รัฐบาลโซลเตรียมกลับมาเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับวอชิงตันอีกครั้งนอกรอบการประชุมเอเปค ขณะที่บรรดารัฐมนตรีที่เข้าร่วมต่างแย่งชิงกันเข้าพบเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ

จอง อิน-กโย รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลีใต้ (แถวหน้าตรงกลาง) ยืนข้างเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (แถวหน้าซ้าย) และหลี่ เฉิงกัง ผู้แทนการค้าจีน (แถวหน้าขวา) ในการถ่ายรูปร่วมกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ช่วงเปิดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติในเกาะเชจู ประเทศเกาหลัใต้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม (Photo by YONHAP / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2568 กล่าวว่า รัฐมนตรีด้านการค้าจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำมาร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่เกาะเชจูของเกาหลีใต้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับระบบการค้าโลก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เปิดเผยการเก็บภาษีครั้งใหญ่กับคู่ค้าส่วนใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีพบเห็นบรรดารัฐมนตรีตัวแทนจากชาติต่างๆรีบเร่งเข้าพบเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งได้จัดการเจรจาทวิภาคีหลายฉบับ
หลี่ เฉิงกัง ผู้แทนการค้าจีนก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทั้งสองคนได้พบกันแล้วที่เจนีวาและตกลงที่จะลดภาษีตอบโต้กันเป็นเวลา 90 วัน
สหรัฐฯ เป็นสมาชิกสำคัญของเอเปค และส่งผู้แทนการค้ามาร่วมประชุมและจัดการหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ที่ต้องการลดผลกระทบของภาษีศุลกากรของวอชิงตัน
รัฐมนตรีการค้าจากกลุ่ม 21 ประเทศระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า "เรากังวลเกี่ยวกับความท้าทายพื้นฐานที่ระบบการค้าโลกเผชิญอยู่"
พวกเขาเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันมากขึ้น โดยกล่าวว่าพวกเขายังคงมุ่งมั่นต่อเอเปคในฐานะเส้นทางเชื่อมต่อทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่
จอง อิน-กโย รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลีใต้กล่าวว่าแถลงการณ์ร่วมนี้ได้มาด้วยความยากลำบาก ท่ามกลางความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกของการเจรจา
แต่ในนาทีสุดท้าย ประเทศต่างๆ ก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้อย่างน่าทึ่ง โดยเอเปคเน้นย้ำถึงความสำคัญของกลไกการค้าโลก เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
เจ้าภาพการประชุมกล่าวว่าไม่มีการหารือถึงการตอบสนองร่วมกันต่อนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เพราะแต่ละประเทศเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก
กรีเออร์มีกำหนดหารือกับอัน ด็อก-กึน รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ โดยรัฐบาลโซลหวังว่าจะมีความคืบหน้าที่สำคัญในการเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรอันสูงลิ่วของทรัมป์
ทั้งสองเคยพบกันในช่วงปลายเดือนเมษายนที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งเกาหลีใต้ได้ไปนำเสนอแพ็คเกจที่มุ่งเป้าไปที่การยกเลิกภาษีศุลกากร
เกาหลีใต้บันทึกการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มูลค่า 66,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เป็นรองเพียงเวียดนาม, ไต้หวัน และญี่ปุ่น ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นเป้าหมายหลักของกลยุทธ์การค้าของทรัมป์
ประเทศซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็น 27% ของการส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกรถยนต์ของประเทศ
ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้เพิ่มเติมสูงถึง 25% จากสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ต่อมาได้ระงับการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม
รัฐบาลโซลมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากการเจรจาด้วยการให้คำมั่นที่จะซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของสหรัฐเพิ่มเติม และเสนอการสนับสนุนในภาคการต่อเรือซึ่งเป็นภาคส่วนที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำ รองจากจีน
ก่อนหน้านี้กรีเออร์ได้พบกับชุง คีซุน รองประธานของ HD Hyundai ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้มาแล้ว
HD Hyundai กล่าวในแถลงการณ์ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนการค้าของสหรัฐได้พบปะกับอุตสาหกรรมการต่อเรือของเกาหลีใต้ โดยการหารือระหว่างกันนั้นครอบคลุมถึงความร่วมมือกับ Huntington Ingalls Industries ซึ่งเป็นผู้ผลิตเรือของสหรัฐ
นอกจากนี้ กรีเออร์ยังเตรียมพบกับซีอีโอของ Hanwha Ocean ซึ่งเป็นผู้ต่อเรือของเกาหลีใต้ที่ให้บริการบำรุงรักษา, ซ่อมแซม และยกเครื่องสำหรับเรือของกองทัพเรือสหรัฐ
ราคาหุ้นของ Hanwha Ocean เพิ่มขึ้นเกือบ 3% ทันทีหลังมีการเผยแพร่กำหนดเจรจา ขณะที่หุ้นของ HD Hyundai Heavy Industries เพิ่มขึ้นมากถึง 3.6%.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พิชัย’ โวประสาน ‘ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ’ ตั้งแต่ปลายปี 67 พร้อมเปิดเจรจาเชิงเทคนิคเร็วๆนี้
‘พิชัย’ เผยเริ่มประสาน ‘ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ’ ตั้งแต่ปลายปี 67 ล่าสุดเตรียมเปิดเจรจาเชิงเทคนิคเร็วๆ นี้