิการ เณร อุสตาซ (อาจารย์สอนศาสนา) ผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้าย ซึ่งเกิดอย่างต่อเนื่องในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียหายที่ต้องได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความหวาดกลัวเมื่อสมาชิกในครอบครัวถูกควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษและรู้สึกวิตกกังวลว่าจะได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายพิเศษ นับเป็นอีกหนึ่งในหลายครั้งที่ทุกชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะศาสนาหรือเชื้อชาติใด ต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย พร้อมกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยและกังวลว่าวันใดตนจะตกเป็นผู้เสียหายจากความรุนแรง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จากปัญหาความขัดแย้งที่ยื้ดเยื้อมามากกว่า 20 ปี และไม่มีสัญญาณว่าจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด

แนวโน้มของความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็วสะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องของเหตุการณ์ในพื้นที่ บริบทของความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างกองกำลังของรัฐและกองกำลังนอกภาครัฐ ท่าทีของรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่มีนโยบายชัดเจน โดยเฉพาะในการเจรจาสันติภาพ ทำให้กระบวนการสันติภาพต้องหยุดชะงักมาเป็นระยะเวลานาน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลนี้เข้าทำหน้าที่ และยังคงไม่มีการตกลงใจหรือข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ส่งผลให้เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจะยิ่งร้ายแรงขึ้นหากทุกฝ่ายไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และความอดทนอดกลั้นในการใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อคลี่คลายปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายประการ ซึ่งประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ การแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Distinction) ความได้สัดส่วน (Proportionality) และการระมัดระวัง (Precaution) ซึ่งห้ามการโจมตีพลเรือนและวัตถุ สิ่งของ และสถานที่พลเรือน รวมถึงการโจมตีโดยตั้งใจและการโจมตีเป็นวงกว้างอย่างไม่จำแนก และทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือนเป็นสำคัญ ในกรณีนี้มีเด็กและผู้หญิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดร้ายแรงหนึ่งในหกประการต่อเด็กในช่วงความขัดแย้งด้วยอาวุธ (Six Grave Violations Against Children During Armed Conflict) ตามมติที่ 1612 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มูลนิธิฯ เห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญอย่างยิ่ง และตอกย้ำสถานการณ์ความรุนแรงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ภายใต้ที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษมากว่า 20 ปี มูลนิธิฯ ขอประณามบุคคลและฝ่ายใดก็ตามที่เป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรง และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนดำเนินการ ดังนี้

1. ยุติการปฏิบัติการหรือการกระทำใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อพลเรือนโดยเด็ดขาด ทั้งจะต้องลงโทษบุคลากรของตนที่ละเมิดหลักการดังกล่าว

2. ทุกฝ่ายต้องเคารพหลักการในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือนเป็นสำคัญ

3. รัฐบาลต้องเดินหน้าในกระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็วที่สุด และมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้บนแนวทางสันติวิธี เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงให้ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การใช้กำลังปราบปรามกลับอย่างรุนแรงที่นอกจากจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องตกเป็นผู้เสียหายจากความรุนแรงต่อไปแล้วยังไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ

4. รัฐบาลต้องดำเนินทุกวิถีทางในการปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกคนในพื้นที่ให้ปลอดภัยและได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

5. รัฐบาลจะต้องเยียวยาครอบครัวของผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่างๆ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างครอบคลุมและเหมาะสมโดยเร็ว

6. ขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ และนานาชาติ ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และจับกุมผู้ก่อเหตุและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำตัวมาดำเนินคดี โดยปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนผู้เสียหายและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

สุดท้าย โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัวทุกครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ด้วยความเจ็บปวดอย่างที่ไม่อาจบรรยายได้ และขอยืนหยัดเคียงข้างทุกครอบครัวในจังหวัดชายแดนใต้ผู้ต้องอดทนอดกลั้น เพราะท่ามกลางความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น ประชาชนคือผู้เสียหายและผู้สูญเสียอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผู้นำนิกายชีอะห์' ตามร่องรอยทฤษฎีสมคบคิดที่ชายแดนใต้ อาจเป็นจังหวะ 'รีเซ็ตโต๊ะเจรจา'

นายซัยยิด สุไลมาน ฮูซัยนี ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ ตามร่องรอยทฤษฎีสมคบคิดที่ชายแดนใต้!!!! มีเนื่อหาดังนี้

'ซาบีดา' รับตกใจเหตุระเบิดชายแดนใต้ระหว่างลงพื้นที่ เผยอยากเห็นสันติภาพสมานฉันท์ในพื้นที่

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่มีเหตุระเบิดในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างที่ลงพื้นที่ไปมอบโฉนดที่ดิน ที่ จ.

'อนุทิน' เยี่ยมผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ไฟใต้

'อนุทิน' ลุยภารกิจชายแดนใต้ มอบกำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครอง รุดเยี่ยมผู้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบ ย้ำฝ่ายปกครองเพิ่มความแข็งแกร่ง อส.จชต. ดูแลพื้นที่

'ยะลา' คุมเข้ม 24 ชม. ระวังคาร์บอมบ์ หลังสายข่าวเตือนมีป่วนช่วง 15-30 พ.ย.

พ.ต.อ.จิรวัฒน์ ดูดิง ผกก.สภ.เบตงได้อำนวยการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มมาตรการเข้ม หลังมีการแจ้งเตือน ระหว่างวันที่ 15 – 30 พ.ย. 67 ให้เฝ้าระวั