ผ่านโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต กับหลักเศรษฐศาสตร์ 'พาประเทศไปสู่ความเสี่ยง'

ทัศนะและความคิดเห็นต่อนโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ที่เป็นนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีคำยืนยันจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง รวมถึงแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนว่าจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กระแสคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะมองว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างผลเสียหลายอย่างตามมาในอนาคต

โดยหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็คือการเคลื่อนไหวของอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย, นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนัก, อดีตนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ที่ร่วมกันลงชื่อออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

และหนึ่งในบุคคลที่ร่วมลงชื่อด้วยก็คือ “รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์-อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง” ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ไทยโพสต์" ถึงเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลไว้ว่า นอกเหนือจากเหตุผลหลายข้อที่ระบุไว้ในเอกสารที่เผยแพร่แล้ว ในฐานะความเป็นปัจเจกบุคคล ที่เคยเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 1.ตอบสนองในการผลิตบัณฑิตสาขาต่างๆที่สังคมต้องการ 2.คือชี้นำ โดยบางสาขาหรือบางเรื่องที่สังคมอาจจะยังไม่สนใจ ก็ต้องพยายามชี้แนะให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ 3.คือ "เตือนสติ”

ผมกำลังทำหน้าที่ของการเตือนสติ เพราะว่าเราอยู่ในวงการของคนที่สอนและเรียนรู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ก็คิดว่าเราควรมีหน้าที่ในฐานะคนไทย ที่ต้องช่วยกันให้คำแนะนำที่ถูกต้องอย่างสุภาพ มีเหตุมีผล จึงเป็นเหตุผลที่มีการเขียนจดหมายดังกล่าวขึ้นมา หลังจากที่พวกเราที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้มีการพบกันแล้วมีการพูดเรื่องนโยบายดังกล่าวขึ้นมา ทุกคนก็ตกใจ หลังจากติดตามนโยบายนี้กันมา และเห็นว่าหากปล่อยไว้ แล้วนโยบายดังกล่าวออกมาตามที่เขาบอก จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจไทย จะมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศและเยียวยาลำบาก

"ดร.วรากรณ์" กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย เพราะตกใจที่นโยบายดังกล่าวใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท เป็นงบก้อนใหญ่มาก อาจจะพอๆ กับเงินที่ขาดดุลที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่อยู่ที่ประมาณเกือบ 7 แสนล้านบาท แต่ในส่วนของดิจิทัลวอลเล็ตก็ประมาณเกือบ 6 แสนล้านบาท เกือบใกล้เคียงกัน ซึ่งยอดขาดดุลของงบประมาณก็มหาศาลแล้ว แต่นโยบายดังกล่าวที่ทำโดยการโอนให้ประชาชนครั้งเดียว ตามที่นายกฯ บอกไว้ที่เคยบอกว่าอาจจะโอนภายในกุมภาพันธ์ 2567 เป็นยอดเงินที่สูงมาก

เพราะหนี้ประเทศไทยขณะนี้ประมาณ 10 ล้านล้านบาท การที่จะเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนกว่าล้านบาท เท่ากับจะเพิ่มอีกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนี้ต่างๆ ที่มีอยู่มันสะสมมาหลายปี ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เช่นโควิดระบาด แต่ครั้งนี้หากทำนโยบายดังกล่าวจะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน มันย่อมทำให้ตัวเลขหนี้ขึ้นสูงมาก และภาระหนี้ของเราตอนนี้ก็เข้าไปถึง 62 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ

ดังนั้น การชำระหนี้ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยปีหนึ่งๆ ผมคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องใช้พบว่าอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวสำหรับเงินจำนวนนี้ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงเงินต้นที่ไม่รู้อีกกี่สิบปีถึงจะใช้หมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่จะต้องแบกรับภาระต่อไป เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

เคลื่อนไหวคัดค้านดิจิทัลวอลเล็ต

เพื่อวันหน้าไม่ต้องเสียใจภายหลัง

"วรากรณ์-อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ให้ทัศนะต่อไปว่า นอกจากนี้ เมื่อมีหนี้เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องทำให้ภาครัฐต้องพยายามที่จะหาเงินมาชดใช้คืนในรูปของการเพิ่มภาษี ที่ผมจะไม่แปลกใจเลยหากว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ จะมาเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ จะหาทางเพิ่มให้ได้ หรือภาษีสรรพสามิต พวกค่าบริการพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย รวมไปถึงเงินของท้องถิ่นด้วย ภาษีทรัพย์สิน หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นไม่เพียงพอ ท้องถิ่นก็ต้องไปปรับภาษีเพิ่มขึ้น เช่นภาษีที่ดิน ซึ่งคนต้องจ่ายอาจต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น

เพราะฉะนั้นผมดูแล้วในระยะปานกลางที่ได้มา 10,000 บาท อาจจะต้องจ่ายไปในหลายรูปแบบจนเกินกว่าที่ได้ 10,000 บาทแน่นอน นอกเหนือจากผลกระทบในด้านราคาที่สินค้าต่างๆ อาจจะแพงขึ้น ดอกเบี้ยอาจสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ผมกังวลมาก

คนที่ออกมาครั้งนี้ ทุกคนที่ทำทั้งหมดรู้ดีว่าอาจจะเปลืองตัว คืออยู่เฉยๆ จะไม่ง่ายกว่าหรือ แต่เราคิดว่าเราก็อายุมากแล้ว หากไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ วันหลังเราอาจจะต้องมานั่งเสียใจ หากเกิดเหตุการณ์กระทบต่อไปในวันข้างหน้าอย่างรุนแรง ทั้งหมดผมพูดด้วยความจริงใจ ด้วยความรู้สึกที่พวกเรามาร่วมกันทำในครั้งนี้

-ที่ผ่านมาฝ่ายพรรคเพื่อไทย ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย บอกว่าประเทศไทยยังอยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจไม่ดี เพิ่งฟื้นจากไอซียู จึงต้องอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 560,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว นโยบายดังกล่าวจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ?

เรื่องนี้ต้องดูตัวเลข ข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของทุกสำนัก ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคเอกชน ต่างบอกตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หลังมีการอัดฉีดเข้าไปในระบบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด ซึ่งมันต้องใช้เวลากว่าที่จะทำงานได้

และที่สำคัญเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตจากการกระตุ้น เพราะการกระตุ้นก็คือกระตุ้นขึ้นมา แต่เศรษฐกิจจะเดินด้วยตัวของระบบเศรษฐกิจเอง อย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปัจจุบันดีขึ้นมาก นำเงินเข้าประเทศไทยเป็นแสนล้านบาท และมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ก็กำลังขยับตัวตาม เพราะฉะนั้น ณ ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้ยืมเงิน 560,000 ล้านบาท ที่เป็นความเสี่ยง ผมคิดว่าเป็นความเสี่ยงมาก

อัดเงินเข้าระบบ 560,000 ล้านบาท

ตัวคูณทางการคลังหมุนกี่รอบ?

"ดร.วรากรณ์-อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ยังกล่าวถึงเรื่อง ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) หลังเราถามว่า พรรคเพื่อไทยเองบอกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เกิดตัวคูณทางการคลัง ที่ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ โดยกล่าวว่า ในทางทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ว่ารายจ่ายเป็นตัวกระตุ้นในระบบเศรษฐกิจ เช่น การผลิต การบริโภค ซึ่งรายจ่ายเวลาออกมา จากประชาชน ภาครัฐ หรือต่างประเทศ มันไม่ได้จบแค่รอบเดียว แต่ว่ามันก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลายรอบขึ้นมา เพราะรายจ่ายคนหนึ่งเป็นรายได้ของคนอีกคนหนึ่ง เช่นคนแรกมีรายได้เข้ามา 100 บาท เขาใช้จ่ายไป 90 บาท คนที่ได้เงินมา 90 บาท ซึ่งเขามีอยู่แล้ว 100 บาทเช่นกัน ก็เท่ากับมีรายได้เข้าไปในระบบแล้ว 190 บาท จากนั้นคนที่สองคนที่สามก็ใช้จ่ายเช่นกัน มันก็มียอดเงินในระบบเข้าไปเรื่อยๆ รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดก็จะมากกว่า 100 บาทที่อัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การที่เงินจะหมุนได้หลายรอบในระบบเศรษฐกิจจะมีหลายสมมุติฐาน โดยสมมุติฐานแรกคือผู้คนต้องไม่ออม ไม่ออมมากเกินไป คือได้เงินมาแล้วก็ใช้จ่ายออกไป และเงินที่ออกไปทั้งหมดต้องไปหมุนในระบบเศรษฐกิจ ไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ หรือรั่วไปกับการใช้หนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว หรือว่าคนได้มาแล้วไม่เอาไปใช้เอาไปเก็บไว้ที่บ้าน เพราะเขามองว่าเศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไม่มีเสถียรภาพเลยเก็บเงินไว้ไม่นำไปใช้ มันก็ทำให้ไม่มีการหมุนเปลี่ยนมือจากคนที่สอง ไปถึงคนที่สามคนที่สี่

งานวิจัยที่ผ่านมาที่มีการศึกษากัน เช่นของธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าตัวคูณเหล่านี้มันไม่ได้มีขนาดประมาณ 2.7 หรือ 3 แบบในอดีต เพราะมันน้อยลงกว่าเดิมมาก แม้แต่บางกรณีเช่นกู้ยืมมาแล้วนำมาใช้จ่าย ตัวคูณดังกล่าวก็ไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น

ดังนั้น การที่จะใส่เงินเข้าไปแล้วบอกว่าเงินจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็เห็นได้ในช่วงโควิด ช่วงต่างๆ ในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่เราก็ขาดดุลงบประมาณมหาศาลกันมาหลายปี แต่ตัวเลขดังกล่าวมันก็ไม่ได้ขยับด้วยเครื่องยนต์นี้เพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากการส่งออก รายจ่ายของภาคเอกชน

มันจึงไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้นว่า อัดฉีดเงินเข้าไปแล้วมันจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มันจะเป็นการบริโภคของเอกชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการบริโภคของเอกชนที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ก็มีตัวเลขสูงมาก มากกว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ที่สูงมาก

ดังนั้น หากจ่ายเงินนี้ออกไป (ดิจิทัลวอลเล็ต) ก็จะไปกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธว่ามันจะไม่สร้างให้เกิดการเจริญเติบโต ก็สร้าง แต่ถามว่ามันคุ้มกับเงินจำนวนนี้ที่สามารถเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้หรือไม่ เพื่อจะสามารถสร้างความสามารถในระยะยาวของคนไทย นำไปใช้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นำไปใช้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลหรือนำไปลงทุนริเริ่มในนวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศเรา ส่งเสริมการส่งออกด้วยการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ แทนที่จะนำไปแจกเงินทุกคนเท่าเทียมกัน โดยที่ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรเลยที่ให้เปลี่ยนพฤติกรรมหรือให้ทำอะไร มันก็เป็นการเพิ่มการบริโภคขึ้นมาทันที แต่ว่าเงินจำนวนเท่ากันมันสามารถนำไปทำอะไรได้อีกเยอะแยะมากมาย และเป็นประโยชน์ในระยะยาว

อย่างการที่จะให้ทุกคนเท่ากันหมด แต่คนที่มีรายได้เป็นเศรษฐี เป็นลูกเศรษฐีก็ได้หมื่นบาทเหมือนกัน ส่วนคนยากไร้ที่มีความต้องการ มีความจำเป็นอย่างมาก ก็ได้หมื่นบาทเหมือนกัน มันมีเหตุผลอะไรที่คนยากไร้ที่เงินหมื่นบาทมีความหมายกับเขาอย่างมาก กับคนที่เป็นเศรษฐี เป็นคนชั้นกลางที่ได้หมื่นบาทเหมือนกัน แต่หมื่นบาทสำหรับเขามีความสำคัญน้อยกว่ามาก

560,000 ล้านบาท

กับที่มาแหล่งเงินงบประมาณ

-การที่รัฐบาลยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะนำเงิน 560,000 ล้านบาทมาจากไหน สะท้อนให้เห็นถึงอะไร และมองว่ารัฐบาลอาจนำงบประมาณมาจากส่วนใดในการทำนโยบายดังกล่าว?

ผมยังไม่อยากติเรือทั้งโกลน แต่ตอนนี้รัฐบาลคงกำลังคิดกันอยู่ว่าจะนำเงินมาจากไหน เพราะเงินมันไม่ได้ลอยมาจากฟ้า ก็คงต้องมาจากแหล่งใดสักแห่ง ที่มาได้จากหลายทางตามแนวทางปกติของการคลัง

ทางแรกคือจากภาษีอากร เก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น สองคือการกู้ยืม โดยกู้ยืมจากประชาชนโดยการออกพันธบัตรรัฐบาล หรือกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ ทางที่สามคือกู้ยืมจากต่างประเทศ ทางที่สี่ คือใช้เงินคงคลังหรือเงินสดที่รัฐบาลมีอยู่ นำมาใช้ไป เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีหมดทุกปี ก็เหลือและมีการเก็บสะสมไว้ และสุดท้ายก็คือพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม แต่วิธีการนี้มีผลต่อราคาสินค้าต่างๆ จะทำให้ของแพงขึ้นทันที

ต้องดูว่ารัฐบาลจะนำงบมาจากส่วนใด เพราะในที่สุดแล้วจะต้องมาจากที่ไหนสักแห่ง ซึ่งแต่ละรูปแบบที่จะนำงบมาใช้ก็มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น เช่นดอกเบี้ย อันนี้แน่นอน อย่างน้อยปีละ 14,000 ล้านบาท และต้องจ่ายอีกกี่สิบปีก็ไม่รู้เหมือนกัน และตอนนี้ดอกเบี้ยก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5 เปอร์เซ็นต์

แต่ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามก็คือ ภาคต่างประเทศ เพราะตอนนี้เป็นโลกที่โปร่งใสที่คนมองเห็นกันได้หมด ว่าประเทศไหนทำอะไร-อย่างไร ความเชื่อถือระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเราไปทำอะไรที่ใช้จ่ายเงินแล้วสร้างหนี้มากขนาดนี้ โดยที่เราก็มีหนี้สาธารณะอยู่แล้ว 62 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มันทำให้เกิดความระแวง หวาดหวั่นว่าประเทศไทยทำอะไรรอบคอบหรือไม่ ก่อให้เกิดปัญหากระทบหรือไม่ ก็ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ เช่นการซื้อหุ้นหรือเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะไว้ใจได้หรือไม่ จะทำให้เงินของเขาสูญไปหรือไม่ อัตราแลกเปลี่ยนจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ราคาสินค้าจะแพงขึ้นหรือไม่ มันกระทบไปหมด

ความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเขาไม่เชื่อถือเรา เห็นประเทศเราสุ่มเสี่ยง อัตราดอกเบี้ยที่เขาปล่อยให้เรากู้ ในส่วนของภาคเอกชนที่ไปกู้ต่างประเทศมามันก็จะต้องสูงขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อมีความเสี่ยงมากขึ้น เขาก็ต้องเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น คนที่ต้องจ่ายก็คือภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ไปกู้เงินต่างประเทศมา ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ถ้าเขามองว่าไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนหุ้นที่เขาจะมาลงทุนในประเทศไทย ก็ต้องระแวงเหมือนกันเพราะขณะนี้หุ้นเราก็ตกอยู่ ซึ่งการที่มีข่าวว่าจะมีการให้เงินตามนโยบายดังกล่าว มันก็มีผลกระทบ เพราะต่างประเทศเขาก็รู้ดีว่ามันอาจจะมีผลกระทบ เรื่องความไว้วางใจจึงสำคัญมาก

นอกจากนี้ ความไว้วางใจอีกอย่างที่สำคัญคือ ความไว้วางใจในประเทศตัวเอง ถ้าเราระแวงว่ามันมีสายสนกลใน มีอะไรที่แอบซ่อนอยู่หรือไม่ เราก็ไม่ไว้วางใจ ถึงอาจจะไม่มีอะไรก็ตาม แต่ในระยะเวลาต่อไป จะทำอะไรต่อไปมันก็ระแวงกันไปหมด เช่นบอกจะปฏิรูปประเทศอะไรต่างๆ คนก็จะบอกว่า ยังมีเรื่องเก่าที่คนยังสงสัยเคลือบแคลงอยู่ ความระแวงตรงนี้มันจะทำให้หลายอย่างที่ควรทำได้ง่ายในอนาคต ก็จะเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้จะมีผลกระทบกว้างไกลมาก

ถ้าจะทำจริง แนะใช้แอปเป๋าตัง

อย่าเหวี่ยงแห -จำกัดกลุ่บุคคล

-ท่าทีของนายกฯ และคนในรัฐบาลยืนกรานว่าจะไม่ยกเลิกดิจิทัลวอลเล็ตแน่นอน จะมีข้อเสนอแนะอย่างไรถ้ารัฐบาลจะเดินหน้า เพราะดูแล้วรัฐบาลคงไม่ยกเลิกแน่นอน?

ก่อนหน้านี้ ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ท่านได้เขียนบทความที่หลายคนคงได้เห็น ที่บอกว่าตอนรัฐบาลในอดีตทำโครงการจำนำข้าว ทาง ป.ป.ช.ก็มีการตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์หรือไม่ ก็มีการขอให้ทางจุฬาฯ ทำการศึกษา ก็พบว่าจะมีความเสี่ยง จะเกิดการรั่วไหล จะเกิดการคอร์รัปชัน ทาง ป.ป.ช.ก็มีการทำหนังสือเตือนไปถึงรัฐบาล (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ถึงสองครั้ง จนต่อมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็มีการนำหนังสือที่ ป.ป.ช.เคยทำหนังสือเตือนไปถึงรัฐบาลมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาลงโทษ เพราะแม้ ป.ป.ช.จะเตือนแล้วแต่รัฐบาลยังคงดำเนินการต่อไป

ในบทความ ดร.เมธีก็เสนอว่าเรื่องนี้ ทาง ป.ป.ช.ควรจะใช้นโยบายอย่างสมัยที่ท่านเป็น ป.ป.ช.ในเชิงศึกษานโยบาย (ดิจิทัลวอลเล็ต) และหากต่อมาพบว่าเป็นจริง ก็ควรทำจดหมายเตือนไปยังนายกฯ ซึ่งมันจะเข้ากับรูปแบบเดียวกับที่ผ่านมา ที่อาจทำให้รัฐบาลคิดทบทวนไตร่ตรองก่อน ว่าถ้าทำแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาเป็นความเสี่ยง รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหน

แต่ผมดูแล้วนายกฯ ก็เป็นคนมีเหตุมีผล ผมคิดว่ามันมีหลายทางที่ทำได้ อันแรกคือใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่แล้ว ก็นำมาใช้ทันที นำเงินใส่ในบัญชีให้ก็จบ ไม่ต้องไปทำ  E-wallet (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) ที่เป็นกระเป๋าตัง แบบใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษา ซึ่งแอปพลิเคชันเป๋าตังมันใส่คริปโตเคอร์เรนซีและ Token ได้ และก็เป็นบล็อกเชน ที่เป็นเทคโนโลยีซึ่งเชื่อมต่อกันหมด จึงมีทั้งความปลอดภัยและความมั่นคง แต่ E-wallet ต้องใช้เวลา เพราะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, เป๋าตัง ต้องใช้เวลาในการที่จะแน่ใจว่าเป็นคนที่อยู่ในระบบนานมาก และที่สำคัญก็จะพบว่า แต่ละวันก็จะมีคนเสียชีวิต ดังนั้นต้องมีการยืนยันตัวตนตลอดเวลา

ผมจึงเกรงว่าที่บอกจะทำในวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่จะทำแบบรีบทำ โดยโอนให้กับคนไทยที่มีอายุเกิน 16 ปีเข้าไปอยู่ในระบบนี้ทั้งหมด ผมเกรงว่าจะเกิดปัญหามากถ้าไปเร่งรัด เพราะบัตรประชาชนของเราเองก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบทั้งหมด ยังมีปัญหาอยู่ในบางหมายเลข บางบัตรก็หมดอายุ ไม่มีการต่อ บางคนก็เสียชีวิตไปแล้วแต่บัตรยังอยู่ ผมเกรงมันจะวุ่นวายมากเลย หากเปลี่ยนระบบไปสู่ดิจิทัลวอลเล็ตอันใหม่

ผมว่ากระเป๋าตังที่มีอยู่แล้วง่ายที่สุดเลยในการนำไปใช้ และอย่าทำแบบเหวี่ยงแห เพราะคนไทยที่มีเงินเยอะที่มีอยู่ทั่วไป ที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องได้เงิน แต่ควรให้กลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มนี้ให้ไปเลย ให้มากกว่าหนึ่งหมื่นบาทก็ยังได้ หรือจะให้ตามพื้นที่ก็ได้ ระบุพื้นที่ซึ่งจะให้ไปเลยก็ได้ ให้แบบเป็นกลุ่มไป อย่าทำแบบเหวี่ยงแห เพราะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น หรือจะจ่ายแบบเป็นงวดก็ยังได้ ค่อยๆ ทยอยโอนไป แล้วก็ค่อยๆ หาเงินมาเติม เช่นออกพันธบัตรหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็คือทำแบบเป็นระยะเวลาตามขั้นตอน

และประเด็นสำคัญคืออย่าให้ประชาชนสับสน เพราะประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่าบล็อกเชนคืออะไร ไม่รู้ว่าดิจิทัลวอลเล็ตคืออะไร แต่รู้ว่าแอปเป๋าตังคืออะไร จะใช้เงินจากแอปพลิเคชันนี้อย่างไร ทำให้เขาใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถอนเงินมาได้ตามที่เคยใช้มาก่อน แต่หากไปใช้ระบบใหม่ ไหนจะต้องมาทำข้อมูลใหม่ทั้งหมด ต้องเช็กชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้เสียชีวิตแล้ว แต่กระทรวงการคลังมีข้อมูลคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ได้ทันที ประชาชนก็ไม่สับสนใช้ได้ทันที ถ้าทำแบบนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าแนวคิดที่บอกจะทำ (E-wallet) ซึ่งมันสิ้นเปลืองและใช้เงินมาก มีโอกาสรั่วไหลมากทีเดียว

"คนทั่วไปมักจะคิดว่า เงินแค่หนึ่งหมื่นบาทต่อคน อะไรกันนักกันหนา แต่อย่าลืมว่าหนึ่งหมื่นบาท ให้กับคนไทยที่อายุเกิน 16 ปี เงิน 10,000 บาท ให้กับคน 56 ล้านคน ก็คือคูณกับศูนย์สิบตัว มีศูนย์ตามมาสิบตัว เงินมหาศาลนะครับ อย่าไปคิดว่าเป็นเงินเล็กน้อย เพราะเมื่อรวมทั้งประเทศแล้ว เป็นภาระของประเทศอย่างมาก และประเทศมีรายจ่ายอีกมากที่ต้องใช้จ่าย เช่นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ตอนนี้ผู้สูงอายุก็มากขึ้นเรื่อยๆ เบี้ยผู้สูงอายุแต่ละปี การลงทุนใหม่ๆ ตามนวัตกรรมที่เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ หันไปทางไหนก็มีแต่ค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ดังนั้นการใช้จ่ายต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..