๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๓)

 

 

สาเหตุที่คณะกู้บ้านกู้เมือง (หลังพ่ายแพ้ จึงถูกเรียกว่า กบฏบวรเดช) เรียกร้องให้รัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  แม้ว่าในการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎรซึ่งมีพระยาพหลฯเป็นหนึ่งในสมาชิกจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม

ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นผลพวงของความระแวงว่า คณะราษฎรอาจจะไม่จริงใจกับการสถาปนาการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ซึ่งความระแวงนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หนึ่งเดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากการเกิดการแอบโปรยใบปลิวทั้งในพระนครและต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัด ชักชวนให้ผู้คนล้มรัฐบาลเพื่อนำประเทศสู่ระบอบการปกครองแบบสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังมีร่องรอยการเผยแพร่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ปรากฏในหนังสือพิมพ์ชื่อราษฎรมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ (ผู้สนใจโปรดดูตอนที่หนึ่ง) ซึ่งการปกครองตามแนวของสหภาพโซเวียต จะต้องล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ความหวาดระแวงกันและกันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปรากฏให้เห็นในกรณีของความพยายามในการตั้งพรรคการเมืองของคณะราษฎรและการพยายามตั้งพรรคการเมืองของคณะชาติ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง ๓ วัน คณะราษฎรได้ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นทันที  ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีคำว่าพรรคการเมือง แต่ใช้คำว่าสมาคมการเมือง  สาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรเร่งจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” เพราะแม้ว่าคณะราษฎรจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนคนส่วนใหญ่1 ซึ่ง ไชยันต์ รัชชกูล ได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในประเด็นดังกล่าวนี้และได้สรุปไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 มีใครเกี่ยวข้องนิดเดียว กลุ่มข้าราชการนิดเดียวไม่เกี่ยวกับคนนอกวงราชการด้วยน...แต่เพียงวงกระจิ๋วเดียวกลุ่มข้าราชการวงเล็กๆ ไม่ใช่ว่ามีพ่อค้า ประชาชน….”2

_________________________________________

1 ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 35-36.

2 ศราวุฒิ วิสาพรม, “ฝูงชนในเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475,’” ศิลปวัฒนธรรม, 35 (8) (มิถุนายน พ.ศ. 2557), หน้า 90; กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ, “การปฏิวัติสยาม: รากเหง้า/รากเน่า ประชาธิปไตยไทย,” วารสารร่มพฤกษ์, 26 (1) (ตุลาคม พ.ศ. 2550 - มกราคม พ.ศ. 2551), หน้า 177-181; นคินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน: 2546), หน้า. 54-62. อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 35.

_________________________________________

แต่ผู้เขียนเห็นว่า ควรเข้าใจและให้เป็นความเป็นธรรมกับข้อจำกัดของคณะราษฎรที่ไม่สามารถเปิดหรือระดมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างกว้างขวางได้ อย่างที่นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ได้ศึกษาถึงเงื่อนไขข้อจำกัดและได้อธิบายถึงเงื่อนไขความจำเป็นที่คณะราษฎรไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้างในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ

หนึ่ง มีการตรวจตราอย่างเข้มงวดของเจ้าพนักงานของรัฐ

สอง คณะราษฎรต้องการการป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงหากเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในวงกว้างที่อาจนำไปสู่การก่อการจลาจล

สาม บทเรียนจากความล้มเหลวของคณะกบฏ ร.ศ. 130  ที่แผนการรั่วไหลจนนำไปสู่การถูกจับกุมเสียก่อนจะลงมือกระทำการ

อย่างไรก็ตาม การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนคนส่วนใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การปกครองใหม่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่สามารถลงหลักปักฐานและมีเสถียรภาพความมั่นคง ดังนั้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรจึงได้จัดตั้ง  “สมาคมคณะราษฎร” ขึ้น โดยมีจุดประสงค์คือให้ “..สมาคมคณะราษฎรเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ประกาศชัดในระหว่างการปฏิวัติที่ต้องการให้ ‘ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร…จงพร้อมใจกันช่วยเหลือคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ’4

เมื่อคณะราษฎรจัดตั้งสมาคมโดยมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ประกาศรับสมัครสมาชิกและมีผู้สมัครมากมายจำนวนนับหมื่นคน5 หลวงวิจิตรวาทการจึงตั้งคณะชาติขึ้นเพื่อเป็นสมาคมทางการเมือง

_________________________________________

3 ดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน: 2553), หน้า 298.

4 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์: 2552), หน้า 499 – 501 อ้างใน “สมาคมคณะราษฎร”  สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สมาคมคณะราษฎร 

5 เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์.  บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี,  คณะผู้แปล: พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่สาม (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2555), หน้า 386 อ้างใน “สมาคมคณะราษฎร์” สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สมาคมคณะราษฎร  ขณะเดียวกัน ควรต้องกล่าวไว้ด้วยว่า ถึงแม้ว่า จำนวนผู้ที่สนใจสมาชิกเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎรจะมีจำนวนถึงหนึ่งหมื่นคน แต่ก็ใช่ว่าคนเหล่านี้จะสมัครเป็นสมาชิกด้วยเหตุผลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกับคณะราษฎร โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการที่สมัครเป็นสมาชิกจำนวนมากที่ต้องการใช้สมาคมเป็นช่องทางแสดงความภักดีต่อระบอบใหม่ เพื่อความมั่นคงในอาชีพ หรือหวังประโยชน์ส่วนตน เช่น ยื่นใบสมัครมาเพื่อต้องการให้คณะราษฎรหางานให้ทำ   แต่ก็มีบ้างที่เป็นสมาชิกที่ตื่นตัวทางการเมืองและเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอุดมการณ์ของสมาคมคณะราษฎร  ดูรายละเอียดได้ใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 66-68.

_________________________________________

ของกลุ่มที่ต้องการทัดทานอำนาจของคณะราษฎร 6 สมาคมคณะชาติจึงเป็นความพยายามในการจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามคณะราษฎร ภายหลังจากที่มีการตั้งสมาคมคณะราษฎรขึ้น คณะชาติก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๕  โดยมีกลุ่มบุคคลที่เป็นแกนนำสำคัญได้แก่  พระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก) พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) หลุย คีรีวัต หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) และเจ้านายเชื้อพระวงศ์บางพระองค์7 แต่คณะราษฎรในฐานะที่เป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงอำนาจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปฏิเสธไม่ให้กลุ่มอื่นๆ จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ด้วย “เหตุผลที่ว่าสถานการณ์ยังไม่ให้มีพรรคการเมืองได้หลายพรรค อาจทำให้ประชาชนสับสน และนักการเมืองที่เป็นนักฉวยโอกาส อาจสร้างความแตกแยกขึ้นในหมู่ประชาชนได้”8

ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผลเป็นจริงเลยเสียทีเดียว แต่ผู้เขียนเห็นว่า เหตุผลที่แท้จริงของคณะราษฎรคือ ความหวั่นเกรงว่าหากให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ขึ้นจริงๆ แล้ว ประชาชนอาจจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามมากกว่าสมาคมของคณะราษฎร ซึ่งจะทำให้คณะราษฎรไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่จะเสริมสร้างให้ระบอบการปกครองใหม่เข้มแข็งมีเสถียรภาพมั่นคงได้  สาเหตุที่คณะราษฎรไม่มีความมั่นใจที่จะเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นๆ ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งขันกับกลุ่มของตนก็เป็นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นั่นคือ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕  คณะราษฎรได้ดำเนินการยึดอำนาจลำพังโดยกลุ่มของตนโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง แต่การดำเนินการโดยลำพังนั้นก็เป็นข้อจำกัดที่เข้าใจได้ด้วยเช่นกัน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จะไปตำหนิกล่าวโทษคณะราษฎรก็ไม่เป็นธรรมนัก  

ขณะเดียวกัน ความหวาดระแวงต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ดำรงอยู่แต่ภายในกลุ่มคณะราษฎรเท่านั้น  แต่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกคณะราษฎรก็หวาดระแวงคณะราษฎรด้วยเช่นกันว่า อาจจะไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น  และฝ่าย

_________________________________________

6 ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 106, 112.

7 ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองของไทย, (พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์: 2511), หน้า 168.   ส่วนเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิ์ฯ, พระวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นเทววงศ์ฯ เป็นต้น ดู ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 106.

8 https://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2558/dec2558-4.pdf

_________________________________________

คณะราษฎรเองก็หวั่นเกรงว่าการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองอื่นจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองนั้นก็อาจจะต่อสู้เพื่อนำระบอบราชาธิปไตยกลับคืนมา  ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า   จากการที่คณะราษฎรเองตระหนักดีว่า พวกตนในฐานะกลุ่มคนเพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยคนสามารถก่อการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น จึงเป็นไปได้เช่นกันที่กลุ่มการเมืองอื่นจะใช้กลวิธีเดียวกันต่อต้านการยึดอำนาจของพวกตนและล้มพวกตน9

ต่อมา รัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดาไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งพรรคการเมือง จึงได้นำความกราบบังคมทูลปรึกษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชกระแสว่าไม่ควรอนุญาตเพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกในกาลอันไม่เหมาะสม ดังประสบการณ์จากประเทศเยอรมนีที่ตกอยู่ในสภาวะกึ่งอนาธิปไตย เพราะการใช้ความรุนแรงของคณะการเมืองที่อยู่กันคนละขั้วอุดมการณ์  จึงแนะนำให้ยุบเลิกไปทั้งสองสมาคม10

จากสภาพการณ์ดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงหลังรัฐประหาร ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่นำโดยพระยาพหลฯ ก็ยังไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองและการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ ข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งของคณะกู้บ้านกู้เมืองก็คือ รัฐบาล “ต้องยอมให้มีคณะการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย”  (คณะการเมือง หมายถึง พรรคการเมือง/ผู้เขียน)

ขณะเดียวกัน ความระแวงต่อสมาชิกบางคนของคณะราษฎรกรณีการฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสม์ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูนธรรมเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

_________________________________________

9 F5920/4260/40 and file in FO371/16261 (แฟ้มข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร---ผู้เขียน) อ้างใน Judith A. Stowe, Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991), pp. 26-27: “But they too had their fears; they knew that they must have stirred up antagonism in certain quarters and were afraid of a counter-coup or acts of individual violence against themselves. After all, if they as a mere handful of people could seize power so easily, it would be just as possible for another group using similar tactics to oust them.”

10 จำลอง อิทธรงค์, ละครการเมือง เล่ม 1, (พระนคร: บริษัทสหอุปกรณ์การพิมพ์จำกัด: 2492), หน้า 161 อ้างใน  ร.ต.ต. ธงชัย แสงประดับ, การศึกษาเชิงเปรียบเทียบพรรคการเมืองไทย: ศึกษาเฉพาะกรณีพรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคสหประชาไทย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต  แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2517, หน้า 23; ภูริฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 149-150.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 4)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490