ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ 'เดลตาครอน' เกิดจากความผิดพลาดในห้องแล็บ

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า ข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน ที่เรียกกันว่า "เดลตาครอน" ซึ่งค้นพบในห้องแล็บที่ไซปรัสนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการปนเปื้อนในห้องแล็บ และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล

ข่าวการค้นพบไวรัสโควิดสายผสมปรากฏในสื่อของไซปรัสเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก แต่รายงานเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 อ้างทัศนะของผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่า ผลการค้นพบของนักวิจัยไซปรัสที่อ้างว่า ไวรัสเดลตาครอนนี้มีข้อมูลทางพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลตาควบคู่กับการกลายพันธุ์บางอย่างของโอมิครอน น่าจะเป็นผลจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการทดลอง

ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสโคโรนาจะรวมกันทางพันธุกรรม แต่ก็เกิดได้ยาก และนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังวิเคราะห์การค้นพบที่เรียกว่าเดลตาครอนนี้กล่าวว่า มันไม่น่าเป็นไปได้

ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากแผนกโรคติดเชื้อที่อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ทวีตว่า ลำดับทางพันธุกรรมของเดลตาครอนในไซปรัสที่สำนักข่าวใหญ่หลายแห่งรายงานนั้น ดูเหมือนจะเป็นการปนเปื้อนอย่างค่อนข้างชัดเจน

ส่วนเจฟฟรีย์ บาร์เร็ตต์ หัวหน้าโครงการความริเริ่มจีโนมิกส์โควิด-19 ที่สถาบันเวลคัมแซงเงอร์ของอังกฤษ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การกลายพันธุ์ที่กล่าวถึงนี้เกิดในส่วนหนึ่งของจีโนมที่เสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการจัดลำดับ และเกือบจะแน่ใจได้ว่า สิ่งนี้ไม่ใช่การรวมกันทางชีวภาพของสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน

นักวิทยาศาสตร์ต่างกระตือรือร้นที่จะต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะที่หมุนเวียนในโลกออนไลน์ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับไวรัส "ฟลูโรนา" หรือ "ฟลูโรวัน" ที่เป็นการผสมระหว่างไข้หวัดและไวรัสโคโรนา สะพัดในโลกออนไลน์เช่นกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ปฏิเสธแล้วเมื่อวันจันทร์

มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาด้านโรคติดเชื้อของดับเบิลยูเอชโอ ทวีตว่า โปรดอย่าใช้คำอย่างเช่น เดลตาครอน, ฟลูโรนา หรือฟลูโรวัน คำเหล่านี้แสดงถึงการรวมกันของไวรัสหรือสายพันธุ์ต่างๆ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น

แม้คนเราจะสามารถป่วยจากไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาในเวลาเดียวกัน แต่ไวรัสทั้งสองไม่สามารถรวมตัวกันได้ และที่ตรงกันข้ามกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เช่นโอมิครอน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแพร่ระบาด การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาพร้อมกันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่

นับแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ไวรัสโคโรนาได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่อีกหลายสิบชนิด โดยมี 4 สายพันธุ์ที่ดับเบิลยูเอชโอกำหนดให้เป็น "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" ได้แก่ แอลฟา, บีตา, เดลตา และโอมิครอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)

หมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือพุ่งปรี๊ด! เชียงใหม่ ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง

ปํญหาหมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือยังพุ่งสูงเป็นสถิติทุกวัน เชียงใหม่ AQI ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง PM2.5 เกินมาตรฐานทุกจุด