ผลวิจัยแอฟริกาใต้ ผู้ที่หายจาก 'โอมิครอน' จะไม่ติด 'เดลต้า'

จากผลงานวิจัยใหม่ในห้องปฏิบัติการที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้ สรุปว่า ผู้ที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาจสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้

หากการทดลองเพิ่มเติมหลังจากนี้ยืนยันผลเดียวกันกับการค้นพบในครั้งนี้ แสดงว่า การระบาดใหญ่ในอนาคตนั้นมีแนวโน้มจะรุนแรงน้อยลง ในระยะสั้น โอมิครอน คาดว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและระบบการดูแลสุขภาพทั่วโลก แต่ในระยะยาว งานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าโลกที่ปกคลุมด้วยโอมิครอนนั้น อาจทำให้อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวมถึงการเสียชีวิต น้อยลงเมื่อเทียบกับโลกที่โดนเดลต้าคุกคาม

“โอมิครอนมีแนวโน้มที่จะผลักเดลต้าออกไป” อเล็กซ์ ซิกัล ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากสถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้นำในการวิจัยกล่าว “บางทีการผลักเดลต้าออกไปก็เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ และเรากำลังมองหาในสิ่งที่เราสามารถอยู่ด้วยได้ง่ายกว่า และนั่นจะทำให้เรายุ่งยากน้อยกว่าที่ผ่านๆมา” เขาโพสต์ผลวิจัยใหม่นี้บนเว็บไซต์ของสถาบันเมื่อต้นสัปดาห์ แต่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์

บรรดานักวิทยาศาสตร์อิสระกล่าวว่า ผลการทดลองในแอฟริกาใต้แม้จะเป็นแค่ผลเบื้องต้นก็ยังถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี คาร์ล เพียร์สัน นักวิจัยด้านสาธารณสุขที่ London School of Hygiene & Tropical Medicine กล่าวว่า “ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอังกฤษ”

“โอมิครอนมาถึงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนเดลต้านั้นกำลังเข้าสู่ขาลง” เขากล่าว

และ Nathan Grubaugh นักวิจัยด้านสาธารณสุขที่ Yale School of Public Health กล่าวว่าเขากำลังสังเกตเห็นรูปแบบเดียวกันนี้ในรัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา “เราเห็นโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในขณะที่เดลต้ากำลังลดลง” เขากล่าว “สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า โอมิครอนสามารถเอาชนะเดลต้าในคนที่สุขภาพอ่อนแอได้ ทำให้พวกเขามีความอ่อนไหวต่อเดลต้าน้อยลงในภายหลัง และทำให้การติดเชื้อเดลต้าลดลงในที่สุด”

เมื่อสองปีก่อนที่แรกเริ่มเกิดโรคระบาดนี้ หากผู้คนติดเชื้อไวรัสโควิด ร่างกายพวกเขาจะผลิตแอนติบอดี้และเซลล์ภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันได้ขึ้นมาหลังจากหายแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่บุคคลนั้นจะติดเชื้อโควิดซ้ำอีกในเดือนถัดมา

แต่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 เป็นต้นมา โควิดสายพันธุ์ใหม่ก็เกิดขึ้น เช่น สายพันธุ์อัลฟ่า ที่เกิดกลายพันธุ์และทำให้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนสายพันธุ์เบต้า มีการกลายพันธุ์จนพวกมันสามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นแอนติบอดี้ที่ผลิตขึ้นจากการติดเชื้อมาแล้วก่อนหน้า หรือที่เกิดจากการตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19

สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นที่รู้จักในช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีการกลายพันธุ์ที่ทำให้สามารถแพร่กระจายได้เหนือกว่า และมีความสามารถปานกลางในการหลบเลี่ยงแอนติบอดี้ วัคซีนยังคงมีผลในการป้องกันและต่อสู้กับเดลต้า แต่ไม่มากเท่ากับที่เคยเป็นมาก่อนการระบาดใหญ่

เมื่อโอมิครอนปรากฏตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกายน มันแพร่กระจายเร็วกว่าเดลต้า นักวิจัยสงสัยว่าความรวดเร็วจากการแพร่กระจายนั้นเกิดจากสาเหตุสองข้อ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งคือ มันจำลองตัวเองให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือทำให้ตัวมันเองแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โอมิครอนยังสามารถแพร่เชื้อให้คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว รวมถึงผู้ที่เคยป่วยติดเชื้อด้วยสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ได้

ในการศึกษาเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ ทีมงานของสถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในเมืองเดอร์บัน และกลุ่มวิจัยอื่นๆ จำนวนหนึ่ง ได้ยืนยันความสามารถของโอมิครอน ในการหลบเลี่ยงแอนติบอดี้จากวัคซีนและแอนติบอดี้จากการติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ในการสรุปเช่นนี้ พวกเขาได้วิเคราะห์เลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือหายจากโรคโควิด-19 แล้วทดสอบกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ

ไม่ว่าจะทดสอบกี่ครั้ง แอนติบอดี้ที่มีฤทธิ์ต้านเดลต้าและสายพันธุ์อื่นๆได้ กลับเสื่อมลงเมื่อเจอโอมิครอน สิ่งนี้ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมคนที่ได้รับวัคซีนและผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้จำนวนมากจึงติดโอมิครอน แม้ว่าความรุนแรงจะน้อยกว่าการติดเชื้อเดลต้าก็ตาม

ในการศึกษาล่าสุด พวกเขาได้ทำการทดสอบแบบเดิม แต่คราวนี้ทดสอบกับผู้ที่หายจากการติดเชื้อโอมิครอนแทน และแม้ว่าแอฟริกาใต้เพิ่งผ่านการระบาดโอไมครอนอย่างหนักมา แต่ทีมวิจัยก็สามารถศึกษาผู้ป่วยได้เพียง 13 คนเท่านั้น

“นี่เป็นเรื่องยากมากเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว” ทีมวิจัยกล่าว “ไม่มีใครอยากอยู่นิ่งๆ และเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ”

ผู้ป่วยอาสา 7 รายได้รับการฉีดวัคซีนและอีก 6 รายไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นักวิจัยไม่ได้สนใจว่าอาสาสมัครคนใดจะเคยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใดมาก่อน แต่เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่เพิ่งเผชิญภาวะการระบาดใหญ่ของโอมิครอน (ซึ่งน่าจะกวาดสายพันธ์อื่นทิ้งไปหมดแล้ว) จึงมีแนวโน้มว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่น่าจะติดเชื้อโอมิครอนมาแล้วนั่นเอง

นักวิจัยพบว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่เลือดของผู้ป่วยมีแอนติบอดี้ในระดับสูงในการต่อต้านโอมิครอน แต่แอนติบอดี้เหล่านั้นก็พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านเดลต้าด้วยเช่นกัน

งานวิจัยในครั้งนี้สร้างความประหลาดใจเป็นพิเศษ เพราะการศึกษาวิจัยก่อนหน้าไม่นานมานี้เพิ่งค้นพบว่า แอนติบอดี้ที่ผลิตขึ้นหลังจากการติดเชื้อเดลต้า ให้การป้องกันต่อโอมิครอนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย