ตั้งแต่วันอังคารประเทศกลุ่ม Brics มีการนัดประชุมกันที่โจฮันเนสเบิร์ก สมาชิกห้าประเทศได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้กำลังมัดรวมกันเป็นทางเลือกแทนกลุ่ม G7,sk
น่านฟ้าเหนือศูนย์การประชุมแซนด์ตันในเมืองโจฮันเนสเบิร์กปิดให้บริการชั่วคราวสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ และเฉพาะผู้ได้รับเชิญหรือได้รับการรับรองในฐานะตัวแทนสื่อเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าไปในสถานที่จัดประชุม ซึ่งมีประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลจาก 67 ประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด Brics ส่วนใหญ่ตอบรับคำเชิญ อาจจะยกเว้นคนเดียวคือ วลาดิมีร์ ปูติน
เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับประธานาธิบดีรัสเซีย ฐานก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน ดังนั้นแอฟริกาใต้อาจไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเขา ทางออกง่ายๆ ของปูตินคือส่ง แซร์เก ลาฟรอฟ ไปแทน แต่ศาสตราจารย์วิลเลียม กูเมเด-ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Brics จากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ในโจฮันเนสเบิร์กมองว่าผิดตัว เพราะประเด็นสำคัญของการประชุมอยู่ที่ความเป็นไปได้ในการเปิดรับสมาชิกใหม่ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเพื่องัดข้อกับตะวันตก
กลุ่ม Brics ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 ในตอนแรกถือเป็นการรวมตัวกันเชิงสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นพันธมิตรที่เอื้อหนุนด้านความสะดวกสบายโดยมีน้ำหนักเพียงน้อยนิด และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาจนมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ศาสตราจารย์กูเมเดสังเกตพัฒนาการมาหลายปี “รัฐบาลในมอสโกมองว่า Brics เป็นตัวช่วยในการกอบกู้เศรษฐกิจรัสเซีย และเป็นหนทางหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจากตะวันตก ซึ่งคล้ายกันกับสถานการณ์ของจีน” ทุกวันนี้กลุ่ม Brics อ้างสิทธิ์ในบทบาทสำคัญและมองว่าตนเองเป็น “เสียงจากซีกโลกใต้” ในโลกที่ไม่ควรถูกครอบงำโดยกลุ่มประเทศตะวันตก
บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก และมากกว่าหนึ่งในสี่ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลก เหนือสิ่งอื่นใด การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนมากกว่าสองเท่าของสมาชิกอื่นๆ ทั้งสี่รวมกัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ Brics มีเสน่ห์มากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่งคือการขยายกลุ่ม จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของแอฟริกาใต้ระบุว่า กว่า 40 ประเทศต้องการเข้าร่วม Brics และมากกว่า 20 ประเทศได้สมัครเข้าร่วมอย่างเป็นทางการแล้ว อย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ เม็กซิโก อาร์เจนตินา อิหร่าน เป็นต้น
หากขึ้นอยู่กับจีนหรือรัสเซียเป็นหลัก การรับสมาชิกใหม่คงถูกกำหนดไว้นานแล้ว แต่ที่ไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะ Brics ไม่ใช่กลุ่มประเทศที่เป็นเนื้อเดียวกัน รัฐบาลประชาธิปไตยและเผด็จการบางครั้งอาจร่วมมือกันมากขึ้น บางครั้งก็ไม่ดีต่อกัน โดยพื้นฐานแล้วกลุ่ม Brics มีปีกสองฝ่าย ด้านหนึ่งมีจีนและรัสเซียที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อีกด้านมีแอฟริกาใต้ อินเดีย บราซิลที่เป็นประชาธิปไตย ศาสตราจารย์กูเมเดเชื่อว่า จีนไม่สนใจว่าจะมีประเทศไหนเข้าร่วม สิ่งสำคัญสำหรับจีนคือการเติบโต และควรให้เร็วที่สุด ในขณะที่อินเดียคัดค้านและต้องการกำหนดเกณฑ์การภาคยานุวัติก่อน ทว่าผลลัพธ์จากศูนย์การประชุมแซนด์ตันจะเป็นอย่างไร โลกตะวันตกจำเป็นต้องรับมือกับความมั่นใจในตัวเองที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม Brics และแนวคิดของพวกเขาเกี่ยวกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศในอนาคต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มกบฏยึดครองอเลปโปเบ็ดเสร็จ ‘อัสชาด’ ถึงขั้นขู่จะทำลายล้าง
ตามรายงานระบุว่า นักรบญิฮาดได้เข้ายึดเมืองอเลปโปของซีเรียเรียบร้อยแล้ว ด้านอิหร่านให้คำมั่นจะสนับสนุนระบอบการปกครองของบาชาร์ อัล-อัสซาดต่อ
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีทำเซอร์ไพรส์ ไปเยือนยูเครนแบบฉุกละหุก
นี่เป็นการเยือนครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงครามในยูเครน และเป็นการเดินทางเยือนที่ทำให้เกิดคำถาม