ดร.กิตติ-อดีตรองหน.พรรคพท. เตือนครั้งสุดท้าย ดิจิทัลวอลเล็ต ควรทยอยให้หลายงวด ไม่ใช่โอนรอบเดียว

ทาง"เศรษฐา ทวีสิน-นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง"รวมถึงแกนนำพรรคเพื่อไทย ยังคงประสานเสียงประกาศเดินหน้าต่อไปสำหรับนโยบาย"ดิจิทัลวอลเล็ต"แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวจากหลายภาคส่วน แต่คนในพรรคเพื่อไทย ต่างออกมายืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยกลับมาแข็งแรงและสร้างการเติบโตให้กับภาพรวมทางเศรษฐกิจเพราะเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-กระจายรายได้-ทำให้เกิดการสร้างงาน จนทำให้เศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศเพิ่มสูงขึ้น

"ไทยโพสต์"สัมภาษณ์พิเศษ หนึ่งในทีมงานนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการร่วมคิดและทำข้อมูลทางวิชาการในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตั้งแต่ก่อนหาเสียงที่ผ่านมา นั่นก็คือ"“รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2541 ที่ได้ร่วมสร้างนโยบายที่สำคัญหลายนโยบาย เช่น กองทุนหมู่บ้าน- โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เป็นต้น และยังเป็นอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”อีกทั้งยังเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย อีกด้วย

"ดร.กิตติ"แม้จะย้ำระหว่างการให้สัมภาษณ์กับเราหลายครั้งว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ดี และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจประเทศไทย แต่มุมมองของเขา ยังคงบอกเหมือนก่อนหน้านี้ที่เคยให้สัมภาษณ์กับเราว่า รัฐบาลควรทยอยโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นงวดๆ จนครบ10,000 บาท ไม่ใช่โอนทีเดียวเลย 10,000 บาท ที่เขาเป็นห่วงว่าหากโอนทีเดียวเลย 10,000 บาทให้คนไทยทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปทั้งประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ โดยยกเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งติดตามได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไปต่อจากนี้

เริ่มต้นบทสัมภาษณ์โดย"ดร.กิตติ"บอกว่า ดิจิทัลวอลเล็ต คือนโยบายที่เป็น"เรือธง"ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนพรรคเพื่อไทยทำนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมมีส่วนอยู่ระดับหนึ่ง ที่ก็ยืนยันว่าดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่มีเหตุผล โดยตอนเริ่มทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มีส่วนสำคัญในการคิดนโยบายรวมถึงคนอื่นๆ เช่น นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี -เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรมว.คลัง

ตอนทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต  ผมเป็นทีมงานหลังบ้าน ทำหน้าที่เช่นคำนวณสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งเราพบว่าเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในจุดตกต่ำมากที่สุด เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็น

"อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ดร.กิตติ"กล่าวต่อไปว่าจนถึงขณะนี้เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต มีข้อถกเถียงกันอยู่ 2-3 ประเด็น จนทำให้ประชาชนอาจไม่เข้าใจ เช่นมีนักวิชาการบางกลุ่มบอกว่าเศรษฐกิจประเทศไทยดีอยู่แล้ว เหตุใดต้องกระตุ้น โดยตอนทำนโยบายเรื่อยมาถึงตอนหาเสียง เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพตกต่ำ ส่วนปัจจุบัน ไตรมาสที่สามของปีนี้ 2566 เศรษฐกิจไทยโตที่ระดับ 1.8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตลอดปีนี้ 2566 เศรษฐกิจไทยคงไม่เกิน 2.8 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปีหน้าจะโตไปถึงระดับ 4.4 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่เชื่อ เพราะดูจากตัวเลขทั้งหมด และตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ คำนวณแล้ว ผมคิดว่าน่าจะประมาณแค่ 3-3.5 เปอร์เซ็นต์

การที่เศรษฐกิจปีหน้าจะอยู่ในระดับแค่ 3-3.5 เปอร์เซ็นต์ ผลกระทบคือประชาชนไม่มีเงิน -ไม่มีงานทำ เพราะภาคการผลิตไม่เดินเครื่องผลิตเต็มที่ ทำให้ไม่มีการจ้างงานเพิ่ม ส่วนภาคบริการ การท่องเที่ยวก็ยังเน้นพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่น จีน ที่ก็ยังเข้ามาเที่ยวไม่เต็บสูบเหมือนอดีต ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านคนต่อปี  แต่ตอนนี้แค่ครึ่งสูบคือประมาณ 20 กว่าล้านคน

เมื่อเป็นแบบนี้ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ หลังเครื่องยนต์ต่างๆ อยู่ในสภาพหลับนิ่ง เพราะอย่างเครื่องจักรในระบบการผลิตต่างๆ ตอนนี้เดินเครื่องแค่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ต่ำเกินไป เพราะโดยหลักขั้นต่ำควรเดินเครื่องผลิตประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์

พรรคเพื่อไทย เห็นสภาพเศรษฐกิจทั้งระบบและมองไปข้างหน้า พยากรณ์แล้ว เศรษฐกิจประเทศไทยต้องมีการกระตุ้น จึงเกิดแนวคิดกระตุ้นด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งความแตกต่างจากที่ก่อนหน้านี้ ใช้ระบบ"เป๋าตัง"ที่ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่เป็นระบบที่รัฐบาลก่อนหน้านี้นำเงินไปให้คน ในช่วงที่กำลังลำบาก ไม่มีเงิน (ช่วงโควิด) ก็มีการให้เงินเป็นช่วงๆในหลายรูปแบบ แต่เนื่องจากรัฐบาลเก่า(รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)ใช้วิธีการให้แบบทยอยให้ ไม่ได้ให้แบบรวดเดียว

ขณะที่แนวคิดของเราคือ เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ จึงต้องใส่เงิน-ใส่น้ำมันเข้าไป ซึ่งการอัดเข้าไปดังกล่าว เพราะต้องการให้คนที่ได้ดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้ว คนที่ได้ไปที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป นำดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้ไปทำมาหากิน เพราะแม้จะให้นำเงินไปใช้จ่าย แต่ก็คงใช้จ่ายไม่ได้มาก ก็ต้องเหลือบางส่วนแล้วก็มารวมตัวกันแล้วก็ทำการผลิต พอผลิตแล้วก็ขาย ก็เกิดธุรกรรม-ธุรกิจใหม่ๆ จนต่อมา ก็มีการนำแนวคิดนี้ไปหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ดิจิทัลวอลเล็ต

ที่มาที่ไป นโยบายเรือธงเพื่อไทย   

"ดร.กิตติ"เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการคิดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตอนที่เริ่มทำนโยบาย ผมไปคำนวณภาพรวมทั้งระบบ ว่าหากโอนให้ทีเดียว 10,000 บาท กับให้ 5,000 บาท ผลจะออกมาอย่างไร ก็พบว่า ถ้าทำออกมา ไม่ว่าจะเป็น 10,000บาทหรือ 5,000 บาท ต่างทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งสองออฟชั่น แต่ว่าหากไม่ต้องใช้เงินเยอะ 5,000 บาทก็เพียงพอ แต่ตอนนั้น นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ก็ตัดสินใจเลือกเคาะมาที่ตัวเลข 10,000 บาท ที่ก็ไม่ได้เสียหาย จนตัวเลข 10,000 บาท อยู่ในความจดจำของประชาชน โดยเราคิดกันว่า

10,000 บาท คนก็เอาเงิน 5,000 บาท ไปซื้อของต่างๆ ส่วนที่เหลืออีก 5,000 บาท อยากให้คนที่เขารู้จักกัน ได้มีการรวมตัวกัน เพื่อประกอบการบางอย่างเช่น เปิดร้านขายของ ขายข้าวมันไก่ ขายของรถเข็น หรือลงขันกันทำภาคการผลิตด้านการเกษตร เช่น โรงอบข้าว

ที่ก็แน่นอนว่า หากเขาจะทำธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการ เงินที่ได้ไปคงไม่พอ เราก็คิดเผื่อไว้ว่า ต่อไปหลังจากดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว จะมีการต่อยอด หาทุนเพิ่มให้ มีการทำแพลตฟอร์มต่างๆ ออกมารองรับในเรื่องการสนับสนุนแหล่งทุน เช่น หากมีการรวมตัวกันทำด้านการเกษตร จะมีการปรับโครงสร้างการผลิต ทำโรงอบข้าว ก็จะให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาสนับสนุนเรื่องทุนการผลิตด้านเกษตร เป็นต้น

"อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ -ดร.กิตติ"กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ พบว่าประเด็นที่ประชาชนยังไม่เข้าใจก็คือ ทำไมรัฐบาลใช้งบประมาณในการทำดิจิทัลวอลเล็ตจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์กว่าของจีดีพี คนก็กลัวกันว่าจะเสียเปล่า ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะใช่แบบนั้น เพราะที่เราคิดกันมาคือดิจิทัลวอลเล็ต จะก่อให้เกิดการหมุนเวียน ซึ่งไม่ใช่หมุนเวียนจากการบริโภค การกิน ที่ก็อาจจะใช่ อาจทำให้ GDP Growt ขึ้นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์แม้อาจมีคนแย้งว่าไม่น่าจะถึง แต่จริงๆ เราต้องการให้คนนำเงินส่วนหนึ่งไปบริโภค แต่อีกส่วนหนึ่ง ไปใช้ในด้านการผลิต ปรับโครงสร้างการเกษตร โดยหากทุนไม่พอ ก็มีการหาแหล่งทุนให้กู้

ดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อออกมาแล้ว ที่เถียงกันมากกว่า จะทำให้มีเงินหมุนกี่รอบ บางคนก็บอกว่าไม่น่าจะหมุนหรือหมุนแค่ไม่กี่รอบ แต่จากการคำนวณ จะหมุนประมาณ 4-5 รอบ ซึ่งคำว่ารอบ ไม่ได้หมายถึงเท่า ไม่ใช่ว่าใส่ไป 1 บาทแล้วหมุนจนเป็น 3-5 บาท ไม่ใช่แบบนั้น คำว่ารอบเปรียบเหมือนกับการโยนก้อนหินลงไปในน้ำ เช่น หนึ่งบาทโยนลงไป นำไปบริโภค 75 สตางค์ เก็บไว้ 25 สตางค์ หรือบางคนนำไปซื้อของกิน 85 สตางค์ เหลือเก็บ 15 สตางค์ เงินที่ใช้บริโภคกัน เช่น 85สตางค์ดังกล่าว จะเกิด Multiplier Effect ก็ประมาณ 3 หรือ 4 หรือ 5 ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ตรงจุดไหนของวัฏจักร

อันนี้คือการคำนวณอย่างง่าย แต่จริงๆ ระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่นี้ แต่ยังมีนำเข้า ส่งออก ลงทุน มันก็หมุนไปในระบบ ซึ่งแย่ที่สุด เช่นอัดเงินเข้าไป 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก็คิดว่า จีดีพีมันน่าจะ Growth ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ อันนี้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของปีที่ทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ปีต่อไปยังGrowthอีก

ซึ่ง Growth การเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีต อย่างธปท.บอกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคือกรณีไม่ได้ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากมีดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา มันจะเกิดการกระเพื่อม เพราะเหมือนโยนก้อนหินก้อนใหญ่ลงไปในน้ำ ซึ่งจะเกิดหลายปี ไม่ใช่เกิดแค่ปีเดียว แต่วัดเฉพาะปีแรกหลังทำดิจิทัลวอลเล็ต จะอยู่ที่ 3 บวก 1 โดย 1 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว มาจากใช้ทุนเต็มที่ คนไทยเก่งขึ้น ก็จะเกิด Growth ใน Real Terms  ที่ไม่เอาเงินเฟ้อ เท่ากับ 3 บวก 1 ก็เป็น 4 แล้วก็ยังมีนโยบายอื่นของรัฐบาลอีกที่จะออกมา เพราะฉะนั้น ตัวเลขจีดีพีในปี 2567 น่าจะเติบโตไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์แน่นอน แล้วปีต่อไป 2568 ก็ต้องรักษา 5 เปอร์เซ็นต์ไว้ ก็ต้องมีอย่างอื่นใส่เข้าไปอีก เพราะดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่มีแล้ว แต่แรงเดิม จะวิ่งไปด้วย แล้วอันใหม่ก็ใส่เข้าไป

เพราะฉะนั้น จนถึงปี พ.ศ. 2570 พรรคเพื่อไทย ถึงเคยบอกว่า จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ตลอดสี่ปีของรัฐบาล  ซึ่งหากทำได้ ก็จะทำให้ที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จะเกิดขึ้นได้ในปีพ.ศ. 2570

"ดร.กิตติ-อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ"กล่าวต่อไปว่า ที่มีนักวิชาการบางคนออกมาว่า เศรษฐกิจจะไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมดูแล้ว ไม่เห็นมีอะไรที่จะไม่ไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์ มันไปถึงได้แน่ ก็ยืนยันได้ว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้เศรษฐกิจหมุนแน่ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นเทอร์นาโดอย่างที่นายกฯพูด

ผมก็เสนอว่า การทำดิจิทัลวอลเล็ต ไม่อยากให้ทำแบบโอนแบบตูมเดียวเลย(หนึ่งหมื่นบาท) เพราะจะเกิดเงินเฟ้อ มันจะ overshoot ขึ้นไป แล้วมันจะโอเวอร์แฮงค์ มันเหมือนคนกินเหล้่า พอแฮงค์แล้วมันลงยาก ก็อาจทำให้พวกสวัสดิการสังคม พวกคนจน คนไม่มีเงินอะไรต่างๆ จะได้รับผลกระทบกันหมด ของอาจจะแพงขึ้น ซึ่งผมเป็นห่วง ผมถึงเสนอมาตลอดว่า ให้โอนเป็นงวดๆ ซึ่งที่ผมเสนอแบบนี้ไม่ใช่ว่าผมไปค้านอะไร แต่เพราะผมคำนวณและพยากรณ์ดูแล้ว มันจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ขอให้เชื่อผมสักครั้งเถอะ ซึ่งก็ไม่ได้เสียหน้าตรงไหน

และไม่ได้เสียอะไร เพราะวัตถุประสงค์ที่คิดดิจิทัลวอลเล็ตคืออะไร ก็คือกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบล็อกเชน แต่ต้องทำให้เร็วที่สุด ให้ถึงมือประชาชนที่สุด และวัดได้ว่าไม่ซี้ซั้ว ไม่มีตลาดมืดแลกเหรียญ ซึ่งก็ไม่มีอยู่แล้ว

ยืนยันอีกครั้งว่า ดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ทำให้เกิดหนี้สาธารณะ ประชาชนได้ดิจิทัลวอลเล็ตอย่างรวดเร็ว แบบนี้ มันก็ไม่ได้เสียตรงไหน เสียอะไร เราก็ทำอย่างนิ่มนวล ทำแบบที่ผมเสนอ ให้ทำเป็นหลายงวด อย่าไปดื้อ แล้วที่ผมเสนอให้แบ่งจ่ายหลายงวด ก็ไม่ได้แบ่งว่าให้คนรวย-คนจน ยังคงให้พร้อมกัน แต่หากคนรวยได้แล้วไม่นำไปใช้ พอครบหกเดือน มันก็คืนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ใช้ เช่นนำไปซื้อของบริจาคให้วัด ก็ได้

ผมเคยเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้(เสนอให้โอนเงินเป็นงวดๆ ประมาณ 2-3 งวด)ตอนให้สัมภาษณ์แนวทางนี้กับทางไทยโพสต์ ผมก็เกือบตาย  คือเขาไม่เข้าใจ แต่ทุกวันนี้เขาเข้าใจแล้ว แต่ไม่กล้ายอมรับ ครั้งนี้ ก็เสนออีกครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจคือ ขอเสนอให้ใช้วิธี"แบ่งจ่ายแต่ให้ครบ" คือ 10,000 บาทโอนให้ครบ แต่ไม่ใช่ให้ทีเดียวเลย 10,000 บาท แต่จะแบ่งอย่างไรก็มาคิดกัน

เพราะหากแบ่งจ่าย จะทำให้ไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลคุมได้ และชี้นำได้เช่น ก้อนนี้ที่โอนให้ไป ขอให้นำไปบริโภค หรืออีกก้อนหนึ่งที่โอนไปขอให้นำไปต่อยอดด้านการผลิต โดยใช้วิธีการทำแคมเปญรณรงค์ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต คนที่ได้เป็นเกษตรกร พอเขาได้ไป แล้วมารวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ก็ส่งผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยต่างๆ เช่น ธกส.-กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูในพื้นที่ หากเห็นว่าต่อยอดได้หน่วยก้านดี ก็หาแหล่งทุนให้กู้ยืมเพิ่ม มันก็จะเกิดการผลิต มีการปรับโครงสร้างการเกษตร หรือภาคบริการ การท่องเที่ยวก็ทำได้เช่นกัน เช่น กลุ่มคนที่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต ที่เขาทำโฮมสเตย์ในชุมชน พอได้ดิจิทัลวอลเล็ตมา ก็นำไปปรับปรุงที่พัก หากเงินไม่พอ ก็รวมตัวกันในกลุ่มคนทำโฮมสเตย์ แล้วกู้ยืมเงินมาต่อยอดการทำธุรกิจโฮมสเตย์ในพื้นที่ ก็จะเกิดกระบวนการของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เกิดขึ้นเยอะ หลังทำดิจิทัลวอลเล็ต อันนี้ต่างหากที่รัฐบาลต้องการเห็น  

โอนเงินตามความต้องการประชาชน

ทยอยให้เป็นงวดๆ ไม่ใช่โอนรอบเดียว

"ดร.กิตติ"อธิบายลงรายละเอียด ถึงข้อเสนอแนวทาง"การแบ่งจ่ายดิจิทัลวอลเล็ตแบบเป็นรอบๆ " ว่ามีวิธีการดังนี้  ลำดับแรก ต้องคิดว่าประชาชนต้องการใช้เงินกันมากช่วงไหน พบว่า บางคนเขาไม่ได้กลับภูมิลำเนาช่วงสงกรานต์ แต่จะกลับช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่บางคนก็กลับสงกรานต์ แต่บางคนก็เลี่ยงกลับภูมิลำเนาไปหลังสงกรานต์เลยก็มี

 เพราะฉะนั้นการใส่เงินลงไป ต้องเป็นการ"ใส่เพื่อเตรียมการ-ตามความต้องการของประชาชน"ผมก็เสนอว่า รอบแรก ต้องโอนให้ก่อนเทศกาลปีใหม่ โอนให้คนละ 2,000 บาทหรือ 2,500 บาทก็ได้  โดยให้ใช้ในพื้นที่ 4-10 กิโลเมตร ตามภูมิลำเนาของแต่ละคน หรือให้ใช้ในตำบลก็ได้ แต่ไม่ควรเกินจากนี้ เพราะทุกวันนี้ แต่ละตำบลก็มีร้านสะดวกซื้อเปิดกันเยอะแล้ว  โดยเหตุที่เสนอให้โอนรอบแรกช่วงปีใหม่  เพราะช่วงนั้น คนจะกลับบ้าน หรือบางคนก็ไปเที่ยวช่วงปีใหม่ บางคนกลับบ้านต่างจังหวัด เขาก็จะซื้อของฝากไปให้พ่อ-แม่ ที่ต่างจังหวัด มันก็จะเกิดการหมุนเวียนในระบบ

จากนั้น ก็มีการเช็คตรวจสอบว่ามีการใช้จ่ายอย่างไร หากพบว่า คนนำดิจิทัลวอลเล็ต ไปจับจ่ายใช้สอยดี ซื้อของกันเยอะ จนสินค้าบางอย่าง พบว่าขาดตลาด เพราะผู้ผลิตไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า แต่พอผู้ผลิต-เจ้าของสินค้าเขาเห็นแล้วว่า จะมีการโอนดิจิทัลวอลเล็ตรอบต่อไป ช่วงเมษายน ผู้ผลิต-เจ้าของสินค้า-ร้านค้า  ก็จะเพิ่มการผลิต -สั่งของมาขายมาขายมากขึ้น เพราะเขาเห็นแล้วว่า รัฐบาลเอาจริง รอบแรกยังมาแค่ 2,000 บาท ยังเหลือจะโอนอีก 8,000 บาท เท่านี้ แค่ในหมู่บ้านก็คึกคักแล้ว คนก็เตรียมขายของเพราะรู้แล้ว่าเมษายนจะโอนกันอีกรอบ คราวนี้ พอเมษายน โอนอีกรอบ ก็ซัดตูมเลย มันก็จะเกิดการกระเพื่อมทางเศรษฐกิจอย่างน้อยสองรอบ

รอบแรกช่วงปีใหม่ ก็กระเพื่อมแล้ว เพราะปกติคนก็มีเงินของตัวเองจะใช้ปีใหม่อยู่แล้ว แล้วก็ยังมีเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตโอนมาอีก รอบแรกช่วงปีใหม่  ก็เน้นไปที่เรื่องการบริโภค-ท่องเที่ยว พอเมษายน สงกรานต์ 2567 ก็โอนไปอีกรอบที่สอง แต่ระหว่างก่อนการโอนรอบที่สอง ประชาชนเขาจะเห็นแล้วว่า ควรเตรียมผลิตสินค้า หรือมารวมตัวกันลงทุนผลิตของอะไรต่างๆ ทำเรื่องการเกษตร เพื่อไว้ขายรองรับตอนที่รัฐบาลจะโอนดิจิทัลวอลเล็ตรอบที่สองเดือนเมษายน ซึ่งพอเกิดแบบนี้

จากนั้นพอไปถึงช่วงเมษายน 2567 พอรัฐบาลโอนไปรอบสอง เงินก็เข้าไปในระบบ คนที่เขาเตรียมผลิตสินค้า  เตรียมเครื่องจักรต่างๆ ไว้ ผลิตของออกมา เขาก็ขายของได้ มันก็จะเกิดการหมุน ซึ่งไม่ใช่ demand side พวกบริโภค-กิน แต่ก็อาจมีบ้าง แต่จะเกิดด้านอุปทาน การผลิต หรือบางคนบอกว่า ไม่อยากผลิตของ ขายสินค้า แต่อยากเพิ่มทักษะตัวเอง ก็ทำได้ ก็เอาดิจิทัลวอลเล็ตไปอบรมเพิ่มทักษะต่างๆ รัฐบาลก็จ่ายเป็น coins จ่ายเป็นสิทธิไป

และกับคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยกันมาตลอดว่า ดิจิทัลวอลเล็ต 560,000 บาท จะนำเงินจากไหนมาทำนโยบายดังกล่าว "ดร.กิตติ-อดีตผู้ร่วมทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้กับพรรคเพื่อไทย" ย้ำว่าการเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ต้องทำอยู่บนเงินงบประมาณแผ่นดิน กับภาษีอากร เพราะช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566  เงินรายรับภาษีจะเข้าประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ก็แบ่งเงินไปส่วนหนึ่งในด้านต่างๆ เช่นเงินเดือนข้าราชการหรือทำนโยบายอื่นๆ ก็จะเหลือประมาณ 120,000 ล้านบาท ก็เท่ากับ โอนดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนได้เลย คนละ 2,000 บาท อย่างที่ผมเสนอข้างต้นว่าให้โอนเป็นรอบๆ ไม่ใช่โอนทีเดียวหนึ่งหมื่นบาท

เพียงแต่ต้องบอกว่า พอได้แล้วอย่าเพิ่งแลกเป็นเงินบาท เพราะจะนำเงินไปคืนไม่ได้ เพราะเงินยังไม่อ้อมกลับมา อย่าเพิ่งรีบแลก เราก็ขยายตรงนี้ที่แลกเป็นเงินบาทไปประมาณหนึ่งปี แต่หากจะแลกก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของเขา แล้วก็ให้เขาไปใช้จ่ายต่อ ก็ใช้กันแบบนี้ หมุนไปหมุนมา พอหมุนไปแบบนี้ ภาษีมันก็จะงอก พอไปถึงเมษายน 2567 มันก็จะงอกมาประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ก็จะมีเข้ามาเยอะเลย เพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ก็จะเข้ามาด้วย ทำให้รัฐบาลมีทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีและภาษีที่เกิดจากการใช้จ่ายที่ภาครัฐเก็บได้เข้ามา

"ดร.กิตติ”กล่าวต่อไปว่า จากนั้นพอไปถึงเมษายนปีหน้า โอนไปอีกรอบที่สอง 6,000 บาท คราวนี้ตูมเลย เงินจะหมุนในระบบ ภาษีที่จะเก็บได้ ก็จะเพิ่มขึ้นอีก แล้วเวลาคนจะนำมาแลก เขาก็ไม่มาแลกกันหมด 6,000 บาท ที่ก็คือ สามแสนกว่าล้านบาท ก็อาจแลกสักประมาณหนึ่งแสนล้านบาท แต่ให้ยืดเป็นปี บอกไม่ต้องรีบมาแลก แล้วช่วงนั้นก็จะมีเงินภาษีเข้ามาเคลียร์ให้อีก แต่หากแจ็คพ็อตเช่น เตรียมไว้ประมาณสองแสนล้านบาท แต่คนมาแลกสามแสนล้านบาท ถ้าแบบนั้น ก็อาจต้องไปยืมธนาคารออมสิน ซึ่งไม่ต้องยืมมาก และให้ยืมแต่ในบัญชี สำหรับกรณีมีคนแห่มาแลกกันเยอะ พอยืมธนาคารออมสิน ก็ต้องไปตั้งงบประมาณจ่ายคืน ซึ่งแบบนี้ ไม่ใช่หนี้สาธารณะ

-แต่ท่าทีของนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และคนในรัฐบาลที่มาจากเพื่อไทย ก็ยืนยันว่าจะโอนรอบเดียว หนึ่งหมื่นบาทให้ทุกคน แล้วแบบนี้รัฐบาลจะนำเงินจากไหนมา560,000 ล้านบาท?

ก็เป็นคำถามที่ผมเอง ก็ต้องถามคนในรัฐบาล ว่าจะนำเงินมาจากไหน เงินภาษีไม่ได้ให้มาแบบนั้น เพราะมันทยอยเข้า แล้วธนาคารออมสินก็ไม่ได้ให้หมด ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เพราะธนาคารออมสินเขาก็ต้องระมัดระวัง

ส่วนที่จะใช้มาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ก็เป็นนามธรรม เป็นกฎหมาย แต่ถามว่า เงินอยู่ไหน ครั้นจะไปเอาจากธกส.ก็ไม่ได้ เพราะธกส.คือเพื่อการเกษตร แต่อาจจะได้หากดิจิทัลวอลเล็ต ลงไปที่เกษตร แต่ถ้าไม่ใช่เกษตร ก็ไม่ได้ มันก็หมิ่นเหม่ เพราะมันไม่ชัด

ผมจึงขอเสนอว่า ไม่ควรโอนดิจิทัลวอลเล็ตครั้งเดียว 10,000 บาท หลายครั้งก็ได้ แต่ให้ครบหมื่น ตามรอบของเงินภาษี แต่พอทำไปถึงรอบที่สอง ที่โอนไปหกพันบาท (รอบแรกสองพันบาทช่วงเทศกาลปีใหม่) เห็นแล้วว่า ดี มันเวิรก์ก็อาจไปยืมธนาคารออมสินมา พอถึงเดือนพฤษภาคม ก็โอนรอบที่สาม ซัดไปอีกสองพันบาท ก็ครบหนึ่งหมื่นบาท ก็อีกแสนกว่าล้านบาท ก็จบแล้ว

จากนั้นพอเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ มันหมุน จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จาก 3 เปอร์เซ็นต์ บวกเข้าไปอีก 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็น 4 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ยังมีโปรเจต์ -นโยบายอื่นๆ อีก 1 เปอร์เซ็นต์ รวมกันก็จะเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าจะไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ต่ำสุด ยังไงก็ growth 5 เปอร์เซ็นต์ โดย 5 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว ก็จะพบว่า จีดีพีเราประมาณ 17 ล้านล้านบาท คือประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท

-แล้วที่เสนอมาให้โอนหลายรอบ หากสุดท้าย รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยไม่รับฟัง จะโอนรอบเดียวหนึ่งหมื่นบาทไปเลย?

ก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับฟังหรือไม่ หรือฟังแล้วไม่ได้ยิน แต่ก็ถือเป็นเสียงเตือน เพราะผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิธีปฏิบัติขอให้ฟังดร.กิตติบ้าง แล้วผมก็ยืนยันได้ว่ามันจะไม่เป็นหนี้สาธารณะหากทำแบบที่ผมเสนอข้างต้น  แต่อย่างที่มีการออกมาเช่น  99 นักวิชาการ-อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ที่เขาออกมาเตือน ก็พูดดี บางประเด็นที่เขาเตือน ก็ต้องรับฟัง  แต่บางเรื่องที่เขายกมา เขาไปคิดเอา ไปคำนวณผิด อาจเพราะเขาไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ

เช่นเรื่องที่บอกว่าจะเป็นหนี้สาธารณะซึ่งมันไม่จริง ยืนยันว่าไม่เป็นหนี้ เพราะไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินอะไร แค่ทำบัญชีว่าจะยืมนะตามมาตรา 28 พรบ.วินัยการเงินการคลังฯ ก็ไม่เป็นไร แต่ที่เขาเตือนกันมา ก็รับฟัง อย่างสำนักงานป.ป.ช. ผมว่าเขาไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่เขาเตรียมการไว้ เพราะกลัวมันจะเกิดพลิกล็อคเหมือนจำนำข้าว ที่เตือนไปแล้ว แต่ก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แล้วสุดท้าย ก็ปืนลั่น แต่ปืนลั่น ตามจริงมันไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะจำนำข้าวตัวมันดีเป็นโครงการที่ดี แต่ที่ติดหนี้อยู่สี่แสนกว่าล้านบาท เพราะเอาข้าวไปล็อกไว้ไม่ยอมให้ขาย หลังเกิดรัฐประหาร ปี 2557 ผมเป็นพยานปากสุดท้ายของคดีจำนำข้าว ที่ยืนยันได้ว่า โครงการับจำนำข้าว  ไม่มีปัญหา ไม่มีมลทิน

ป.ป.ช.ขยับตั้งอนุกรรมการฯ 

“ดร.กิตติ”พร้อมร่วมให้ข้อมูล

ย้ำต้องเดินหน้า เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ระหว่างที่รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย กำลังตั้งหลักเตรียมเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตตามที่ประกาศไว้โดยตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้ประชาชนทำธุรกรรมได้ภายในวันที่ 1 ก.พ. 2567 แต่ก็พบว่าตอนนี้ องค์กรอิสระบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็มีข่าวว่าจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ในรูปแบบของอนุกรรมการฯ

โดยมีกระแสข่าวว่า คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ที่จะตั้งขึ้นมา จะมีการเชิญบุคคลจากภายนอก ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มาร่วมเป็นอนุกรรมการฯ

ซึ่งมีกระแสข่าวว่า หนึ่งในบุคคลที่สำนักงานป.ป.ช.จะเชิญมาร่วมเป็นคณะทำงานชุดดังกล่าวมีชื่อของ “ดร.กิตติ ลิ่มสกุล”ด้วยนั้น เรื่องนี้เราได้ถาม ดร.กิตติ ถึงกระแสข่าวดังกล่าว โดย”ดร.กิตติ-อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย”บอกว่า ทางสำนักงานป.ป.ช.เขาจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ โดยให้มีบุคคลจากหลายฝ่ายมาร่วมเป็นอนุกรรมการ ทั้งที่เห็นเหมือนกันและเห็นแตกต่างกัน ในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตได้มาพูดคุยกันด้วยหลักวิชาการ และจะให้มีการใช้เทคโนโลยีแบบจำลองข้อมูลจริง เท่าที่ทราบเขาอาจจะเรียกหลายคนมาที่มีความรู้เรื่องนี้ แล้วก็ทำแพลตฟอร์มออกมาโดยมีข้อเสนอในเรื่องนี้ โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลข้อเสนอดังกล่าวต่อประชาชนด้วย เพื่อให้ประชาชนรับรู้-รับทราบเช่นข้อเสนอว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร หรือการทำเรื่องนี้มีจุดดี จุดบอดอย่างไร ที่จะทำให้ประชาชน-นักวิชาการ-ชนชั้นกลาง รู้สึกคลายใจ

“อย่างผมที่เห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ตร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ได้รับการติดต่อจากสำนักงานป.ป.ช. แต่ผมไม่ได้เป็นตัวแทนพรรค เพราะเขาไม่ได้เชิญมาในนามพรรค ตอนที่ป.ป.ช.ติดต่อมา ผมถามเขาไปว่า ผมยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผมจะไปร่วมได้หรือ เขาบอกว่าอยากให้มา เพราะเข้ามาได้  แต่พรรคไม่ได้แต่งตั้งผมเข้าไป ก็ต้องขออนุญาต หากไม่มีใคร ผมก็จะไป แต่หากมีคนอื่น พรรคก็ส่งไปแทนได้ แต่ผมจะเข้าไปให้ข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น”

-หากรัฐบาลจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปจะมีปัญหาอะไรในอนาคตหรือไม่ เพราะองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานป.ป.ช.ก็จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบ รวมถึงก็มีกลุ่มบุคคลต่างๆ ไปยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระเช่นผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบ และมีอดีตป.ป.ช.บางคนก็บอกว่าอาจจะซ้ำรอยจำนำข้าว จนอาจมีคนโดนเอาผิดคดีอาญา?

ความเห็นส่วนตัวของผม ในการทำดิจิทัลวอลเล็ต อย่างที่ผมเสนอข้างต้นคือให้ดำเนินการโดยใช้เงินภาษีอากร ซึ่งคำว่า”เงินแผ่นดิน”คือเงินที่เก็บจากประชาชน ในรูปรายรับภาษีอากร และทำในรูปแบบของ Income Transfers หรือการโอนทางการคลังให้กับประชาชน ที่รัฐบาลต่างๆ ก็ทำอยู่แล้วเช่น การโอนเงินช่วยเหลือคนตาบอด -โอนให้กับประชาชนคนยากจน หรือการทำโครงการต่างๆ ก่อนหน้านี้เช่น คนละครึ่ง ยืนยันว่าทำได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ

และหากจำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก ก็ใช้ตามช่องทางมาตรา 28 แห่งพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แต่ไม่ต้องใช้ทันที ตั้งเรื่องให้รัฐบาลเป็นผู้ให้คนสุดท้าย ทำไว้เป็นปีก็ได้แล้วค่อยมาแลกเป็นเงินสด การหมุนเงินจากรายรับภาษีอากรมันทำได้ และไม่เป็นหนี้สาธารณะเพราะเป็นการนำภาษีมาแล้วก็หมุนเข้าหมุนออก แต่ระหว่างดำเนินการอาจต้องมีการยืมบ้างหากเกิดภาวะติดขัด แต่ก็ตั้งบัญชีไว้เฉยๆ แล้วก็ยืมมาเล็กน้อย พอถึงรอบที่เงินจากการจัดเก็บภาษีเข้ามาก็คืนไป เป็นเรื่องของการบริหารเงินสด Cash flow จึงไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะ

ผมมองว่าการที่บางฝ่ายออกมาค้าน คงเพราะเขาเป็นห่วง ที่ผมก็รับได้ แต่ขอให้ดูข้อเท็จจริง ว่าหลักปรัชญาของดิจิทัลวอลเล็ตคืออะไร มันคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่ใช่การอยู่ดีๆ เอาเงินทุ่มลงไป

เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภามาแล้ว รัฐบาลก็ดำเนินการตามที่แถลงต่อรัฐสภา โดยหากรัฐบาลเขาเชื่อผม คือให้ใช้เงินจากภาษีอากร แล้วให้ทยอยโอนให้ประชาชนเป็นงวดๆ มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น เหมือนกับตอนรัฐบาลชุดที่แล้วทำหกครั้ง (โครงการคนละครึ่ง) แต่ดิจิทัลวอลเล็ต อาจทำสามครั้ง  ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องใช้เงินจากรายรับภาษีอากร และรายรับรัฐบาลอื่นๆที่ไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนข้อเป็นห่วงของนักวิชาการ อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์เช่น ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และอดีตป.ป.ช.รวมถึงนักวิชาการ 99 คนที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ก็ขอบคุณมากที่แสดงความเป็นห่วง แต่ที่ดร.เมธี ออกมาให้สัมภาษณ์ผมว่าอาจจะพูดเยอะเกินไป ใหญ่เกินไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นที่ดี และอยากชี้แจงคือ ตามกฎหมายการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ การที่ดิจิทัลวอลเล็ตให้ใช้ โทเคนดิจิทัล หรือสิทธิที่เหมือนกับเป็นคูปอง เช่นผมไปที่ห้างสรรพสินค้า ห้างเขาออกคูปองให้ผม ผมก็นำคูปองไปแลกเป็นของ แต่ต้องตีความว่า เมื่อผมรับคูปองมาแล้วผมนำไปซื้ออย่างอื่นต่อไป การที่มันหมุนไปหมุนมา มันทำได้แค่ไหนอย่างไร หากทำได้ หรือทำไม่ได้อย่างไร ให้ตีความออกมา เลยทำให้สำนักงานป.ป.ช.เขาจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่ามันได้หรือไม่ได้ หากมันไม่ได้ก็ต้องเป็นพระราชกำหนด เหมือนที่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เคยออกเป็นพระราชกำหนด จากนั้นก็เอาพรก.เข้าสภาฯ ออกมาเป็นพรบ.ต่อไป ซึ่งถ้ามันจะไปจบแบบนั้นก็เอา ก็เป็นเรื่องที่ดีหากป.ป.ช.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามเรื่องนี้แล้วก็มาคุยกัน โดยหากป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาได้ หลังจากนั้นก็เสนอให้สำนักงานป.ป.ช.เปิดเวที ให้ประชาชนเข้ามาร่วมเสนอความเห็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ใช่ให้คนมาตีกัน แต่ให้มาแสดงความเห็นกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยโดยคุยกันด้วยเหตุผล พูดด้วยหลักวิชาการ

โดยสรุปเศรษฐกิจประเทศไทยตอนนี้ยังไม่ได้คลายตัว ยังเติบโตไม่ค่อยดี ยัง growth แค่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 3 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว ยังจ่ายหนี้ไม่ได้ แล้วจะปล่อยไว้แบบนี้หรือ ผมจึงเห็นด้วยต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเล็ต และต้องให้คนไทยทุกคน อีกทั้งพรรคเพื่อไทย คิดไปถึงเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอยากให้ลงไปถึงระดับฐานราก  แล้วแบบนี้ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ดีตรงไหน

-ดิจิทัลวอลเล็ต พบว่าค่อนข้างมีเสียงไม่เห็นด้วย แรงคัดค้านเยอะ ในฐานะเคยร่วมทำนโยบายกับเพื่อไทยตั้งแต่ไทยรักไทย สมัยตั้งพรรคใหม่ๆ พวกกองทุนหมู่บ้านอะไรต่างๆ ซึ่งช่วงที่ยังไม่ได้มีการทำ ก็มีคนออกมาแสดงความเห็นเหมือนกันตอนนั้นว่า อาจเกิดปัญหาในการทำโครงการ มองว่าเสียงไม่เห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ตตอนนี้กับช่วงสมัยไทยรักไทยแตกต่างกันมากแค่ไหน?

          ก็มีทุกรอบ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นอนุรักษ์นิยม หรือคนที่เขาห่วงใยประเทศ และอาจอยู่ในยุคอนาล็อก ที่เขาอาจไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ การที่เขาแสดงความเป็นห่วง แสดงความเห็นออกมาเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่ข้อมูลที่ออกมามันไม่ถูก หากเป็นมืออาชีพ ฟังแล้วจะรู้สึกขัดๆ

อย่างตอนทำนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน ช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ตอนกำลังจะทำ คนก็ออกมาบอกว่า แบบนี้เจ๊งแน่นอน ผมก็หวั่นไหว แต่ถึงเวลาก็เห็นแล้ว หนี้ไม่ถึงสามเปอร์เซ็นต์ คือทุกโครงการหากเป็นทักษิณ ชินวัตร ไทยรักไทย จนมาถึงเพื่อไทย โดนหมดจนแทบจมดิน ที่ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องดีที่ประชาชน สื่อมวลชน จะตรวจสอบ แต่อยากขอให้โอกาส นายกฯเศรษฐา ทวีสินกับทีมงาน ได้ทำ เพราะเขาหวังดีและทำงานหนัก ขณะเดียวกันคนที่เกี่ยวข้องกับการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมด ก็ต้องฟังความเห็นนักวิชาการต่างๆ ที่ออกมาพูดเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตด้วย และไม่จำเป็นต้องเรียกประชาชนออกมาเชียร์ และสนับสนุนกระบวนการขององค์กรอิสระอย่างสำนักงานป.ป.ช.เช่นส่งคนของพรรคไป

-กรณีมีข่าวว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่นมูดีส์ เตือนว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้ฐานะการคลังอ่อนแอลง ทำให้อาจลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลง หากใช้นโยบายการคลังไม่เหมาะสม?

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีหลายแห่ง บางแห่ง ก็มีท่าทีเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว โดยบางแห่งที่เขาเข้าใจ ก็บอกว่าไม่มีปัญหา คนที่ไม่เข้าใจก็บอกว่าอาจมีปัญหา

ตรงนี้อยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะคุณไม่อธิบายเขา หากเป็นผม ผมอาจเรียกเขามาพูดคุยที่พรรค หรือที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วก็อธิบายอย่างที่ผมให้สัมภาษณ์ เช่นอธิบายว่าเป็นนโยบายที่ไม่ได้ทำให้เกิดหนี้สาธารณะ

สำหรับประเด็นของเขา ที่ก็น่ารับฟังแต่ผมชี้แจงได้ คือถึงแม้ตั้งไว้แล้ว และมีการยืมมา ถ้าทำเหมือนกับยืมโดยสิ้นเชิง มันก็เหมือนกับไปเอาเงินธนาคารออมสินมา ก็ต้องไปตั้งงบประมาณจ่ายคืน มันก็คือการที่เราเอาเงินส่วนหนึ่งให้ประชาชน ซึ่งสำหรับผม มันไม่เสียหาย เพราะภาษีที่เก็บมาก็มาจากประชาชน  แล้วส่งคืน จะเกิดปัญหาอย่างไร บางคนไปบอกว่าเป็นเงินแผ่นดิน แล้วแผ่นดินไม่ใช่ประชาชนหรือ

บริษัทจัดอันดับฯ เขามองระยะสั้น เขามองว่า เอาเงินแบบนี้ไป คือเป็นการกู้ แต่ถ้าทำตามที่ผมเสนอข้างต้นไม่ใช่การกู้ แต่เขาก็มองโดยดูจากมาตรา 28 ของพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่ไปเพิ่มเพดาน ก็เลยกลัวว่า แม้จะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ แต่ก็นับว่ารัฐบาลได้นำเงินจากตลาดบางส่วนไปใช้ เขาเรียกว่า Crowding Out Effect  หมายความว่ารัฐบาลใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ออกพันธบัตรอะไรบ้าง เอาเงินจากตลาดไป จนเอกชนไม่สามารถหาเงินสดไปลงทุนได้เพราะดอกเบี้ยสูง เพราะรัฐบาลจะเอาเงินไป รัฐบาลต้องให้ผลตอบแทนสูง Bond Yieldต้องสูง เมื่อเร็วๆนี้ เกิด Bond Yield สูง (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล) พอ Bond Yield สูง  ธปท.รู้ว่าคนเป็นห่วง ธปท.ก็เลยพยายามที่จะ slow down เรื่องนี้ ก็เลยไปขึ้นดอกเบี้ย จนคนออกมาวิจารณ์กันเยอะ เช่น บางคนที่กู้เงินธนาคารมาซื้อบ้าน ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

ซึ่งผมก็มองว่าธปท.ทำถูกแล้ว เพราะเขามองภาพว่ารัฐบาล จะใช้จ่ายเยอะ เลยขึ้นดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า อันนี้เป็นหลักวิชาทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนคาดประมาณการว่าเงินจะเฟ้อ ดอกเบี้ยจะสูง ต้องไม่ฟุ่มเฟือย ก็ทำให้หากรัฐบาลทำดิจิทัลวอลเล็ตออกมา ก็อย่านำไปใช้จ่ายแบบอีลุ่ยฉุยแฉกแต่ควรนำไปทำให้เกิดการผลิต ก็จะเกิด ผลิตภาพมวลรวม (Total Factor Productivity )

ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มองไว้ข้างต้น เขาก็มีเหตุผล แต่เขามองแค่ปีเดียว แต่เรามองว่ามันต้องเกิด Total Productivity ปี 2567 เป็น 3 + 1 + 1 ก็คือ 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วในปีถัดไป อาจเป็น 4 + 1 + 1 ที่ก็คือ 6 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นปีที่ 3 ยังเป็น 4 + 1 + 1 ก็คือ 6 เปอร์เซ็นต์ พอปีที่ 4 ของรัฐบาลที่เป็นปีสุดท้าย พ.ศ. 2570  ก็อาจเป็น 5 หรือ  6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทั้งหมดสี่ปี เท่ากับเศรษฐกิจจีดีพีโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ ถึงตอนนั้นก็เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันได้ ถ้าเป็นแบบนี้ นายจ้าง ก็คงไม่บ่นอะไร เพราะรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ขนาดนั้น นายจ้างก็ต้องแบ่งให้ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างบ้าง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..