ธีรยุทธ ผู้ร้องคดีต่อ กกต. ศาล รธน.ไต่สวน-จบเร็ว นับถอยหลังยุบ'ก้าวไกล'

...เชื่อว่าคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลที่ กกต.จะยื่นเรื่องไป คงไม่มีการนับหนึ่งใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญคงเริ่มต้นการพิจารณาคำร้องของ กกต.แล้วสามารถที่จะสั่งงดการไต่สวน หรืองดการเรียกพยานหลักฐานจากจุดอื่น แล้วสามารถที่จะวินิจฉัยคดีได้เลย

จากมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบ "พรรคก้าวไกล" เนื่องจากมีหลักฐานเชื่อได้ว่ากระทำการล้มล้างการปกครอง ทำให้หลังจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า กระบวนการสู้คดีของพรรคก้าวไกล ที่มีเดิมพันสูงทางการเมืองจะดำเนินต่อไปอย่างไร และศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลหรือไม่?

ทั้งนี้ มติ กกต.ดังกล่าวอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดี "ล้มล้างการปกครอง" ที่เป็นคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งศาล รธน.วินิจฉัยหลัง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร เป็นผู้ร้องต่อศาล รธน.

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว "ธีรยุทธ" ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบพรรคก้าวไกลว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง ก่อนหน้าที่จะไปยื่นต่ออัยการสูงสุดและศาลรธน.ด้วยซ้ำไป แต่ตอนนั้น กกต.ไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ทำให้นายธีรยุทธเลยไปยื่นต่อศาล รธน. จนเกิดเป็นคดีล้มล้างการปกครองขึ้น และมาวันนี้ กกต.ก็มีมติให้ส่งศาล รธน.ยุบพรรคก้าวไกล จากผลคำวินิจฉัยของศาล รธน. ส่วนว่าหลังจากนี้ เส้นทางคดียุบพรรคก้าวไกลจะเดินต่อไปอย่างไร

"ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกลว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง" ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้้ที่หลายคนลืมไปแล้ว ในช่วงแรกของการสัมภาษณ์เขาเล่าไว้ว่า ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องคดี "ล้มล้างการปกครอง" ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567 ผมก็ได้ยื่นคำร้องและเอกสารข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับที่เคยยื่นต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ กกต.พิจารณาว่ากรณี สส.พรรคก้าวไกลในสมัยที่ผ่านมา ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อสภาฯ ที่มีการยื่นต่อสภาฯ เมื่อสมัยที่ผ่านมา พฤติการณ์ดังกล่าวของ สส.พรรคก้าวไกลเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

...อย่างไรก็ตามหลังผมยื่นเรื่องต่อ กกต.ไป ก็ปรากฏว่าทาง กกต.ปัดตก คือ "ยกคำร้อง" ของผม อย่างไรก็ตาม  ต่อมาพรรคก้าวไกลก็ยังมีความเคลื่อนไหวในเรื่องมาตรา 112 ต่อเนื่อง และโดยเฉพาะเมื่อมีการยุบสภาฯ และต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2566 ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะที่ยิ่งทวีความรุนแรง  กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น โดยมีกระบวนการอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงภายนอกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการนำนโยบายเรื่องจะแก้ไขมาตรา 112 ไปหาเสียงเลือกตั้งขยายความต่อ จนเกิดผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ 

ผมจึงตัดสินใจรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เช่นความเห็นของนักวิชาการเพื่อให้คำร้องมีความสมบูรณ์มากขึ้น จากนั้นผมก็ไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่บัญญัติว่า

"บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้"

โดยประเด็นที่ผมไปยื่นต่ออัยการสูงสุดก็คือ เพื่อขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่า พฤติการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว ต้องรอ 15 วันเพื่อรอว่าพยานหลักฐาน ข้อมูลที่ยื่นไปมีมูลเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหลังจากยื่นไปแล้ว ทางอัยการสูงสุดก็ให้คณะทำงานมีการติดตามหาข้อมูลต่างๆ เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงก่อนมีความเห็น แต่เนื่องจากกระบวนการหาข้อมูลของอัยการต้องใช้เวลาพอสมควร

...จุดนี้ทำให้ผมเล็งเห็นว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ว่า หากยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องการล้มล้างการปกครอง จนพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้คือ 15 วัน ก็ให้สิทธิผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคำร้องในเรื่องการล้มล้างการปกครองได้ ผมจึงใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเกิดเป็นคำร้องคดีล้มล้างการปกครอง ที่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 

"ธีรยุทธ" เปิดเผยว่า หลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นเรื่องต่อ กกต.ไป โดยยื่นไปก่อนที่จะยื่นต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญด้วย ที่พอยื่นเรื่องไปก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวในการที่จะสอบถามใดๆ กับผม ซึ่งผมเข้าใจว่า ทาง กกต.คงค่อนไปในทางที่ไม่เชื่อในคำร้องของผมที่ยื่นไปตอนนั้น ว่าจะเป็นไปในทางที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาหรือไม่ คือค่อนไปในทางที่เงียบเสียมากกว่า ก็ทำให้ตอนแรกผมก็วิตก เพราะว่าสิ่งที่สังคมได้เห็น สิ่งที่ประชาชนชาวไทยได้เห็นทั้งหมด หลายคนก็เชื่อว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวที่กระทบกระเทือนต่อการปกครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ตอนนั้นผมเลยนิ่งเฉยไม่ได้  ก็เลยตัดสินใจทำคำร้องส่งถึงอัยการสูงสุด และตามด้วยศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่กล่าวข้างต้น

คาดคดียุบพรรคก้าวไกลจบเร็ว ไม่จำเป็นต้องนับหนึ่งใหม่ 

"ธีรยุทธ" กล่าววิเคราะห์ถึงเส้นทางการไต่สวนคดียุบพรรคก้าวไกล หลังจาก กกต.ยื่นคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.พรรคการเมืองบัญญัติชัดเจนว่า หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หากมีการกระทำของบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใดที่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการได้ ซึ่งในชั้นนี้ก็ปรากฏพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุดคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครอง ที่ผมเป็นผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล  และตัวพรรคก้าวไกลเอง ได้ร่วมกันกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และเมื่อไปดูรายละเอียดตามคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีไว้อย่างละเอียด ก็พบว่าศาลได้ไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐาน จากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน จากนักวิชาการอิสระ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องทั้งสองคือ นายพิธาและพรรคก้าวไกล เข้าตรวจสอบพยานหลักฐาน และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง (นายพิธา และนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรคก้าวไกลในช่วงเกิดเหตุตามคำร้อง ในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกล)  ได้มาขึ้นให้ถ้อยคำต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

"ธีรยุทธ" กล่าวต่อไปว่า ในวันที่เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมเองในฐานะผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครอง ก็ได้เข้าฟังในห้องพิจารณาคดีด้วย จนศาลได้รวบรวมและสรุปเนื้อหาคำให้การต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองนั้น หลายๆ คำถามและหลายคำตอบที่ตุลาการได้ซักถามและไต่สวน ซึ่งความคิดเห็นของผมเองในฐานะที่ร่วมเข้าฟัง น้ำหนักในการชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหายังเบามากอยู่ ศาลจึงเชื่อจากพยานหลักฐานที่หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ส่งมาที่ศาลรัฐธรรมนูญระหว่างการไต่สวนคดี รวมถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญประกอบกัน จนศาลเชื่อว่าพฤติการณ์ของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเข้าลักษณะอันเป็นการล้มล้างการปกครอง โดยศาลได้วินิจฉัยโดยใช้คำว่า ผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธา-พรรคก้าวไกล) มีเจตนาซ้อนเร้น ที่จะทำลายระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างละเอียด มีการรวบรวมพยานหลักฐานไว้ทั้งหมด ตลอดจนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาไว้แล้ว เมื่อ กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมติเมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลท่านก็เพียงแต่นำคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองที่เคยวินิจฉัยไว้แล้วเข้ามารวมกับคำร้องของ กกต. แล้วก็สามารถวินิจฉัยโดยที่ไม่จำเป็นต้องฟังคำชี้แจงจากพรรคก้าวไกลซ้ำเดิมอีก เพราะคำชี้แจงข้อกล่าวหาในคดียุบพรรคที่ กกต.จะยื่นไป ก็คงไม่ได้หนีห่างจากคำชี้แจงข้อกล่าวหาที่พรรคก้าวไกลยื่นศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองฯ ผมจึงเชื่อว่าคำร้องคดียุบพรรคที่ กกต.จะยื่นไปคงไม่มีการนับหนึ่งใหม่ โดยศาลคงเริ่มต้นการพิจารณาคำร้องของ กกต.แล้วสามารถที่จะสั่งงดการไต่สวน หรืองดการเรียกพยานหลักฐานจากจุดอื่น แล้วสามารถที่จะวินิจฉัยคดีได้เลย

จากการคาดคำนวณการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ หากนำเอาเคสกรณีคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (การเลือกตั้งปี 2562) มาเป็นแบบอย่าง ก็พบว่านับจากวันที่ กกต.มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล ใช้เวลาแค่ 25 วัน ผมก็มองว่าสำหรับคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกล หากจะเกินไปจาก 25 วัน ก็คงไม่เกิน 30 วัน หรืออาจเกินจาก 30 วันไปเล็กน้อย นับจากวันที่ กกต.มีมติเมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

-สาเหตุที่คิดว่าคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลอาจจะนัดอ่านคำวินิจฉัยได้เร็ว เพราะรูปคดีระหว่างคดีล้มล้างการปกครองกับคดียุบพรรคก้าวไกลมีความเกี่ยวข้องกัน เนื้อคดีใกล้เคียงกัน?

คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ศาล รธน.ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานก็เป็นเรื่องล้มล้างเช่นกัน คือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งในคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567 ศาล รธน.ก็ระบุตอนหนึ่งว่า พฤติการณ์-การกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าได้นำนโยบายเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มาเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ชูตอนหาเสียงเลือกตั้ง ก็เข้าลักษณะเป็นการดึงเอาสถาบันมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็มีกฎหมายและข้อบังคับของ กกต.ที่ห้ามมิให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องหรือนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่เขียนไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว ที่แม้อาจจะพูดถึงไม่กี่บรรทัดแต่ผมได้อ่านแล้วพบว่ามีการเขียนไว้อยู่

 ตรงนี้จึงเป็นเหตุให้ กกต.มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 92 ทำให้ผมจึงคาดว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคก้าวไกลคงใช้เวลาไม่นาน

สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ ผมได้ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนเอาผิด สส.ก้าวไกลสมัยที่ผ่านมารวม 44 คนที่ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าอาจมีความผิดตามประมวลจริยธรรมนั้น ล่าสุดเลขาธิการ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ป.ป.ช.เริ่มทำการศึกษาคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีล้มล้างการปกครองแล้ว ซึ่งใจผมคาดการณ์ว่า ป.ป.ช.คงรอฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลของศาล รธน.ก่อน โดยหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาในทางใดทางหนึ่ง ทาง ป.ป.ช.ก็คงนำคำวินิจฉัยดังกล่าวมาเป็นหลักฐานสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการดำเนินการต่อ ซึ่งหาก ป.ป.ช.มีการชี้มูลแล้วส่งไปศาลฎีกา แล้วหากคนที่ถูกร้องไม่รอด เท่าที่คาดการณ์อย่างน้อยก็อาจถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้ง 10 ปี 

ก้าวไกลมีแผนซ่อนเร้น เสนอตั้ง กมธ.ศึกษาอำนาจศาล รธน.

-คิดว่าหลังจากนี้เมื่อศาล รธน.รับคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลไว้วินิจฉัย หากมีการสร้างกระแสพรรคก้าวไกลได้รับเลือกมาด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง จะเป็นการสร้างแรงกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญในช่วงตัดสินคดีหรือไม่?

ผมได้ติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกล สมาชิกพรรคมาเป็นระยะๆ พบว่าพฤติการณ์ของพวกเขาในช่วงนี้ มีเจตนาที่จะทำให้การบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองบังคับใช้ไม่ได้ หรือมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อกระทำการเยี่ยงนี้ มันอาจเข้าข่ายลักษณะอันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล อีกทั้งอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 211  บัญญัติไว้ว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"

จะเห็นได้ว่า รัฐสภาก็อยู่ในมาตราดังกล่าวด้วย และรัฐสภาก็เป็นหนึ่งในองคาพยพการเมืองการปกครองประเทศไทย ซึ่งตัว สส.ของพรรคก้าวไกล แม้ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้ถูกร้องในคดียุบพรรค แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรคก้าวไกล ก็ต้องน้อมรับปฏิบัติตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งไว้แล้วว่าให้หยุดหรือไม่ดำเนินการใดๆ ก็ต้องน้อมรับและปฏิบัติตาม แต่อย่างการที่ สส.พรรคก้าวไกลได้ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติด่วนเพื่อขอให้สภาฯ มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

"ลักษณะเช่นนี้ก็คือ มีเจตนาซ่อนเร้นที่จะใช้ สิทธิเสรีภาพที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ที่แม้จะเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีเจตนาลึกๆ ซ่อนเร้นก็คือ จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และซ่อนเร้นในการที่ต้องการจะก้าวล่วงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ"

...ตรงนี้ก็จะคล้ายกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ในคำวินิจฉัยของศาลในคดีล้มล้างการปกครองว่า เขา (พรรคก้าวไกล) เลือกที่จะเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เพื่อต้องการยกเลิกมาตรา 112 ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ  คือหากดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่ด้วยเจตนาอันซ่อนเร้นที่จะล้มล้างการปกครอง เจตนาซ่อนเร้นที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเหตุให้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เพราะเขาเลือกที่จะใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ ที่ดูเหมือนเป็นการกระทำโดยชอบ แต่ว่ามีการปิดบัง ซ่อนเร้นอำพรางเจตนาที่ไม่ดีอยู่

ตรงนี้ก็คล้ายกับตอนนี้ที่ สส.พรรคก้าวไกลร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการชุดดังกล่าวขึ้นมา  ที่มีเจตนาซ่อนเร้นคือ ไม่ต้องการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่เท่ากับกำลังฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ก็กำลังติดตามพฤติกรรมเขาอยู่ หากเข้าข่ายอันควรก็อาจจะมีความเคลื่อนไหวจากผมตามมา

"ธีรยุทธ” ย้ำว่า การที่ สส.พรรคก้าวไกลจะเสนอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการมาศึกษาขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ไว้กับสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้สภาฯ มาศึกษาเรื่องต่างๆ ตามญัตติที่เสนอไปได้ แต่กรรมาธิการก็มีกรอบการทำงานอยู่คือแค่มาศึกษา แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตรวจสอบหรือมาชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำถูกหรือศาลรัฐธรรมนูญทำไม่ถูก ทำได้แค่ศึกษาเท่านั้น ผลศึกษาเป็นอย่างไรก็ทำรายงานเสนอต่อสภาฯ ทั้งที่การแค่ศึกษาไม่จำเป็นต้องเสียเวลา เสียงบประมาณแผ่นดินมาตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เพราะการศึกษาเพียงแค่นั่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เข้าใจแล้ว ประชาชนอ่านเขายังเข้าใจเลย แต่คุณเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่มีความรู้มากกว่าประชาชนทั่วไป ศาล รธน.ก็วางข้อกฎหมายข้อต่างๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ที่อ่านก็สามารถเข้าใจได้ ไม่จำเป็นต้องไปเสียงบประมาณแผ่นดิน แต่เท่าที่ติดตามข่าวก็พบว่าหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ ทำให้เชื่อว่า สส.ในสภาฯ คงไม่โหวตเห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการชุดดังกล่าว.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา

ศชอ. คัมแบ็ค! ประกาศกลับมาแล้ว พร้อมลุยใช้กฎหมาย ม.112 ปกป้องสถาบัน

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.โพสต์ข้อความว่า "กลับมาแล้ว" หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวใช้กฎหมายในการปกป้อง ช

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)