วันปฏิวัติสังคมมนุษยชาติ.. “มาฆบูชาโลก” ประจำปี ๒๕๖๖..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความวุ่นวายในชีวิตของเราทุกคน ที่นับเป็นประชาสัตว์ในโลกนี้ แท้จริงมีมูลเหตุมาจาก ความคิดนึก ที่ยากจะหยุดยั้งให้สงบลงได้.. ด้วยอำนาจกิเลสในกระแสจิตที่ก่อความคิดปลุกเร้ารบกวนจิตใจอยู่ทุกขณะ สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า...

เหตุแห่งความทุกข์ใจ.. ความวุ่นวายใจ แท้จริง มิใช่เกิดจากสิ่งภายนอก...

แต่เกิดจากภายใน คือ จิตใจของเราเอง.. ที่ประกอบอยู่กับ กิเลส..

สมัยหนึ่ง พระสารีบุตรเถรเจ้า ได้เห็น พระมหาโมคคัลลานะ นั่งภาวนาอบรมจิตอยู่เพียงลำพังด้วยความสงบ.. เสวยวิมุตติสุขด้วยปัญญารู้ชอบ อันเกิดจากญาณทัสนวิสุทธิแล้วนั้น จึงได้กล่าวว่า..

 “..ท่านอาวุโสโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้

พึงควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของตน

ไม่ตกอยู่ในอำนาจของจิต..

ท่านอาวุโสโมคคัลลานะ ภิกษุผู้ควบคุมจิตของตนเช่นนี้ พึงยังป่าสาละให้งดงามได้...”

จากเถรวาทีดังกล่าว.. จะเห็นได้ว่า บุคคลที่ควบคุมจิตให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนได้.. ย่อมสามารถสร้างพลังจิตให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชีวิตอย่างมีคุณภาพ.. ด้วยคุณธรรมความดี อันเกิดขึ้นจากการพัฒนาจิตดังกล่าวนั้นได้...

นั่นหมายถึง.. จักต้องรู้จักวิธีการแปรรูปพลังความคิด.. ให้รวมลงมาเป็นพลังจิต.. ที่แน่วแน่ สงบนิ่ง รู้เข้าใจอย่างเป็นจริง ถูกต้องตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิต.. ซึ่งต้องอาศัยธรรม ๓ ประการมาอุปการะจิต ได้แก่ วิริยะ สติ สัมปชัญญะ...

หากขาดอุปการะธรรมทั้ง ๓ ก็ยากจะควบคุมให้พลังความคิด.. กลับเป็นพลังจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติปัญญาได้ไม่.. จึงได้เห็นผลคืนกลับของพลังความคิดในทางลบ.. ไม่สร้างสรรค์ ไร้ประโยชน์ และไม่มีคุณธรรมความดีกลับคืนมาหล่อเลี้ยงชีวิตให้เป็นไปเพื่อความสงบสุข

นักจิตวิทยาบางท่านได้กล่าวว่า.. “อิทธิพลต่อชีวิตของคนเรา แท้จริงขึ้นอยู่กับอำนาจการกระทำที่ส่งผลต่อจิตใจ ได้แก่ มุมมองต่อโลก ที่เรียก วิสัยทัศน์.. และสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง..”

อิทธิพลจาก ๒ ประการดังกล่าวทำให้เกิดผลต่อความรู้สึกนึกคิด ที่นำไปสู่การคิด.. วิธีคิดของคนคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ.. ที่หลอมรวมเป็น ปรัชญาชีวิต .. เป็นพื้นฐานของความคิดที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคน ๆ นั้น...

 “สำเนียงส่อภาษา .. กิริยาส่อสกุล” จึงเป็นสำนวนไทยที่ถูกผูกคำใส่ความหมายเชิงเปรียบเทียบ เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบถึงพฤติกรรมการแสดงออก การพูด การกระทำ.. ที่สะท้อนความเป็นตัวตนหรือสภาพแท้จริงของจิตใจผู้กระทำนั้นๆ ว่า ผู้พูด-ผู้กระทำมีอุปนิสัยใจคอ มีพฤติจิต.. จริตเป็นอย่างไร.. หรือมีความรู้สึกนึกคิดแท้จริงเป็นอย่างไร

ในภาวะสังคมมนุษยชาติ.. ที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างทางความคิดมากหลากหลายในปัจจุบัน ย่อมสะท้อนผ่านการพูด การกระทำ ได้ดียิ่ง โดยเฉพาะ วิถีการมองโลก ในแต่ละบุคคล ที่เป็นไปตามพื้นฐานจิตใจที่มีเสรีภาพในการคิดนึก.. จนไร้กรอบจริยธรรม คุณธรรมความดีงาม.. ที่มีให้เห็นมากยิ่งขึ้นในทุกมิติของสังคมในปัจจุบัน

การฟ้องร้องดำเนินคดี.. ข้อหา ดูหมิ่น.. หมิ่นประมาท จึงเกิดขึ้นมากที่สุดในปัจจุบัน.. ก็ด้วยความมีเสรีภาพในเชิงความคิดนึก ที่ไร้กรอบศีลธรรม ขาดจริยธรรม คุณธรรม ของเจ้าของผู้คิดนึก ที่ก่อความวิตกกังวล ภายใต้อำนาจของความใคร่ ความชอบใจ.. ความพยาบาท.. และความเบียดเบียน ที่ไม่พ้นไปจากอำนาจของอกุศล ๓ ตัวนี้ ที่เรียกอีกชื่อว่า กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก...

จึงไม่แปลกที่สังคมโลกจะไร้ความสงบ แม้สัตว์โลกจักกล่าวว่า.. ปรารถนาความสงบ..

ซึ่งความเป็นเช่นนี้ เป็นธรรมดาของมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย จะมากบ้างน้อยบ้างก็ว่าไปตามคุณภาพในจิตใจของมนุษย์.. ที่นำไปสู่การก่อกำเนิดศาสนาในหมู่ชน.. ปรากฏการณ์ซึ่งเป็น วิวัฒนาการของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นเพื่อการขวนขวายหาความสงบสุข...

ศาสนา.. แต่ละศาสนา.. ก็พยายามสร้างปรัชญาชีวิตให้มนุษย์ในแต่ละยุคสมัยนั้นๆ.. ได้มีความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิตตามปรัชญาของตนที่ได้ประกาศเป็นศาสนา.. เพื่อมนุษยชาติ...

มนุษยชาติ.. จึงเกิดความหลากหลายน้อยลง ด้วยรับความรู้ ความเข้าใจตามหลักคำสั่งสอนในศาสนานั้นๆ ที่ตนเองเชื่อมั่นว่า.. จะนำพาชีวิตของตนเองหนีออกจากความทุกข์กาย.. ความทุกข์ใจได้จริง..

ศาสนา.. จึงกลายเป็นที่พึ่งทางจิตใจของหมู่ชนในสังคมนั้นๆ.. ที่นำไปสู่การสร้างพื้นฐานความคิด.. ปรัชญาชีวิตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน..

แต่โลกก็ยังไม่หยุดความวุ่นวายสับสน.. มิหนำซ้ำกลับถลำลึกลงไปในความคิดนึก.. ตามหลักคำสั่งสอนในศาสนานั้นๆ.. จนผูกจิตให้เกิด ทิฏฐิ .. ที่เป็นไปตามคำสั่งสอน.. ที่ยากยิ่งต่อการแก้ไขไปมากกว่าเดิม.. จึงไม่แปลกที่ต่อมา ศาสนากลายเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในหมู่มนุษยชาติ...

เมื่อทิฏฐิ.. ต่างกัน.. ข้อปฏิบัติคือ ศีลต่างกัน...

ความแตกต่างกันในหมู่ชนจึงเกิดขึ้น และนำไปสู่การทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกัน.. เพราะทิฏฐิและศีลต่างกัน...

จากความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่มีความคิดนึกต่างกัน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคล ชุมชน สังคม เพราะความเชื่อทางศาสนาต่างกัน...

ทั้งนี้ เพราะสังคมใด.. มีความคิด.. ความเชื่อ.. การกระทำต่างกัน.. สังคมนั้น ย่อมยากจะมีความรักสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.. ย่อมขาดความเมตตาต่อกัน.. ขาดความระลึกถึงกัน...

ความหายนะของสังคม.. อันเกิดจากความต่างของ ความเชื่อ.. ความคิด.. การกระทำ

ที่จักนำไปสู่การจับศาสตราอาวุธ.. มาทำร้ายทำลายกัน จนก่อเกิดสงครามศาสนาขึ้นในหมู่มนุษยชาติ....

มีการก่อสงครามกันระหว่างกลุ่มคน.. ประเทศ.. และภูมิภาค.. ดังสังคมโลกในปัจจุบัน... ทั้งๆ ที่ทุกประเทศมีศาสนาประจำชาติและเป็นศาสนาเดียวกันด้วย...

พระพุทธศาสนา.. จับประเด็นปัญหาดังกล่าวมาศึกษา โดยกระบวนการสอบสวน.. สืบสวน.. ใช้หลักพิจารณาโดยแยบคาย โดย วิธีแห่งปัญญา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง.. ในความเป็นธรรมดาของปัญหา เงื่อนไขนั้น.. จึงพบว่า..

ปรากฏการณ์ทางความคิดที่หลากหลาย.. สู่ความเห็น การกระทำที่แตกต่างและผิดเพี้ยนไปจากธรรม.. นั่นเกิดขึ้นเพราะ มีกิเลสเป็นมูลเหตุ...

กิเลส .. ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างในความคิด ความเชื่อ และการกระทำ

ความแตกต่างของระดับกิเลส.. จึงนำไปสู่ความแตกต่างทาง ความคิด.. การคิด.. วิธีคิด..

พุทธศาสนาจึงวางกรอบ อุดมการณ์ หลักการ และข้อปฏิบัติ ไว้อย่างชัดเจน อันปรากฏในพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเป็นหลักแห่งคำสั่งสอนหรือประธานของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา

เพื่อหลอมรวมประชาคมพุทธศาสนา.. ที่มาจากความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยการหลอมรวมให้ประชาคมที่เรียกว่า พุทธบริษัท มี อุดมการณ์ เป็นหนึ่งเดียวกัน

สังคมใดหลอมรวมประชาคม.. ให้มีอุดมการณ์เป็นหนึ่งเดียวกันได้..

สังคมนั้น ย่อมวางหลักการ ข้อปฏิบัติ.. เพื่อความเสมอกันในความเห็น (ทิฏฐิ) และข้อปฏิบัติ (ศีล) ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และสังคมดังกล่าวนั้น.. จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.. มีความรักเมตตาต่อกัน.. มีความเกื้อกูลต่อกัน.. ดุจญาติมิตร..

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๖ ตรงกับ วันมาฆบูชา .. พระพุทธองค์ทรงแสดงความเป็นจริงดังกล่าว.. โดยทรงประกาศพระโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อความเป็นอยู่อย่างผาสุก มั่นคง เจริญวัฒนาถาวร ของพุทธบริษัท... โดยเฉพาะ องค์กรพระสงฆ์ ที่ต้องรับภารธุระ ทำหน้าที่ สืบอายุพระพุทธศาสนา..

ในปีนี้.. อาตมาจะนำพระสงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยม เดินทางไปประกอบศาสนกิจ เนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ ณ วัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน นับตั้งแต่วันที่ ๔-๕-๖ มีนาคม ๒๕๖๖.. มีการแสดงธรรม.. อบรมจิตภาวนา.. สนทนาธรรมกันอย่างต่อเนื่อง.. เพื่อการปฏิบัติบูชาที่ถึงพร้อมด้วยศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ในพระพุทธศาสนา น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว.. และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และในงานปฏิบัติศาสนกิจมาฆบูชาครั้งนี้ เปิดกว้างยินดีต้อนรับ.. “ผู้แสวงหาสันติธรรมตามหลักธรรม..ในพระพุทธศาสนา” ทุกคนด้วยความยินดียิ่ง.. จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน.....

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ