ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๔)

นอกจากฟรานซิส บี. แซร์ (พระยากัลป์ยาณไมตรี) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศจะตอบคำถามและให้คำแนะนำต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อกรณีเกณฑ์การแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์และรวมถึงการให้คณะองคมนตรี (the Privy Council) มีส่วนร่วมในการตัดสินคัดเลือกด้วยนั้น จากการที่แซร์เป็นนักกฎหมายและเป็นที่ปรึกษาที่สุขุมรอบคอบอย่างยิ่ง เขายังคิดล่วงหน้าถึงปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้                                                                         

ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและควรต้องตระเตรียมวางกฎเกณฑ์กติกาไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แล้วเกิดเสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีการคัดเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์พระองค์ต่อไป ควรจะทำอย่างไร ?                             

แซร์ได้แนะนำว่า ควรจะยึดถือหลักการต่างๆที่มีอยู่เดิม อันได้แก่ ให้คณะองคมนตรีประชุมและลงมติคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และแซร์ย้ำว่าการคัดเลือกจะต้องไม่ถูกจำกัดโดยพระชันษาและลำดับชั้นพระอิสรยยศ เพียงแต่ไม่นับพระองค์ที่ประสูติแต่นางสนม เพื่อสรรหาบุคคลที่คณะองคมนตรีพิจารณาแล้วว่า มีคุณสมบัติและมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมที่สุดที่จะปฏิบัติพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ได้  ทั้งนี้แซร์หมายถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ยังต้องเป็นผู้ที่ใช้พระราชอำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอันจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข                                         

ขณะเดียวกัน แซร์ไม่เห็นด้วยกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีการวางตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ นั่นหมายความว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตยังไม่ได้แต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ แต่อาจมีพระโอรสหรือพระอนุชา ซึ่งอาจจะมีสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามสถานะของการเป็นพระโอรสที่ยังทรงพระเยาว์หรือไม่ก็ตาม หรือพระอนุชา  เพราะแซร์เห็นว่า ตัวเลือกไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่พระโอรสหรือพระอนุชาเท่านั้น  แซร์เห็นว่า การมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจอันกว้างขวางนั้นจะสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายต่อประเทศ                                       

เพราะอะไร ?  ท่านผู้อ่านลองช่วยกันตอบนะครับ ตอบมาทาง facebook chaiyan chaiyaporn จากคำอธิบายและเหตุผลต่างๆ (ผู้สนใจโปรดดู ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑-๓) ที่แซร์ได้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผ่านหนังสือที่ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2469  แซร์ได้สรุปว่า ในการแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์นั้น   

พระมหากษัตริย์ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกพระบรมวงศานุวงศ์ (เพศชาย) พระองค์ใดก็ได้ให้เป็นองค์รัชทายาท แต่จะต้องได้รับคำแนะนำและความเห็นชอบจากคณะองคมนตรี ซึ่งจะทำให้การได้มาซึ่งพระมหากษัตริย์เข้าข่ายของ “พระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับการเลือก”  โดยแซร์ใช้คำว่า “an elected King” ตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำเดียวกันนี้อธิบายหลักการในการสืบราชสันตติวงศ์ของไทยที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะตั้งตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร (Crown Prince) ขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกการให้มีการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์และยกเลิกตำแหน่งวังหน้า แต่ให้เป็นไปตามหลักการสืบทางสายโลหิตของพระโอรสพระองค์ใหญ่                     

ซึ่งในกรณีของธรรมเนียมประเพณีการปกครองของไทย ผู้เขียนเห็นว่า “an elected King” คือ หลักการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จารึกในพระสุพรรณบัฏในพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ นั่นคือ หลักการที่เรามักจะได้ยินและคุ้นเคยกันดี นั่นคือ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” หรือ จะใช้ว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” ก็ไม่ต่างกัน           

ผู้เขียนได้เคยอธิบายกำเนิดหลัก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ไว้แล้วในข้อเขียนต่างๆก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในหน่วยที่ 2 “พัฒนาการของรัฐ พระมหากษัตริย์ และรัฐแบบจารีต”  ในประมวลสาระชุดวิชา การเมืองการปกครองไทย หน่วยที่ 1-7 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564)  แต่ผู้เขียนขออธิบายที่มาของหลักการดังกล่าวนี้ไว้พอสังเขปสำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบความเป็นมา                   

หลักการ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ตามธรรมเนียมการปกครองไทยเริ่มขึ้นในทางปฏิบัติ โดยยังไม่มีการใช้คำดังกล่าวนี้ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สามเสด็จขึ้นครองราชย์ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สองจะเสด็จสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีพระอิสรยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระอิสรยยศ เจ้าฟ้ามงกุฎ  ทั้งสองพระองค์เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ถ้าว่ากันตามสถานะแล้ว เจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ในสถานะของผู้สืบราชสันตติวงศ์มากกว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อีกทั้งขณะนั้น เจ้าฟ้ามงกุฎก็ไม่ได้ทรงพระเยาว์ แต่มีพระชนมายุได้ 20 พรรษาแล้วด้วย   

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็มิได้มีพระพินัยกรรมกำหนดให้พระองค์ใดเป็นผู้สืบราชบัลลังก์  จึงเกิดการประชุมขึ้น โดยที่ประชุมประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางเสนาบดและพระมหาเถระ และในที่ประชุมนั้นซึ่งมีขุนนางตระกูลบุนนาคที่เริ่มมีอำนาจอิทธิพลและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เห็นพ้องต้องกันให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเสวยราชย์ เพราะมีคุณสมบัติความสามารถโดดเด่นในการคลังการค้าหารายได้เข้าประเทศเป็นที่ยอมรับทั้งจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและบรรดาขุนนางเสนาบดี อีกทั้งก็ยังมีความสามารถในทางการทหารด้วย  ดังนั้น การสืบราชสันตติวงศ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงเกิดขึ้นภายใต้หลักการที่ให้ที่ประชุมมาพิจารณาและแสดงความเห็นพ้องต้องกันในการเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ต่างจากที่แซร์ได้แนะนำ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็เกิดขึ้นจากการเห็นพ้องกันของที่ประชุมเช่นกัน  พระองค์จึงทรงให้จารึกในพระสุพรรณบัฎโดยมีข้อความ “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ”  ซึ่งเท่ากับเป็นการวางหลักการหรือทฤษฎีการปกครองของไทยว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ผ่านการเลือกตั้งของคณะบุคคลอันได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางเสนาบดีและพระมหาเถระ

คำหรือข้อความ “มหาชน/เอนกนิกรสโมสรสมมติ”  นี้มีที่มาจากพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกที่ชื่อ “อัคคัญญสูตร”  ซึ่งว่าด้วยกำเนิดผู้ปกครองหรือราชา โดยในพระสูตรได้อธิบายว่า แต่ก่อนมนุษย์อยู่กันเองโดยไม่มีผู้ปกครองหรือการปกครอง แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงกักตุนทรัพยากรธรรมชาติ จนเกิดความเดือดร้อนทะเลาะวิวาทกัน มีคนที่กักตุนสะสมจนทำให้คนอื่นไม่พอกิน จนผู้คนทั้งหลายต่างพากันยกหรือสมมุติให้คนๆหนึ่งที่มีคุณสมบัติความสามารถขึ้นมาดูแลให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น และเรียกเขาผู้นั้นว่า ราชา ซึ่งแปลว่า  “บุคคลผู้ที่ทำหน้าที่สร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรม” อันเป็นที่มาของสมมุติราชาด้วย  และการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงใช้คำดังกล่าวนี้มาอธิบายหลักการการสืบราชสันตติวงศ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่สามจนถึงสมัยของพระองค์ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถในความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนาและพระสูตรต่างๆจนสามารถเชื่อมโยงหลักการดังกล่าวกับคติทางการเมืองการปกครองในพุทธศาสนาที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย                                           

ขณะเดียวกัน “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” หรือถ้าจะใช้คำฝรั่ง “an elected King” ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น หากศึกษาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียโดยเฉพาะเดนมาร์กและสวีเดนก็จะพบหลักการ “elected หรือ elective King” เช่นเดียวกัน เพราะประเพณีการปกครองของสวีเดนตั้งแต่สมัยไวกิ้ง ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ได้จะต้องผ่านการเลือกและยอมรับจากที่ประชุมสภาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆหรือที่เรียกว่า ting  ซึ่งต่อมาพวกขุนนางอภิชนได้ดึงอำนาจการเลือกของชาวบ้านมาไว้ที่สภาอภิชนของพวกตนในการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์  ซึ่งพระมหากษัตริย์สวีเดนก็พยายามจะให้การสืบราชสันตติวงศ์ไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของพวกขุนนางอภิชน แต่ต่อสู้เพื่อให้การสืบฯเป็นไปตามหลักสายโลหิตของพระโอรสพระองค์ใหญ่ (ต่อมาก็รวมถึงพระธิดาด้วย) 

ที่เดนมาร์กก็เช่นเดียวกันกับสวีเดน พระมหากษัตริย์พยายามที่จะให้การสืบฯไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจการเลือกของที่ประชุมขุนนางอภิชน เพราะเวลาเปลี่ยนรัชกาลครั้งใด พระองค์ใดจะขึ้นครองราชย์ก็จะถูกต่อรองในเรื่องอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆจากพวกอภิชน  จนกระทั่งในราวปี ค.ศ. 1665 พระมหากษัตริย์เดนมาร์กสามารถดึงอำนาจมาไว้ที่พระองค์ได้สำเร็จ นำไปสู่การเกิดระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันกว้างขวางหรือที่พยายามเรียกกันว่า “absolute monarchy” (สมบูรณาญาสิทธิราชย์)             

หลักการการสืบราชสันตติวงศ์ในแบบ “elected/elective King” ของเดนมาร์กก่อนหน้า ค.ศ. 1665 เป็นที่รู้จักรับรู้กันดีในยุโรปสมัยนั้น ดังจะเห็นได้จากบทละครเรื่อง “Hamlet” ของเชคสเปียร์ มหากวีอังกฤษและของโลก (ค.ศ. 1564-1616)  ที่ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในราชสำนักเดนมาร์ก และตัวละครเอกคือ แฮมเลท เจ้าชายแห่งเดนมาร์ก และมีข้อความที่กล่าวถึงประเพณีการปกครองในการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ในเดนมาร์กโดยพวกอภิชน                                     

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า