หนี้ครัวเรือน - หนี้ที่ท้าทายให้ติดตาม

เป็นที่น่ายินดีรัฐบาลได้ นำเสนอกฎหมาย พระราชบัญญัติ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ( กยศ ) (ฉบับที่ 2 ) ผ่านรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566 สาระสำคัญคือการคิดดอกเบี้ยผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษาใน อัตราเพียงไม่เกินร้อยละ 1 กรณีผิดนัดให้คิด เบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (จากเดิมร้อยละ 7.5 ) ที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

การออก พระราชบัญญัติ.ฉบับนี้เป็นการแก้ไข พระราชบัญญัติ.ฉบับเดิม ทำให้ปลดล็อก กับดักหนี้ กยศ.ได้ทั้งหมด ( ตามที่เคยได้เขียนบทความลงเสนอหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เรื่องกับดักหนี้ กยศ เมือเดือน กันยายน 2564 ) นับเป็นการช่วยเหลือประชาชนในเวลาที่เหมาะสม เป็นการแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่สำคัญได้อีกแรงหนึ่ง

ประเด็นสำหรับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูง ร้อยละ 88 ของ GDP สูงขึ้นจากระดับ 59.3 ของ GDP ในปี 2553 วิกฤตโรคอุบัติใหม่โควิด 19 มีบทบาทที่สำคัญในการเร่งอัตราส่วนดังกล่าวสูงเพิ่มขึ้น ระดับมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยากเห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงสุดอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 80

ตัวเลขที่เป็นหนี้เสียหรือ NPL ของหนี้ครัวเรือนจาก บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ( NCB ) 1.09 ล้านล้านบาท จำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 5 ถึง 5.5 ล้านคน ณ . ไตรมาส 3 ของปี 2565 ภาครัฐและสถาบันการเงินได้ร่วมกันแก้ไขหนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษ ของการเกิดวิกฤตโควิด 19 งานมหกรรมแก้ไขหนี้สินครัวเรือนรูปแบบสัญจร 5 ครั้งได้เสร็จสิ้นลงมีคนร่วมงาน 34000 ราย เป็นวงเงิน 24000 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางในการปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องตระหนักว่าปัญหานี้ยังไม่สรุปจบสมบูรณ์โดยอาจประทุกลับมาเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อีกหรือไม่ หนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่ท้าทายให้ติดตาม

คนเป็นหนี้ต้องจ่าย นี่เป็นหลักสากล ของพลเมืองที่มีความรับผิดชอบชั่วดี และเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม

คนไทยจำนวน 14.59 ล้านคนไม่มีหนี้บัตรเครดิต แต่มีความสามารถหารายได้ต่ำ ไม่เกิน 100000 บาทต่อปี มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100000 บาท เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นเพื่อได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และจะได้รับความช่วยเหลือรวมเป็นมูลค่า ประมาณ 1500 บาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 คนกลุ่มนี้มีโอกาสเช้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นไปได้ยาก นอกจากแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง เคยได้ยินคนที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐไปกู้เงินนอกระบบจำนวน 1000 บาทภายในสิ้นเดือนต้องคืนเงิน 1200 บาท โอ้ดอกเบี้ย ร้อยละ 20 ต่อเดือนหรือ 240 % ต่อปี เธอว่าใช้มา 2 ครั้งยอมรับว่าดอกเบี้ยแพง แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเงินกู้นอกระบบก็เป็นแหล่งที่พึ่งพิงสุดท้าย เพื่อให้ชีวิตได้เดินต่อไป

ที่พูดไม่ได้สนับสนุนให้มีเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ขบวนการติดตามหนี้ที่รวดเร็วรุนแรงหลายครั้งมีการใช้กำลังในการตามหนี้ มีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อทำให้เงินกู้นอกระบบสูญหายไป และทดแทนด้วยการผ่อนปรนสินเชื่อในระบบดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงสามารถกู้ยืมได้ หากดำเนินการเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่นหวังความสำเร็จ ความเหลื่อมล้ำของสังคมในมุมการเข้าถึงสินเชื่อก็จะสัมฤทธิ์ผลถึงแม้ยังต้องใช้เวลา ควรแก่การคุ้มค่าในที่สุด

ปกติเมื่อกู้หนี้ ผู้กู้จะมีความสามารถในการชำระหนี้จากที่มาของรายได้ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนประจำ รายได้จากการประกอบธุรกิจ ช่วงเวลาหลายทศวรรษเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเกิดภาวะวิกฤตในบางโอกาส เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจยังคงเติบโตส่งผลดีต่อการธำรงไว้ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนโดยรวม

ความเสี่ยง เป็นหัวใจที่สำคัญระดับต้น ๆ ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากที่มาของรายได้ สถาบันการเงินมองความเสี่ยงต่ำสาหรับคนที่มีเงินเดือนประจำ ข้าราชการ ส่วนคนฐานรากที่ทำมาหากิน ไม่ว่าจะ online หรือ offline ถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า ยุคสมัยเปลี่ยนคนรุ่นใหม่เริ่มหาอาชีพเป็นผู้ประกอบการทำมาค้าขายมากขึ้น ไม่ค่อยชอบทำงานประจำกินเงินเดือน

ความเสี่ยง ที่เกิดปัญหาในระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศ ธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐถูกปิดลง สาเหตุจากการด้อยค่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐ สถาบันการเงินขาดทุนจำนวนมาก มีการถอนเงินฝากจากประชาชนจำนวนมากเพราะความไม่มั่นใจในสถาบันการเงิน ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งซื้อกิจการธนาคารใหญ่อันดับสอง เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของระบบธนาคารในยุโรป ทั้งสองกรณียังคงส่งแรงกระเพื่อมต่อความเสี่ยงในระบบธนาคาร ตลาดทุน อย่างไรก็ตามปัญหาได้รับการจัดการแก้ไขอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศ

ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในวงกว้าง จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน โลกกำลังถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มขั้วอำนาจ โลกตะวันตกนำโดยสหรัฐกลุ่มหนึ่งและ กลุ่มบริคซ์นำโดยประเทศจีน ส่งผลต่อการค้าขายระหว่างประเทศลดลง การบริโภคลดลง รวมถึงการใช้จ่ายท่องเที่ยวลดลง

ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงตั้งแต่ 3.8 ของไทยในปัจจุบัน จนถึงที่เคยสูงสุดที่ 11.1 % ของประเทศอังกฤษ ต้นทุนสินค้า พลังงาน เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพประชาชน สูงขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จึงควรตระหนักความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคตของประชาชนที่ยังมีหนี้สินครัวเรือนและอยู่ในระหว่างการแก้ไขหนี้ จะได้รับผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการชำระหนี้

จากประสบการณ์ที่เป็นหมอหนี้ช่วยแก้หนี้ในช่วงวิกฤต โควิด 19 มีความชัดเจนว่าประชาชนหลายภาคส่วนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาคบริการท่องเที่ยว ไม่มีรายได้จากการปิดเมืองปิดประเทศ การแก้ไขหนี้ครัวเรือนเป็นการประคองลูกหนี้ไม่ถูกเร่งรัดหนี้ มีความหวังร่วมกันรอเวลาเปิดเมือง นักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ซึ่งได้เห็นภาพนี้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2565
คนเริ่มมีรายได้ เริ่มมีกำลังจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความสามารถชำระหนี้ก็ควรกลับมา ประเด็นก็คือจะต่อเนื่องหรือไม่ อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จะอยู่ในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้น หรือเสี่ยงจะทำให้รายได้ลดลง ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา

เมื่อมองในมิติการแก้ไขหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานผลงานช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ทั้งลูกหนี้ครัวเรือนและลูกหนี้ธุรกิจรวม 3.95 ล้านบัญชี วงเงิน 2.98 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงขยายมาตรการแก้ไขหนี้ออกไปถึงสิ้นปี 2566

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีมุมมอง การแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน มีการแบ่งหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ หนี้เสียที่มีอยู่ปัจจุบัน หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรังยังไม่เป็นหนี้เสียแต่ปิดจบไม่ได้ ( เช่นกู้เยอะกู้นานหนี้ไม่ลดจ่ายแต่ดอกเบี้ย ) กลุ่มหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต กลุ่มสุดท้ายหนี้ที่ยังไม่รวมในตัวเลขหนี้ครัวเรือนแต่มีปัญหา / อาจเกิดปัญหาในอนาคต

เราจึงมีการประเมินทิศทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนในระยะต่อไปยังคงมีการท้าทายทั้งจากรายได้ของลูกหนี้ยังมีความไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายในการยังชีพที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ และจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้น หนี้ครัวเรือน จึงเป็นหนี้ที่ท้าทายให้ติดตาม และจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต จึงขออนุมานดังต่อไปนี้

1 ธนาคารพานิชยังคงประคองลูกหนี้ที่ประสบปัญหาได้จนถึงสิ้นปี 2566 ไม่เร่งรัดหนี้สินเกินความจำเป็น โดยการใช้มาตรการผ่อนปรน ชำระหนี้ขั้นต่ำเช่น ร้อยละ 5 ของบัตรเครดิต ยืดเวลาชำระหนี้ รวมหนี้ไว้ที่เดียว เป็นต้น ตามมาตรการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างทางก็ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อการหารายได้ของลูกหนี้และความสามารถในการชำระหนี้

2 One shot solution เมื่อลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะส่งเสริมให้ออกกฎหมายช่วยลูกหนี้รายย่อย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู หรือ กระบวนการล้มละลาย เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและศึกษาข้อดีข้อเสีย จำนวนลูกหนี้หลักล้าน ต้องรอบคอบ

3 ใช้แนวทางที่รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร “ พักฟื้นหนี้สิน รักษาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย “ แก้ไขหนี้ให้เกษตรกร 50000ราย หนี้สินวงเงิน 9282 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 มีนาคม. 2565

มาตรการช่วยเหลือ 1 พักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน

2 ผ่อนชำระเงินต้นที่เหลือครึ่งหนึ่งไม่เกิน 15 ปี

3 เมื่อชำระคืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกให้ทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล

เงื่อนไข ลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงินอื่นใด

หากการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนได้รับการสนับสนุน ตามแนวทางที่ช่วยเหลือแก้ไขหนี้ให้พี่น้องเกษตรกร ก็จะรับความชื่นชมเหมือนที่รัฐบาลและรัฐสภาได้ออก พระราชบัญญัติ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา2566 ( ฉบับที่สอง ) เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างตรงไปตรงมาเพื่อสร้างคนสร้างอนาคตให้ประเทศไทย

อีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จประเทศซาอุดิอาระเบียดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นทะเลทราย ความมุ่งมั่นของผู้เกี่ยวข้องกำหนดนโยบาย ทำให้สิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ทำให้เป็นไปได้ โดยการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศให้เป็นผู้ส่งออกอาหารสินค้าเกษตรที่ปลูกขึ้นเองจากการพัฒนาท้องที่ทะเลทรายเป็นสวนไร่ นา การส่งเสริมให้คนเข้ามาทำการเกษตร สนับสนุนเงินกู้ระยะยาวไม่มีดอกเบี้ย ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตร ส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี่การเกษตร ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของนานาประเทศ

ความหวังของประชาชนหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือน พฤษภาคมนี้ จะได้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลเพื่อนำพาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข

สุดท้ายนายธนาคารผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ ธนาคารบริหารหนี้เสีย 40-57 % ใช้เวลา 7-20 ปี จึงสามารถได้เงินกลับมา “ ธนาคารจึงเลือกทางขายหนี้ออกไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ นี่อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญของธนาคารพานิชใช้จัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน 2566

วงศกร พิธุพันธ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ttb ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยทะลัก 16.9 ล้านล้านในสิ้นปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง

‘แบงก์ชาติ’ ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือนขึงเกณฑ์ตรวจเข้มแบงก์ปล่อยกู้

“แบงก์ชาติ” ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือน ปักธงปี 2567 ขึงเกณฑ์ Responsible Lending ตรวจเข้มข้นแบงก์ปล่อยสินเชื่อ ขีดเส้นต้องมีข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง

'นักวิชาการ' งง 'หมอเลี้ยบ' ปูด 'สภาพคล่องทางการเงินติดลบกว่า 1 ล้านล้านบาท'

จากกรณี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.คลัง กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความใน X ว่า เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด

คลังเข็น 'ออมสิน' แก้หนี้ครัวเรือน พร้อมแจกการบ้าน กอช. เพิ่มสมาชิกออม

“คลัง” พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เข็น “ออมสิน” นำร่องแก้หนี้เสีย แจกการบ้าน กอช. ปี 2567 เดินหน้าต้อนประชาชนสมัครสมาชิกแตะ 5-6 ล้านราย