การประชุม G7 ท่ามกลางสัญลักษณ์อันทรงพลัง

AFP

วันที่ 6 สิงหาคม 1945 สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนเมืองฮิโรชิมาให้กลายเป็นขุมนรกที่ลุกโชนด้วยระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในสงคราม บริเวณศูนย์กลางของการทำลายล้างปัจจุบันกลายเป็นสวนอนุสรณ์สันติภาพ ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคมนี้มันก็จะเป็นฉากหลังของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้ง 7 (G7)

เช้าของวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เครื่องบินทิ้งระเบิด ‘อีโนลา เกย์’ ของสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่มีชื่อไร้เดียงสาว่า ‘ลิตเติลบอย’ ที่เหนือใจกลางเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น อีกสามวันถัดมาระเบิดลูกที่สองก็ถล่มเมืองนางาซากิ นับเป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สงคราม และตราบถึงทุกวันนี้มีเพียงครั้งเดียว ในช่วงเวลาที่ทิ้งระเบิดมีผู้คนอยู่ในเมืองฮิโรชิมาราว 350,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน แรงงานบังคับ และเชลยศึกที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นกวาดต้อนมา ภายในไม่กี่วินาที แรงดันและคลื่นความร้อนอย่างน้อย 6,000 องศาเซลเซียสได้เปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นนรกที่ลุกโชนด้วยเปลวเพลิง ทั้งเมืองถูกทำลายล้างไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คาดกันว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 คนในคราวเดียว และจนถึงสิ้นปี 1945 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 คน

ในนางาซากิมีผู้เสียชีวิตจนถึงสิ้นปีประมาณ 70,000 คน แต่ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ เนื่องจากมีหลายคนที่เสียชีวิตจากผลระยะยาวของรังสีด้วย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะมีอาการต่างๆ ไปตลอดชีวิต ได้แก่ มีความผิดปกติในการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ความผิดปกติของเลือดและผิวหนัง ความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลาง และความวิตกกังวลต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีการเลือกปฏิบัติ ที่ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ต้องเผชิญในสังคมของพวกเขาเองในภายหลังอีกด้วย

ทำไมสหรัฐฯ ต้องทิ้งระเบิดนิวเคลียร์? จนถึงทุกวันนี้ยังมีชาวอเมริกันเชื่อในแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ว่า ระเบิดปรมาณูทำให้การบุกรุกเป็นเรื่องไม่จำเป็นและช่วยชีวิตทหารอเมริกันหลายแสนคน แต่ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์ ระเบิดปรมาณูไม่ใช่สิ่งจำเป็นทางการทหาร เพราะในเวลานั้นญี่ปุ่นแทบหมดหนทางสู้แล้ว และไม่ใช่ฮิโรชิมา แต่เป็นการประกาศสงครามของสหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและกองทัพของเขาต้องยอมจำนนในวันที่ 15 สิงหาคม 1945

นักประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญกับเหตุผลทางการเมืองในการทิ้งระเบิด นั่นคือ สหภาพโซเวียตถูกมองว่าเป็นศัตรูใหม่ของสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์แต่เพียงผู้เดียว สหรัฐฯ ต้องการใช้ระเบิดปรมาณูเพื่ออวดความแข็งแกร่งของตนเองต่อสหภาพโซเวียต และไม่เพียงแค่นั้น วอชิงตันยังมองหาคำตอบที่เหมาะสำหรับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของญี่ปุ่นในปี 1941 ด้วย บารัก โอบามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางไปเยือนฮิโรชิมาในปี 2016 แต่ครั้งนั้นเขาไม่ได้กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ โจ ไบเดนผู้สืบทอดตำแหน่งก็มีแนวโน้มว่าจะปฏิบัติเช่นเดียวกันในการประชุมสุดยอด G7 ครั้งนี้

ในประเทศญี่ปุ่น เรื่องราวเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูย่อมถูกกำหนดขึ้นจากมุมมองของผู้ตกเป็นเหยื่อ ชาวญี่ปุ่นน้อยคนนักที่จะยอมรับว่าฮิโรชิมาเป็นเพียง “การถูกลงโทษ” สำหรับสงครามรุกรานของญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นจะกระทำผิดก็จริง แต่การทิ้งระเบิดปรมาณูนั้นถือเป็นอาชญากรรมต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์

ระเบิดปรมาณูกลายเป็นจุดเริ่มของความสงบที่เป็นลักษณะของสังคมหลังสงครามของญี่ปุ่น แต่สำหรับผู้รอดชีวิต หรือ ‘ฮิบะคุชะ’ (ผู้รับเคราะห์จากการระเบิด) แล้วกลับพบว่า การเก็บความทรงจำให้คงอยู่นั้นยากขึ้นเรื่อยๆ รายงานจากพยานในเหตุการณ์และการอุทธรณ์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขากำลังจางหายไป

ทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งยังเรียกร้องให้มีอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศของตน เหตุเพราะสงครามรุกรานของรัสเซียในยูเครน และการแย่งชิงอำนาจของจีน แต่ผู้นำทางการเมืองยังคงยึดมั่นในหลักการที่ญี่ปุ่นจะไม่ผลิตหรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์หรืออนุญาตให้ติดตั้งในดินแดนของตน ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาเกราะป้องกันอาวุธนิวเคลียร์จากพันธมิตรในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้รัฐบาลในโตเกียวก็เพิ่งตัดสินใจเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอย่างมหาศาล

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตในฮิโรชิมา ต้องการใช้การประชุมสุดยอด G7 ครั้งนี้โน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกร่วมต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่า 3 ใน 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง จึงมีการคาดเดาว่าผู้นำประเทศมหาอำนาจจะมีโปรแกรมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพก่อนเริ่มการประชุม ในมุมมองของภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกขณะนี้ ผู้นำทั้งหลายจะได้เห็นหลักฐานความน่าสะพรึงกลัวของอาวุธนิวเคลียร์

บารัก โอบามายังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ผู้รอดชีวิตจากสงครามและนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นหวังใจว่า ครั้งนี้ผู้นำทั้งหลายน่าจะซึมซับกับประวัติศาสตร์ของฮิโรชิมามากกว่าจะใช้มันเป็นแค่ฉากในการถ่ายรูปหมู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตการ์ด' ยกประวัติศาสตร์ อเมริกา-เยอรมัน ฆ่าคนตายเป็นล้าน เป็นบทเรียนประเทศต้องเดินไปข้างหน้า

'อดีตการ์ด'ยกประวัติศาสตร์ อเมริกาทิ้งระเบิดปรมณู 2ลูก ใส่ญี่ปุ่น มีคนตายเป็นแสน เยอรมัน ฆ่าคนตายเป็นล้าน ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทุกวันนี้เขาจับมือกันทำธุรกิจร่วมกัน เป็นบทเรียนไทยแบ่งแยกมาจะ20ปี ควรยุติความขัดแย้ง ประเทศต้องเดินหน้า