อาเซียน-ญี่ปุ่น เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล

ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นเห็นพ้องกันในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ท่ามกลางความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งระยะหลังเผชิญหน้าบ่อยครั้งกับเรือของฟิลิปปินส์

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและบรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนถ่ายภาพหมู่ก่อนการเสวนาในวาระครบรอบ 50 ปีมิตรภาพและความร่วมมือญี่ปุ่น-อาเซียน ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม (Photo by David Mareuil / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล หลังเผชิญการแสดงออกอย่างก้าวร้าวของรัฐบาลปักกิ่งในทะเลจีนใต้

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เห็นพ้องที่จะ "กระชับการเจรจาและความร่วมมือเพื่อรักษาความมั่นคง, ความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยทางทะเล"

ทะเลจีนใต้ถือเป็นระเบียงการค้าที่สำคัญ และรัฐบาลปักกิ่งอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่เหล่านี้เกือบทั้งหมด พร้อมทั้งแสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการเพิ่มจำนวนเรือลาดตระเวนและวิธีการอื่นๆ เพื่อยืนยันการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่

พฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความเดือดดาลให้กับนานาประเทศทั่วทั้งภูมิภาค เช่นเดียวกับรัฐบาลวอชิงตัน

ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ มีอาณาเขตและข้อพิพาทอื่นๆ กับจีนด้วยเช่นกัน นำมาซึ่งการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมและขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันเสาร์ว่า พวกเขาจะกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับมาเลเซีย และจัดสรรงบประมาณ 400 ล้านเยน (ประมาณ 98 ล้านบาท) สำหรับอุปกรณ์เตือนภัยและเฝ้าระวัง

เมื่อเดือนที่แล้ว ญี่ปุ่นเพิ่งจัดหาเรือยามฝั่งและระบบเรดาร์ให้กับฟิลิปปินส์ และทั้งสองประเทศกำลังหารือในการอนุญาตให้ส่งกำลังทหารไปในพื้นที่ของกันและกัน

ญี่ปุ่นยังแสดงความกังวลอย่างจริงจังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นอันตราย หลังจากการเผชิญหน้าอันตึงเครียดครั้งล่าสุดระหว่างเรือฟิลิปปินส์และจีนในพื้นที่พิพาท จนมีการปะทะกัน

นอกจากนี้ บรรดาผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นยังเห็นพ้องกันที่จะเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และกระชับความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ยานยนต์, พลังงาน, แร่ธาตุที่สำคัญ และด้านอื่น ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์.

เพิ่มเพื่อน