ศาลฮ่องกงสั่งแบนเพลงผู้ประท้วง รัฐบาลรับลูกเรียกร้องแพลตฟอร์มออนไลน์ให้นำออกทันที

ศาลฮ่องกงตัดสินให้เพลงที่ใช้ในการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 2562 ถือเป็นอาวุธในการปลุกปั่น รัฐบาลจึงใช้คำตัดสินดังกล่าวเรียกร้องแพลตฟอร์มออนไลน์ให้นำออกจากระบบอินเทอร์เน็ตทันที

แฟ้มภาพ ผู้คนมารวมตัวกันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านชาตินของฮ่องกง เพื่อร้องเพลงประท้วงชื่อ 'Glory to Hong Kong' เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 (Photo by Nicolas ASFOURI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า ศาลฮ่องกงพิจารณาแบนเพลงปลุกใจของกลุ่มผู้ประท้วงที่มีเนื้อหาปลุกปั่นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน

"Glory to Hong Kong" เป็นเพลงแรกที่ถูกแบนภายใต้กฏหมายความมั่นคง นับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบคืนให้กับจีนในปี 2540

เพลงนี้ซึ่งถูกบันทึกเสียงอย่างลับๆโดยวงออร์เคสตรานิรนาม ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 2562 ด้วยเนื้อเพลงที่มีสโลแกนการประท้วงคือ "ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติในยุคของเรา"

ความพยายามครั้งแรกของรัฐบาลฮ่องกงในการขอคำสั่งแบนเพลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการถูกศาลปฏิเสธเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าการสั่งแบนอาจเป็นการสร้างความหวาดกลัวและละเมิดสิทธิ์ในการแสดงออก

เพลงนี้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลอย่างมาก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพลงนี้ได้ถูกนำไปเล่นในการแข่งขันกีฬานานาชาติหลายรายการ โดยผู้จัดงานเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงประจำดินแดนฮ่องกง

แต่ในความเป็นจริง ฮ่องกงไม่มีเพลง(ชาติ)เป็นของตัวเอง และใช้เพลง "March of the Volunteers" ของจีนเป็นเพลงประจำดินแดน

คำตัดสินล่าสุดของศาลโดยเจเรมี พูน ผู้พิพากษาอุทธรณ์กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเขียนคำพิพากษาระบุไว้ว่า ผู้แต่งเพลงตั้งใจใช้เพลงนี้เป็นอาวุธ และท้ายที่สุดก็กลายเป็นเช่นนั้น

"สิ่งนี้ถูกใช้เป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนการประท้วงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2562 มันมีพลังอย่างมากในการปลุกเร้าอารมณ์ในหมู่ผู้คนบางส่วนของสังคม" ผู้พิพากษากล่าว

เพลงนี้ไม่สามารถออกอากาศโดยมีเจตนาก่ออาชญากรรม รวมทั้งไม่สามารถเผยแพร่หรือทำซ้ำบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไป แต่มีข้อยกเว้นสำหรับกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมข่าวเท่านั้น

คำตัดสินของศาลถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลฮ่องกง เพื่อใช้ดำเนินการแบนเพลงดังกล่าวในทางปฏิบัติต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่ระบุว่าพวกเขาพร้อมที่จะยอมรับคำขอของรัฐบาลหากมีคำสั่งศาลบังคับ

ภายหลังคำตัดสินดังกล่าว รัฐบาลฮ่องกงได้เรียกร้องให้มีการลบเพลงดังกล่าวออกจากระบบอินเทอร์เน็ตทันที โดยความเคลื่อนไหวนี้ถูกจับตามองในวงกว้างว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตอย่างไร ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วโลกเกี่ยวกับเสรีภาพด้านข้อมูลในฮ่องกง

เจ้าหน้าที่ฮ่องกงเรียกร้องให้ลบเพลงดังกล่าวออกจากผลการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตของ Google และแพลตฟอร์มแบ่งปันเนื้อหาอื่น ๆ ซึ่งเป็นคำขอที่ได้รับการปฏิเสธส่วนใหญ่

"รัฐบาลจะสื่อสารกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อร้องขอหรือเรียกร้องให้พวกเขาลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งแบนของศาล" พอล แลม รัฐมนตรียุติธรรมกล่าว และเสริมว่ารัฐบาลเพียงต้องการความร่วมมือจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการหลีกเลี่ยงการอำนวยความสะดวกในการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แลมยืนยันว่าคำสั่งแบนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของฮ่องกง

"การไหลเวียนของข้อมูลอย่างเสรีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อฮ่องกง แต่เรากังวลเฉพาะพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายเท่านั้น" เขากล่าว

กลุ่มอุตสาหกรรม Asia Internet Coalition ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Google และ Spotify ตอบสนองการเรียกร้องดังกล่าวว่า บริษัทฯกำลังประเมินผลกระทบจากคำตัดสินของศาลเพื่อพิจารณาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจต่อไป

"เราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตที่เสรีและเปิดกว้างเป็นพื้นฐานของความทะเยอทะยานของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับนานาชาติ" เจฟฟ์ เพน กรรมการผู้จัดการของบริษัทฯกล่าว

เพียงไม่นานหลังจากมีคำพิพากษาของศาลฮ่องกง รัฐบาลปักกิ่งออกมากล่าวย้ำว่า คำสั่งแบนดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อ "ปกป้องความมั่นคงของชาติ"

แอนโทนี ไหล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในฮ่องกงอธิบายว่า หากแพลตฟอร์มใดปฏิบัติตามคำสั่งของศาล พวกเขาจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเพลงนั้นไม่มีที่อยู่ IP ของฮ่องกง หรือผู้ใช้ในฮ่องกงไม่สามารถเข้าถึงเพลงดังกล่าวได้

"ผมเข้าใจถึงความจำเป็นของรัฐบาลในการปกป้องความมั่นคงของชาติ แต่ก็กังวลว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรมากเกินไปในการตรวจตราอินเทอร์เน็ตทั้งหมด" ไหลกล่าวกับเอเอฟพี

หลังการประกาศคำสั่งแบนดังกล่าว ลิงก์เพลงบางรายการใน YouTube ดูเหมือนจะไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าลิงก์อื่นๆ อีกจำนวนมากจะยังคงอยู่ก็ตาม

ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศจีนกล่าวถึงคำสั่งศาลดังกล่าวว่า เป็นทั้งเรื่องน่าขันและอันตรายซึ่งแสดงถึงการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกของชาวฮ่องกงอย่างไร้สติ และละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

รัฐบาลวอชิงตันได้ตำหนิคำสั่งแบนดังกล่าวเช่นกัน โดยแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเสียหายครั้งล่าสุดต่อชื่อเสียงระดับนานาชาติของฮ่องกง ซึ่งก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยภาคภูมิใจในการมีศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระคอยปกป้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล, ความคิด และสินค้าอย่างเสรี

ตั้งแต่ปี 2563 หลังจากการประท้วงใหญ่ยุติลงและกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลปักกิ่งถูกประกาศใช้ การแสดงความเห็นต่างจากสาธารณชนก็หายไปเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมากก็ถูกจับกุมดำเนินคดี, สั่งห้ามพูด หรือไม่ก็หลบหนีออกจากฮ่องกง.

เพิ่มเพื่อน