ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๕)

ต่อจากคำถามเกี่ยวกับกฎการสืบราชสันตติวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาในภาษาอังกฤษภายใต้หัวข้อ “The Problems of Siam” ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ 2469 ไปยัง ฟรานซิส บี. แซร์ (พระยากัลยาณไมตรี) ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ที่มารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศให้รัฐบาลไทย คำถามต่อมาคือ “รูปแบบการปกครองอะไรที่สยามควรจะนำมาใช้ ?” โดยพระองค์ได้มีคำย่อยๆดังต่อไปนี้คือ

ก. ถ้าจะต้องมีระบบรัฐสภาขึ้นวันใดวันหนึ่ง การปกครองตามระบบรัฐสภาในแบบแองโกล-แซกซันเหมาะสมจริงๆกับคนตะวันออกหรือไม่ ?       

ข. ประเทศไทยพร้อมที่จะมีการปกครองแบบตัวแทน (representative government) หรือยัง ?                           

ในพระราชหัตถเลขาฯ พระองค์ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่อคำถามที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นไว้ด้วยว่า ต่อคำถามที่ว่า “การปกครองตามระบบรัฐสภาในแบบแองโกล-แซกซันเหมาะสมจริงๆกับคนตะวันออกหรือไม่ ?”  ว่า โดยส่วนพระองค์ พระองค์ยังคงไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสม (“I personally have my doubts as to the 3rd question.” /คำว่า the third question หมายถึง ข้อ ก. ข้างต้น)

ส่วนคำถามที่ว่า “สยามพร้อมที่จะมีการปกครองแบบตัวแทน (representative government) หรือยัง ?” นั้น พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยชัดเจนว่า ในส่วนพระองค์เอง ทรงเห็นว่า สยามยังไม่พร้อมอย่างแน่นอน (…my personal opinion is an emphatic NO.)             

ซึ่งข้อความพระราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้ มักจะถูกหยิบยกออกมาใช้วิจารณ์พระองค์ว่า พระองค์ไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะให้ประเทศมีการปกครองแบบตัวแทน นั่นคือ ไม่ได้ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง ไม่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในสยาม  แต่ถ้าใครได้อ่านพระราชหัตถเลขาเรื่อง “Democracy in Siam” (ประชาธิปไตยในสยาม)  ก็จะไม่สามารถวิจารณ์ว่า พระองค์ไม่ได้จริงใจที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามเป็นประชาธิปไตย

เอกสารบันทึกที่ชื่อ “Democracy in Siam”  ที่เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติใน “เอกสาร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 42/67 (เสนาบดี/ปรึกษาร่างพระราชบัญญัติองคมนตรี)”   แม้ว่าจะไม่ปรากฎนามผู้เขียนและไม่ปรากฎวันเดือนปีที่เขียน แต่เบนจามิน แบตสัน (Benjamin A. Batson) เห็นว่า จากหลักฐานแวดล้อมต่างๆ เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเอกสารดังกล่าวจะเป็นพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เขียนขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2470 

ผู้สนใจดูพยานแวดล้อมและเหตุผลในรายละเอียดที่ทำให้บัตสันเห็นว่า “Democracy in Siam” เป็นพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สามารถศึกษาได้จากหนังสือ Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy โดยมีเบนจามิน บัตสินเป็นบรรณาธิการและรวบรวม และเขียนคำแนะนำ, หน้า 42-47)

หาก “Democracy in Siam” เป็นพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตามข้อสรุปของบัตสัน แสดงว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระราชหฤทัยต่อประเด็นปัญหาการปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศตลอดมา นับตั้งแต่มีพระราชหัตถเลขาไปขอคำแนะนำจากฟรานซิส บี. แซร์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่กี่เดือน  จนถึงทรงมีพระราชบันทึกเรื่อง “Democracy in Siam” ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470     

บัตสันสันนิษฐานว่า “Democracy in Siam” เป็นพระราชบันทึกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานตอบไปยังคณะองคมนตรี (the Privy Council)  จากที่ผู้เขียนได้บรรยายไปในตอนก่อนๆแล้วว่า  แซร์ได้ถวายคำแนะนำแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯว่า ในการแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระมหากษัตริย์ไม่ควรตัดสินใจโดยลำพังพระองค์ แต่ควรรับฟังคำแนะนำและควรได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากจากคณะองคมนตรีที่ประกอบไปด้วยบุคคลหลากหลายที่น่าจะสามารถเป็นตัวแทนความเห็นของคนทั่วไปได้พอสมควร  และผู้เขียนได้อธิบายไว้ด้วยว่า คณะองคมนตรีเดิมมีที่มาจากคณะที่ปรึกษาราชการในพระองค์ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้าในปี พ.ศ. 2417 และต่อมาได้ยกเลิกและแทนที่ด้วยคณะองคมนตรีสภาในปี พ.ศ. 2435 และแต่งตั้งได้จำนวนไม่จำกัด ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งบุคคลเป็นองคมนตรีเป็นจำนวนถึง 233 คน ซึ่งเข้าใจพระองค์ทรงรับธรรมเนียมการแต่งตั้งที่ปรึกษาในพระองค์ของอังกฤษ (King’s or Queen’s Counsel หรือที่เรียกย่อๆว่า KC หรือ QC)  อย่างเช่นในปี พ.ศ. 2440 จำนวนของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น KC ของอังกฤษมีถึง 238 คน โดยหลักการในการแต่งตั้งที่ปรึกษาในพระองค์ของอังกฤษเป็นไปเพื่อให้เป็นเกียรติแก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งมากกว่าจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่พระมหากษัตริย์จริงๆ 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

เมื่อเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากที่พระองค์ได้รับคำแนะนำจากแซร์เกี่ยวกับอำนาจและบทบาทของคณะองคมนตรีในการแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระองค์จึงทรงปรับปรุงคณะองคมนตรีจากเดิมที่แต่งตั้งบุคคลเป็นจำนวนมากเพื่อให้เป็นเกียรติแก่บุคคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นคณะองคมนตรีที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาจริงๆที่มีจำนวนน้อยลงและสามารถเป็นตัวแทนความเห็นของสังคมทั่วไปเพื่อถวายคำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์รวมทั้งเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ การแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ 

ด้วยเหตุนี้ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงแต่งตั้งองคมนตรีในช่วงแรกเป็นจำนวนเพียง 9 พระองค์/คน และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2470  มีจำนวน 40 พระองค์/คน และในการประชุมหารือแนวทางการปฏิรูปการเมืองการปกครองกับคณะองคมนตรีในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชบันทึกเรื่อง “Democracy in Siam” พระราชทานแก่คณะองคมนตรีทั้ง 40 พระองค์/นาย (ผู้สนใจทราบรายพระนามและรายชื่อคณะองคมนตรีทั้ง 40 คนสามารถดูได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามและชื่ออภิรัฐมนตรีและองคมนตรีไทย)   

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงที่มาของ “Democracy in Siam” ว่าเพราะเหตุไรและภายใต้เงื่อนไขอะไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯถึงทรงมีพระราชบันทึกดังกล่าวไปยังคณะองคมนตรี และผู้เขียนจะได้กล่าวถึงสาระใจความสำคัญของ “Democracy in Siam” เอกสารที่มีความยาวประมาณ 3 หน้ากระดาษ A4   อันจะช่วยให้เราเข้าใจพระปณิธานและพระราชวินิจฉัยอันสุขุมรอบคอบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯต่อการปฏิรูปประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อ.ไชยันต์' เปิดพระราชบันทึก Democracy in Siam พระปกเกล้าฯ เตรียมการสู่ปชต.

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม