
ภาคการท่องเที่ยวเคยเป็น“ตัวเอก” คอย “แบก”เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเคยสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 18% ของ GDP สร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงาน และหลังจากห่างหายไปหลายปี วันนี้การท่องเที่ยวกำลังจะต้องกลับมาเล่นบทสำคัญอีกครั้งในยุคที่การส่งออกกำลังอ่อนแอ
แต่ในขณะที่ในระยะสั้นเราอาจกำลังลุ้นว่าปีนี้-ปีหน้าประเทศไทยจะได้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ 40ล้านคนแบบเมื่อก่อนแค่ไหน อีกคำถามสำคัญที่ควรถามตัวเองคือ เราอยากกลับมาโตด้วยการท่องเที่ยวเน้นปริมาณ ที่มีทั้งปัญหาการกระจุกตัวของรายได้, สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม, ขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ แบบเดิมอีกหรือไม่ เสมือนจะให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นตัวเอกที่เล่นบทเดิมๆแม้จะอยู่ใน “หนังเรื่องใหม่” คือ บริบทโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
ส่วนตัวผมมองว่านี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะรีเมค (Remake) การท่องเที่ยวไทยให้หวนคืนมาในบทบาทใหม่ที่ดียิ่งกว่าเดิม ใน 4 มิติสำคัญ คือ ความยั่งยืน (Sustainability), ความสามารถในการรับแรงกระแทกจากความไม่แน่นอนต่างๆ (Resilient), เทคโนโลยี, การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น (Linkage)
1.ความยั่งยืน
โมเดลการท่องเที่ยวของไทยแต่เดิมมีปัญหาความยั่งยืนทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) และด้านผลกระทบทางสังคม (Social) เช่น ประเทศไทยได้อันดับ 130 จาก 140 ประเทศในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดอันดับของ World Economic Forum ในปี 2019 และ 80%ของนักท่องเที่ยวไทยกระจุกอยู่ใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ซึ่งข้อหลังนี่ก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาover tourism ในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งจนทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
เราอาจจะพูดมาหลายปีเรื่องอยากเปลี่ยนจากโมเดลการท่องเที่ยวเน้น “ปริมาณ” มาเป็นเน้น “คุณภาพ” มากขึ้นแต่วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะปรับตัวเพราะเทรนด์ของนักท่องเที่ยวโลกกำลังเปลี่ยนอยู่พอดี โดย รายงานเทรนด์การท่องเที่ยวโลกของ Booking.com ชี้ให้เห็นว่า เกือบ80% ของนักท่องเที่ยวเริ่มหาสถานที่พักที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และประมาณ 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวอยากไปเที่ยวที่ที่คนไม่แน่นและได้สัมผัสความโลคอล (local) ทั้งด้านวัฒนธรรมและคน
จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวสายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเมืองรอง สร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ชูจุดเด่นของแต่ละจังหวัด รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกต่างๆสามารถเข้าถึงง่ายกว่าเดิม เป็นต้น
2.Resilient
การท่องเที่ยวในอนาคตควรให้ความสำคัญเรื่องการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อไม่เอา “ไข่หลายใบไปใส่ในตะกร้าใบเดียว” จนขาด Resilient ในยุคที่โลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น อาจต้องพบแรงกระแทกจากทั้งจากภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจ หรือสงคราม
การกระจายความเสี่ยงต้องมีอย่างน้อย 2 มิติ
มิติแรก คือ ด้านโปรดักส์ หมายถึงการมีผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสายยั่งยืน การท่องเที่ยวพร้อมทำงาน (Workation) รวมถึงแนวใหม่อื่นๆ เช่น สายอาหาร สายอีเวนท์ สายมู ฯลฯ
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเหล่านี้จะช่วยให้ได้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงไฮซีซั่นเท่านั้นและไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งแบบเดิมนี้มีความเสี่ยงว่าหากเกิดภัยพิบัติหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมในช่วงนั้นขึ้นมาก็อาจมีผลกระทบต่อท่องเที่ยวอย่างมหาศาล (เช่นปัญหา PM 2.5 ในช่วงหน้าหนาว) เป็นต้น
มิติที่สอง คือ ด้านประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ในสมัยก่อนโควิดนักท่องเที่ยวประมาณ 30% มาจากประเทศจีน แปลว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาน้อยลงเราจะถูกกระทบหนักทันที อย่างเช่นในช่วงที่จีนยังใช้นโยบายzero covid หรือเผชิญภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ หรืออีกตัวอย่างคือการที่นักท่องเที่ยวรัสเซียถูกกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น
ในมิตินี้ดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาที่นักท่องเที่ยวมีการกระจายมาจากหลายประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากในอาเซียนด้วยกัน แต่อาจสะท้อนการที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ด้วย ในอนาคตเราอาจต้องเสริมด้วยการมีโปรดักส์การท่องเที่ยวใหม่ๆที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มประเทศ ดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมไปถึงการพัฒนาและโปรโมทการท่องเที่ยวไทยกับประเทศใหม่ๆที่ปกติอาจไม่ใช้กลุ่มลูกค้าหลัก โดยเทคโนโลยีจะสามารถมีบทบาทสำคัญ (ดูข้อต่อไป)
3.เทคโนโลยี
การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดใน 2-3ปีที่ผ่านมาสร้างโอกาสสำคัญให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างน้อย สองมิติสำคัญ
หนึ่ง การที่อุตสาหกรรมคอนเทนท์ออนไลน์ต่างๆ (เช่นหนัง ซีรี่ย์ บันเทิง หรือที่เดี๋ยวนี้มักใช้คำว่า Soft power) มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น
ในปัจจุบันคนมีความคุ้นชินกับการบริโภคสื่อ คอนเทนท์และประสบการณ์ในโลกออนไลน์ (Digital Exprience Economy) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้คอนเทนท์ในโลกออนไลน์ต่างๆมีผลต่อการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของคนมากกว่าแต่ก่อน
นอกจากนี้อุตสาหกรรมคอนเทนท์ยังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนมีความหลากหลายมากขึ้น เกิดผู้สร้างคอนเทนท์ หรือ “ครีเอเตอร์” และ อินฟลูเอนเซอร์ ใหม่ๆขึ้นที่อาจไม่ได้เป็นคนในวงการบันเทิงเสมอไป เช่น นักพากย์เกม หรือ คนทำคลิปวีดีโอสั้น ที่อาจมีคนดูหลายล้านจากหลายประเทศทั่วโลก
ต่อไปหากเข้าใจสนับสนุนและเสริมบทบาทอุตสาหกรรมด้านคอนเทนท์ อาจไม่ได้เพียงจะสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมนี้เท่านั้นแต่สามารถเป็นสื่อที่มีพลังดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายประเภทเข้าประเทศได้อย่างดี (ลองนึกถึงตัวอย่าง พลังของการ์ตูนและเกมญี่ปุ่น หรือ ซีรีย์ของเกาหลีใต้ที่มีอิทธิพลสูงมากแม้จะไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) ในทางกลับกันการใช้โฆษณาโปรโมทท่องเที่ยวไทยในรูปแบบเดิมๆอาจไม่มีประสิทธิผลเหมือนเก่า
สอง การเข้าสู่ Data Economy หรือ เศรษฐกิจแห่งข้อมูล
ผลพลอยได้สำคัญของยุคดิจิทัลคือการเกิดฐานข้อมูลออนไลน์มหาศาลและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีประมวลข้อมูลรวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆที่ได้จากการรู้จักนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศมาปีละ 40 ล้านคน (ก่อนโควิด)มาใช้ประโยชน์มากกว่านี้ อาจทำให้สามารถค้นพบตลาดใหม่ๆ, สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่, และพัฒนาการทำการตลาดโปรโมทการท่องเที่ยวที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มรายจ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น
ยกตัวอย่างในสิงคโปร์มีการพัฒนาแพลทฟอร์ม Singapore Tourism Analytics Network (STAN) ช่วยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งของภาครัฐเองกว่า 2หมื่นกลุ่มกับฐานข้อมูลเอกชนที่ได้มาจากการทำสัญญาแบ่งปันข้อมูล (Data sharing agreement) 15แห่งเช่นกับ Grab Tencent Expedia ทำให้สามารถได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยว เช่น การพบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนและอินโดนีเซียเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุดเวลาไปช้อปปิ้งทำให้ผู้ประกอบการสามารถออกแคมเปญพิเศษในช่วงที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเยือน หรือ การพบว่า 1 ใน 10 นักท่องเที่ยวที่มาสิงคโปร์มักจะมีการเปลี่ยนโรงแรมในระหว่างทริป โดยมักจะอัพเกรดไปอยู่โรงแรมที่แพงขึ้น ทำให้โรงแรมสามารถออกแพ็กเกจดึงดูดให้คนอยู่นานขึ้นได้ เป็นต้น
4. Linkage เชื่อมโยง-เสริมผู้อื่น
การท่องเที่ยวไม่ควรจะเป็นเพียงตัวเอกที่เด่นอยู่คนเดียวแต่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมให้ “ตัวละคร”อื่นๆในเศรษฐกิจไทยโดดเด่นได้ด้วย
ประการที่หนึ่ง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการส่งออก
ต่อเนื่องจากเรื่อง Data Economy ข้างบน เราอาจศึกษาดูว่าสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยมาช่วยส่งเสริมการส่งออกได้หรือไม่ ยกตัวอย่างปัญหาหนึ่งของ MSME ไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศคือไม่รู้ว่าสินค้าไทยอะไรที่ผู้บริโภคในประเทศนั้นกำลังนิยมหรืออินเทรนด์ แต่หากเรามีนักท่องเที่ยวจากประเทศนั้นๆมาเที่ยวไทยจำนวนมาก การวิเคราะห์ข้อมูลว่าพวกเขาซื้ออะไรกัน อาจทำให้เรารู้วิธีเจาะตลาดนี้ได้ เป็นต้น
ประการที่สอง ใช้การท่องเที่ยวดึงดูด Talents (หัวกะทิ)
ในโลกที่ประเทศต่างๆกำลังออกวีซ่าพิเศษแย่งหัวกะทิในทุกด้านโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ประเทศไทยเรามีข้อได้เปรียบตรงที่มีแต่คนอยากมาอยู่แล้ว หากเราใช้ประโยชน์จากตรงนี้ดึงดูดให้เขาเห็นว่าไทยไม่ได้แต่น่าเที่ยวแต่น่ามาอยู่ทำงานยาวๆเลย จะเป็นการดึง Talent คนเก่งจากทั่วโลกเข้าประเทศ ลดปัญหาขาดแรงงานทักษะสูงและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันต่อยอดให้อุตสาหกรรมต่างๆได้
ทิ้งท้าย-ต้องเริ่มแก้โจทย์เรื่องคน
อย่างไรก็ดีการ“เขียนบทใหม่” ให้การท่องเที่ยวนี้จะเกิดขึ้นยากหากไม่แก้ตั้งแต่“บรรทัดแรก”คือปัญหาเรื่องการขาดคน-บุคคลากร เพราะประเด็นนี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสังคมสูงวัยเพราะคนวัยทำงานน้อยลงและในขณะเดียวกันคนที่ต้องการคนดูแลก็มีมากขึ้น
ในบางเซ็คเตอร์อาจมีการแย่งตัวแรงงาน-talentกันระหว่างคนไทยและนักท่องเที่ยว เช่น หากเราต้องการผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่มีหมอ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล คนดูแล ไม่พอทุกระดับ สำหรับจะบริการนักท่องเที่ยวและคนไทยจะทำอย่างไร
ประเทศไทยจะเปิดให้สามารถนำเข้าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พยาบาล ฯลฯ เพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดไหม เราจะมีโครงการอัพสกิล-รีสกิลแรงงานในประเทศให้เข้ามาทำงานในเซ็คเตอร์นี้มากขึ้นได้เพียงพอไหม เป็นต้น คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องรีบช่วยกันคิดก่อนจะเดินต่อได้
ในวันที่สภาวะเศรษฐกิจโลกจะผลักดันให้การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นตัวเอกสำคัญที่ต้องคอยแบกเศรษฐกิจไทย สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนอีกครั้ง เราไม่ควรให้ตัวเอกนี้เขาเล่นบทเดิมๆในหนังเรื่องใหม่ที่อาจไม่ต้องการบทบาทแบบเก่าๆอีกแล้ว แต่น่าจะใช้โอกาสนี้เขียนบทใหม่ให้การท่องเที่ยวกลายเป็นตัวเอกที่โดดเด่นกว่าเดิม โดยมีทั้งความยั่งยืน, Resilient, การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และยังส่งเสริมให้ตัวละครอื่นๆในเศรษฐกิจให้เด่นขึ้นได้เตรียมรับมืออนาคต
ดร. สันติธาร เสถียรไทย
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
TISCO ชี้ปี 67 ‘พันธบัตรโลก’ สร้างผลตอบแทน 8 -15 % ดีกว่าหุ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ชี้เศรษฐกิจโลกปี 2567 จะโตแบบชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 ผลจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดในรอบหลายทศวรรษ
ทำไมท่องเที่ยวไทยฟื้นน้อย? ‘ปธ.ด้านวิชาการ พปชร.’ มีคำตอบ
ถ้ารัฐบาลเน้นใช้นโยบายการคลังแบบกระตุ้นไปเรื่อยๆ ก็จะนำไปสู่เงินเฟ้อธปท.ก็จะหนีไม่พ้น ต้องใช้ดอกเบี้ยสูง เพื่อถ่วงดุล ทำให้เงินบาทแข็ง
บิ๊ก 'กบข.' มองบวก เชื่อท่องเที่ยว-ส่งออก ดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
กบข. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี หลังได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว และประเทศคู่ค้าฟื้นตัวส่งผลให้ภาคการส่งออกมีสัญญาณที่ดี พร้อมคาดภาวะบาทแข็งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
เอวัง! 'เศรษฐา' สรุปแล้วเศรษฐกิจไทยวิกฤติ เมินนิด้าโพลค้านกู้มาแจกดิจิทัลวอลเล็ต
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “OK ไหม กับ นายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” และการออก พ.ร.บ.กู้เงิน
นายกฯ ประกาศความพร้อมประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุนจากต่างชาติ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำในงาน Foreign Industrial Club Gala Dinner ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ
ลุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ยังโตต่อ!บริโภค-ท่องเที่ยวหนุน
“แบงก์ชาติ” ลุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/66 ยังโตต่อ รับอานิสงส์บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวฟื้นไม่หยุด ด้าน “สศอ.” เปิดดัชนี MPI เดือน ก.ย. หดตัว 6.06% โอดพิษเศรษฐกิจโลก ยอมหั่นจีดีพีอุตสาหกรรมปีนี้ ติดลบ 2.5-3%