สหรัฐฯอนุมัติใช้ยารักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุมัติให้มีการใช้ยาบาริซิทินิบ (Baricitinib) ซึ่งเป็นยาเม็ดรับประทานชนิดแรกสำหรับการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมแบบรุนแรง อันเป็นสาเหตุจากโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเองที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 300,000 คนในสหรัฐอเมริกา

แฟ้มภาพ คู่สามีภรรยาฮอลลีวูด วิลล์ สมิธ (ซ้าย) และเจดา พิงเก็ตต์ สมิธ (ขวา) โพสต์ท่าถ่ายรูประหว่างเข้าร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ที่โรงละครดอลบี ในฮอลลีวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ ป่วยด้วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมจนสูญเสียความมั่นใจ (Photo by Angela WEISS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ อนุมัติให้ใช้ยาบาริซิทินิบ (Baricitinib) เพื่อรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมชั่วคราวหรือถาวรและส่งผลต่อบริเวณที่มีขนตามร่างกาย จนอาจนำไปสู่ความทุกข์ทางอารมณ์และความรู้สึก เหมือนในกรณีที่เกิดขึ้นกับเหล่าคนดังมากมายในสหรัฐฯ เช่น ดาราฮอลลีวูด เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ (ภรรยาของ วิลล์ สมิธ) และอายานนา เพรสลีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

“การเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวอเมริกันจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะผมร่วงอย่างรุนแรง” เคนดัลล์ มาร์คัส เจ้าหน้าที่ของเอฟดีเอ กล่าวในแถลงการณ์

ยาบาริซิทินิบ ผลิตโดยอีไล ลิลลี บริษัทยาของสหรัฐอเมริกา และเป็นที่รู้จักในชื่อทางการค้า “โอลูเมียนต์ (Olumiant)” เป็นยาเม็ดรับประทานที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ JAKs ซึ่งทำงานโดยการรบกวนเส้นทางของเซลล์ที่นำไปสู่การอักเสบ

การอนุมัติยาบาริซิทินิบให้ใช้กับโรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้น ได้รับการรับรองด้วยผลทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม ซึ่งทดสอบด้วยผู้ใหญ่ 1,200 คนที่ป่วยด้วยโรคผมร่วงอย่างรุนแรง

การทดลองแต่ละครั้งแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาหลอก, กลุ่มที่ได้รับยา 2 มิลลิกรัมทุกวัน และกลุ่มที่ได้รับยา 4 มิลลิกรัมทุกวัน

หลังจาก 36 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ประมาณ 40% ของผู้ที่ได้รับยา 4 มิลลิกรัมทุกวัน มีเส้นผมบนศีรษะกลับมาขึ้นใหม่ได้กว่า 80% ขณะที่ผู้ได้รับยา 2 มิลลิกรัมทุกวัน มีสัดส่วนผมขึ้นใหม่เพียง 23% และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีสัดส่วนผมขึ้นใหม่แค่ 5%

นอกจากนี้ กว่า 45% ของคนในกลุ่มที่ได้รับยาในมิลลิกรัมสูง ก็พบว่าคิ้วและขนตาขึ้นมาใหม่อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดจากการใช้ยาบาริซิทินิบ ได้แก่ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน, ปวดศีรษะ, เป็นสิว, คอเลสเตอรอลสูง และการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ที่เรียกว่า Creatine Phosphokinase หรือ ซีพีเค ที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ

การรักษาโรคผมร่วงก่อนหน้านี้ ทั้งการใช้ยาเฉพาะที่หรือยารับประทาน ล้วนแล้วแต่เป็นการรักษาในองค์รวม ไม่ใช่การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงและไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการมาก่อน

ยาบาริซิทินิบ ไม่ใช่ยาใหม่ในวงการยา แต่ก่อนหน้านี้ ยาบาริซิทินิบได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และเป็นยารับประทานทางเลือกที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด ซึ่งได้การรับรองโดยองค์การอนามัยโลกในช่วงการระบาดใหญ่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัวแม่กลับมาบู๊ 'ควีน ลาติฟาห์' เปิดศาลเตี้ยสวมบทมัจจุราช

ปลุกความยุติธรรมปกป้องประชาชน เปิดศาลเตี้ยชำระล้างความชั่วให้หมดไปในโปรแกรม พรีเมี่ยม ซีรีส์ (Premium Series) ทางช่อง MONO29 ซึ่งปล่อยภาคต่อเอาใจคอหนังคอซีรีส์แนวแอ็คชั่น-สืบสวนสุดมัน ในเรื่อง มัจจุราชไร้เงา ปี 2 (The Equalizer Season 2)

เช็กอาการโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia) ทำให้ภรรยา 'วิล สมิธ' ถูกล้อเลียน

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก สำหรับการที่ 'วิล สมิธ' ได้เดินขึ้นไปตบหน้าดาวตลก "คริส ร็อก" กลางเวทีประกาศรางวัลออสการ์