สุทิน-รมว.กลาโหม จัดหาอาวุธ ถ้าจำเป็นก็ต้องซื้อ ศึกษาโอนธุรกิจ ลบภาพแดนสนธยา

คนชอบไปมองว่ากองทัพคือแดนสนธยา คนอื่นเข้าไม่ได้ ทำอะไรกันอยู่ในกองทัพ ผมว่าหากเข้ามาศึกษาจริง ก็โอเค หากไม่มีการศึกษากันเสียที กองทัพก็จะถูกกล่าวหาอยู่แบบนี้...อย่าเอาอารมณ์ความรู้สึก คือมันอาจมีความรู้สึกปนอยู่ เช่นบอกแดนสนธยา ร่ำรวย ชีวิตหรูอยู่ดีเกินไป อย่างนี้คือความรู้สึก ถ้าเอาความรู้สึกมาศึกษามันอาจไม่เป็นธรรม ก็เอาเหตุเอาผลมาว่ากัน ถ้าทุกคนใช้เหตุใช้ผลกัน จบยังไงผมว่ากองทัพรับได้

สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หนึ่งในรัฐมนตรีที่หลายคนจับจ้องกันตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้ากระทรวง นั่นก็คือ "สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย" ที่ถือว่าเป็น รมว.กลาโหมคนแรกที่มาจากพลเรือน โดยไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

"สุทิน-รมว.กลาโหม" ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "รายการอิสรภาพทางความคิด ไทยโพสต์" โดยกล่าวถึงการทำงานในช่วงกว่า 4 เดือนกว่าที่ผ่านมาหลังรับตำแหน่งว่า เริ่มแรกจริงๆ ก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในกระทรวงกลาโหมและประชาชน ว่าการที่ผมซึ่งเป็นพลเรือนคนแรกที่ไม่ได้เป็นนายกฯ มาเป็น รมว.กลาโหม อาจจะมีความห่วงใย  ความไม่เชื่อมั่น ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มาจากพลเรือน จะทำงานกับทหารได้หรือไม่ ทหารจะต้อนรับหรือไม่ ดังนั้นช่วงแรกก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นก่อน พอสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ ประชาชนเชื่อมั่น กองทัพเชื่อมั่น ผมเชื่อมั่นกองทัพ จากนั้นนโยบายต่างๆ ก็เริ่ม

โดยวิธีการสร้างความเชื่อมั่น มีทั้งการพบปะพูดคุย การส่งสัญญาณให้เห็นว่าผมมาแบบจริงใจ จะมาพัฒนากองทัพ ไม่ใช่ว่าจะมาแก้แค้น มาเอาคืน หรือว่ามาจากฝ่ายประชาธิปไตยแล้วจะต้องมาเล่นงานกองทัพอะไร ผมก็ส่งสัญญาณให้เขาเห็น ผ่านการพบปะพูดคุย การมอบนโยบาย

พอเขาเห็นความจริงใจแล้ว ก็มีสัญญาณการตอบรับที่ดี  ซึ่งการที่มีอดีตเลขาธิการ สมช. 2 คนที่เคยเป็นทหารมาก่อน  มาเป็นทีมงานรัฐมนตรี (พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม) ถือว่ามีส่วนช่วย เช่นช่วยในการให้ความรู้เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง และทำให้กองทัพก็เชื่อมั่น

และหลังจากสร้างความเชื่อมั่นจนโอเคแล้วว่าไปได้ กองทัพไว้ใจเรา เราก็ไว้ใจกองทัพ ประชาชนดูแล้วว่าไปได้ จากนั้นก็ทำเรื่องนโยบายต่างๆ ภายใต้กรอบใหญ่คือทำกองทัพให้ทันสมัย

“สุทิน-รมว.กลาโหม” กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องแรกๆ  คือนโยบาย "ลดกำลังพล" ให้มีความพอเหมาะ ให้ทันสมัยทางทหาร และนโยบายเร่งด่วนที่หาเสียงไว้และทุกคนจ้องมองกันก็คือเรื่อง "ทหารเกณฑ์-หยุดเกณฑ์ทหาร" และเรื่องการทำให้ทหารใกล้ชิดกับประชาชน เช่นนำทรัพยากรของกองทัพที่ไม่ได้ใช้ เช่นที่ดิน นำมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ และการพัฒนากองทัพไปสู่กองทัพไซเบอร์ ซึ่งแต่ละเรื่องก็คืบหน้าไปโดยลำดับ

...อย่างเรื่องปรับลดกำลังพล ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลทันที แต่ก็มีแผนงาน โรดแมป เงื่อนเวลาไว้แล้วที่เรามองเห็นได้ อย่างในกองทัพที่มีตำแหน่งนายพลเยอะ แผนเดิมที่กองทัพทำไว้คือจะมีการลดลงทุกปี พอถึงปี พ.ศ. 2570 นายพลทั้งสี่เหล่าทัพซึ่งอยู่นอกตำแหน่งหลัก ก็จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง และจากปี พ.ศ. 2570 ถึงปี พ.ศ. 2580 จะไม่มีแล้วสำหรับนายพลนอกตำแหน่งหลัก จะมีเฉพาะตำแหน่งหลักๆ แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะมีโครงการเออร์ลีรีไทร์ แบบได้ตำแหน่งด้วย ได้ยศด้วยและได้เงินด้วย ก็จะทำให้ลดลงเร็ว และเชื่อว่าในช่วง 4 ปีที่ผมอยู่ เราจะได้เห็นนายพลในกองทัพลดลง

นอกจากนี้ ในระดับโครงสร้างต่างๆ ก็มีทั้งยุบหน่วย ควบรวม ปิดตำแหน่ง เช่นหน่วยไหนที่ไม่จำเป็น ไม่สอดคล้องกับภารกิจและยุคสมัยก็จะมีการยุบ ส่วนควบรวมก็คือ ภารกิจใกล้เคียงกัน ก็ให้รวมมาทำด้วยกัน ส่วนปิดตำแหน่ง ก็คือ บางหน่วยหากตำแหน่งมีคนเกษียณไป ก็ไม่ต้องมีการตั้งตำแหน่งนั้นเข้ามา

"รมว.กลาโหม" กล่าวต่อไปว่า ส่วนทหารเกณฑ์เราก็ใช้วิธีการ หยุดเกณฑ์ทหารตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปออกหมายเรียกเกณฑ์ทหาร ก็ใช้วิธีให้คนสมัครใจ หากสมัครใจจนครบก็ไม่ต้องเกณฑ์ แต่หากสมัครใจแล้วยังไม่ครบ ขาดเท่าไหร่ก็ให้มีการเกณฑ์ ตอนนี้ก็เดินหน้าไปแล้ว มีแรงจูงใจ ออกมาหลายเรื่อง ก็มีการจะสมัครทางออนไลน์เยอะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว ปีนี้ก็คึกคักสมัครกันเยอะ ก็เห็นเป็นรูปธรรม

ผมก็มั่นใจในความคิดของผมเองว่าในปี พ.ศ. 2570 จะไม่มีการเกณฑ์ จะเป็นการสมัครใจล้วนๆ อาจจะได้เห็นคนวิ่งเต้นเป็นทหารเกณฑ์ เพราะว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ เช่น เงินเดือนก็ได้เต็ม ไม่มีการหัก และข้อสำคัญมาเป็นทหารก็เรียนหนังสือได้ด้วย ก็มีการสร้างแรงจูงใจเยอะ ถือเป็นโอกาสของเด็กบ้านนอก

ขณะที่กองทัพก็จะอัปขึ้นมาเป็นกองทัพไซเบอร์ เป็นกองทัพที่ทันสมัย บริหารโดยระบบดิจิทัล การทำศึกสงครามอะไรจะมีเครื่องมือที่ทันสมัย

อาวุธกองทัพ ถ้าหมดอายุก็ต้องซื้อมาทดแทน

-บทบาทก่อนหน้านี้ทางการเมือง ถือเป็นนักการเมืองตัวตึงในการชำแหละกองทัพ แต่พอเข้ามาเป็น รมว.กลาโหม เห็นสิ่งที่คาดไม่ถึงหรือไม่ ที่มันผิดเหลี่ยมผิดมุม?

ก็มีเยอะ ผมถึงเคยบอกว่าพอเข้ามาหนึ่งเดือน พูดคำเดียวกับนายกฯ คือกองทัพยังประชาสัมพันธ์น้อยเพื่อให้คนเข้าใจในสาระ เรื่องดีๆ มีเยอะแต่ไม่ได้พูด ก็ทำให้คนเข้าใจผิด         

อย่างผมเคยวิจารณ์เขาเรื่องซื้ออาวุธ ที่พูดยังไงก็โดน  เช่นไม่มีสงคราม แล้วบ้านเมืองเป็นแบบนี้ เอาเงินที่จะซื้ออาวุธมาซื้อข้าวกิน แล้วกองทัพก็นิ่งเป็นเป้า แต่พอผมเข้ามาจริงๆ มีคำอธิบายตั้งเยอะแยะ แต่เขาไม่พูด โดยธรรมชาติทหารเขาจะไม่ชอบพูด ก็เสียดาย หลังเห็นความจริงหลายอย่าง

"อย่างเช่นจะซื้ออาวุธ บางครั้งมันหมดอายุก็ต้องซื้อมาแทน เช่นในปี พ.ศ. 2570 เรื่องเครื่อง F-16 ทั้งฝูง หมดอายุ ปลดประจำการ ต้องถามสังคมจะให้ซื้อไหม ถ้าไม่ซื้อกองทัพก็ไม่มีเขี้ยวเล็บ ถ้าไม่มีเขี้ยวเล็บ เขาเรียกว่ากำลังรบเปรียบเทียบ มันก็จะทำให้ขาดอำนาจต่อรอง ซึ่งอันนี้กองทัพก็ต้องพูดกับชาวบ้าน เช่นเรื่องศึกสงคราม แม้ไม่มีวันนี้ แต่ใครจะบอกได้ว่าจะไม่มีในวันหน้า แม้ไม่มีสงครามแต่ก็ต้องเตรียมพร้อม"

...การเตรียมพร้อมดังกล่าวมีอะไรบ้าง ก็ต้องดูเรื่องยุทโธปกรณ์ ต้องเปรียบเทียบกำลังรบกับคู่แข่ง ไม่ใช่ว่านึกจะพอใจซื้อเท่านี้ก็ซื้อ ก็ไม่ใช่ ก็เมื่อหากคู่แข่งที่อาจจะเป็นภัยคุมคามเรา เขาพัฒนาไปมีเครื่องบินทันสมัย มีอะไรทันสมัยหมด แล้วจะซื้อเท่านี้ก็ไม่ได้ การจัดงบประมาณกองทัพจึงต้องดูคู่แข่ง ดูสถานการณ์โลกด้วย

อันนี้ต้องอธิบายให้ประชาชนฟัง เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ก็มีอายุการใช้งาน พอหมดอายุแล้วจะเอาอย่างไร อย่างของกองทัพอากาศ งบประมาณรอบปีนี้เป็นเรื่องการซ่อมบำรุงมากกว่า

 อย่างเครื่องบินลำเลียง C-130 ที่เป็นพระเอกกองทัพไทย เกิดปัญหาอะไรมาก็ C-130 แต่สำรวจแล้วจากที่มี 13 ลำ แต่ที่จะใช้ได้จริงๆ อย่างตอนที่จะให้ไปขนคนไทยกลับมาจากอิสราเอล สำรวจแล้วใช้ได้ 4-5 ลำ เพราะหมดอายุ ถามว่าแล้วทำไมไม่ซ่อม ก็หมดอายุซ่อมแล้ว ซ่อมไปแล้วหนึ่งรอบ ซ่อมครั้งหนึ่งใช้ได้อีกสิบปี อันนี้อายุการใช้งานจริงก็หมดแล้ว อายุซ่อมก็หมดแล้ว ก็ต้องซื้อ

แบบนี้กองทัพก็ต้องพูดให้สังคมเข้าใจ แต่เขาก็มีเหตุผล คือบางเรื่องมันพูดไม่ได้ เป็นเรื่องความลับทางทหาร เรื่องความมั่นคงจะให้ไปยืนพูดกลางสภาฯ ว่า เครื่องลำนั้นตอนนี้หมดอายุ ลำนี้หมดอายุปีหน้า ส่วนฝูงนั้นจะหมดอายุปีถัดไป  รถถังวันนี้หมดสภาพแล้ว อาวุธวันนี้เหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่้ต้องสำรอง มันพูดไม่ได้ เผยไต๋คู่ต่อสู้ เขาก็ยิ้ม

-ในส่วนของกองทัพบก ต้องเติมเขี้ยวเล็บอีกไหม?

กองทัพบกก็เยอะอยู่ อย่างรถถังก็รุ่นเวียดนาม สหรัฐฯ ไปรบเวียดนาม รบเสร็จเขากลับ ก็เอาไว้ให้ใช้ เยอะนะรุ่นนั้น  ยังประจำการอยู่ เราก็เสียดายอยู่ เงินจะซื้ออาวุธ

-มีการให้นโยบายอะไรหรือไม่ว่า การซื้ออาวุธต้องรักษาสมดุลกับมหาอำนาจด้วย?

ก็ยังจำเป็นอยู่ ยังเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ต้องคิดทั้งหมด เพราะต้องดูสมรรถนะ เรื่องราคา ดูคู่แข่งเขามีอะไร แล้วเราควรมีอะไร แล้วก็ดุลอำนาจทางการเมือง เช่นหากเราจะไปซื้อจากค่ายนั้น แล้วอีกค่ายหนึ่งมามีปัญหา ไปบีบเราเรื่องนั้น ไปบีบเราเรื่องนี้ เราทำให้มันสมดุลได้ก็ดี

บทสรุปเรือดำน้ำจีน รอคำตอบ คณะกรรมการหาทางออก

-บทสรุปเรือดำน้ำ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพราะเหตุใด และความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เสนอมายังกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นไว้อย่างไร?

เท่าที่ดูโดยภาพรวม อัยการก็บอกว่าหากจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (สัญญา) หากเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ จะต้องนำเข้า ครม.ทั้งหมด กองทัพเรือไปตัดสินใจเองก็ไม่ได้ รัฐมนตรีก็ไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของ ครม.

ซึ่งดูแล้ววันนี้มันมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง อย่างเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เราซื้อเรือดำน้ำ ที่มีเครื่องยนต์เป็นของเยอรมนี ซึ่งหากได้ตามนี้ ก็จบไปนานแล้ว แต่พอไม่ได้ตามนี้ทางผู้ขายก็บอกว่า ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ของจีน ก็คือเปลี่ยนแล้ว ก็เป็นสาระสำคัญ ถ้าจะเอาเครื่องยนต์จีนตามที่เขาเสนออยู่วันนี้ก็ต้องนำเข้า ครม. แม้กระทั่งการขยายสัญญาซึ่งที่จริงสัญญาหมดแล้ว หากจะขยายสัญญา แล้วไปกระทบสาระสำคัญก็ต้องนำเข้า ครม. หรือถ้าจะข้ามไปเป็นซื้ออย่างอื่นเลย ไม่เอาแล้วเรือดำน้ำ จะเอา "เรือฟริเกต" อย่างที่ผมเคยพูด ก็ต้องให้เป็นมติ ครม.

เมื่อเป็นแบบนี้แล้วผมเองซึ่งต้องเป็นคนนำเข้า ครม. เพื่อความรอบคอบให้ได้ดีที่สุด ก็จะให้มีคณะกรรมการมาช่วยคิด ดีกว่าที่ผมจะคิดคนเดียว เรียกกว่า "กรรมการศึกษาหาทางเลือกที่ดีที่สุดเรื่องเรือดำน้ำ" ที่กรรมการต้องให้คำตอบมาว่าจะเอาอย่างไรในเรื่องนี้ ตอนนี้ก็ตั้งกรรมการ มีพลเอกสมศักดิ์ ที่ปรึกษา รมว.กลาโหมเป็นประธาน โดยให้เวลาหนึ่งเดือน เขาก็ต้องไปคิดมาว่าจะเอาแบบที่จีนเสนอมาหรือไม่ ที่เขาเสนอมาว่าให้ใช้เครื่องยนต์ของเขา (จีน) แทนเครื่องยนต์เยอรมนี ซึ่งหากเราเอาแบบนี้ก็อาจสรุปไปว่าเอาเครื่องยนต์จีนไปเลยก็ได้ โดยอาจจะมีเงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่เขา หรือผลการศึกษาอาจสรุปว่าไม่เอาเครื่องยนต์จีน ยังเป็นเรือดำน้ำอยู่แต่เครื่องยนต์ขอเป็นของประเทศอื่น แต่ขอคุยเรื่องเงินที่เราเคยจ่ายไปแล้ว เขาก็อาจสรุปแบบนี้ก็ได้ หรืออาจสรุปว่าเรื่องเรือดำน้ำให้พักไว้ก่อน เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต

 ส่วนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ MTU 396 ของเยอรมนีปิดประตูแล้ว เพราะเขาให้คำตอบว่าเขาไม่สามารถส่งมอบได้ อันนี้ก็เป็นสมมุติฐานของคณะกรรมการ ที่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะคิดแบบเราหรือไม่ หรืออาจจะมีสูตรอื่นเช่น เมื่อจีนทำเรือไปแล้ว ก็นำบอดี้ของจีน แล้วไปซื้อเครื่องยนต์เยอรมนีมา จีนซื้อเองไม่ได้ ไทยซื้อเอง แล้วเงินก็หักคืนมาให้ อาจจะเป็นทางนี้ก็ได้ แต่แนวนี้ก็จะมีปัญหาอยู่เหมือนกัน คือหากเรือมีปัญหามา ใครจะซ่อมสร้าง เพราะไม่มีเจ้าภาพ 

-สรุปว่าสัญญากับจีน ยังไงก็จะไม่มีการยกเลิกหรืออาจจะยกเลิกก็ได้?

ไม่แน่ กรรมการอาจมีมติขอให้ยกเลิกก็ได้ ซึ่งเขาก็ต้องมีคำตอบว่ายกเลิกแล้ว ได้เงินคืน ยกเลิกแล้วไม่มีผลกระทบ จีน เข้าใจเราว่ามีเหตุจำเป็น ไม่เสียมิตรประเทศ เขาก็อาจเสนอยกเลิกก็ได้

-กล้าพูดเหมือนที่บางกลุ่มพูดหรือไม่ว่าเราเสียค่าโง่?

เราเสียค่าโง่หรือไม่ เรายังไม่เสียค่าโง่ แต่เราโชคไม่ดี  ปัญหาวันนี้เกิดจากจีนเขาเซ็นสัญญา เขาตกลงกับเราแล้ว  แต่เขาหาเครื่องยนต์ให้ไม่ได้ แล้ววันนี้เราก็ยังไม่พบว่าเราเสียหาย เพราะเงินที่จ่ายไปแล้วยังไม่ได้ถูกริบหรือสูญเปล่า  ที่เสียหายก็เพียงว่าเสียหายเรื่องเวลา คือเวลาที่เราควรได้เรือแล้วแต่ยังไม่ได้ แต่ต่อไปนี้ผลสรุปของกรรมการอาจเป็นไปได้ว่าเสียค่าโง่หรือได้กำไร อยู่ที่ผลสรุปข้างหน้า สรุปถูกอาจได้กำไร สรุปผิดอาจเสียค่าโง่ แต่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าเสีย แต่เสียโอกาส เสียเวลา

-มีข่าวปากีสถานก็ซื้อเรือดำน้ำจากจีน เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะดูการใช้งานของปากีสถานก่อน?

ก็มีผู้หวังดีเสนอแนวทางนี้ เพราะการจัดซื้อเรือดำน้ำหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็จะมีสเปก มีเรื่องของมาตรฐาน มีการใช้งานจากที่อื่นมาก่อน เช่นยุทโธปกรณ์อันนี้ของประเทศนี้ เคยมีการใช้งานที่ไหนมาก่อน เคยประจำการที่ไหนมาแล้วบ้าง  ผลการใช้งานเป็นอย่างไร ดังนั้นกรณีของจีน ที่เขาจะให้เอาเครื่องยนต์จีนใช้แทนเครื่องยนต์เยอรมัน มันเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน ถ้าใครไปซื้อ เราไปซื้อ คนอาจไม่ยอมรับ ก็มีคนเสนอว่าทำไมไม่เอาแบบนี้ ก็คือก็ใช้เครื่องยนต์ของจีน แต่ไม่เอาทันที ก็มีเงื่อนไขกับจีนว่า ก็ให้นำเครื่องไปให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้ ซึ่งประเทศนั้นที่ว่าก็มีประเทศหนึ่งที่มีการซื้อไปใช้อยู่ ก็มีปากีสถาน

 หากผ่านไปสัก 3 ปี ปากีสถานใช้ได้ดี ก็รับ หากใช้ไม่ได้ดี ก็ไม่ต้องรับ และยังมีข้อเสนออีกว่าระหว่าง 3 ปีดังกล่าว ก็ให้มีการฝึกคนของเรา โดยให้ส่งเครื่องยนต์ เรือดำน้ำมือสองมาให้ หรืออาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งแบบที่ปากีสถานใช้  คือเราก็ใช้ด้วย ปากีสถานก็ใช้ด้วย แต่เป็นการใช้แบบช่วงทดลอง ซึ่งขั้นตอนอาจยุ่งยาก แต่ก็น่าจะทำให้ผ่าทางตันได้

สาเหตุ-เงื่อนไข ทำไมสหรัช่วยกู้ซากเรือหลวงสุโขทัย

-เรื่องการกู้ซากเรือหลวงสุโขทัย ที่หน่วยซีลของสหรัฐฯ ที่จะมาฝึกคอบร้าโกลด์ แล้วจะลงไปดูที่เรือหลวงสุโขทัยด้วย เป็นอย่างไร?

ก็จะลงไปดูแล้วก็จะช่วยกู้ด้วย ตอนแรกคงจะลงไปดู ไปศึกษา ไปเก็บข้อมูลให้ เก็บข้อมูลทางคดีก็เก็บให้ เป็นการกู้เบา คือไม่ได้ยกมาทั้งลำพร้อมกัน อาจจะเอาส่วนที่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่หากพบศพก็จะนำขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วท้ายที่สุดถึงเอาโครงสร้างเหล็กขึ้นมา

คือมันเป็นผลมาจากข้อตกลง เพราะตอนซื้อเรือหลวงสุโขทัยกับสหรัฐฯ มีข้อตกลงว่าตลอดระยะเวลาการใช้งาน  ไทยจะต้องไม่ให้ประเทศที่สามหรือประเทศอื่นเข้าถึงเทคโนโลยีของเขา ไปดูไปสอดส่องเทคโนโลยีของเขา เมื่อเรือจม แล้วเขารู้ว่าเรากำลังจะกู้เรือ มีการตั้งงบจะกู้เรือ จะหาคนมากู้เรือ เขาก็เกรงว่าหากได้คนกู้ที่มาจากประเทศอื่น  พูดตรงๆ เลยคือเขาอาจระแวงเป็นจีน เขาก็มาเลย เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกก็มาไทย มาพูดเรื่องนี้บอกว่าไม่ได้ เพราะข้อตกลงที่ขายเรือให้ไทยคือห้ามประเทศอื่นเข้ามา แม้เรือจะจมแล้วก็ตาม แต่จะเอาใครมากู้ก็ไม่ให้ เขาก็กู้ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เขาก็รับประกันว่าจะรักษารูปคดี เขาบอกด้วยซ้ำไปว่าหากจะกู้แบบที่เราคิดกำลังจะกู้ เสี่ยงที่จะเสียรูปคดี หากยกขึ้นมาทั้งลำจะเสียหาย จะหักกลาง

ถ้ามีเหตุผล-กองทัพพร้อมถ่ายโอนธุรกิจออกไป

-กรณีสภาฯ ตอนนี้มีการตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ มองอย่างไร?

ก็เป็นเรื่องที่ดี คือคนชอบไปมองว่ากองทัพคือแดนสนธยา คนอื่นเข้าไม่ได้ ทำอะไรกันอยู่ในกองทัพ ผมว่าหากเข้ามาศึกษาจริง ก็โอเค หากไม่มีการศึกษากันเสียที กองทัพ ก็จะถูกกล่าวหาอยู่แบบนี้ ก็เป็นโอกาสของกองทัพ คือพอมีการตั้งมาศึกษากันแล้ว คุณอาจจะขอบคุณกองทัพก็ได้ เป็นโอกาสที่กองทัพจะทำให้คนเข้าใจ มาแล้วอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด อาจจะเป็นความรู้สึก แต่พอเข้ามาดูแล้วอาจจะไม่ใช่ ผมก็บอกกับกองทัพว่าอย่าได้ตกใจ ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่

ที่สำคัญ หากศึกษาแล้วมีความจำเป็นต้องเอาคืนรัฐ  กองทัพต้องเลิกทำ เช่นโรงไฟฟ้าสัตหีบของกองทัพเรือ หากศึกษาแล้วมีข้อสรุปให้เลิกทำ เอาไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขาทำ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็เกิดขึ้นได้  หากผลการศึกษาต่างๆ ออกมาแล้ว บอกว่าทำแล้วจะเป็นประโยชน์จริง ผมว่าวันนี้กองทัพก็พร้อม

 เพราะตอนนี้ผู้นำเหล่าทัพหัวสมัยใหม่ก็เยอะ มีคนรุ่นใหม่ เขาก็อยากให้กองทัพมีความทันสมัยขึ้นมา คือพอไปศึกษามาแล้วพบว่าขาดทุนมาตั้งนานแล้ว มาเอาไปซักทีเถอะ  อย่างสนามกอล์ฟที่มีการอภิปรายกัน ผมดูข้อมูลแล้วก็ขาดทุนเยอะ

ศึกษาแล้วจบยังไง กองทัพรับได้ แต่อยากให้ศึกษาด้วยเหตุและผล อย่าเอาอารมณ์ความรู้สึก คือมันอาจมีความรู้สึกปนอยู่ เช่นบอกแดนสนธยา ร่ำรวย ชีวิตหรูอยู่ดีเกินไป อย่างนี้คือความรู้สึก ถ้าเอาความรู้สึกมาศึกษามันอาจไม่เป็นธรรม ก็เอาเหตุเอาผลมาว่ากัน ถ้าทุกคนใช้เหตุใช้ผลกัน จบยังไง ผมว่ากองทัพรับได้.

.......................

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

ส่องงบ 68 'กลาโหม' ปรับลดบุคลากร-ตัดกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ จัดซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ได้ผ่านความเห็นชอบ รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งงบแบบขาดดุล เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567

งบ68 ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง  ‘เรือดำน้ำ-ฟริเกต’ ไปถึงไหน?

คงต้องติดตามดูต่อไปว่า “สุทิน” จะได้รับการอนุมัติให้นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมต่อเพื่อผลักดันโครงการ และปัญหาที่ยังไม่ลุล่วงเหล่านี้หรือไม่

งบ68ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง “เรือดำน้ำ-ฟริเกต”ไปถึงไหน?

ฟันธงกันว่าปิดจ๊อบปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 2” ที่โรงแรมหรูกลางกรุงไปแล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะคุยรอบสุดท้ายโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ว่ากันว่า โผนี้ชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ กับ สุทิน คลังแสง ยังเหนียว

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา