สำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศรับรองแผนญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดฟุกุชิมะ

หน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติให้การรับรองแผนการของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล และจะมีผลกระทบทางรังสีเพียงเล็กน้อย

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (ซ้าย) นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดในฟูกูชิมะต่อนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ในระหว่างการประชุมที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม (Photo by Eugene Hoshiko / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ ได้ตรวจสอบและประเมินแผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล

ไอเออีเอได้ทบทวนขั้นสุดท้ายและให้การรับรองแผนดังกล่าว โดยราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานฯ นำคณะทำงานเดินทางเยือนญี่ปุ่นและมอบรายงานรับรองด้วยตัวเอง

"แผนการของรัฐบาลโตเกียวในการเจือจางน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วปล่อยลงสู่ทะเลนั้น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะล จะได้รับการควบคุมกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะส่งผลกระทบทางรังสีเพียงเล็กน้อยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม" รายงานของไอเออีเอระบุ

ทั้งนี้ เครื่องปฏิกรณ์หลายเครื่องที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ของบริษัทโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์ ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะล่มสลายหลังจากระบบหล่อเย็นถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มในปี 2554

อุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นนั้นเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิล และการเก็บกวาดอย่างปลอดภัยนั้นกินเวลานานกว่าทศวรรษ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเข้าเนื่องจากปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

ขณะที่การรื้อถอนโรงไฟฟ้าอาจจะใช้เวลาอีกหลายสิบปี แต่เทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงงาน ประสบปัญหาใหญ่จากปริมาณน้ำที่สะสมในพื้นที่มากกว่า 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้กระบวนการรื้อถอนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย โดยน้ำเหล่านั้นเป็นทั้งน้ำที่มาจากใต้ดิน, น้ำฝนที่ไหลซึมเข้ามาในพื้นที่ และน้ำที่ใช้หล่อเย็น

มีการประมวลผลผ่านโรงงานที่เทปโกระบุว่าสามารถกำจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีได้เกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นไอโซโทปซึ่งมักตกค้างอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลกปล่อยลงสู่ทะเล

แผนการดังกล่าวได้รับการรับรองชั่วคราวโดยไอเออีเอ แต่รัฐบาลโตเกียวกล่าวว่า การดำเนินการจะเริ่มขึ้นหลังจาก "การทบทวนอย่างรอบด้าน" ตามที่ราฟาเอล กรอสซี ได้นำเสนอเพิ่มเติมเมื่อวันอังคาร โดยตามกำหนดญี่ปุ่นวางแผนจะปล่อยน้ำในฤดูร้อนนี้

ถึงกระนั้น การกระทำดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงในระดับภูมิภาค โดยจีนวิจารณ์แผนการดังกล่าวอย่างไม่พอใจ และผู้คนในเกาหลีใต้เริ่มตื่นตระหนกในการกักตุนเกลือเพราะกลัวว่าจะมีการปนเปื้อนหลังจากการปล่อยน้ำบำบัดเหล่านั้นเกิดขึ้น

ในญี่ปุ่นเอง ชุมชนชาวประมงของฟุกุชิมะก็กังวลว่าลูกค้าและผู้บริโภคจะหวาดกลัวสัตว์ทะเลที่จับได้จากพื้นที่นี้ แม้ว่าจะมีระเบียบการทดสอบที่เข้มงวดสำหรับอาหารจากภูมิภาคแล้วก็ตาม

หลังจากหารือร่วมกับกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะและรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ราฟาเอล กรอสซีกล่าวว่า ไอเออีเอได้ใช้เวลา 2 ปีในการทบทวนแผนการปล่อยน้ำ รวมถึงการทดสอบน้ำที่ห้องทดลองและส่งตัวอย่างไปยังหน่วยงานอิสระ

"กระบวนการเจือจางและการกรองสารเคมีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมนี้" เขากล่าวเสริม โดยชี้ไปที่กระบวนการที่คล้ายคลึงกันในจีนและฝรั่งเศส

"เราทราบดีว่าหลายฝ่ายมีความกังวล" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า ไอเออีเอจะเปิดสำนักงานถาวรในพื้นที่ฟุกุชิมะ เพื่อติดตามกระบวนการปล่อยน้ำบำบัดอย่างต่อเนื่อง.

เพิ่มเพื่อน