เมืองน่าอยู่...อยู่ที่วินัยของคนในเมือง

คำว่า “เมือง” หมายถึง สถานที่ที่มีประชากรอยู่รวมกันที่มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวและมักมีการพัฒนาในด้านต่างๆเช่น เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการ อยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปมักหมายถึงเขตพื้นที่ที่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชน เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการค้าขาย

เมืองน่าอยู่ คืออะไร มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของสังคมอย่างไร เมืองน่าอยู่คือเมืองที่มีความสมดุลในด้านต่างๆ ซึ่งทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เมืองนั้นน่าอยู่ เช่น มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีมลพิษ มีพื้นที่สีเขียวให้พักผ่อนหย่อนใจ มีการคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย และมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ จักรยาน มีโรงเรียนและสถานศึกษาที่มีคุณภาพ มีโรงพยาบาลที่มีบริการทางการแพทย์ที่ดี มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดี มีงานทำ มีแหล่งบันเทิง ร้านอาหาร ร้านค้า และสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกและมีการพัฒนาในด้านต่างๆ และที่สำคัญคือมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

การที่เราจะทำให้เมืองน่าอยู่ได้นั้นมีองค์ประกอบหลายประการดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่สิ่งที่จะทำให้เมืองนั้นน่าอยู่อย่างแท้จริงนั้นคือ “คน” เพราะคนในเมืองจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนใหญ่ ต้องมีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิตในทุกเรื่อง ซึ่งถ้าขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหากับสังคมเมืองขึ้นทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ คนในเมืองก็ควรที่จะรักษาระเบียบวินัยของเมืองไว้ ยิ่งถ้าเมืองใหญ่มากๆอย่างกรุงเทพมหานครด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องรักษาเรื่องระเบียบวินัยกันให้มาก ที่กล่าวถึงนี้หมายถึง “วินัยเฉพาะบุคคล” ที่จะต้องสร้างขึ้นจากตัวอย่างที่ดี จากการศึกษาที่ดี จากความร่วมมือที่ดี เพราะหากไม่มีวินัยกันแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ก็จะทำให้เมืองนั้นไม่น่าอยู่ขึ้นมาทันที บางทีเรื่องเล็กน้อยเราก็ไม่ควรจะมองข้าม สิ่งที่เรียกว่า “วินัย” นั้นมันไม่สามารถสร้างให้ทุกคนกระทำได้เหมือนกัน เพราะสถานะความเป็นอยู่และการที่ได้เห็นได้สัมผัสกับบางสิ่งบางอย่างแตกต่างกัน การมีต้นแบบที่ดีจึงจะเป็นพื้นฐานที่จะสร้างวินัยเฉพาะบุคคลได้ แล้วอะไรคือนโยบายสาธารณะในการสร้างวินัยให้กับคนในเมืองเป็นเรื่องที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกันในวันนี้

วินัยคนในเมือง…สร้างอย่างไร จริงๆแล้วก็คงจะมีคนบอกว่ายากหรือยากมาก ใช่..มันยาก โดยเฉพาะเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าทุกคนคิดแบบนั้นกันหมดก็จะทำไม่ได้เลย เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า “วินัยคนในเมือง” นั้นหมายถึงอะไร เราจะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร จะต้องใช้เวลากี่ปี และจะต้องทำอะไรบ้าง เราลองมาพิจารณาสิ่งเหล่านี้กันดูว่าจะช่วยได้หรือไม่

ประการที่ 1. การศึกษา
การศึกษามีทั้งในระบบและนอกระบบ แต่ที่สำคัญคือไม่ว่าจะนอกหรือในระบบก็จะต้องมีการให้การศึกษาเฉพาะด้าน เราไม่ค่อยจะมีการให้การศึกษาในเรื่องของการมีส่วนร่วมในสังคมมากเท่าที่ควร ซึ่งจริงๆแล้วนั้นถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการดำรงชีวิตของมนุษย์เลยก็ว่าได้ เพราะหากทุกคนมีพื้นฐานความเข้าใจที่ดีว่าการอยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรบ้างแล้วก็จะยิ่งทำให้สังคมนั้นน่าอยู่มากขึ้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าการศึกษาในบ้านเรานั้นมุ่งเน้นเรื่องวิชาการเป็นหลัก ไม่พยายามที่จะสอนเยาวชนในเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมเท่าที่ควร สังเกตจากการศึกษาที่ยังเน้นคะแนนเป็นหลัก ชื่นชมเด็กเรียนเก่งที่มีคะแนนสูงๆ ไม่ค่อยชื่นชมเด็กดีที่ช่วยเหลือสังคมให้เห็นมากเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆแล้วมีอยู่มาก ยังไม่เห็นใครทำรายการโทรทัศน์ดีๆ ชื่นชมเยาวชนดีๆให้เห็นซักรายการเดียว

ประการที่ 2. การปลูกจิตสำนึก
จิตสำนึกของมนุษย์นั้นสร้างได้ บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากมีการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี มีตัวอย่างที่ดี ก็จะทำให้พื้นฐานการมีสามัญสำนึกของมนุษย์นั้นดีขึ้นอย่างแน่นอน การสร้างจิตสำนึกในแง่ของการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ มองข้ามไม่ได้ คำถามมีอยู่ว่า ทุกวันนี้เราปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนและคนในเมืองกันอย่างไร มีอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วการปลูกจิตสำนึกนั้นทำได้ด้วยการมีต้นแบบที่ดี แต่ทุกวันนี้เรามักจะเห็นต้นแบบที่ไม่ดีมากกว่า เช่นการทิ้งขยะ การวางสิ่งของเกะกะในที่สาธารณะ การกระทำที่เห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงผู้อื่น ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ การปลูกจิตสำนึกของคนในเมืองอาจจะต้องทำโดยทางอ้อม ทำตัวอย่างที่ดีให้เห็น จึงจะเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ ทำให้เป็นนโยบายสาธารณะให้ได้

ประการที่ 3. การจัดการ
การจัดการในที่นี้หมายถึง การจัดระเบียบสังคม การเริ่มต้นใหม่ในเรื่องการจัดระเบียบไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ เราจะเห็นว่าอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งเกิดขึ้นใหม่แล้วมีการจัดระเบียบไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ผู้คนในเมืองก็จะปฏิบัติตาม แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นใหม่ สิ่งต่างๆที่เคยเป็นก็จะยังคงเป็นอยู่เหมือนเช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง และคงมีคำถามว่าใครจะเป็นคนจัดการ ผู้รับผิดชอบในแต่ละด้านของสังคมเมืองนั่นแหละที่ต้องเป็นคนจัดการ ต้องจัดการบนพื้นฐานของความกล้าไม่ใช่ความกลัว อย่ามัวแต่ปล่อยให้เลยตามเลย หากเราทราบว่าเรื่องใดนั้นเป็นเหตุแห่งการทำให้สังคมเสื่อมโทรมก็สมควรที่จะต้องหามาตรการมาจัดการเสียใหม่ให้เป็นที่ยอมรับกันในสังคมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ประการที่ 4. การสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ
ทุกวันนี้เรามักจะได้ยินข่าวและเรื่องราวทั้งหลายเกี่ยวกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่แต่ละองค์กรได้ออกมาป่าวประกาศกันอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เห็นว่ามีองค์กรไหนริเริ่มทำเรื่องการสร้างจิตสำนึกให้คนในเมืองหรือชุมชนได้ตระหนักอย่างแท้จริงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมกันมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ทำแบบไม่ต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมประจำปี หรือจะมีก็น้อยมากที่เริ่มจากการสอนคนภายในองค์กรของตัวเองกันก่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการที่เราจะสนับสนุนอะไรที่ทำให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขและมีระเบียบแล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่ส่งผลอย่างต่อเนื่องที่ยาวนานมากกว่า การที่จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆในเรื่องของการฝึกระเบียบวินัยนั้น องค์กรนั้นๆควรที่จะเริ่มจากตัวเองก่อน ทำให้เป็นองค์กรตัวอย่างของความเป็นคนเมืองที่สมบูรณ์แบบ นั่นแหละคือสิ่งที่ควรจะเป็น

ประการที่ 5. การใช้กฎหมาย
บอกได้เลยว่าเรื่องนี้ให้ถือเป็นเรื่องสุดท้าย แน่นอนว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่จะต้องมีการบังคับใช้แต่จะต้องใช้กับผู้ที่กระทำผิดแบบให้อภัยไม่ได้เท่านั้น การใช้กฎหมายกับทุกเรื่องไม่ใช่คำตอบ และไม่ใช่การสร้างสังคมแบบยั่งยืน ผู้ใช้กฎหมายเองก็คงต้องพิจารณาด้วยว่าจะมีวิธีอื่นใดหรือไม่ที่จะนำมาทดแทนการบังคับ การขอความร่วมมือน่าจะเป็นคำตอบ การกระทำผิดจะต้องแก้ไขด้วยการกระทำถูกมาทดแทน เสมือนการทำบาปและทำบุญ แน่นอนว่าทั้งสองอย่างนั้นนำมาลบล้างกันไม่ได้ การกระทำผิดแล้วสอนให้รู้ว่าการกระทำถูกนั้นเป็นอย่างไรก็เช่นกัน

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้อาจจะไม่ครอบคลุมได้ทุกมิติของการพัฒนาคนในเมือง เพราะมีเหตุและปัจจัยหลายประการมากมาย การเป็นเมืองที่น่าอยู่นั้น จะต้องทำอะไรอีกมากมาย ต่อให้ใช้งบประมาณไปมากมายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้โดดเด่นสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วหากคนในเมืองขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ เห็นแก่ตัว ไม่ช่วยกันสร้างคนที่ดีขึ้นมาแล้ว เมืองนั้นก็ไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่อยู่ดี และก็อยากจะทิ้งท้ายเป็นคำถามที่อยากจะถามท่านผู้อ่านว่า “กรุงเทพมหานคร”และเมืองใหญ่ๆอีกหลายเมือง เป็นเมืองน่าอยู่จริงหรือไม่ และในอนาคตหากเราไม่ช่วยกันพัฒนาคุณลักษณะนิสัยของคนในเมืองให้มีวินัยที่ดีแล้ว เมืองน่าอยู่ที่ว่านั้นจะเป็นเช่นไร ลองจินตนาการคิดกันดูว่าเรื่องนี้ควรเป็นนโยบายสาธารณะที่เราทุกคนมาช่วยกันร่วมสร้างคนในเมืองกันดีหรือไม่  บางทีอาจจะถึงเวลาที่จะต้องสร้างสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวกับ “หน้าที่พลเมือง” ที่กำหนดวิชาเฉพาะเพื่อสอนคนให้รู้จักระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมกันใหม่ก็อาจจะเป็นได้

คอลัมน์ พิจารณ์นโยบายสาธารณะ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ดร.ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Climate School (โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ)

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทุกประเทศในโลกต้องหันมาให้การสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม

สวนอากาศสะอาดเคลื่อนที่ นวัตกรรมลดฝุ่นพิษ

ในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เป็นภัยต่อสุขภาพ ประชาชนจะได้รับคำเตือนให้ลดกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม แต่ถ้าขั้นวิกฤตระดับสีแดงให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่สามารถไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่จุดเสี่ยง  จากปัญหาฝุ่นพิษจุดประกายให้เกิดโครงการ

การศึกษาชั้นพื้นฐานกับการพัฒนาเยาวชนด้วยกฎ 10 ข้อของลูกเสือ

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาตนเองตั้งแต่แรกเกิด ส่วนหนึ่งคือพัฒนาจากธรรมชาติ ได้แก่การเรียนรู้ในการหายใจ การเรียกร้องเมื่อท้องหิวหรือเจ็บป่วย

ภาพฝันกรุงเทพฯ เมืองปลอดอุปสรรคผู้พิการ

การพัฒนาเมืองที่เต็มไปด้วยถนน  ตึกสูง และระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย  แต่ในสายตาคนพิการและคนสูงวัย หรือแม้แต่นักปั่นจักรยาน พวกเขาต้องเผชิญความยากลำบากจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไม่ครอบคลุมการเดินทางของคนทุกกลุ่ม

การศึกษาไทยในยุคดิจิทัล ยุคสมัยเปลี่ยนไป...แต่ทำไมระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม

คำว่า “การศึกษา” หมายถึง วิธีการส่งผ่านจุดมุ่งหมาย ความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมา ให้ดำรงอยู่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง 

๑๑๑ ปีลูกเสือไทยทำไมชุดลูกเสือ กิจการลูกเสือ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกและพระราชทานให้แก่เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ, ๒๔๕๓ ไว้ความตอนหนึ่งว่า