เหตุจลาจลรุนแรงต่อต้านผู้อพยพในไซปรัส

AFP

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากการประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ก่อให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในเมืองลีมาซอล ซึ่งเป็นเมืองท่าของไซปรัส มีผู้ต้องสงสัยหัวรุนแรงฝ่ายขวาสวมหน้ากากพรางใบหน้าประมาณ 350 คน หรือ 500 คนตามรายงานของสื่อบางสำนัก บุกทำลายร้านค้าของผู้อพยพและประชาชน

ประธานาธิบดี นิกอส คริสโตดูลิดีส ของไซปรัสออกอาการโกรธเคืองและรู้สึกละอายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขากล่าวในช่วงเริ่มการประชุมฉุกเฉินตอนเช้าวันเสาร์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการตำรวจ และหน่วยดับเพลิงเข้าร่วมประชุม “ผมละอายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้” คริสโตดูลิดีสกล่าว “และผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ควรละอายใจด้วยเหมือนกัน” เขาหมายถึงทั้งกลุ่มผู้ประท้วง รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐมนตรีที่มีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งเขากล่าวหาว่า “เป็นกรณีที่รัฐไม่สามารถปกป้องประชาชนและคนต่างชาติในประเทศของตนเองได้”

ตามรายงานของสื่อ กลุ่มผู้ประท้วงสวมหน้ากากพากันตะโกน “ผู้อพยพออกไปให้พ้นจากไซปรัส” พวกเขาก่อความไม่สงบ ขว้างปาสิ่งของและก้อนหิน จุดไฟเผาถังขยะ และทุบร้านค้าริมฟากถนน ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำสกัดฝูงชน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และมีการจับกุมตัว 13 ราย ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวการจลาจลกล่าวว่า กลุ่มชายสวมหน้ากากทำร้ายชาวต่างชาติ ซึ่งต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากชาวไซปรัสคนอื่นๆ พาหลบหนีออกจากพื้นที่จลาจลอย่างปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถคุ้มครองประชาชนและนักข่าวได้ ทีมข่าวทีวีก็ถูกกลุ่มชายสวมหน้ากากคุกคามทำร้ายด้วยเช่นกัน กระทั่งว่าสื่อของไซปรัสเปรียบเทียบเป็น “เหตุการณ์คล้ายการสังหารหมู่” เมื่อกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาได้ทำร้ายผู้อพยพในเมืองเล็กๆ อย่างคลอรากาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยไซปรัส ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ประเทศเก่าเล็กๆ ที่ปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐอย่างไซปรัสรับผู้ลี้ภัยต่อปีมากที่สุดในสหภาพยุโรปเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ทำให้ค่ายผู้ลี้ภัยแออัด และพื้นที่เสื่อมโทรมได้ก่อตัวขึ้นในหลายพื้นที่ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นสาเหตุให้กลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงลุกฮือขึ้นก่อการจลาจล

ไซปรัสถูกแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่ปี 1974 หลังจากการรัฐประหารของกรีซและการแทรกแซงของทหารตุรเกีย สาธารณรัฐไซปรัสเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนับตั้งแต่ปี 2004 ตราบใดที่ยังไม่มีวิธีแก้ปัญหาการแบ่งแยก กฎหมายและข้อบังคับของสหภาพยุโรปจะมีผลบังคับใช้เฉพาะทางตอนใต้ของเกาะเท่านั้น ที่นั่นมีประชากรอาศัยอยู่ราว 900,000 คน และทางตอนเหนือมีประมาณ 300,000 คน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไซปรัสร้องเรียนไปยังสภายุโรปบ่อยครั้งว่า ผู้อพยพจากตุรเกียเดินทางอย่างถูกกฎหมายไปยังไซปรัสตอนเหนือ จากนั้นข้ามพรมแดนสีเขียวไปยังไซปรัสตอนใต้ เพื่อเดินทางเข้าสู่สหภาพยุโรป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไซปรัส-มอลตา' ถอน 'พาสปอร์ตทอง' ของชาวรัสเซีย

‘พาสปอร์ตทอง’ หรือสัญชาติที่พลเมืองนอกสหภาพยุโรปสามารถได้รับเพื่อแลกกับการลงทุนและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้น ขณะนี้ไซปรัสและมอลตาได้เพิกถอนจากชาวรัสเซียหลายสิ

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ 'เดลตาครอน' เกิดจากความผิดพลาดในห้องแล็บ

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า ข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน ที่เรียกกันว่า "เดลตาครอน" ซึ่งค้นพบในห้องแล็บที่ไซปรัสนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการปนเปื้อนในห้องแล็บ และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล