ความพร้อมใจทางด้านจิตสำนึก : 50 ปี 14 ตุลา

            อานันท์  ชี้ว่า   14  ตุลาคม  2516  เป็นความพร้อมใจกัน ในด้านจิตสำนึกทางสังคม

             เมื่อ 20 พย. 65  เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5  หอศิลป์ กทม. นายอานันท์ ปันยารชุน  อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวเปิดงาน “เสรีแห่งพิราบ” ของมูลนิธิเด็ก ร่วมกับ มูลนิธิ 14 ตุลา  จัดนิทรรศการภาพวาดจินตนาการทางประวัติศาสตร์ 50 ปี 14 ตุลา  ว่า

            “14 ตุลา 16  ผู้คนจำนวนมาก เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านคน ที่มาร่วมกันต่อสู้ โดยไม่ต้อง     มีหัวหน้าหรือผู้นำคนใด มาสั่งให้เดินไปทางซ้ายหรือทางขวา แต่เป็นความพร้อมใจกันทางด้านจิตสำนึก

             ความจริงเมืองไทย  ไม่ได้แตกแยกด้านอุดมการณ์ทางการเมือง  แต่เป็นความขัดแย้งด้วยอุดมการณ์ทางสังคมมากกว่า คนไทยต้องการเสรีภาพ  บางคนอาจต้องการรัฐธรรมนูญ บางคนอยากเห็นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลดลง บางคนอยากเห็นการมีงานทำ บางคนต้องการให้มีทรัพยากรพียงพอ คนต้องการเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น ขอสิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ขอความยุติธรรมในสังคม  ขอความยุติธรรมทางการศึกษา ขอความยุติธรรมทางธุรกิจการค้า การแบ่งปันอำนาจและการกระจายทรัพยากรทางธรรมชาติ

            คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการความยุติธรรม  ไม่อยากเห็นการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและทางธุรกิจการค้า

             แต่จิตสำนึกอีกฝ่ายของผู้มีอำนาจ  เขาหวงแหนความสะดวกเพลิดเพลินที่เขาได้รับมาเป็นเวลานาน และเขาไม่ต้องการสูญเสียไป

             จิตสำนึกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นปัญหาใหญ่  แม้จะผ่านจากคนรุ่นนี้ไป แต่ปัญหาก็ยังตกค้างอยู่  เพราะระบบยังฝังลึกและไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

            ถามว่าทุกวันนี้  พลังของประชาชนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีเพียงพอหรือไม่ ตอบว่ายังไม่พอ จำนวนคนก็ยังไม่พอ  นี่เป็นปัญหา

             แต่จิตสำนึก จะต้องดำรงอยู่ ต้องไม่หมดหวัง  หนังสือนิทานประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ของมูลนิธิเด็กร่วมกับมูลนิธิ 14 ตุลา  เป็นความพยายามที่จะทำให้จิตสำนึกของคนรุ่นนั้น ส่งทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป จะสำเร็จแค่ไหนก็ไม่ทราบ

             แต่สิ่งสำคัญคือคนรุ่นเรา  จะอายุเท่าไรก็ตาม จิตสำนึกที่จะแสวงหาความยุติธรรมในสังคม จะไม่มีการเลือนหาย  และความพยายามจะไม่เสื่อมถอย ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม”

              ในขณะที่  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ศิลปินแห่งชาติ ได้นำเอาบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” เดิมที่เขียนหลังปี 2516  มาขยายและต่อยอด  ว่า

ห้าสิบปีสิบสี่ตุลาคม

หนึ่งสายลมลำนำความเคลื่อนไหว

เสรีภาพกับประชาธิปไตย

ยังเป็นมาเป็นไปไม่เปลี่ยนแปลง

เหยี่ยวยังคงกระหยับปีกกลางเปลวแดด

ร้อนที่แผดยังผ่าวพัดอยู่ผาดแผลง

นกสีเหลืองยังโลดยังเริงแรง

หญ้ายังแยงหินแยกหยัดกระชด

ให้ผุดพราวดอกบัวในหัวใจ

ให้ทุกความเคลื่อนไหวได้ปรากฏ

อาจยาวโยชน์คดเคี้ยวอาจเลี้ยวลด

แต่ทุกบททุกบาทยังยาตรย้ำ

ยังยืนหยัดสัจธรรมความเคลื่อนไหว

ให้ร่วมไทยร่วมทางร่วมย่างย่ำ

ร่วมจดจำบทวิถีแห่งวีรกรรม

ความเป็นไทเป็นธรรมต้องนำทาง

              หลังการแสดงดนตรีของ หงา คาราวาน  คือการกล่าวปิดงานของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์  ปัญญาชนสยามว่าหลังการแสดงดนตรีของ หงา คาราวาน  คือการกล่าวปิดงานของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์  ปัญญาชนสยามว่า

            “โรงเรียนหมู่บ้านเด็กของ มูลนิธิเด็ก เป็นแบบอย่างแห่งความรักอันงดงามที่ครูแอ๊ว (รัชนี ธงไชย) มอบให้แก่เด็กยากไร้  เด็กขาดที่พึ่ง  เด็กไร้โอกาส ให้ได้รับการดูแลและเติบโตอย่างมีศักดิ์ศรี  

             14 ตุลา   เป็นการต่อสู้กับทรราช  ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  แต่ประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ไม่ได้ หากปราศจากความรัก ที่นำไปสู่ความจริง ความดีและความงาม

             หวังว่ามูลนิธิเด็ก จะร่วมกับมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อช่วยกันจัดกิจกรรมให้ผู้คนสำเหนียกถึงความรัก ในความดี ความงามความจริง จะทำให้เกิดความกล้า ซึ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่สิ่งที่  อ.ป๋วย   อึ้งภากรณ์  เรียกว่า สังคมแห่ง สันติประชาธรรม

ประสาร มฤคพิทักษ์ บันทึก / 21 พย. 65

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ประสาร’ ออกบทความ นิรโทษกรรม:เหลือแต่ความมุ่งมั่นของภาคการเมือง

ในวันนี้  การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด  อันเนื่องมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นประเด็นความสนใจสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ

'ชัชชาติ' เป็นหนี้บุญคุณ 14 ตุลา 16 บอกถ้าไม่มีวันนั้นก็ไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ มูลนิธิ 14 ตุลา และญาติวีรชน จัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์

แสบสัน! 'ประสาร' ลากไส้ 'ทักษิณ'  เปรียบงูรัดคมเลื่อยยิ่งดิ้นยิ่งเจ็บหนัก  

“ประสาร” สับเละทักษิณตีปี๊บกลับไทยมารับโทษ ไล่ตั้งแต่ปลุกเสื้อแดงเผาเมือง ยันนิรโทษกรรมสุดซอย เปรียบแสบถึงทรวง เหมือนงูรัดเลื่อยยิ่งดิ้นยิ่งเจ็บหนัก

ทฤษฎีความไม่พร้อม ปูพรมให้ถนนสายทรมานวิถี

จดหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉบับด่วนที่สุด ที่ ตช 0011.24/64 ลงวันที่ 2 มค. 66 ลงชื่อ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ถึง รมว. ก. ยุติธรรม เรื่อง ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566

คำตอบอยู่ที่หน้างาน

การเมืองวันนี้ สปอตไลท์ฉาบฉายไปที่การเคลื่อนตัวของพรรคและนักการเมือง ที่เขยื้อนขยับรับบรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปกันอย่างคึกคัก