พฤศจิกายน ศาลรธน. รับคำร้องคดี ทักษิณ-พท. ล้มล้างการปกครองฯ

โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของ ธีรยุทธไว้วินิจฉัยมีค่อนข้างเยอะ โดยหลักการเขตอำนาจของศาลรธน...สำหรับหกประเด็นตามคำร้อง ประเด็นที่คิดว่ามีน้ำหนัก น่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกับนายทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

ความคืบหน้าคำร้องคดีสำคัญทางการเมือง กรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิบไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีการยื่นไปหกประเด็นให้ศาลรธน.วินิจฉัย

และต่อมา เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ศาลรธน.แจ้งอัยการสูงสุด ขอทราบการดำเนินการตามคำร้องดังกล่าว ที่ นายธีรยุทธเคยร้องอัยการสูงสุดไปก่อนหน้าว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว และให้รวบรวมจัดส่งต่อศาลฯ ภายใน15 วัน

พบว่า จากนั้น อัยการจากสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เรียกนายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง และนายทักษิณ ชินวัตร กับตัวแทนพรรคเพื่อไทย ไปให้ถ้อยคำ และมอบพยานหลักฐาน ให้กับคณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด   ที่พบว่านายธีรยุทธได้ไปให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 30 ต.ค. และต่อมา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ก็ได้ไปให้ถ้อยคำกับอัยการเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งการครบกำหนด 15 วัน ที่อัยการสูงสุดต้องแจ้งเรื่องต่อศาลรธน.จะครบกำหนดวันที่ 11 พ.ย.นี้

และหลังจากอัยการสูงสุดส่งหนังสือไปที่ศาลรธน.แล้ว ต้องติดตามต่อว่า ตุลาการศาลรธน.จะนัดประชุมเพื่อลงมติว่าจะ"รับ-ไม่รับคำร้อง"คดีดังกล่าว ในวันใด ความเคลื่อนไหวข้างต้น ส่งผลให้ คดีร้อง นายทักษิณ-พรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ เริ่มกลับมาเป็นสนใจของสังคมอีกครั้ง

"คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการกฎหมายอิสระ -อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และอดีตรองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต"วิเคราะห์เส้นทางคดีดังกล่าว ผ่านรายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"ไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาที่มีการไปร้องให้องค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงศาลรธน.วินิจฉัยที่โยงถึงนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยที่มีมากมายหลายคดี แต่ละคำร้องเป็นเรื่องของแต่ละพฤติกรรม แต่บางคำร้องผมดูแล้วไม่น่าจะไปร้องก็มี เช่น เรื่องทำมินิฮาร์ท ไม่จำเป็นต้องไปร้องก็ไปร้อง แต่หลายคำร้องก็เป็นคำร้องที่มีประเด็นเช่น คำร้องเรื่องการปล่อยให้ทักษิณ ครอบงำ ที่ตอนนี้ กกต.ก็รับไว้พิจารณาแล้ว หรือคดีการถือครองหุ้นบริษัทสนามกอล์ฟอัลไพน์ ฯ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมฯ เป็นเรื่องลักษณะต้องห้ามของการเป็นนายกรัฐมนตรีแบบเดียวกับนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถือหุ้นอัลไพน์ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ศาลยุติธรรมเคยตัดสินว่าการได้มาซึ่งที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ดังกล่าว เป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้การฟ้องเพื่อเพิกถอนเอกสารที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์คดีจะขาดอายุความ แต่ศาลไปชี้อีกประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตรมว.มหาดไทย(อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย) ถูกศาลตัดสินจำคุก จากการกระทำเกี่ยวกับเรื่องที่ดินอัลไพน์

ดังนั้นที่ดินอัลไพน์จึงเป็นเรื่องที่พูดง่ายๆว่า หากอ่านตามข้อกฎหมาย ถ้าที่ดินไม่ขาดอายุความเสียก่อน ที่ดินดังกล่าว จึงถือว่าครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ตามหลักก็คือต้องคืนให้เจ้าของเดิม หรือทายาทเจ้าของที่ดินเดิมให้เขาไปจัดการ

การร้องในประเด็นนี้ เป็นเรื่องการร้องในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของตัวนายกฯ ที่ไปถือหุ้นในบริษัที่ถือครองที่ดินฯ ซึ่งก็ถือหุ้นไม่น้อย ถือไว้กว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนจะโอนก่อนหรือหลังรับตำแหน่งนายกฯ ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่หากโอนหลังรับตำแหน่งหลักฐานน่าจะจบเร็ว แต่แม้โอนหุ้นอัลไพน์ก่อนรับตำแหน่งนายกฯ ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี เพราะหุ้นอัลไพน์ที่โอนไป ก็โอนไปให้พวกพ้อง ไม่ได้มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาที่ดินอัลไพน์ที่มีปัญหา ซึ่งถ้าไปดูแนวบรรทัดฐานที่เห็นก่อนหน้านี้ ก็มีสองคดี คือคดีปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถือครองที่ดินสปก. กับคดีกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรมช.ศึกษาธิการ ทั้งสองคดี ศาลฎีกาวางหลักการไว้เหมือนกันซึ่งก็เทียบกับคดีของนส.พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เช่นกันคือการที่จะถือว่าไม่มีลักษณะต้องห้าม คือจะต้องจัดการเรื่องเหล่านั้นให้พ้นจากการมีปัญหาเรื่องจริยธรรม โดยต้องเกิดจากกระบวนการที่ตัวเองสมัครใจจะแก้ไขปัญหานั้นเอง ไม่ใช่มาโอนเพราะว่าจะโดนฟ้องคดี

"คมสัน"กล่าวลงรายละเอียดว่า กรณีของอัลไพน์ นายกฯแพทองธาร ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะก็ยังโอนหุ้นไปให้แม่ ที่ก็ยังเป็นเครือญาติตัวเอง  จึงเป็นการโอนที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปให้กลุ่มพวกพ้องตัวเองอยู่ ตรงนี้จะเป็นปัญหาเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่จะนำไปสู่เรื่อง การพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เหมือนกับกรณีนายเศรษฐา ซึ่งหากไปดูคดีอื่นๆ เทียบประกอบ ก็จะเห็นเค้ารอยอยู่ว่ามีโอกาสที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องนี้ ที่ต้องไปดูว่ามีการร้องแล้วเรื่องไปอยู่ใด

-ที่มีการไปยื่นเรื่องให้กกต.สอบสวน เรื่องการเข้าไปครอบงำพรรคเพื่อไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ร้องไปหลายคน เช่น ผู้ร้องนิรนาม กลุ่มพิราบขาว หมอวรงค์

ก็มีมูลในสายตาผม ซึ่งผมเห็นด้วยกับเลขาธิการกกต.ที่นานๆผมจะเห็นด้วยกับกกต. แต่คราวนี้ผมว่าอยู่ในร่องรอยกฎหมายที่มีมูล

หากสุดท้าย กกต.ชี้ว่ามีการปล่อยให้ครอบงำจริง ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ซึ่งผมมองว่าที่กกต.ออกมาให้ข่าวและบอกว่ารับเรื่องไว้พิจารณา ก็เป็นเพราะคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วหกประเด็น ทำให้เป็นการกระตุ้นให้เร็วขึ้นเพราะคำร้องนายธีรยุทธไปร้องที่ศาลรธน.แล้วเมื่อไปถึงศาลรธน. ตอนนี้ก็รอว่าศาลรธน.จะรับหรือไม่รับคำร้อง ที่ผมมองว่ากกต.คงแทงหวยว่าศาลรธน.คงรับไว้พิจารณา ก็เลยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องการครอบงำพรรค เพราะหากไม่ตั้งกรรมการมาพิจารณาดำเนินการ อาจจะไปเจอปัญหาแบบเดียวกับตอนทำเรื่องยุบพรรคก้าวไกล ที่พรรคก้าวไกลสู้คดีว่ากกต.ไม่ได้ทำตามมาตรา 92 และ 93 ตามพรบ.พรรคการเมือง ทางกกต.ก็เลยชิงทำตรวจสอบเสียก่อนเพราะคงมองว่า เพราะกว่าจะสอบสวนเสร็จ ทางศาลรธน.ก็คงอาจมีคำวินิจฉัยออกมาพอดี ทางกกต.ก็รอดูศาลรธน. แต่หากศาลรธน.วินิจฉัยชี้ออกมาเช่นสมมุติภายในธันวาคมปีนี้หรือมกราคม 2568 ว่ามีการปล่อยให้มีการครอบงำพรรคจริง กกต.ก็อาศัยคำวินิจฉัยของศาลรธน.มาประกอบกับสำนวนของกกต. ก็ทำให้กระบวนการของกกต.ก็ไม่ต้องขยายเวลาอีกแล้ว ก็ไปต่อได้ 

เชื่อศาลรธน.รับคำร้อง ไว้วินิจฉัย ไม่เกินพ.ย.

-คดีธีรยุทธ ศาลรธน.ให้อัยการสูงสุดแจ้งการดำเนินการกลับมายังศาลรธน.ภายในสิบห้าวัน คิดว่าศาลจะรับคำร้องหรือไม่

เรื่องนี้เริ่มจากการมองเขตอำนาจของศาลรธน.ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อน ที่ได้บัญญัติหลักการไว้ว่า บุคคลใดที่กระทำการล้มล้างการปกครองฯ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรธน.มีอำนาจในการที่จะสั่งให้ยุติการกระทำ ที่ตามขั้นตอน ก็ให้ไปยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนตามมาตรา 49 แต่ปัญหาในอดีต ก็เกิดมาตลอด จากการใช้อำนาจอัยการ ก็คืออัยการก็นิ่งเฉย ไม่ยอมใช้อำนาจเรื่องนี้เท่าใดนัก นอกจากมีประเด็นหรือการเมืองที่ชัดเจนออกมา อัยการถึงจะขยับตัว

ในรธน.ปี 2560 ให้เวลาอัยการสูงสุด 15 วันหลังยื่นคำร้อง ถ้าอัยการไม่ทำอะไร ก็ให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ได้โดยตรง เป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ

การที่ศาลรธน.สั่งให้อัยการสูงสุด ทำคำชี้แจงภายในสิบห้าวัน ก็เพื่อดูเงื่อนไขการฟ้องคดีของนายธีรยุทธ เข้ามาตรา 49 วรรคสามหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงนายธีรยุทธได้บอกว่า ได้ไปยื่นอัยการสูงสุดแล้วแต่เลยระยะเวลาแล้ว ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ก็เป็นเงื่อนไขที่ไปยื่นศาลรธน.ได้

"เพราะฉะนั้นโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของนายธีรยุทธไว้วินิจฉัยมีค่อนข้างเยอะ โดยหลักการเขตอำนาจของศาลรธน."

"คมสัน-นักวิชาการอิสระด้านกฎหมายมหาชน"วิเคราะห์เส้นทางคดีดังกล่าวต่อไปว่า เมื่อมาพิจารณาประเด็นคำร้องดังกล่าวแบบรายประเด็นจะพบว่า คำร้องเรื่องล้มล้างฯ  ผู้ร้องได้ร้องสองกรณี แต่วางประเด็นไว้หกประเด็น

กรณีแรก เป็นเรื่องการขอให้ศาลรธน.สั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกการกระทำที่เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เพราะไม่ยอมไปติดคุก

กรณีที่สองเกี่ยวกับ การสมคบกับกัมพูชาเรื่อง MOU44  ที่กำลังจะไปเจรจากับกัมพูชา แล้วก็มีเรื่องการครอบงำพรรคการเมืองหลายพรรคในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 หลังจากศาลรธน.วินิจฉัยคดีนายเศรษฐา ทวีสินเสร็จสิ้นลง

บางประเด็นเช่นการที่ร้องว่านายทักษิณ เป็นผู้สั่งการครอบครอง ให้ปรับพรรคพลังประชารัฐออกจากรัฐบาล ผมยังมองว่าประเด็นนี้ยังค่อนข้างบาง แต่ก็มีบางประเด็นหนาแน่นอยู่ ที่การร้องอันนี้คือการร้องที่จะเป็นฐานไปสู่การร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

คาดว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจากอัยการสูงสุดแล้ว ก็คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง อาจจะแค่หนึ่งสัปดาห์หลังรับหนังสือจากอัยการสูงสุด คาดว่าน่าจะมีมติรับคำร้องภายในไม่เกินสัปดาห์ที่สามของเดือนพ.ย. อาจจะสักประมาณ 13-14 พ.ย.

สำหรับหกประเด็นตามคำร้องของนายธีรยุทธ ประเด็นที่คิดว่ามีน้ำหนัก น่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกับนายทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

ส่วนประเด็นแรก ( เรื่องนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1ได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว)เป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ ที่จะไปโดนคดีอาญาหลังจากนี้ ที่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรค เป็นเรื่องเฉพาะตัวคน ซึ่งมันไม่มีโทษเรื่องการขัดพระบรมราชโองการ ในกฎหมายอาญา มีแต่เรื่องการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ซึ่งหากมองการกระทำของนายทักษิณ อย่างอาจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก มองว่าเป็นเรื่องการหมิ่นประมาท เป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากได้พระบรมราชโองการมาแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตาม ก็เหมือนกับการไม่เคารพในพระบรมราชโองการ ซึ่งเข้าลักษณะของการดูหมิ่น ที่จะไปเข้ามาตรา 112 อีกครั้ง เพราะคดีเดิมมีอยู่แล้ว ที่ตกเป็นจำเลยคดี 112 ที่ศาลอาญา นัดสืบพยานเดือนก.ค. 2568 แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายทักษิณ แต่หากพรรคเพื่อไทยจะเกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องของการที่ไม่ยอมจำคุกทักษิณโดยมีการเข้าครอบงำกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่ คราวซวยจะไปตกอยู่ที่ พ.ต.อ.ทวี ค่อนข้างเยอะ รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้ดำเนินการอะไร

แต่ประเด็นที่จะนำไปสู่เรื่องที่หนักมากๆ จริง ที่ยังเถียงกันอยู่ เพราะยังไม่มีคำตัดสินจากองค์กรใดชี้มาว่า กรมราชทัณฑ์  ถูกครอบงำจากวิธีคิดของนายทักษิณ หรือเป็นเรื่องของนักการเมืองที่ไปครอบงำเพื่อเอื้อให้กับนายทักษิณ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่เรื่องนี้ ผมยังมองว่ายังไม่หนักเท่าประเด็นที่4  (กรณี ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทน ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 บ้านจันทร์ส่องหล้า)ที่ครอบงำพรรคการเมือง 5-6 พรรคที่เข้าไปประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

เพราะเรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่พรรคเพื่อไทยพรรคการเมืองเดียว แต่กระทบไปถึงพรรคการเมืองอีก 5-6 พรรค คือเพื่อไทยโดนแน่ๆ และยังมี ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา พลังประชารัฐ ประชาชาติ อะไรพวกนี้ ที่เข้าไปในวันนั้น ก็มีโอกาสจะโดนทั้งหมด 

การครอบงำพรรคการเมือง ตามมาตรา 28 ของพรบ.พรรคการเมืองฯ ที่หากพรรคการเมืองใด ยอมให้บุคคลใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เข้ามาครอบงำ ชี้นำ การดำเนินการภายในพรรค เป็นสิ่งที่ต้องห้าม และเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 92(2) เมื่อเข้าตรงนั้น โทษก็นำไปสู่การยุบพรรคการเมือง และตัวคนที่ทำ ก็มีโทษจำคุก 5-10 ปี

ผมมองว่ามันไม่ได้ยุบแค่พรรคเดียว ถ้าจะยุบพรรคอาจจะเป็นหลายพรรค ตอนนี้ ก็มีบางพรรคพยายามดิ้นว่า ไม่ได้ถูกครอบงำ พยายามแอ็คชั่นกันเต็มที่ เช่น ภูมิใจไทย ก็แสดงออกว่า คุณต้องการเรื่องนิรโทษกรรม แต่พรรคเขาไม่เห็นด้วย หรือเรื่องการออกเสียงประชามติ ก็ไม่เห็นด้วย เพื่อนำไปเป็นหลักฐานว่าครอบงำเขาไม่ได้ แต่การครอบงำไม่ได้หมายถึงครอบงำทุกเรื่อง แต่หากครอบงำประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการครอบงำแล้ว

-แต่เขาก็อาจอาจได้ว่า วงประชุมวันนั้น ที่นายกฯ แพทองธาร ไม่อยู่ เพราะไปจีน และวงหารือดังกล่าว ตามข่าวบอกว่าหนุนนายชัยเกษม นิติศิริ เป็นนายกฯ แต่สุดท้าย คนที่ถูกสนับสนุนเป็นนายกฯไม่ใช่นายชัยเกษม แต่เป็นแพทองธาร ดังนั้น หากครอบงำจริง ก็ต้องเป็นชัยเกษม ฟังขึ้นไหม?

ก็คงฟังไม่ได้ เพราะเป็นแคนดิเดตนายกฯทั้งคู่(ของพรรคเพื่อไทย) อย่างคุณชัยเกษม ผมคิดว่านายทักษิณก็รู้อยู่แล้วว่าโดยสภาพ ไม่เหมาะที่จะเป็นนายกฯเลย ด้วยสภาพทางกายที่เจ็บป่วย ซึ่งจริงๆ เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า ไม่ใช่คนที่จะเป็นนายกฯได้ ก็เป็นเป้าหลอกที่ออกมาข้างนอก เพื่อให้เห็นว่าเลือกชัยเกษม แต่จริงๆ แล้วเป็นแพทองธาร เพราะเหลืออยู่คนเดียว

ทักษิณครอบงำเพื่อไทย มีมูล-ไปรอสู้กันในศาลรธน.

-เขาก็อาจแย้งได้ว่า มีพยานหลักฐานหรือไม่ เป็นแค่รายงานข่าวจากสื่อเท่านั้น?

แต่ประเด็นแรก เข้าไปทำไป(บ้านจันทร์ส่องหล้า) เข้าไปทำไม หลังนายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะไปคุยตอนไหน ก็คุย แต่วันนั้นไปคุยเพื่ออะไร เพราะออกมาตอนเช้า ก็ไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกัน แล้วตัว แพทองธาร ก็ไม่อยู่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ไม่อยู่ แล้วเข้าไปประชุมที่นั่น แม้อาจมีแกนนำพรรคเพื่อไทยอยู่ แต่ทำไม ไม่ไปประชุมที่พรรคเพื่อไทย แกนนำทั้งหกพรรค ไม่จำเป็นต้องไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และก็ได้ยินมาว่า มีคนที่เขามีคลิป มีเสียงอะไรอยู่ แต่ไม่รู้จะไปพยานให้หรือไม่ ถ้าไปเป็นพยาน ก็ซวยยกเข่ง ไปทั้งหมด โดนหลายพรรค ก็หนัก

-ถ้าเป็นพยานบุคคลไปได้ไหม เช่นเขาลือกันว่า คุณสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ?

ก็ได้ ได้ยินว่าเขาไปด้วย  คือผมมองว่าประเด็นนี้มีมูล ถึงจะโต้ยังไง ก็มีมูลอยู่ ก็ไปพิสูจน์กันที่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ต้องแสดงหลักฐานกันว่า ไม่ได้ครอบงำอย่างไร และฝ่ายที่ร้อง ต้องมีหลักฐานว่าครอบงำแค่ไหน

ส่วนประเด็นตามคำร้องเรื่องที่สอง ที่ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (ทักษิณ ชินวัตร) มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา "คมสัน"ให้ความเห็นว่า เป็นประเด็นที่ก็ไม่ไกล เพราะ MOU 2544 ทำสมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ และการที่กัมพูชา อ้างสิทธิพื้นที่ทางทะเล โดยลากเส้นอาณาเขตของฝ่ายตัวเองทับเข้าไปในเขตของเกาะกูด มันก็เลยเกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไทยกับกัมพูชา จากทะเลตั้งแต่เกาะกูดออกไปจนถึงไหล่ทวีป

ประเด็นเรื่องนี้ มีหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดการปักเขตแดนกันเอาไว้ ซึ่งบอกไว้ว่า ฝรั่งเศสยอมให้อาณาเขตประเทศไทย ในบรรดาเกาะทั้งหลายจนถึงเกาะกูด เป็นของไทย

เพราะฉะนั้น อาณาเขตตรงนี้ มันถูกแบ่งปันตั้งแต่รศ. 125 แล้ว ประมาณปี พ.ศ. 2440 ทำให้พื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาจะไม่มี การที่กัมพูชาลากตัด จึงไม่เป็นไปตามหนังสือสัญญาดังกล่าว แต่ทักษิณไปยอมรับในปี 2544  ก็เลยมาถึงปัจจุบัน

เรื่องนี้ไปปรากฏตอนที่นายทักษิณไปพูดในงานของเครือเนชั่น แล้วรัฐบาลก็รับเรื่องนี้เข้ามาเหมือนอยู่ในนโยบาย มีการไปเจรจาด้วย ซึ่งการไปเจรจา ไปพูดคุยเรื่องนี้ หลังนายทักษิณไปพูด มันเป็นการดำเนินการโดยที่นายทักษิณครอบงำให้ไปทำ เอามาใส่เป็นนโยบายเรื่องเร่งด่วน แล้วเรื่องนี้หากมีการชี้ว่าเข้าข่ายมาตรา 49 เนื่องจากทำให้อาณาเขตของประเทศไทยสูญเสียไปส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ

-หากเขาจะบอกว่า คุณทักษิณ ก็ไปแสดงวิสัยทัศน์งานดังกล่าว แล้วบังเอิญรัฐบาลนำมาใช้ จะไม่ได้หรือ ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามันดี?

ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ คุณทักษิณก็บอกเองว่า ผมครอบครอง

-เขาอาจบอกว่าพูดเล่น?

พูดเล่น แต่ก็บอก ลูกสาวผม แต่ลูกสาวก็เป็นนายกฯ แล้วลูกสาวก็เอานโยบายของพ่อมา  ก็แสดงว่ามีอิทธิพลเหนือพรรค เรื่องนี้้มีมุมทางกฎหมายอยู่

จริงๆ การเซ็น MOU 44 ถ้ามองในแง่ข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 คุณทักษิณพยายามกระทำความผิดมาแล้วตั้งแต่ปี 2544 พอมาตอนนี้รัฐบาลมารับต่ออีกจากนายทักษิณ ที่เป็นความคิดนายทักษิณ โทษความผิดตามมาตรา 119 ที่เป็นโทษความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงนอกราชอาณาจักร คือทำให้อาณาเขตของประเทศเสื่อมเสียไป ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง โทษมันประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต กรณีตามคำร้องประเด็นที่สองดังกล่าวนี้ นอกจากประเด็นเรื่องการครอบงำที่ไปสู่การยุบพรรคแล้ว โทษอาญาก็จะหนักด้วย

การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะผู้บัญชาการเรือนจำ ใช้กฎหมายไม่ครบถ้วนในการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ เพราะโดยหลักการ ผู้บัญชาการเรือนจำต้องร้องขอต่อศาลเพื่อทุเลาหมายขังก่อน ... แต่ปรากฏว่า ผู้บัญชาการเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ได้ใช้ครบถ้วนทั้งสองฉบับ ใช้กฎกระทรวง ที่ออกตามกฎหมายราชทัณฑ์ เกี่ยวกับเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยไม่ไปยื่นคำขอต่อศาล ตรงนี้ถือเป็นประเด็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

ฟันฉับ “ทักษิณ” มีโอกาส คืนคุก!

-กรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.พรรคปชป.ไปร้องต่อศาลฎีกาฯ จะเอาผิดนายทักษิณ กรณีไม่ยอมติดคุกจริง เหมือนกับว่านายทักษิณยังไม่เคยถูกลงโทษจริง?

เป็นเรื่องของกฎหมายสองฉบับ ที่ต้องใช้คู่กัน คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 กับพรบ.ราชทัณฑ์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 กับมาตรา 55

สำหรับ มาตรา 6 บัญญัติว่า กรมราชทัณฑ์อาจดาเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการควบคุม ขัง หรือจำคุกไว้ในเรือนจา แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมตลอดถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กาหนดในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์

มาตรา 55 ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วย  มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ให้ผู้บัญชาการเรือนจาดาเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็วหากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบาบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจาจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบาบัดรักษาสาหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาลหรือสถานบาบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจาต่อไป ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจา ระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอานาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์

ในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจาตามวรรคสอง มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องขังไว้รักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา

"คมสัน"กล่าวต่อไปว่า มาตรา 6 หมายถึงว่าการกำหนดมาตราการในรับโทษทั้งหลาย สามารถออกกฎกระทรวง กำหนดรายละเอียดได้ แต่การออกที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ แต่จะต้องมีหลักการที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการเรื่อง การรับโทษที่อยู่ในประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาฯ

ซึ่งหลักการรับโทษของผู้ต้องขัง ตามมาตรา 246 ก็มีไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็แล้วแต่ เช่นตัวผู้ต้องขังเอง หรือตัวญาติ หรือตัวผู้บัญชาการเรือนจำ เห็นว่ามีเหตุต้องทุเลาการบังคับตามหมายขังของศาล ที่มีการระบุเหตุไว้ ซึ่งรวมถึงการที่ขังแล้วผู้ต้องขัง อาจได้รับอันตรายถึงชีวิต หรือร่างกาย ก็ให้บุคคลทั้งหมดตามกฎหมายเช่น ผู้บัญชาการเรือนจำทำเรื่องถึงศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาว่า จะทุเลาการบังคับอย่างไร

ที่ในมาตราดังกล่าวก็มีการเขียนถึงลักษณะของสถานที่อันควร ให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวงฯ  ซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจำเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย และเมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว หากภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้

ที่ก็คือต้องมีคำสั่งศาล ในการให้ไปดำเนินการควบคุมนอกหมายขัง เพราะการไปอยู่โรงพยาบาลหรือสถานที่ใด มันเป็นการควบคุมนอกเรือนจำ และสถานที่ไป เข้าลักษณะของกฎกระทรวงหรือไม่ ที่ก็คือต้องเข้าลักษณะอันควรของวิธีการควบคุมของสถานที่ทั้งหลาย ซึ่งก็มีกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มี ออกเมื่อปี 2552 สมัยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรมว.ยุติธรรม ที่เป็นกฎกระทรวง กำหนดลักษณะสถานที่ในการขัง จำคุกหรือควบคุม ผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่คดีถึงที่สุด ที่วางหลักการไว้เยอะเช่น โรงพยาบาลที่จะไปต้องมีลักษณะอย่างไร ถ้าดูตามนี้คือ ศาลต้องสั่ง และที่ซึ่งจะไป ต้องเป็นสถานที่ซึ่งกำหนดในกฎ กระทรวงด้วย

-นายชาญชัย ก็ไปร้องศาลฎีกาฯ เรื่องนี้สองรอบ แต่ศาลก็ยก เท่าที่ติดตามมาเพราะอะไร?

ร้องผิดศาล เพราะพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คนที่จะยื่นฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีแค่ อัยการสูงสุดกับคณะกรรมการป.ป.ช. บุคคลทั่วไปไม่สามารถฟ้องได้ ถ้าจะฟ้องเรื่องทุจริต ต้องไปศาลอาญาคดีทุจริตฯ

หากนายชาญชัย จะฟ้องเรื่องนี้ต้องไปดำเนินการยื่นเรื่องที่ป.ป.ช.ก่อน แล้วให้ป.ป.ช.พิจารณาส่งฟ้องหรือป.ป.ช.ส่งให้อัยการฟ้อง แต่เรื่องนี้ผมมองว่า มันไม่ได้ไปที่วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไปเฉพาะตัวรมว.ยุติธรรมรวมถึงคุณสมศักดิ์ อดีตรมว.ยุติธรรม หากจะโดน นายทักษิณ ต้องไปศาลอาญาปกติ ก็คือกลับไปขังเหมือนเดิม โดยศาลจะเป็นผู้สั่ง ในการเพิกถอนว่าที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการตามหมายขัง ตามมาตรา 246 คือไปดูว่าเคยต้องโทษตามหมายขังหรือยัง หากยังก็ต้องกลับเข้าไปเรือนจำต่อ คืนคุก ส่วนอธิบดีกรมราชทัณท์ ผู้บัญชาการเรือนจำ ก็ไปอีกกฎหมายหนึ่ง ก็ไปศาลอาญาคดีทุจริตฯ

การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะผู้บัญชาการเรือนจำ ใช้กฎหมายไม่ครบถ้วนในการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ เพราะโดยหลักการ ผู้บัญชาการเรือนจำต้องร้องขอต่อศาลเพื่อทุเลาหมายขังก่อน  เพราะการออกไปรักษาตัวโดยไม่ได้อยู่ในเรือนจำ มันเป็นการทุเลาการขัง ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องขังในเรือนจำ เป็นการทุเลาตามหมาย ตามมาตรา 246 ซึ่งก็จะมีกฎกระทรวงอีกหนึ่งฉบับ ที่ไปกำหนดลักษณะของสถานที่ ซึ่งออกมาในปี 2552 และมีกฎหมายอีกฉบับที่ผู้บัญชาการเรือนจำต้องทำคือพรบ.ราชทัณฑ์ฯ มาตรา 6 มาตรา 55 เรื่องการส่งตัว ผู้ต้องขังที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยไปนอกเรือนจำ ที่ต้องใช้กฎกระทรวงเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขัง ไปยังสถานพยาบาลนอกเรือนจำ พ.ศ. 2560 ที่นายสมศักดิ์เป็นคนเซ็น สมัยเป็นรมว.ยุติธรรม

....แต่ปรากฏว่า ผู้บัญชาการเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ได้ใช้ครบถ้วนทั้งสองฉบับ ใช้กฎกระทรวง ที่ออกตามกฎหมายราชทัณฑ์ เกี่ยวกับเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยไม่ไปยื่นคำขอต่อศาล ซึ่งตรงนี้ถือเป็นประเด็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

-คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่นายทักษิณอาจต้องคืนกลับเข้าคุก?

โดยข้อเท็จจริงมันเป็นไปได้ เพราะตอนนี้เรื่องที่ไปรออยู่แล้วก็มีเช่นที่พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ไปให้การกับป.ป.ช.ไว้ อันนั้นเป็นตัวประกอบสำคัญในเงื่อนไขตามคำร้องอันนี้

-คิดว่าหากเป็นนายทักษิณ อะไรที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้?

ถ้าตัวเขาเอง ที่คิดว่าน่ากลัวที่สุดมันมีสองเรื่อง เรื่องแรก ก็คือ ประเด็นตามคำร้องข้อแรกของนายธีรยุทธที่ยื่นต่อศาลรธน.(การนอนอยู่รพ.ตำรวจ) ที่อาจไม่เข้าลักษณะของการดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 กับเรื่อง MOU44 อันนั้นหนัก แล้วก็กรณี เรื่องการครอบงำ การยุบพรรค ก็มีเหตุแห่งการครอบงำตามคำร้องนายธีรยุทธประมาณ 5-6 ประเด็น โทษของคุณทักษิณ หากตามคำร้องนายธีรยุทธเป็นประเด็นหมด แล้วไปถูกดำเนินคดีอาญาหมด ไม่ได้ออกจากเรือนจำ แล้วด้วยพฤติกรรมที่เคยหลบหนีมาด้วย  โอกาสที่จะมีการอภัยโทษก็จะยากขึ้นด้วย จากพฤติกรรมที่ผ่านมา

-บางคนมองว่าอายุของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร น่าจะยาวกว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน?

ผมว่าสักเดือนกุมภาพันธ์ (2568)  ก็น่าจะไม่อยู่แล้ว ผมมองจากไทม์ไลน์ของคดีทั้งหลาย แล้วก็แนวโน้มของคดีทั้งหลาย น่าจะสักก.พ.หรือมี.ค. ก็ไม่น่าจะอยู่แล้ว เพราะกรณีนี้(คำร้องนายธีรยุทธ) ไม่น่าจะใช้เวลานาน หากศาลรธน.รับคำร้องไว้พิจารณาในเดือนพ.ย. หลังรับแล้ว ก็จะให้ ผู้ถูกร้องทำคำชี้แจง อย่างช้าสุด ก็คือ ภายในไม่เกินเดือนธ.ค. หรืออาจขยายให้ถึงเดือนม.ค. 2568 ก็ทำให้น่าจะตัดสินราวๆ ก.พ.หรือมี.ค. 2568 อายุของรัฐบาลมองว่าน่าจะสักราวๆ หกเดือน เพราะมีหลายเรื่องมะรุมมะตุ้ม แต่ก็ต้องดูเป็นรายเรื่องไป และบางเรื่องที่ร้องเช่นเรื่องอัลไพน์ เป็นเรื่องที่ชี้ไปที่ตัวนายกฯ ซึ่งหากเรื่องไปที่ศาลรธน.ว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ ถ้าเอาไทม์ไลน์คดีนายเศรษฐา เป็นตัวตั้ง ก็ประมาณนั้นเดือนก.พ.ช้าสุดก็เดือนเม.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

'นายกฯอิ๊งค์' ฟังทางนี้! แก้ด่วนบุคลิก 3 เรื่อง ให้สมวุฒิภาวะผู้นำ

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง "บุคลิกของนายกฯอุ๊งอิ๊ง" โดยระบุว่า คนที่เขาเกลียดคงไม่ต้องพูดถึงหรอก อะไรๆ เขาก็ด่านายกฯ อุ๊งอิ๊ง

'หมอเชิดชัย' เรียกแขก 'MOU 44 – ม็อบสนธิ' ไม่ระคายผิวรัฐบาล

“นพ.เชิดชัย” มอง ปม 'MOU44' ควรโยนหารือที่ประชุม 'เพื่อไทย' เพื่อเปิด 'เวที ม.152' ถาม 'สนธิ' อยากปลุกม็อบ ถ้าล้มรัฐบาลได้ จะเอาใครเป็นนายกฯ

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก