บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต บวกกับชาวพุทธในอินเดียที่มาร่วมสมทบมากกว่า ๕๐ คน ผสมผสานกับเจ้าภาพที่ถวายการต้อนรับในแต่ละสถานที่ ยากที่จะป้องกัน ไม่ว่าจะเป็น มหาโพธิสมาคม พุทธคยา.. มหาโพธิมหาวิหาร มหาวิหารปรินิพพาน มูลคันธกุฎีที่สารนาถ พาราณสี.. ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของหมู่ชน ซึ่งล้วนเป็นพาหะของไวรัสชั้นดี..

การระมัดระวังด้วยการพยายามหลีกออกจากกลุ่มให้มากที่สุด.. ก็พอจะบรรเทาได้บ้าง แต่ก็ยากยิ่ง เมื่อต้องนั่งรถบัสไปด้วยกันกับบรรดาผู้ที่เพิ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙.. หนทางเดียวที่ทำได้ คือ การรักษาภูมิต้านทานตนเองให้แข็งแรงที่สุด.. ด้วยการเสริมแนวรับด้วยยาสมุนไพรประเภทฟ้าทลายโจรตามภูมิปัญญาท้องถิ่น วิตามินซี และการขบฉันอาหารประเภทพืชผัก หลีกเลี่ยงของทอดของมันทั้งหลายให้มากที่สุด

เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย.. เริ่มรู้สึกตัวว่า น่าจะมีไข้กลุ้มรุม จึงเดินทางต่อเนื่องจากสุวรรณภูมิขึ้นเชียงใหม่ เพื่อเข้าสู่ที่ตั้งให้เร็วที่สุด.. จะได้ชำระล้างร่างกาย ปรับสภาพภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง ด้วยการอบความร้อน พักผ่อนและผ่อนคลายร่างกาย.. อันเนื่องมาจากการตรากตรำเดินทางอย่างต่อเนื่อง ที่ผสมผสานกับการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น

ดังในช่วงระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่เข้าพัก ณ มหาโพธิสมาคม พุทธคยา เพื่อการสักการะสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระศรีมหาโพธิ์ มหาโพธิวิหาร พุทธคยา ที่ได้นำคณะสงฆ์และศรัทธาญาติโยมทั้งไทยและอินเดีย ร่วมเจริญพระพุทธมนต์.. ฟังธรรม อบรมจิตภาวนา ด้วยการปฏิบัติบูชาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ใช้เวลาร่วมเป็นชั่วโมง จนเข้าสู่เขตเวลาใกล้จะปิดพระศรีมหาโพธิ์ จึงได้เดินทางกลับมหาโพธิสมาคม (วัดศรีลังกา) ที่จะต้องนั่งทรงกายตลอดคืน ด้วยไม่มั่นใจในอาคารที่พักที่มีชายคาร่วมกันกับฆราวาส ที่น่าจะมีทั้งชาย-หญิง.. อันไม่ถูกตามพระธรรมวินัยหากต้องนอนพักในที่กำมุงกำบังเดียวกัน แม้จะแยกห้องกัน...

หนทางเดียวเพื่อความสบายใจในการรักษาศีลของพระภิกษุตามที่ทรงมีสิกขาบทบัญญัติไว้ในปาจิตตีย์/มุสาวาทวัคโค คือ การทรงกายในอิริยาบถนั่งตลอดคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการสำเร็จการนอนร่วมกับอนุสัมปัน โดยเฉพาะ การสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม แม้เพียงราตรีเดียวก็เป็นโทษ ปรับอาบัติ เป็นปาจิตตีย์ (มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๖)

ในพระวินัย มีพระบัญญัติชัดเจนเรื่องที่นอนของพระภิกษุว่า ห้ามนอนที่มุงที่บังเดียวกันกับผู้หญิง (มาตุคาม) คือ แม้ว่านอนคนละห้องกัน แต่ร่วมชายคาเดียวกัน ก็เป็นอาบัติ และห้ามภิกษุนอนร่วมกับอนุสัมปัน คือ ตั้งแต่สามเณรไปถึงคฤหัสถ์ ในชายคาเดียวกัน เกิน ๓ คืน

สำหรับความหมายของ มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานตัวเมีย โดยที่สุด แม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้นก็ไม่ได้ จึงไม่ต้องกล่าวถึง สัตว์ผู้ใหญ่

บทว่า ร่วม คือ ด้วยกัน ที่ชื่อว่า การนอน ได้แก่ ภูมิสภาพเป็นที่นอน อันเขามุงทั้งหมด บังทั้งหมด มุงโดยมาก บังโดยมาก

คำว่า สำเร็จการนอน คือ เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว มาตุคาม (ผู้หญิง) นอนแล้ว.. ภิกษุนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุนอนแล้ว มาตุคามนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

สิกขาบทนี้ มีความสำคัญมากต่อพระภิกษุที่จาริกไปในสถานที่ต่างๆ .. เมื่อจำต้องแวะพักค้างคืนในระหว่างทางกว่าจะเข้าสู่เขตวัดวาอาราม เป็นสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุลืมสติ ไปกระทำการอย่างอื่นที่ไม่เหมาะควร อันเนื่องจากการนอนร่วมกับ มาตุคาม.. หรืออนุสัมปัน เพื่อป้องกันชื่อเสียงของภิกษุมิให้ถูกตำหนิติเตียนว่าร้ายจากชาวบ้านว่า ภิกษุนอนร่วมกับผู้หญิง..

โดยมีข้อยกเว้นในสิกขาบทนี้ ที่เรียกว่า อนาปัตติวาร คือ ไม่ต้องอาบัติ ได้แก่

๑.ที่นอนเป็นที่มุงทั้งหมด แต่ไม่บังทั้งหมด

๒.ที่นอนเป็นที่บังทั้งหมด แต่ไม่มุงทั้งหมด

๓.ที่นอนเป็นที่ไม่มุงโดยมาก ไม่บังโดยมาก

๔.มาตุคามนอน ภิกษุนั่ง

๕.ภิกษุนอน มาตุคามนั่ง

๖.นั่งทั้งสองฝ่าย

๗.ภิกษุผู้วิกลจริต

๘.ภิกษุเป็นต้นบัญญัติ (ภิกษุอาทิกัมมิกะ) ดังเช่น พระอนุรุทธเถระ

การอาศัย เนสัชชิกธุดงค์ ด้วยการนั่ง ยืน เดิน ไม่เอนกายนอนในค่ำคืนนั้น จนรุ่งอรุณ จึงปลอดภัยที่สุดต่อการเข้าพักในอาคารสถานที่ซึ่งปะปนกับฆราวาสที่มีทั้งหญิงและชาย.. ดังในคืนแรกที่เข้าพัก ณ มหาโพธิสมาคม พุทธคยา แม้จะจัดห้อง จัดเตียงตั่ง ไว้อย่างถูกต้อง แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนสูงใหญ่ โดยการพลิกที่นอนออกไปจากเตียง คงเหลือแต่การปูผ้ารองนอนบนเตียงไม้ อันถือปฏิบัติมาเป็นปกติโดยตลอด.. แต่ก็ยากจะเอนกายทอดตัวนอนลงไปได้ เมื่อคำนึงถึงสถานที่กำมุงกำบังเดียวกับมาตุคาม (ผู้หญิง).. แม้ว่าห้องหับมีกำบังถูกต้อง แต่ภายใต้กำมุงเดียวกัน ก็ย่อมไม่ถูกต้องตามพระวินัยหากนอนทอดกายลงไป จึงต้องอาศัยการนั่งบนเก้าอี้โซฟาไปตลอดคืน เพื่อรอออกจากชายคาที่พักก่อนรุ่งอรุณ ไปทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนาที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งครั้งนี้ได้เลือกด้านทิศใต้เป็นที่สวดมนต์ภาวนา โดยเริ่มตั้งแต่ตีห้าไปจนถึงประมาณแปดโมงเช้า.. ก่อนจะออกจากภาวนาลุกเดินออกไปที่พระมหาวิหารตรัสรู้ (มหาโพธิมหาวิหาร) สถานที่ตั้งพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพุทธนิยมเรียกขานบูชาว่า พระพุทธเมตตา เพื่อถวายการสักการะ.. ซึ่งตรงกับเวลาประมาณแปดโมงเช้าพอดี..

การได้เข้าไปกราบบูชา พระพุทธเมตตา ณ ตำแหน่งการประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธองค์ นับเป็นยอดปรารถนาของชาวพุทธทุกคน จึงเป็นธรรมดาที่ต้องเบียดเสียดกันบ้าง.. เมื่อได้โอกาสเข้าไปยืนอยู่เบื้องหน้าในมหาวิหาร จึงได้นำชาวพุทธอินเดียและไทยนั่งลง เพื่อจะได้ถวายสักการะตามความเหมาะควร พร้อมนำสวดบูชาพระพุทธคุณ พระธัมมคุณ พระสังฆคุณ.. กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย ที่สุดด้วยการสวด ปฐมพุทธภาสิต ของพระพุทธองค์.. ก่อนออกมาบิณฑบาต ด้านหน้าพระมหาวิหารไปบนเส้นทางเดินขึ้นบันได เพื่อออกไปมหาโพธิสมาคม.. โดยมีชาวพุทธทั้งไทยและอินเดียมารอใส่บาตรกันเนืองแน่น จึงเป็นภาพที่ดูดี สวยงามยิ่ง

การประกอบศาสนกิจทั้งในยามเย็น ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ และยามเช้า ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ณ ควงพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา อินเดีย จึงสมบูรณ์ยิ่ง และเต็มไปด้วยผู้คนที่มาพรั่งพร้อมเพื่อประกอบศาสนกิจร่วมกันทั้งไทย-อินเดีย... จึงไม่แปลกที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดไวรัสในหมู่ชนที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

สี่ปีที่ห่างหายไปจากเวฬุวันมหาวิหาร ด้วยภาวะแพร่ระบาดไวรัสโควิด-๑๙ จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก.. ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการกลับคืนมาครั้งแรก ซึ่งไม่แปลกเมื่อได้เห็นสภาพลานพระอุโบสถโอวาทปาติโมกข์ทรุดโทรมไปมาก..​ จึงได้ซ่อมแซม ทาสี.. พัฒนา ทำความสะอาดพื้นที่พระอุโบสถพระโอวาทปาติโมกข์ ให้ดูดี สวยงามเหมือนเดิม ด้วยกำลังของพระสงฆ์และญาติโยม โดยเฉพาะ ฉัตราธรรม ที่ยกขึ้นเหนือพระพุทธอาสน์โอวาทปาติโมกข์ อันควรแก่การได้รับการซ่อมแซม ทาสีใหม่ในครั้งนี้

จึงได้โอกาสขึ้นไปพ่นฉาบสีทองใหม่ทั้งฉัตร และตบแต่งทาสีพระพุทธบัลลังก์ เพื่อให้สอดรับกับ ฉัตราธรรม ที่คืนกลับมาสวยงามอีกครั้ง อย่างน่ายินดี จะได้ทันเวลาเฉลิมฉลองวันมาฆบูชาโลกปีที่ ๑๕ ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ที่ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

ยามเย็นของวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จึงได้กลิ่นสีที่พ่นตลบอบอวลไปทั้ง ลานพระอุโบสถโอวาทปาติโมกข์ ในเวฬุวันมหาวิหาร ก่อนที่จะเดินทางขึ้นไปพักบนภูเขารัตนคีรี เพื่อจะได้ลงมาภาวนายามค่ำคืน ณ ภูเขาคิชฌกูฏ อันเป็นสถานที่ เสวยพุทธาภิรมย์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยได้เลือกช่องโพรงหินที่ยาวเข้าไปในภูเขาคิชฌกูฏ บริเวณด้านล่างพระคันธกุฎี เป็นที่พักภาวนาตลอดคืน เพื่อถวายการปฏิบัติบูชาอันยิ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนที่จะขึ้นไปทำวัตร เจริญภาวนา.. แสดงธรรมรับอรุณของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ที่ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ อันเป็นวันมาฆบูชา..ของพุทธศาสนา....

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)