ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารถอนตัวประเทศออกจากภาคีหน่วยงานของสหประชาชาติหลายแห่ง รวมถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) และสั่งตรวจสอบการจ่ายเงินทุนของสหรัฐฯ ให้กับองค์กรพหุภาคีในวงกว้าง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อถอนประเทศของเขาออกจากหน่วยงานหลายแห่งของสหประชาชาติ ณ ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ (Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารครั้งใหม่เพื่อถอนตัวประเทศออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของหน่วยงานสหประชาชาติหลายแห่ง รวมถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) และกำหนดให้มีการตรวจสอบในวงกว้างต่อเงินทุนของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนองค์กรพหุภาคีต่างๆ
คำสั่งฝ่ายบริหารระบุว่ารัฐบาลวอชิงตันจะถอนตัวออกจาก UNHRC และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติสำหรับชาวปาเลสไตน์ (UNRWA) รวมทั้งจะพิจารณาทบทวนการมีส่วนร่วมในองค์การการศึกษา, วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) อีกครั้ง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อเป็นการประท้วงสิ่งที่วิลล์ ชาร์ฟ เลขาธิการทำเนียบขาวกล่าวว่าเป็น "อคติต่อต้านอเมริกาในหน่วยงานของสหประชาชาติ"
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเป็นผู้คัดเลือกสมาชิกทั้งหมด 47 ประเทศให้ดำรงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในวาระละ 3 ปี โดยสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดวาระล่าสุดในวันที่ 31 ธันวาคม และปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์กรดังกล่าว
คำสั่งล่าสุดถือเป็นการยุติการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ทั้งหมดในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบประวัติสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ และข้อกล่าวหาเฉพาะเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทรัมป์พูดถึงการถอนตัวครั้งนี้ว่า "สหประชาชาติเป็นองค์กรที่มีศักยภาพมหาศาล แต่การดำเนินงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทุกประเทศควรเป็นผู้ระดมทุน แต่กลับมีสัดส่วนไม่สมดุลเหมือนเช่นทุกครั้ง"
ทรัมป์โจมตีมานานแล้วเกี่ยวกับระดับเงินทุนของรัฐบาลวอชิงตันสำหรับองค์กรพหุภาคี โดยเรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ เพิ่มการสนับสนุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับพันธมิตรทางทหารอย่างนาโต
UNRWA เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือหลักสำหรับชาวปาเลสไตน์ โดยผู้คนจำนวน 1.9 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นฐานเนื่องจากสงครามในฉนวนกาซาต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานดังกล่าวเพื่อความอยู่รอด
ภายใต้การนำของทรัมป์ รัฐบาลวอชิงตันได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของอิสราเอลในการแบนหน่วยงานดังกล่าว หลังจากที่พันธมิตรของสหรัฐฯ กล่าวหา UNRWA ว่าเผยแพร่เอกสารที่แสดงความเกลียดชัง
เงินทุนจากสหรัฐฯ ที่สนับสนุนให้แก่ UNRWA ถูกระงับในเดือนมกราคมของปีที่แล้วโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในขณะนั้น หลังจากที่อิสราเอลกล่าวหาเจ้าหน้าที่ 12 คนของหน่วยงานนี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023
การสืบสวนหลายครั้งพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกลางบางประการที่ UNRWA แต่ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาหลักของอิสราเอล และผู้บริจาคส่วนใหญ่รายอื่นๆ ที่ระงับการให้ทุนในลักษณะเดียวกันก็ได้กลับมาให้การสนับสนุนทางการเงินอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของทรัมป์เพิ่งถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกเพื่อสิ้นสุดการเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้ การถอนตัวแต่ละกรณีถือเป็นการกระทำซ้ำจากที่เคยปฏิบัติในวาระประธานาธิบดีครั้งแรกของทรัมป์ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2021.