อพยพประชาชนหลายหมื่นคน หลังพายุไซโคลนพัดถล่มอินเดียและปากีสถาน

ทางการอินเดียและปากีสถานต้องอพยพประชาชนมากกว่า 40,000 คน ขณะที่พายุไซโคลนเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่ง คาดการณ์ว่ากำลังลมจะรุนแรงถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คลื่นรุนแรงที่ซัดเข้าหาชายฝั่งในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ขณะที่พายุไซโคลนบีปอร์จอยเคลื่อนตัวข้ามทะเลอาหรับไปยังแนวชายฝั่งของอินเดียและปากีสถาน (Photo by Punit PARANJPE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า พายุไซโคลนที่มีชื่อว่า 'บีปอร์จอย (Biparjoy)' ซึ่งแปลว่า 'หายนะ' ในภาษาเบงกาลี กำลังเคลื่อนตัวข้ามทะเลอาหรับ และคาดว่าจะขึ้นฝั่งอินเดียและปากีสถานในลักษณะของ "พายุที่มีความรุนแรงมาก"

ในแคว้นสินธ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของปากีสถาน เจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่า ประชาชนอย่างน้อย 20,000 คนได้รับการอพยพออกจากเส้นทางที่พายุจะพัดผ่าน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการในรัฐคุชราตของอินเดียก็ระบุว่า พวกเขาได้เร่งอพยพชาวอินเดียในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และอาจมีเพิ่มเติมตามรายงานความเคลื่อนไหวของพายุ

กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียระบุว่า พายุจะพัดเข้าใกล้กับท่าเรือจาเคาของอินเดียในเย็นวันพฤหัสบดี โดยกระแสลมจะรุนแรงขึ้นในระดับ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การทำประมงถูกสั่งระงับตามแนวชายฝั่งของรัฐคุชราต ซึ่งอาจมีคลื่นสูงถึง 3 เมตร และหน่วยยามฝั่งของอินเดียได้อพยพบุคลากร 50 คนออกจากเรือขุดเจาะน้ำมันลำหนึ่งเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมรับมือพายุไซโคลนที่กำลังจะขึ้นฝั่ง โดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้ทุกมาตรการที่เป็นไปได้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะได้รับการอพยพอย่างปลอดภัย

ทางการในรัฐคุชราตเตือนประชาชนกว่า 1.6 ล้านคนที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบ ให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของปากีสถานระบุว่า ลมกระโชกแรงสูงถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามแนวชายฝั่ง และคาดการณ์ว่าคลื่นในทะเลจะสูงถึง 3.5 เมตร ทำให้ทางการต้องเร่งอพยพพลเมืองราว 22,000-23,000 คนออกจากหมู่บ้านริมทะเล

พายุไซโคลน ซึ่งเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ มีความรุนแรงที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิต และมักเกิดขึ้นเป็นประจำบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง