ฟลิ้น ณัฐพงษ์-ว่าที่ส.ส.สมุทรสาคร ยังบลัด พรรคก้าวไกล ชูธง ปลดล็อกท้องถิ่น-กระจายอำนาจ

ชัยชนะในการเลือกตั้งของ"พรรคก้าวไกล"หนึ่งในบริบทการเมืองที่หลายคนพูดถึงกันก็คือการที่มีพรรคก้าวไกลมีว่าที่ส.ส.-นักการเมือง รุ่นใหม่ เข้ามาหลายคน และหนึ่งในว่าที่ส.ส.-คนรุ่นใหม่ทางการเมืองที่น่าสนใจของพรรคก้าวไกลก็คือ"ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม-ว่าที่ส.ส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล" นักการเมืองรุ่นใหม่วัย 28 ปี ที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้รับเลือกจากประชาชนพร้อมกับเพื่อนผู้สมัครของพรรคอีกสองคน จนทำให้ พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งยกจังหวัดที่สมุทรสาคร

สำหรับ"ฟลิ้น-ณัฐพงษ์"ก่อนหน้านี้อยู่ในแวดวงการเมือง ทำงานกันพรรคก้าวไกล มาได้ระะหนึ่งเช่นเคยเป็น ผู้จัดการรณรงค์ทางการเมือง คณะก้าวหน้า แคมเปญขอคนละชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปลดล็อกท้องถิ่น-อดีตทีมผู้ช่วยเลขาธิการคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล-อดีตผู้ช่วยหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นต้น

ส่วนเส้นทางการเมือง ก่อนหน้านี้และหมุดหมายทางการเมืองต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร "ฟลิ้น-ณัฐพงษ์"เล่าให้ฟังว่า เป็นคนสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นคนชอบหนังสือ ชอบอ่านข่าวการเมืองจากหนังสือพิมพ์รายวันฉบับต่างๆ ตั้งแต่เรียนประถมศึกษาประมาณ ป.3 ตอนนั้นก็ประมาณ 8-9 ขวบ โดยชอบอ่านข่าวการเมือง บทวิเคราะห์การเมือง ชอบคุยชอบถามเรื่องการเมืองกับผู้ใหญ่  จนเมื่อเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก็ทำกิจกรรมในโรงเรียนตลอด และทำให้เห็นว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับเราจริงๆ

ต่อมาเมื่อไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยิ่งทำให้เราเห็นว่าการเมืองมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะหลังเรียนทฤษฎีรัฐศาสตร์ ก็ทำให้อยากปฏิบัติ ผนวกกับ เคยไปเรียนภาษ-าไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียระยะหนึ่ง ทำให้ผมได้เห็นว่าเมืองที่เขาเจริญเป็นอย่างไร มันทำให้เราอยากให้ประเทศไทยมีความเจริญแบบนั้นบ้าง จนเป็นจุดที่ทำให้เราสนใจอยากเข้าไปเป็นนักการเมือง เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ไปแก้ไขกฎหมายต่างๆที่ยังมีปัญหา

"ณัฐพงษ์-นักการเมืองรุ่นใหม่พรรคก้าวไกล"เล่าชีวิตในช่วงเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ให้ฟังว่า ตอนเรียนคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นเข้าไปปี 2556-2557 โดยวันที่คสช.ทำรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ผมก็เปลี่ยนโปรไฟล์ facebook เป็นสีดำเลย เพราะไม่คิดว่าสังคมไทยจะมาถึงจุดนี้ เพราะแม้จะมีความเห็นแตกต่างกันทางการเมือง แต่ก็ควรแก้ไขด้วยกลไกในระบบ ไม่ใช่แก้ด้วยการทำรัฐประหาร และเมื่อมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็รู้สึกว่าช่วงนั้นเสรีภาพลดน้อยถอยลง เพื่อนหลายคนที่เป็นนักกิจกรรม ก็ถูกปรับทัศนคติ

ช่วงนั้น ผมก็มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด้วยที่ก็เป็นรุ่นสุดท้าย แต่ก็มีที่อาจารย์สมศักดิ์มาสอนไม่ได้เพราะมีการยิงข่มขู่ที่หน้าบ้าน มันก็เป็นบรรยากาศที่ไม่ค่อยดีในประเทศไทย กลายเป็นว่าเสรีภาพถดถอยไป ซึ่งประเทศไทย ผมเชื่อมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า ไม่มีฮีโร่ ทุกอย่างควรแก้ไขภายในระบบ ทำให้คนได้เรียนรู้การลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีทางลัด สำหรับประชาธิปไตย ที่ต้องมีการเรียนรู้ พอมีการรัฐประหารแล้วมาอ้างว่าเพื่อให้ประเทศเกิดความสงบ ผมจึงไม่เชื่อ เพราะคิดว่าสังคมไทยไม่ควรเดินมาถึงจุดที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหาร 

สำหรับการเข้ามาร่วมงานการเมืองกับพรรคก้าวไกลนั้น เกิดจากการที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นอาสาสมัครที่พรรคอนาคตใหม่ ช่วงปี 2561-2562 ในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ซึ่งก็ทำให้ได้เข้าไปช่วยงานที่พรรค เลยได้พบกับหลายคนในพรรคอนาคตใหม่ จนต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทางอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ไปจัดตั้งคณะก้าวหน้า อาจาย์ปิยบุตรก็มาชวนผมไปทำงานเป็นผู้ช่วยทำงานให้กับคณะก้าวหน้า พอเข้ามาสู่แวดวงการเมืองนานๆ เข้า ยิ่งทำให้เห็นเลยว่าการเมืองมีความสำคัญจริงๆ และมีผลต่อชีวิตคนเรามาก เลยนำไปสู่เหตุผลว่าเมื่อพรรคก้าวไกล เปิดรับสมัครให้ผู้สนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ของพรรคก้าวไกล ผมที่เป็นคนจังหวัดสมุทรสาคร ก็เลยไปลงสมัครเพื่อจะลงสมัครส.ส.เขต จังหวัดสมุทรสาคร

ตัวผมเองเป็นคนที่มีความสนใจเรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงการแก้ปัญหาประมงเพราะว่าช่วงปี 2558 การทำประมงได้รับผลกระทบอย่างมากจาก IUU จนเกิดปัญหาชาวประมงไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมก็คิดว่า ตัวเราเองก็มีไอเดียการแก้ปัญหาเรื่องประมงอยู่บ้าง และต้องการเข้าไปทำงานเรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงการแก้ปัญหากฎ-ระเบียบต่างๆ ที่มีปัญหา เลยไปสมัครลงเลือกตั้งกับพรรคก้าวไกล ตามกระบวนการของพรรค จนสุดท้าย พรรคก็เห็นชอบส่งผมลงสมัครรับเลือกตั้ง

เมื่อถามย้อนไปถึงตอนที่เข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานที่พรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่วันนี้จะเป็นนักการเองเต็มตัว ตอนนั้นเกิดจากอะไร "ณัฐพงษ์-ว่าที่ส.ส.สมุทรสาคร"เล่าแบบขยายความให้ฟังว่า เกิดจากที่ว่าผมสนใจการเมืองทั้งการเมืองไทยและการเมืองต่างประเทศ พอมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ผมก็เห็นว่าประเทศไทยต้องมีพรรคการเมืองแบบนี้ พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ พรรคการเมืองที่ต้องเข้ามาล้างภาพการเมืองที่ไม่ดี นักการเมืองโกง เพราะผมคิดว่าภาพเหล่านี้มันควรหายไปได้แล้ว มายาคติที่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ผมว่ามันควรพอได้แล้ว เพราะพอมีการเมืองแบบนี้ก็ทำให้เกิดข้ออ้างที่ทหารทำรัฐประหาร พอมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมเห็นว่าเป็นพรรคที่ต่อสู้การเมืองโดยมีอุดมการณ์ มีความคิดก้าวหน้า ผมอยากสนับสนุนพรรคการเมืองแบบอนาคตใหม่

ผนวกกับเห็นบุคลากรในพรรคที่มีความตั้งใจไม่ว่าจะเป็น คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดร.ปิยบุตร และอีกหลายคนในพรรค ผมคิดว่าตัวเองจะเข้าไปช่วยสนับสนุนพรรคได้อย่างไร เพราะอย่างเรื่องเงิน ผมก็ไม่มีอยู่แล้ว สิ่งที่ผมทำได้ ก็คือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ก็ไปร่วมทำกิจกรรมกับเขา มีอะไรให้ช่วยได้ผมก็ยินดีช่วย หลังเลิกจากงานประจำที่ทำอยู่ จะไปช่วยงานพรรคตลอด เช่น เวลามีประชุม ผมก็ไปเดินไมค์ให้เขา หรือเจอเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่ที่พรรค ผมก็ไปร่วมเสนอความเห็นต่างๆ ก็ลักษณะไปร่วมทำกิจกรรมกับพรรค มีอะไรก็ทำหมด

ต่อมาพอพรรคอนาคตใหม่โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตอนนั้นพอดีว่าผมเริ่มเบื่องานประจำที่ทำอยู่ อาจารย์ปิยบุตร ก็ทาบทามมาว่าสนใจไปทำงานด้วยกันหรือไม่ เพราะกำลังจะไปก่อตั้งคณะก้าวหน้า ผมก็เลยไปสัมภาษณ์กับอาจารย์ปิยบุตร ซึ่งอาจารย์ปิยบุตร คงเห็นผมว่าเป็นคนสนใจการเมือง และไม่เคอะเขินที่บอกว่าตัวเองอยากเป็นส.ส. คือตัวอาจารย์ปิยบุตร วิธีคิดของเขาคืออยากสร้างให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาอยู่ในการเมืองเยอะๆ เพราะอาจารย์ปิยบุตรเชื่อว่า การจะเปลี่ยนสังคมนี้ได้ ต้องนำคนใหม่ๆ เข้ามาเยอะๆ และก็อยากสนับสนุนคนใหม่ๆ ให้เข้าทำงานการเมือง ผมก็เลยเข้าไปทำงานช่วยดร.ปิยบุตรที่คณะก้าวหน้ามาตลอด เป็นเลขาฯ -ผู้ช่วย ทำแคมเปญต่างๆ กับดร.ปิยบุตรและคณะก้าวหน้ามาตลอด

จนต่อมามีอยู่ช่วงหนึ่ง ด้วยความที่บ้านเกิดผมอยู่ที่สมุทรสาคร แต่ต้องเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ ผมก็มีคำถามอยู่มากมายว่าทำไมสมุทรสาครที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ แต่เหตุใดสมุทรสาคร เจริญไม่เท่ากรุงเทพฯ ทำไมผมต้องไปเรียนไกลถึงกรุงเทพฯ จนเมื่อผมเติบโตขึ้น ได้เรียนหนังสือ ผมก็รู้ว่าปัญหามันเกิดจากเรื่องการกระจายอำนาจ -เรื่องรัฐรวมศูนย์ของประเทศไทย ทำให้ผมเป็นคนสนใจเรื่องการกระจายอำนาจตั้งแต่เรียนหนังสือ  

พอได้ทำงานกับดร.ปิยบุตรที่คณะก้าวหน้า เลยเห็นเสนอความเห็นว่าสังคมไทย เราควรแก้ปัญหาด้วยการกระจายอำนาจ ผนวกกับว่า ทางคณะก้าวหน้า ก็สนใจเรื่องการกระจายอำนาจอยู่แล้ว เมื่อผมเสนอไป ทางอาจารย์ปิยบุตรและคณะก้าวหน้าก็เห็นด้วย และตกลงที่จะทำแคมเปญ "ปลดล็อกท้องถิ่น"โดยให้ผมเป็นผู้จัดการแคมเปญ และให้คิดยุทธศาสตร์ในการสื่อสารและรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น ก็ทำแคมเปญดังกล่าวประมาณเกือบสี่เดือน  จนได้ประชาชนมาร่วมลงชื่อด้วย 80,772 รายชื่อ โดยคนที่เป็นคนยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวคืออาจารย์ปิยบุตร  

-ทำไมถึงตั้งเป้าหมายในชีวิตตั้งแต่แรกว่า อยากเป็นส.ส.?

ก็เพราะอยากจะทำให้จังหวัดบ้านเกิดของผม(สมุทรสาค)รวมถึงประเทศไทย ควรดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง เช่นเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะอย่างที่บอกสมุทรสาคร เป็นจังหวัดปริมณฑล ติดกับกรุงเทพฯ ซึ่งจริงๆ ควรไปได้มากกว่านี้ แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาอย่างเช่น น้ำประปาไม่ไหล หรือไม่มีพื้นที่สาธารณะมากเท่าที่ควร ซึ่งหลายปัญหาของจังหวัดสมุทรสาคร มันไม่ควรเป็นปัญหาอีกแล้วในยุคปัจจุบัน

ซึ่งมันก็เกิดจากเรื่อง"รัฐรวมศูนย์" การที่ยังไม่มีการกระจายอำนาจ เช่นท้องถิ่น ก็ไม่มีอำนาจในการไปดูแลพื้นที่ และปัญหาหลายเรื่องเช่นเรื่อง ถนน -น้ำประปา ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของส่วนกลาง แต่เขาก็ไม่เข้าใจไม่เรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ซึ่งประชาชนได้รับ วัฏจักรปัญหามันก็เลยวนลูปอยู่แบบนี้  ผมก็เลยคิดว่าการจะแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ ต้องมีอำนาจ ต้องไปเป็นผู้แทน ไปเป็นรัฐบาลเพื่อให้การกระจายอำนาจมันเกิดขึ้นจริงและท้องถิ่นจะได้ศักยภาพ มีอำนาจในการแก้ปัญหาในพื้นที่

ก่อนลงเลือกตั้ง ผมก็ปรึกษาครอบครัวหลายรอบว่าจะลงเลือกตั้งดีหรือไม่ ก็คุยกับคนหลายคน เขาก็ให้คำแนะนำว่า เมื่ออยากเป็นนักการเมือง ต้องมีประสบการณ์ ต้องเรียนรู้ ก็ควรลองเลย สุดท้าย ผมเลยตัดสินลงเลือกตั้ง ก็ใช้เวลาเปิดตัวและหาเสียงไม่นาน แต่ผมเข้าใจโจทย์-ปัญหาของสมุทรสาครตอนลงเลือกตั้งดีอยู่แล้ว ว่าเขาอยากเห็นผู้สมัครที่ลงพื้นที่เยอะๆ ไปรับฟังปัญหาประชาชน ผนวกกับผมเคยทำงานในส่วนกลางกับพรรคก้าวไกลด้วย พอลงพื้นที่มา รับฟังปัญหาประชาชน ผมก็นำสิ่งที่ได้ไปเสนอกับพรรคว่ามีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข

ช่วงหาเสียง ผมลงพื้นที่เยอะมาก ไปรับฟังปัญหา ไปเรียนรู้ ซึ่งปัญหาหลัก ๆของจังหวัดสมุทรสาครก็คือเรื่องประมง ผมก็ไปเจอคนจากสมาคมประมงฯ บ่อยมาก และก่อนลงเลือกตั้ง ผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมาธิการของสภาฯ ที่แก้ไขปัญหาประมงด้วย จึงทำให้ได้เรียนรู้งานต่างๆ และเมื่อพรรคก้าวไกลส่งผมลงสมัครรับเลือกตั้ง ผมก็เปิดตัวและเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งก็อาจถือว่าเปิดตัวช้า แต่ก็เร่งลงพื้นที่และทำงานหนัก พยายามเจอคนให้มากที่สุด เพื่อฟังปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วนำไปเสนอต่อพรรคว่าควรจะต้องมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร นอกจากนี้ ก็พยายามสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งที่สมุทรสาครตลอดว่าที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลทำอะไรบ้างโดยเฉพาะการสื่อสารทั้งทางออนไลน์และการพบปะพูดคุยกับประชาชนถึงนโยบายต่างๆ ของพรรคก้าวไกล เพื่อสื่อสารกับประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด

ตอนแรก ๆที่เริ่มลงพื้นที่ ผมก็ถูกปรามาสเหมือนกันว่าเปิดตัว ลงพื้นที่ช้า บางคนก็บอกว่า การเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ได้ส.ส.เขตหนึ่ง สมุทรสาคร ก็เพราะพรรคไทยรักษาชาติโดนยุบพรรค แต่รอบนี้โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะชนะคงยาก คู่แข่งก็แข็ง แต่ผมก็คิดว่าผลลัพธ์ที่จะออกมาเป็นการตัดสินใจของประชาชน แต่หาเสียงผมก็ทำเต็มที่ เดินพบประชาชนให้มากที่สุด คุยกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และใครมีข้อเสนอแนะอะไรผมก็รับฟังหมดเพื่อนำมาปรับแก้ไขตลอดแคมเปญหาเสียง เพราะผมคิดว่าผมมีจุดยืน แต่ขณะเดียวกันผมก็พร้อมจะรับฟัง ข้อเสนอแนะต่างๆ พอผมลงพื้นที่หนัก ทำให้บางคนที่เคยพูดกับผม ตามที่บอกตอนที่ผมลงพื้นที่แรกๆ แต่พอเขามาเจอผมอีกทีตอนใกล้เลือกตั้ง เสียงเขาก็เปลี่ยน เพราะเขาเห็นความตั้งใจของผม

ตอนที่ลงพื้นที่หาเสียง เรื่องหนึ่งที่ประชาชนจะเข้ามาถาม ก็คืออดีตส.ส.สมุทรสาคร ของอนาคตใหม่ที่ชนะตอนปี 2562  ไปอยู่ไหน ประชาชนอีกบางส่วนก็สะท้อนปัญหาให้ฟังว่าน้ำประปาไม่ค่อยไหล รวมถึงปัญหาในพื้นที่อีกหลายเรื่อง บางคนที่ทำประมง เขาก็จะมาถามความเห็นผมว่าปัญหาประมง จะแก้ไขได้อย่างไร รวมถึงถามเรื่องจุดยืนทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ซึ่งเสียงสะท้อนที่ออกมาจะมีความหลากหลายมาก ผมก็จะรับฟังและให้ความเห็น

แต่เรื่องหนึ่งที่ผมก็จะเน้นมากคือจุดยืนทางการเมืองของพรรค คือมีลุงไม่มีเรา-มีเราไม่มีลุง เพื่อแสดงความชัดเจน รวมถึงการยืนยันว่าตัวเองหากเข้าไปเป็นส.ส.จะไม่เป็นงูเห่าของพรรคก้าวไกลแน่นอน เพราะความที่ผมอยู่กับพรรคมานานและผมยังเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมก็บอกว่า ผมอายุยังน้อย หากผมทำตัวไม่ดี ผมไม่ทำงานหรือผมเป็นงูเห่าในพรรค อนาคตทางการเมืองผมก็จบ ผมคงไม่มองสั้นแบบนั้นแน่นอน

โจทย์สำคัญพรรคก้าวไกล

หลังเลือกตั้ง-เข้าไปเป็นรัฐบาล 

-คิดว่าอะไรที่ทำให้เกิด ปรากฏการณ์ ก้าวไกล ทั้งแผ่นดิน ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้?

ถ้าให้มองย้อนกลับไป อันแรกที่ต้องพูดถึงคือเรื่อง"นโยบายพรรค"ที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายร่วม 300 กว่านโยบาย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่หลากหลายได้เกือบหมด เช่นการศึกษา กระจายอำนาจ และอีกหลายเรื่องรวมถึงเรื่องประมง ทั้งหมดเป็นนโยบายที่ครอบคลุมและมีรายละเอียด ไม่ใช่ว่ามีแค่นโยบายเดียวแล้วว้าว แต่ของก้าวไกลจะครอบคลุมทุกมิติ ทำให้เข้าถึงประชาชนได้หลากหลาย

จุดที่สองคือจุดยืนทางการเมืองของพรรคก้าวไกลมีความชัดเจน อย่างเห็นได้ชัดคือ แกนนำพรรคก้าวไกล พูดแบบนั้น ตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรคก้าวไกล ก็จะพูดเหมือนกันหมด มันไม่ใช่การเตี๊ยมกัน แต่ทุกคนชัดเจนในจุดยืน ชัดเจนในอุดมการณ์ ไปออกดีเบต ก็ยิ่งได้คะแนน เพราะจุดยืนเราชัดเจน จะพูดกี่ครั้ง ก็เหมือนเดิม

จุดที่สามคือ ผู้สมัครส.ส.ของพรรคก้าวไกลทุกคน มีความทุ่มเทในการหาเสียง จนเกิดปรากฏการณ์อย่างเช่น ผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ยืนหาเสียงที่สี่แยกเหมือนกันหมด เช่นเดียวกับตัวผู้สมัครส.ส.สมุทรสาครและปริมณฑล ก็ยืนหาเสียงตรงสี่แยกของพื้นที่เหมือนกันหมดเช่นกัน มันเลยเห็นภาพที่ทุกคนพร้อมใจกัน ต่างทุ่มเทให้กับการทำงาน และพอประชาชนเห็นภาพออกทางสื่อเช่น TikTok หรือการที่ประชาชนขับรถผ่านแล้วเจอ ก็เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าพรรคก้าวไกล ทำการเมืองแบบใหม่ และผู้สมัครพร้อมที่จะทำงานแบบทุ่มเท โดยผู้สมัคร ก็เลยกลายเป็นนักการเมืองในอีกมุมหนึ่ง คือดูเข้าถึงง่าย เป็นคนธรรมดาๆ ที่เมื่อมีความพร้อมก็มาลงเลือกตั้งกัน ไม่ใช่นักการเมืองในภาพจำแบบเดิมๆ

องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้คนเห็นว่า คนของพรรคก้าวไกลเป็นนักการเมืองที่เข้าถึงได้ และดูพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองของประชาชน เราไม่ได้มีนายทุนหนุนหลัง แต่เรามีประชาชนเป็นเจ้านายของเราจริงๆ อีกทั้งด้วยในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บวกกับการที่พรรคก้าวไกล พยายามจับในสิ่งที่ประชาชนคิดและประชาชนเชื่อเพราะเราก็เป็นประชาชนเหมือนกัน เราก็รู้ว่าเราอยากได้อะไร เราก็ปฏิบัติในสิ่งที่เราเชื่อและเราอยากให้มันเกิดขึ้นจริง มันเลยเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดเป็นพลัง

-คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสเบื่อลุงด้วยหรือไม่ ?

ผมคิดว่าก็พอมีส่วน แต่มากกว่านั้น มันไม่ใช่ความเบื่อลุง แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างประเทศนี้ที่มันเป็นปัญหา ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กรุ่นใหม่ จบการศึกษามา เงินเดือนที่ได้  แล้วต้องเจอกับค่าครองชีพที่แพงเช่นค่าไฟฟ้า จากที่รัฐเอื้อทุนใหญ่ หรือปัญหาต่างๆ ในการดำเนินชีวิตเช่น ฝุ่นPM.25 และอีกหลายปัญหาที่มันกระทบกับชีวิตพวกเขา ซึ่งทั้งหมดมันเป็นปัญหาสะสม

ดังนั้นลำพังแค่เรื่องเบื่อลุง อาจจะยังไม่พอ แต่มันเป็นความโกรธ ความที่เห็นโครงสร้างของประเทศมีปัญหา และเขาอยากให้มีการแก้ไข ซึ่งพรรคก้าวไกล ก็เชื่อเช่นนั้น คือ ต้องแก้ที่ต้นตอ ผมเลยมองว่าลำพังแค่การเบื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง คงไม่ตูม จนเกิดเป็นปรากฏการณ์อย่างที่เห็นในการเลือกตั้ง ที่พรรคก้าวไกลซึ่งเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง แล้วได้สิบสี่้ล้านเสียงซึ่งถือว่าเยอะมาก

"แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ โจทย์ของพรรคก้าวไกล คือการบริหารความคาดหวังของประชาชน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเมื่อเราได้รับฉันทามติจากประชาชนที่โหวตให้พรรคก้าวไกลสิบสี่้ล้านเสียง ที่ก็คือประชาชนเขาฝากความหวังไว้กับพวกเรา และเขาก็พร้อมจะตรวจสอบพรรคก้าวไกลไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้พรรคก้าวไกลก็ต้องลงมือทำ และทำงานอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ความหวัง ความฝันของประชาชนเป็นจริงผ่านการทำตามนโยบายพรรค"

บางคนอาจบอกว่า ใครเชียร์พรรค ก็เชียร์ไปตลอดเลย ซึ่งไม่จริง เพราะที่ผ่านมา หากก้าวไกลทำอะไรผิด ทุกคนก็พร้อมที่จะถล่มก้าวไกล ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดี คือทำให้เห็นถึงความเป็น healthy ของประชาธิปไตย คือเป็นประชาธิปไตยที่สุขภาพดี มันไม่ใช่ผูกติดว่าเลือกใครเขาไปแล้ว มันจะต้องจบแค่ตรงนั้น อย่างที่คนปรามาสกันว่าประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที หย่อนบัตรเลือกตั้งก็จบ มันไม่จริง เพราะเราเห็นแล้วว่าประชาชนเขาก็ตรวจสอบพรรค หากทำอะไรไม่ถูก เขาก็ว่ากล่าว-ตักเตือน โดยพรรคก็ต้องฟังเสียงประชาชน หากเรื่องไหนประชาชนไม่พอใจ พรรคต้องแก้ไข

-ในฐานะคนรุ่นใหม่ มองยังไง กับสิ่งที่คนพูดตอนช่วงเลือกตั้งว่า การเมืองแบ่งเป็นสองขั้วคืออนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม แล้วผลเลือกตั้งที่ออกมา หลังจากนี้ คิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะกลับมาได้อีกหรือไม่?

ในมุมมองผม มองว่าที่ผ่านมา สังคมไทยก็ไม่ได้อนุรักษ์นิยมขนาดนั้น อย่างบางส่วนก็เป็นขวาจัดไป ผมเชื่อว่าการต่อสู้ครั้งนี้มันไม่ใช่การสู้กันระหว่างอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม มันยังไม่ได้แบ่งเฉดชัด แต่ผมมองว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์กับคนอีกเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ คือคนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ ที่เขาเจอปัญหาต่างๆ เช่นค่าไฟแพง หรือปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับรายจ่าย  บางคนมีภาระเยอะในการดูแลคนในครอบครัว -ภาระค่าครองชีพต่างๆ จนมีหนี้สินเต็มไปหมด ผมคิดว่าคนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์กำลังอยู่กับชีวิตที่ลำบาก อยู่กับความไม่แน่นอนของชีวิต แต่ขณะเดียวกัน คนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ คือนายทุน คนที่รวยจากธุรกิจสัมปทานของรัฐ รวยจากการเอื้ออะไรต่างๆ

สิ่งเหล่านี้คือการต่อสู้กันระหว่างสองฝั่ง ซึ่งผมคิดว่ามันคือตรงนั้นมากกว่า เพราะหากจะบอกว่าเป็นการต่อสู้กับอนุรักษ์นิยมหรือไม่ ดูแล้วมันยังไม่แบ่งเฉดขนาดนั้น เพราะว่าอนุรักษ์นิยม ในความหมายที่ผมเห็นในต่างประเทศ เขาก็พร้อมจะปรับตัว มันไม่ใช่อนุรักษ์นิยมแบบแช่แข็งอย่างที่เป็นในประเทศไทย

-ชัยชนะครั้งนี้ของก้าวไกล จุดหนึ่งคนมองว่าคือการที่ผู้สมัครของพรรคชนะในหลายจังหวัดและหลายเขตในพื้นที่ซึ่งเป็นของบ้านใหญ่ในจังหวัด?

มองว่ามิติใหม่ที่น่าสนใจที่ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้ง คุณจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ จุดยืน เพราะแม้จะมีเครือข่ายอุปถัมภ์ แต่สุดท้ายแล้วประชาชนก็เห็นว่า การจะแก้ไขปัญหาภาพใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องมีเรื่องของอุดมการณ์ และมีนโยบายหลักในการเข้าไปแก้ไข และการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า การใช้เงินเยอะ ไม่ได้นำสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งได้เสมอไป แต่สิ่งสำคัญคือ คุณอยู่กับพรรคที่ตรงไปตรงมาหรือไม่ อยู่กับพรรคที่มีจุดยืนชัดเจน และมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆจริงหรือไม่ และตัวคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง อยากเข้าไปเป็นนักการเมืองที่เข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชนจริงหรือไม่

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนสังคมไทยในอนาคต ทำให้การสู้กันในระบบเลือกตั้งอาจจะเปลี่ยนไป คือไม่ใช่ว่ามีเงินมากกว่าแล้วจะชนะเลือกตั้งเสมอไป มันทำให้เห็นว่าโอกาสในการชนะเลือกตั้งมันไม่ได้อยู่แค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่มันคือความตั้งใจ การมีอุดมการณ์ การทำงานหนัก การเข้าถึงประชาชน ซึ่งหลายคนอาจต้องทบทวนกับชัยชนะในครั้งนี้ของพรรคก้าวไกล โดยผมเชื่อว่าระยะยาว อยากให้สังคมไทย การเมืองสู้กันด้วยนโยบาย ว่าใครคิดได้ละเอียดกว่า ใครเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า ไม่ใช่ว่าสู้กันด้วยกระสุนหรือกระแส

เดินหน้าปักธง

กระจายอำนาจ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ

-นโยบายพรรคก้าวไกล เรื่องการกระจายอำนาจที่จะผลักดันให้มีการทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ ในฐานะเรียนด้านรัฐศาสตร์มาด้วย มองเรื่องนี้อย่างไร แล้วคนที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงมหาดไทยจะต่อต้าน จะยอมรับหรือไม่?

ผมเห็นว่าสังคมไทยต้องกระจายอำนาจ เพราะมันคือหนึ่งในสิ่งที่ผมเชื่อมาตลอด ซึ่งเรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น ก็จะมีการทำแบบมีขั้นตอน โดยการปลดล็อกท้องถิ่น คือการปลดล็อกเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ -อำนาจ-เรื่องกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ก็ต้องไปเคลียร์

โดยท้ายที่สุด ถ้าเป็นความต้องการของประชาชน และเป็นฉันทามติของประชาชน ผมว่าสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นได้ เราพิงประชาชนไว้ และมีจุดยืนชัดเจน ผมว่าเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ เราต้องยอมรับกันด้วยว่า การทำของก้าวไกลไม่ได้ทำให้ใครต้องตกงาน เราไม่ได้เป็นศัตรูกับกระทรวงมหาดไทย เราต้องการไปปรับเพื่อทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้น โดยฝ่ายข้าราชการเอง ก็ยังมีที่ยืน ยังมีงานทำ โดยอนาคต ก็คงต้องมานั่งคุยกันว่า หากเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศแล้ว งานมหาดไทย บางส่วนจะต้องโอนย้ายไปท้องถิ่นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แต่เป็นการปรับเพื่อให้ประเทศไทยไปต่อ เพราะผมเชื่อว่าโครงสร้างของประเทศไทยพาประเทศไทยมาไกลได้เท่านี้ มันจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องกระจายอำนาจ คืนอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีโอกาสในการเติบโตตามศักยภาพของพื้นที่

-เรื่องกระจายอำนาจ การผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง ภายใน 100 วัน หลังก้าวไกลเป็นรัฐบาล  จะเห็นอะไรจากนโยบายดังกล่าวหรือไม่?

หนึ่งร้อยวัน เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยังไม่น่าจะทัน แต่หนึ่งร้อยวันที่น่าจะทำทันก็คือเรื่องยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจ ที่เชื่อว่าทำได้ ก็อยู่ที่ว่าหากก้าวไกลตั้งรัฐบาลสำเร็จ และยื่นกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าไปในสภาฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราจะทำให้เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลได้รณรงค์ในช่วงเลือกตั้งไว้ว่าเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ควรมีการจับใบดำใบแดงครั้งสุดท้าย แต่เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ การทำอาจต้องใช้เวลา ซึ่งช่วงแรก ก็ต้องไปปลดล็อกกฎ ระเบียบต่างๆ

"การเลือกตั้งผู้ว่าฯในความเห็นผม มันคือการปลดล็อกท้องถิ่น ปลดล็อกระเบียบ แล้วก็ไปแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค ดังนั้นผู้บริหารสูงสุดอันดับหนึ่ง  ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ที่เราสามารถมาคุยกันได้ว่า ควรจะเรียกตำแหน่งนี้ว่าอะไร มันก็เป็นเจตจำนงที่ต้องพูดคุยกัน"

ทุกวันนี้ในความเห็นผม ทุกเรื่องในชีวิตประจำวันเรา จะเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ เพียงแต่เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นถนน น้ำประปา สวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งถ้าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจที่ดีพอและผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง และให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆ ตามความต้องการของพื้นที่ ผมคิดว่าคุณภาพชีวิตของเราก็จะดีไปด้วย เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการและเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ก็จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปา ระบบขนส่งสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถ้าเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ทำ ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่แล้วนำไปปฏิบัติ ก็จะทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของเราทุกคนได้

เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ว่าคุณต้องอยู่กรุงเทพฯ ถึงจะมีระบบน้ำประปาที่ดีได้ แต่คุณเกิดและอยู่ที่ร้อยเอ็ด หรือสมุทรสาคร คุณก็ควรได้รับการบริการจากระบบน้ำประปาที่ดี อันนี้แค่เรื่องพื้นฐาน

ผมเลยเชื่อว่าการกระจายอำนาจจะไปปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ เพื่อทำให้ปัญหาหลายเรื่องที่ยังแก้ไขไม่ได้ จะถูกแก้ไข เพราะเมื่ออำนาจมันอยู่ใกล้กับพื้นที่ ก็จะถูกมองเห็น ถูกรับฟังและถูกนำไปแก้ไขปัญหา แต่หากอำนาจมันอยู่ไกลจากพื้นที่ คำถามคือเขาอาจไม่เห็นปัญหา แต่หากอำนาจอยู่ใกล้มือ ปัญหาเกิดที่ไหน ก็แก้ตรงนั้น จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น

ผมเชื่อว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้มีการกระจายอำนาจได้ อย่างหากพรรคก้าวไกลได้ดูแลกระทรวงมหาดไทย ผมคิดว่างบที่ไปสั่งการท้องถิ่นต่างๆ มันก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะตามหลัก กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่แค่กำกับดูแล ไม่ได้มีหน้าที่จะไปสั่งการ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันคงค่อยๆ ดีขึ้น และหากผู้บริหารมี mind set เรื่องการกระจายอำนาจ ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้น

พรรคก้าวไกล

เราพร้อมตรวจสอบกันเอง

ในตอนท้าย “ณัฐพงษ์-ว่าที่ส.ส.ยังบลัด พรรคก้าวไกล”กล่าวถึงบทบาททางการเมืองของพรรคก้าวไกลต่อจากนี้ว่า ตอนพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ได้แสดงบทบาทฝ่ายค้านอย่างตรงไปตรงมาและทำเต็มที่ และเมื่อผลเลือกตั้งออกมามีส.ส.มากขึ้น พรรคก้าวไกลก็จะต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมาเช่นเดิม ซึ่งหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล แล้วทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องมีการส่งเสียง มีการตรวจสอบกันเองที่ก็เป็นวัฒนธรรมของพรรคก้าวไกลที่แม้จะเป็นคนในพรรคด้วยกันเอง แม้จะเป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง หากมีอะไรไม่ถูกต้อง เราก็ต้องส่งเสียง  แต่ผมหวังว่าจะไม่มี

“สำหรับการเข้าไปทำงานการเมืองในสภาฯหลังจากนี้ เรื่องหนึ่งที่เป็นภารกิจในความคิดของผมคือ การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายประมง เพราะช่วง8-9 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าพี่น้องชาวประมง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมยืนยันว่าเราต้องหาสมดุลระหว่างการทำมาหากินและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่มีการออกพระราชกำหนด การประมง เมื่อปี 2558 ทำให้กิจการประมงเจ๊งเยอะมาก จนเศรษฐกิจของสมุทรสาครก็พังไปเยอะจากการที่การทำประมงมีปัญหา

ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นภารกิจที่ต้องเข้าไปผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม และทำให้อาชีพประมงคงอยู่ต่อไปได้ โดยผมจะพยายามส่งเสียงไปถึงพรรคว่าหากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล มติครม.อันแรกควรต้องมีการส่งร่างพรบ.ประมงฯ ที่มีการแก้ไขค้างไว้ในสภาฯ ส่งกลับไปให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต