ต่อเนื่องจี7 เกาหลีใต้หารือร่วมอียู ประเด็นยูเครนและเกาหลีเหนือ

สองผู้นำยุโรปเดินทางถึงกรุงโซลเพื่อหารือกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในวาระข้อตกลงทางการค้า, สงครามยูเครน และโครงการอาวุธต้องห้ามของเกาหลีเหนือ

ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ (กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป (ซ้าย) และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระหว่างการประชุมที่สำนักงานประธานาธิบดีในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม (Photo by JUNG YEON-JE / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเดินทางเยือนเกาหลีใต้ ในวาระการประชุมสหภาพยุโรปที่กรุงโซล

หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดกลุ่มจี7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น สามผู้นำใช้โอกาสต่อเนื่องในการประชุมหารือร่วมกันระหว่างชาติยุโรปและดินแดนประชาธิปไตยแห่งคาบสมุทรเกาหลี

ประเด็นหลักคาดว่าจะเป็นการหารือเกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธครั้งแล้วครั้งเล่าของเกาหลีเหนือและโครงการนิวเคลียร์ที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงความพยายามของรัฐบาลโซลในการเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลเปียงยางเลิกสะสมนิวเคลียร์

คณะมนตรียุโรปกล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับการหารือครั้งนี้ว่า "สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้จะทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันในการสนับสนุนกฏระเบียบระหว่างประเทศ"

ก่อนหน้าการหารือ ประธานคณะมนตรียุโรปได้ไปเยือนเขตปลอดทหารเกาหลี (DMZ) ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา

มิเชลกล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า "ความปรารถนาในเสรีภาพจะแข็งแกร่งขึ้นเสมอ แม้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือคุกคามสันติภาพในภูมิภาคนี้อยู่ก็ตาม"

ขณะที่ ฟอน เดอร์ เลเยน ได้พบปะกับชุมชนธุรกิจยุโรปในกรุงโซล และให้คำมั่นว่าจะกระชับ "พันธะพิเศษ" ของสหภาพยุโรปกับเกาหลีใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเติมความร่วมมือเชิงลึกในด้านยุทธศาสตร์ รวมถึงพลังงานสะอาดและการวิจัย

ผู้นำยุโรปทั้งสองยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมสุสานแห่งชาติโซลเพื่อแสดงความเคารพต่อเหยื่อสงครามของเกาหลีใต้

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวว่า การเยือนของผู้นำสหภาพยุโรปเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านเศรษฐกิจ, สุขภาพ, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระชับความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก

อีกด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปและรัฐบาลโซลคาดว่าจะพูดคุยประเด็นการตอบโต้ต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก ได้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังยูเครน และขายรถถังและปืนครกให้กับโปแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาลเคียฟในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย

รัฐบาลโซลมีนโยบายที่จะไม่จัดหาอาวุธให้กับพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แม้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะบอกเป็นนัยว่า ทุกอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า การตัดสินใจของรัฐบาลโซลว่าจะส่งความช่วยเหลือทางทหารไปยังเคียฟหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของรัสเซีย หากเป็นการโจมตีพลเรือนครั้งใหญ่

ผู้นำเกาหลีใต้จัดการเจรจากับประธานาธิบดียูเครนนอกรอบการประชุมจี7 เมื่อวันอาทิตย์ หลังเคยได้พบปะภริยาของผู้นำยูเครนในกรุงโซลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ระหว่างการประชุมกับผู้นำยูเครนในฮิโรชิมา ประธานาธิบดีเกาหลีใต้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนเพิ่มเติม รวมถึงอุปกรณ์เก็บกู้ทุ่นระเบิดและรถพยาบาล ตามที่ผู้นำยูเครนร้องขอ.

เพิ่มเพื่อน