กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังกับกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) สร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ด้าน สส. โชว์ความสำเร็จ ตั้งโรงเรียนอีโคสคูลแล้วถึง 611 โรงเรียน พร้อมเดินหน้าเต็มร้อยตามกรอบพันธกิจ 4 ด้าน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และคัดเลือกเข้ารับรางวัล ASEAN Eco – School Award
27 ก.ค.2565 - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการฯ และเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ พัฒนาโรงเรียนตามหลักการของโครงการฯ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก เจตคติ รวมถึงเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนอีโคสคูล โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันให้เกิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ ด้วยสิ่งที่จำเป็น และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการตั้งรับ และปรับตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจเกิดขึ้นในอนาคต คือ การบ่มเพาะ หรือสร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” (Green Citizen) ที่มีความตื่นตัว ตระหนัก และรับผิดชอบต่อเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนหนึ่งคนได้ “โครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) เป็นการนำหลักการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) และหลักสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้หรือ Community Based Learning ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมของตนเอง เกิดการคิดวิเคราะห์ ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หรือ Problem Based Learning อันจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็น “พลเมือง” ที่ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ยั่งยืน” ตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ”
รมว. ทส. กล่าวต่อไปว่า ถือได้ว่าโครงการ Eco – School เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้งในมิติด้านการพัฒนาคนหรือด้านการศึกษา และมิติสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำพาสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศต่อไป แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบในการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลโรงเรียนทั่วประเทศ ในการร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ให้สามารถครอบคลุมทุกโรงเรียนทั่วประเทศได้ในอนาคตอันใกล้ และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปพร้อมกัน
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ มีกำหนดเวลา ๕ ปี ซึ่งขอบเขตความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือและเอื้อประโยชน์ในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco - School) ประสานงานและมอบหมายหน่วยงานภายใต้ความรับผิดชอบ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงเรียนในการดำเนินงานโครงการ เสริมสร้างและสนับสนุนองค์ความรู้โดยการจัดกระบวนการและสนับสนุนวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ และสื่อการเรียนรู้ แนวทางการดำเนินงานโครงการ กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) และความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนอีโคสคูล (Eco - School) รวมทั้ง นิเทศติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนให้สอดคล้องกับพันธกิจ ๔ ด้าน ตามหลักการของโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco - School) สนับสนุนและขยายผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco - School) รวมไปถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรงเรียนอีโคสคูล (Eco - School)
ด้านนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำสิ่งแวดล้อมมาสู่การจัดการเรียนการสอน หรือสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนในสังกัดทุกระดับ นำไปสู่การบูรณาการ การจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้กับผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขในสถานศึกษาที่ปลอดภัย จึงได้กำหนดนโยบายและจุดเน้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเป็นอาชีพ และสร้างรายได้ การลงนามในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach : WSA) เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจ อันเป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้และการลงมือปฏิบัติจริง และพร้อมที่จะเข้าไปมีบทบาทในการป้องกัน ฟื้นฟู รักษา และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) ให้ครอบคลุมกับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ ให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ การพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตย่างพอเพียงเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป โดยในส่วนขอบเขตความร่วมมือและหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือ สร้างความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School)
โดยยึดแนวทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) และมอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อำนวยความสะดวกและสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงเรียนในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม ขยายผลการพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) ให้กับโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ และนิเทศติดตามและส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูล (Eco – School) และนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ นางสาวตรีนุช กล่าว
ด้าน นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนอีโคสคูลขึ้น ในปีพ.ศ. 2550 ภายใต้ชื่อโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจาก 41 โรงเรียนนำร่อง และปัจจุบัน มีจำนวนโรงเรียนอีโคสคูลทั้งสิ้น 611 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นโรงเรียนอีโคสคูลเครือข่ายเดิม ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 – 2563 จำนวน 277 โรงเรียน ระดับต้น จำนวน 254 โรงเรียน ระดับกลาง จำนวน 66 โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล จำนวน 14 ศูนย์“
โดยในการดำเนินงานนั้น ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานรวมถึงการขยายผลโครงการ โดยแบ่งระดับการดำเนินโครงการออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น (Beginner) ระดับกลาง (Intermediate) และระดับสูง (Advance) พร้อมทั้งยกระดับโรงเรียนอีโคสคูล ที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ตามกรอบพันธกิจ 4 ด้าน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลในประเทศไทย และคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล ASEAN Eco – School Award ต่อไป และในปี 2564 เป็นปีแรกในการเปิดรับสมัครโรงเรียนอีโคสคูลระดับต้น โดยมีโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาผลการดำเนินงานและประกาศให้เป็นโรงเรียนอีโคสคูล ระดับต้น จำนวน 254 โรงเรียน” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พัชรวาท' แจง ครม.สัญจร ยังไม่เคาะงบ 28 ล้าน ศึกษากระเช้าขึ้นภูกระดึง เหตุมีเสียงคัดค้าน
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมครม.สัญจรจ.หนองบัวลำภูยังไม่พิจารณาเรื่องที่ จ.เลย
พม. แย้มข่าวดี! จ่อคลอดของขวัญปีใหม่ งดดอกเบี้ยโรงจำนำรัฐ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาศปีใหม่
ท็อปแนะใจเย็น สงกรานต์30วัน ‘ช่อ’หวั่นเผาเงิน
"บิ๊กทิน" รับลูก "อุ๊งอิ๊ง" จัดสงกรานต์ทั้งเดือนเม.ย.67
ฉับไว! 'พัชรวาท' เด้งรับปัญหาชาวบ้านท่าบ่อ ชง ครม.สัญจรแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ
“พัชรวาท” ชงครม.สัญจร แก้ปัญหาน้ำให้คนท่าบ่อหนองคาย รวมทั้งรพ.สมเด็จพระยุพราชที่ได้รับผลกระทบหนัก หลังรับฟังปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ ตั้งเป้าให้ปชช.อยู่ดีกินดี
'วราวุธ' วอนคนวิจารณ์นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ใจเย็นๆ ชี้ผลงานจะลบคำครหา
“วราวุธ” วอนคนวิจารณ์นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ใจเย็น ระบุผลงานจะช่วยลบคำครหา เชื่อไทยมีดี ดึงดูด 8,000 ล้านคนทั่วโลก
'วราวุธ' กำชับจนท.ทำงานเชิงรุกป้องกันเหตุความรุนแรงหนองบัวลำภูเกิดขึ้นซ้ำรอย
'วราวุธ' ติดตามความคืบหน้าช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงหนองบัวลำภู กำชับจนท.ทำงานเชิงรุกป้องกันเกิดเหตุร้ายซ้ำอีก