มนุษย์โลกอาจเผชิญภาวะมลพิษจากพลาสติกอย่างรุนแรง หลังผลวิจัยคาดว่าจะมีปริมาณการใช้พลาสติกและปริมาณขยะจากพลาสติกมากขึ้น 3 เท่า ในช่วง 4 ทศวรรษนับจากนี้

แฟ้มภาพ คนงานเก็บขวดพลาสติกกำลังแยกขยะเพื่อนำไปขาย ในบริเวณที่ทิ้งขยะของเมืองบันดาอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการใช้พลาสติกและขยะพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2603 (Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2565 กล่าวว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เผยผลวิจัยว่า การผลิตพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีปริมาณ 1.2 พันล้านตันในแต่ละปี และปริมาณขยะจะเกิน 1 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2603 แม้ทั่วโลกจะพยายามรณรงค์ยุทธศาสตร์เชิงรุกในการลดปริมาณการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง รวมถึงการพัฒนาการผลิตพลาสติกด้วยการรีไซเคิลหรือผลิตจากวัสดุทางชีวภาพ แต่การผลิตพลาสติกจะยังคงเพิ่มขึ้นในปริมาณกว่า 300% ในเวลาไม่ถึง 40 ปี
ในปัจจุบัน ทั่วโลกดำเนินนโยบายการทำให้ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนขยะรีไซเคิลจากพลาสติกเพิ่มจาก 12% เป็น 40%
อย่างไรก็ตาม ปริมาณและมลพิษจากพลาสติกทั่วทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่สามารถแทรกซึมไปอยู่ในส่วนที่มนุษย์นึกไม่ถึงได้ เช่น ในตัวปลาที่มีถิ่นอาศัยในส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรและถูกแช่แข็งอยู่ในน้ำแข็งอาร์กติก อีกทั้งไมโครพลาสติกยังมีส่วนทำให้นกทะเลเสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านตัว และคร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในท้องทะเลอีกกว่า 100,000 ตัวในแต่ละปี
"มลพิษจากพลาสติกเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์" มาเธียส คอร์แมนน์ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ กล่าว
ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา มีการผลิตพลาสติกมากกว่า 8.3 พันล้านตัน และประมาณขยะที่เกิดจากพลาสติกเหล่านั้นกว่า 60% ถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ, เผา หรือทิ้งลงแม่น้ำและมหาสมุทรโดยตรง
ข้อมูลในปี 2562 ระบุว่า มีการใช้พลาสติกประมาณ 460 ล้านตันทั่วโลกในปีเดียว ซึ่งมากกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนถึง 2 เท่า และมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากกว่า 350 ล้านตัน แต่มีการรีไซเคิลขยะพลาสติกแค่เพียงไม่ถึง 10%
จากแนวโน้มในปัจจุบัน การใช้พลาสติกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทวีปอเมริกาเหนือ, ยุโรป และเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าจะมีการเติบโตของปริมาณการใช้พลาสติก ประมาณ 3-5 เท่าเลยทีเดียว ด้วยปัจจัยจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น
การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาภาวะมลพิษจากการใช้พลาสติกได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนจนอาจเป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย
ในปัจจุบัน ขยะพลาสติกเกือบ 100 ล้านตันได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้องหรือปล่อยให้รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี 2603
วงจรชีวิตของพลาสติก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การผลิตจนถึงการสลายตัว มีส่วนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2 พันล้านตัน หรือคิดเป็น 3% ของมลภาวะคาร์บอนที่มนุษย์สร้างขึ้น
องค์การสหประชาชาติตระหนักดีถึงปัญหาในภายภาคหน้า จึงได้เริ่มกระบวนการในการพัฒนาสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันเพื่อจำกัดมลพิษพลาสติก ด้วยหวังว่าจะยับยั้งสภาวะมลพิษไม่ให้เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็ยืดเวลาให้นานที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อ่าวลันตา’ผลักดันแก้มลพิษไมโครพลาสติก
ไทยเป็นประเทศที่มีขยะรั่วไหลลงทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญมาก รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ ครม. ไฟเขียวแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 – 2568
ปตท. จับมือ รพ.สินแพทย์-วิภาราม ตั้งจุดเก็บซองยาพลาสติกใช้แล้ว นำไปรีไซเคิล
ปัญหาขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกในประเทศไทย นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา คนไทยสร้างขยะมูลฝอยรวม 24.98 ล้านตัน
ทส.เตรียมนำแผนจัดการขยะชาติ ฉบับ 2 เสนอ ครม.
6 ส.ค.2565 - นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า การจัดการขยะยังคงเป็นปัญหาซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) ได้สิ้นสุดลง ทส. โดย คพ. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ