'เนติวิทย์' เคลื่อนไหวแล้ว หลังโดนปลดพ้นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

26 ก.พ.2565 - จากกรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกคำสั่งเรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต โดยให้นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ พ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ล่าสุด นายเนติวิทย์ ออกมาเคลื่อนไหวโดยโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กว่า "แถลงการณ์ส่วนตัวกรณีถูกปลดจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ" "Personal Statement on Being Dismissed from office of President of Students Government" (See full English version below.)

วันนี้ผมได้เข้าไปรับทราบคำสั่งของชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีจุฬาฯ ที่ได้สั่งตัดคะแนนพฤติกรรม ผมและอุปนายกคนที่ 1 ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เนื่องจากที่ผมเชิญเพนกวิน รุ้ง และอ.ปวิน มากล่าวต้อนรับนิสิตใหม่ในงานปฐมนิเทศ คำสั่งนี้ทำให้ผมหมดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ โดยทันที หรืออีกนัยคือ ผมถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อรัฐประหารแล้ว พวกเขาไม่สนใจไยดีคะแนนเสียงนิสิตมากกว่าหมื่นคนที่เลือกผมเข้ามาทำหน้าที่นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรตินี้ไม่เคารพหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตย

อันที่จริง ผลลัพธ์นี้มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก ใครก็ตามที่กล้าพอจะมีกระดูกสันหลังในสังคมซึ่งนิยมการหมอบคลานนี้ก็ต้องถูกผู้มีอำนาจข่มเหงอยู่แล้ว เรื่องน่าอัปยศก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับมิได้อยู่ฝ่ายคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยและมิได้มีจุดยืนอยู่ข้างพุทธิปัญญา หากแต่เชื่อฟังและโอนอ่อนผ่อนตามอำนาจนำของฝ่ายเผด็จการ

อนึ่ง ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีที่เซ็นคำสั่งลงโทษผมเป็นคนเดียวกับประธานคณะกรรมการตัดสินลงโทษผมและเพื่อนๆ ให้หลุดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิตในปี 2017 จนผมฟ้องศาลปกครองชนะจึงได้รับคะแนนกลับมาลงเลือกตั้งอีกครั้ง การที่เขาและพรรคพวกจะปลดผมอีกครั้งไม่ใช่เรื่องผิดคาด

แต่เรื่องที่ผมผิดคาดอย่างเดียวคือ ปีการศึกษานี้เป็นที่ยากลำบากที่สุด จากโรคระบาดโควิดทำให้สังคมแทบทุกด้านย่ำแย่ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตอย่างน้อย 8 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิต และมีนิสิตอีก 30 คนอาจจะถูกรีไทร์เพราะการเรียนออนไลน์ แม้ว่าครอบครัวทุกคนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มหาวิทยาลัยกลับลดค่าเทอมให้เพียงร้อยละ 10 ทั้งกิจกรรมต่างๆก็ถูกห้ามจัด แทนที่มหาวิทยาลัยจะใช้ “ยุทธศาสตร์” แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ ผู้บริหารกลับใจเท่าหางอึ่ง เดือดร้อนใจอย่างหนักกับการที่เพนกวิ้น บอกว่านิสิตก็เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยไม่น้อยไปกว่าผู้บริหาร ชูนิ้วกลางท้าทายขึ้นมาในวิดีทัศน์ปฐมนิเทศ ถึงกับรีบร้อนและจริงจังตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความผิดผมและอุปนายกคนที่1 ที่จัดงานนี้ ตั้งใจทำให้ผมหลุดออกจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตให้ได้

ตัวผมนั้นไม่ได้ติดใจเรื่องตำแหน่ง เพราะตำแหน่งไม่ใช่เรื่องหลัก ก่อนหน้าจะมีตำแหน่ง ผมก็ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบๆ มาโดยตลอด ผมสนุกและดีใจที่ได้รับใช้เพื่อนนิสิต พยายามหาโครงการต่างๆ ทำให้สังคมของเราดีขึ้น (แน่นอนว่า บางโครงการมหาวิทยาลัยก็คงรับไปเป็นผลงานของตน) ถึงผมไม่ได้มีตำแหน่งแล้ว แต่จะไม่ทอดทิ้งเสียงหมื่นเสียงที่ไว้วางใจ

ผมยังคงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการไม่เห็นด้วย เสียดสี ด่าว่า ชูนิ้วกลางใส่ หรือถือป้ายประท้วง ผู้มีอำนาจ ไม่ว่ารัฐบาล ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรจะต้องอดทนยอมรับได้ การกระทำของผู้บริหารในครั้งนี้เป็นการลดคุณค่าเสรีภาพ จำกัดระดับการวิพากษ์วิจารณ์ให้อยู่ในระดับที่ตัวเองพึงพอใจเท่านั้น แสดงออกถึงความอ่อนแอทางศีลธรรม ไม่ต่างกับผู้นำประเทศคนปัจจุบัน

คนที่น่าสงสารที่สุดจึงไม่ใช่ตัวผม แต่คือบรรดาคณะกรรมการตัดสิน ตัวรองอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างหาก พวกเขามองได้แต่ระยะสั้นและคงเสพข่าวสารไม่กี่ช่องทาง ทั้งไม่เคยรับฟังความเห็นของนิสิตทั่วๆไป จึงเห็นว่ามหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียงเพราะผม โดยไม่รู้ตัว พวกเขาต่างหากได้สร้างประวัติศาสตร์บาดแผลให้มหาวิทยาลัยและครอบครัวพวกเขาเอง (โดยที่ไม่มีใครสามารถตัดคะแนนพฤติกรรมพวกเขาได้!) อนุชนคนรุ่นหลังจะยิ้มเย้ยความเอาจริงเอาจังของผู้ใหญ่ในวันนี้อย่างขบขันแกมสมเพช พวกเขาคิดไม่ถึงว่ามีการตัดคะแนนเช่นว่านี้เกิดขึ้น ดังที่ ในปัจจุบันนี้คงไม่มีใครคิดแล้วว่ากรณีโยนบก จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเรื่องชอบธรรม และทุกวันนี้ผู้กระทำผิดทางศีลธรรมในวันนั้นต่างถูกประณามอย่างสาสม

ผมเชื่อเหมือนคนไทยจำนวนมากว่า เรากำลังได้รับความไม่เป็นธรรมอยู่ เพียงเพราะเรากล้าพูดความจริง และเรียกร้องเสรีภาพประชาธิปไตย เราต่างทุกข์ทรมานกันมาไม่น้อย แต่เราก็เชื่อว่าเราอยู่ในฝ่ายถูกต้องของประวัติศาสตร์ ในไม่ช้า ความอยุติธรรมที่เราได้รับจะถูกชำระล้าง และบุปผชาติแห่งเสรีประชาธิปไตยจะกลับมาผลิบานอีกครั้ง

ปัจฉิมลิขิต: งานสุดท้ายที่ผมภูมิใจก่อนถูกไล่ออกจากตำแหน่งคือ การก่อตั้ง ฝ่ายส่งเสริมสิทธิฯ SGCU ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนสากล ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ผมต้องการสนับสนุนให้นิสิตมีบทบาทส่วนร่วมช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เมื่อวานเราไปร่วมชุมนุมเป็นกำลังให้พี่น้องชาวยูเครนจากการถูกรุกรานโดยรัสเซีย ตอนนี้พวกเรากำลังทำแคมเปญระดมทุนค่าอาหารและยาให้พี่น้องชาวพม่าที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ผมอยากเชิญชวนทุกๆคนให้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมนี้ แม้ความทุกข์ที่ผมได้รับดูน่าเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่ไม่เท่าความอยุติธรรมที่ประชาชนชาวพม่า ยูเครน และที่อื่นๆ กำลังเผชิญ
(ร่วมบริจาคกับทางพวกเราได้ที่นี่ครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า

'วิรังรอง' อัปเดตข้อมูล ไล่บี้อธิการบดีจุฬาฯ เปิดผลสอบวิทยานิพนธ์ฉาว

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า อัปเดตการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ

ทวงผลสอบจุฬาฯ ปม 'ดุษฎีนิพนธ์' บิดเบือนประวัติศาสตร์กระทบสถาบัน

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว